Why Nostr? What is Njump?
2024-09-24 00:12:58

miketoshi on Nostr: “รีวิวงาน Bitcoin Tokyo 2024 วันที่ 2 ...

“รีวิวงาน Bitcoin Tokyo 2024 วันที่ 2 ตอนที่ 1“

เริ่มวันที่สอง ความแตกต่างจากวันแรกคือ ตาราง English track แน่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเข้าทุกอันก็จะมี 11 หัวข้อเลยทีเดียว แต่ไหนๆก็มาแล้วก็ฟังให้หมดเลย จะได้รู้ว่าใครเป็นใคร และด้วยศัพท์เทคนิคใหม่ๆหลายคำ ต้องใช้เวลาค้นเพิ่ม เลยจะทยอยโพสต์สรุปวันที่สองเป็นตอนย่อยๆครับ จะได้ไม่ดองนาน 😆

อีกอย่างหนึ่งคือวันนี้มี lightning market ⚡️ในห้องใหญ่ ทำให้บรรยากาศคึกคักมาก มีที่ให้ bitcoiner ยืนจับกลุ่มคุยกันตรงโซนตลาดนั่นเอง บางทีก็ดังรบกวนที่นั่งฝั่งที่ติดกับโซนตลาดไลท์นิ่งเลย แล้วก็ขายดีเสียด้วย สินค้าส่วนใหญ่เป็นงานฝีมือ สติกเกอร์ ตุ๊กตา 🖼️ คนที่นี่ก็ใช้ Lighning กันคล่องแคล่ว ผมก็ได้ของติดไม้ติดมือมาด้วย เสีย sat เยอะไม่แพ้งาน TBC2024 เลย





ตอนจบวันมีการประมูลกาแฟ Bean on Fire จาก El Salvador 🇸🇻 ที่มาพร้อมลายเซ็นคนดังอย่าง ปธน.นายิบ, แม็กซ์ ไกเซอร์, และ shadowy coders คนละกล่อง รายได้ทั้งหมดจะไปช่วยเรื่องการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสในประเทศ El Salvador และก็มี After Party ซึ่งผมไม่ได้ไปเพราะซื้อตั๋วกลับไว้คืนนี้เลย ก็เสียดายนิดๆ เพราะเริ่มรู้จักคนในงานบ้างแล้ว ถ้าไปคงได้เม้ามอยกันต่อ แต่ภารกิจทางบ้านสำคัญกว่า ✈️

เรื่องภาษา วันนี้มีการสลับห้องไปมา โดย English session ได้อยู่ห้องใหญ่เยอะเกินครึ่ง คาดว่าวันนี้คนมาพูดน่าจะเป็น bitcoiner ชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียง เลยต้องจัดห้องใหญ่ไว้รองรับ จะงงๆหน่อย ต้องคอยเช็คตารางว่าคิวถัดไปห้องไหนเป็น English session 🇺🇸

ว่าแล้วก็เข้าเรื่องเนื้อหาวันที่สอง ที่ย้าวยาวกันดีกว่า

1. Form Cypherpunk to Future Finance - เป็นไฮไลท์เปิดงานวันที่สอง ที่มี bitcoiner OG อย่าง Adam Back กับ Martti Malmi มาเป็นคนพูด สรรพคุณของ Adam สั้นๆคือถูกสงสัยว่าเป็น Satoshi 👤 ส่วน Martti นั้นเป็น freelance รับงานเขียนโปรแกรม bitcoin ให้ Satoshi มีอีเมล์ตอบโต้กับ Satoshi เป็นหลักฐาน 📩 (ตอนฟังเขาเล่าเรื่องอีเมล์นี่ขนลุกเลย) ปัจจุบัน Adam Back เป็น CEO บริษัท Blockstream ส่วน Martti ทำ Nostr client ชื่อว่า Iris





เนื้อหาบนเวทีส่วนแรกพูดถึงประวัติศาสตร์ตั้งแต่ช่วง Cypherpunk จนมาเจอ bitcoin whitepaper 📄 และคุยกันท่าไหนไม่รู้ไปจบที่ Nostr ซึ่ง Martti พูดปิดท้ายว่า “Nostr is fun” เป็นอีกคนที่เห็นความหวังใน Nostr (สามารถหาอ่านเรื่องราว Cypherpunk เพิ่มเติมได้เช่นที่นี่ https://blockchain-review.co.th/blockchain-review/history-of-bitcoin-3rd-cypherpunk/)

2. Evolution or Distraction: NFT & Token on Bitcoin - ที่จริงเป็น session ที่เชิญ Casey Rodarmor ผู้สร้าง Ordinals ที่ทำให้ NFT 🎭มาฮิตบน Bitcoin จน mempool เต็มไปด้วย transaction 1sat/vB ไปพักใหญ่ๆ แต่ Casey ป่วยมาไม่ได้ ผู้จัดจึงเชิญ Luke Dashjr บิทคอยเนอร์ระดับตำนานอีกคนมาถามตอบเรื่อง Ordinals แทน ก็เลยไม่ได้ฟังความคิดของเจ้าตัวจริงๆ

ถึงอย่างนั้นก็มีความเห็นที่น่าสนใจหลายๆ อัน เช่น “ถ้าคุณมี Ordinals เท่ากับคุณไม่มีอะไรเลย”, “Ordinals พยายามกำหนดหมายเลขให้ Sat (0.00000001 BTC) แต่ Bitcoin chain รู้จักแต่ UTXO”, “ที่จริงค่าธรรมเนียม NFT ไม่ควรจะแพงถ้าอยู่บน L2 แต่คนเล่น NFT อยากได้ความรู้สึกมั่นคงเลยทำบน L1”, “NFT เป็นปัญหาการแก่งแย่งทรัพยากรบนบล็อกเชนระหว่าง งานด้านระบบการเงิน กับการเป็นที่เก็บข้อมูล“ ⚔️ เป็นต้น (อย่าเพิ่งหัวบวมกันนะทุกคน ยังมีต่ออีก)

3. Making Mining Decentralized Again - Luke Dashjr อยู่ต่อบนเวทีในฐานะผู้สร้าง Ocean pool ⛏️ ที่พยายามแก้ปัญหาการรวมศูนย์ของกำลังขุด หลายคนคงพอจะทราบว่าปัจจุบัน การขุดเป็นธุรกิจที่ต้องมีทุนหนาถึงจะเข้ามาทำกำไรได้ไปแล้ว ซึ่งผู้เล่นกลุ่มแรกก็คือ Mining Farm ที่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่ลงทุนสร้างโรงงานขุดขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง ซึ่งแบบนี้รวมศูนย์ชัดเจน ส่วนผู้เล่นกลุ่มที่สองเป็นการรวมกลุ่มกันแบบที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ Mining Pool ซึ่งถึงแม้จะให้อิสระผู้ขุดรายย่อยในการเลือก pool ที่จะส่งกำลังขุดไปได้ แต่เจ้าของ pool ก็สามารถวางกลไกผลตอบแทนให้ไม่อยากเปลี่ยน pool ได้ เช่นกำหนดระยะเวลาจ่ายค่าตอบแทนกำลังขุด ที่ไม่ได้ให้ทันทีที่ปิดบล็อกได้ เป็นต้น





ที่จริงแล้วไอเดียเริ่มต้นของการมี Miners 👲ก็เพื่อต้องการให้มีผู้ตรวจสอบที่กระจายตัวกันไปทั่วโลก ช่วยกันปิดบล็อก ต้านการ censorship แต่ระบบ mining pool ในปัจจุบันกลับทำให้ miner รายย่อยมีบทบาทเป็นแค่คนคำนวนค่า Hash โดยไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการเลือกธุรกรรมที่จะมาปิดบล็อก (เพราะต้องใช้ template ของ pool) Ocean Pool จึงพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการให้ template หลากหลายรูปแบบ ให้ miner รายย่อยมีสิทธิ์เลือก (ผมก็ไม่เข้าใจรายละเอียดของ Ocean pool ดีนัก เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจไปศึกษาต่อด้วยตัวเอง) นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีอีกหลายอันที่พยายามแก้ปัญหาการ centralize กำลังขุดเช่น GBT, Stratum V2, Datum (ไม่รู้เรื่องเลย 😂)

สุดท้ายมีคนถาม Luke ว่ากำลังขุดถูกรวมศูนย์ที่รายใหญ่มากเท่าไหร่จึงถึอว่าอันตราย เขาตอบว่า >50% ส่วนกำลังขุดของรายใหญ่ที่ระดับปลอดภัยคือ ไม่เกิน 20%✨

4. Programmable money for AI - Michael Levin จาก Lightning Labs กำลังพัฒนา protocol ชื่อว่า L402 สำหรับการจ่าย lightning บนหน้า HTTP ที่เรียกว่า paywall 💵(เช่นการจ่ายเงินเพื่อเข้าไปอ่านข่าวในเว็บ) ซึ่ง paywall ปัจจุบันไม่ได้ machine-friendly เพราะต้องผ่านตัวกลาง payment ต่างๆในระบการเงิน ซึ่ง L402 จะผนวกความสามารถในการจ่ายเงินของ lightning เข้ากับ HTTP ทำให้ machine หรือ AI สามารถใช้งาน paywall ได้ด้วย lightning ทำให้ lightning กลายเป็น Internet-native money for AI (รายละเอียดทางเทคนิคขอข้ามเพราะไม่มีความรู้เลย หากสนใจตามไปต่อที่ https://l402.org/)





5. Tokenized securities on Bitcoin and Liquid - Jesse จาก Bitfinex มาพูดถึงการแปลงหลักทรัพย์ให้กลายเป็น token 🪙 (ซึ่งน่าสนใจมากสำหรับ real estate เพราะสามารถแบ่งออกเป็น token จำนวนมาก กระจายให้คนจำนวนมากมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของได้ คล้าย REIT) ที่ทำได้ทั้งหุ้น กองทุน ที่ดิน และสินทรัพย์อื่นๆ





การออก Token ขายให้ pulic (Security Token Offering) มีข้อดีกว่าการออกหุ้นหรือหลักทรัพย์ในตลาด traditional ตรงที่ความรวดเร็วในการ settle transaction ขณะเดียวกัน การทำ tokenization บน Bitcoin L2 ก็มีความน่าเชื่อถือมากกว่า ICO (Initial Coin Offerring ที่โด่งดังช่วง 2017) เพราะมี blockchain ที่แข็งแกร่ง ⛓️และมีสินทรัพย์จริงที่ back อยู่ และมีข้อสังเกตก็คือ STO มีคนคิดขึ้นมานานแล้ว แต่เพิ่งกลับมาได้รับความสนใจเมื่อเร็วๆนี้ หลังจาก Bitcoin ETF

ขอพักรีวิววันที่สองของ #bitcointokyo2024 ไว้เท่านี้ก่อน ถ้าอ่านแล้วพบว่าวันที่สองนี้มีแต่ชื่อคนและศัพท์ที่ไม่คุ้นเต็มไปหมดเหมือนผม นี่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่ทุกคนจะได้ไปค้นหาเพิ่มเติมว่าคือใครและคืออะไรกันบ้าง เพื่อให้เข้าใจโลกของ bitcoin ได้มากขึ้น หลายคนเป็น bitcoiner ที่อ.ตั๊มเคยพูดในไลฟ์แล้ว แต่เราฟังผ่านๆสนุกๆ ไม่ได้เก็บไปทำการบ้านเพิ่มเติม วันนี้เจอตัวจริงก็รู้แล้วว่าแค่ฟังจากที่อาจารย์สรุปมาไม่พอ ต้องศึกษาเพิ่ม อ.ตั๊มบอกผมในงานอีกครั้งว่า “don’t trust, verify” ✅

ขอขอบคุณ และ อีกครั้งที่แนะนำหลายๆเรื่องในระหว่างงาน


#siamstr
Author Public Key
npub1y2pjyfphdmnkss6v0whrxgd2ttff6srrajj4pv023n4t2a8nu8gs239n0f