Why Nostr? What is Njump?
2024-05-04 10:41:02

Jakk Goodday on Nostr: # ...

เพลงดาบแห่งเสรีภาพในสมรภูมิดิจิตอล

Disclaimer : บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือ “Cypherpunks: Freedom and the Future of the Internet” โดย จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) ผู้ก่อตั้ง WikiLeaks นักเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพและผู้เปิดโปงความลับของรัฐบาล เขาได้ออกมาตีแผ่ความจริงอันน่าตกใจ เกี่ยวกับการที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อสอดแนมและควบคุมประชาชนโดยอาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือ


โลกดิจิตอลที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่แสงสีและความสะดวกสบาย หากแต่ยังมีเงามืดของการควบคุมและการสอดแนมซุกซ่อนอยู่ด้วย แต่ท่ามกลางเงามืดเหล่านั้นก็มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ พวกเขาไม่ใช่ซูเปอร์ฮีโร่ในชุดเกราะไวเบรเนียม แต่เป็นนักรบแห่งยุคดิจิตอลที่ใช้ “รหัส” เป็นศาสตราวุธ พวกเขาคือ “Cypherpunk” กลุ่มคนที่ไม่ได้แค่เก่งเพียงเทคโนโลยี แต่ยังใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ในการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในโลกออนไลน์ด้วย

จุดกำเนิดของ Cypherpunk เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 ณ ซานฟรานซิสโก เบย์ แอเรีย (San Francisco Bay Area) ศูนย์กลางของนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขณะที่ผู้คนทั่วโลกกำลังตื่นเต้นกับการมาถึงของอินเทอร์เน็ต กลุ่มนักคิดและนักเทคโนโลยีหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งกลับมองเห็นอันตรายที่ซ่อนอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านี้ พวกเขาเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วนั้นเปรียบเสมือนดาบสองคมที่สามารถนำมาใช้ทำลายล้างได้เช่นกัน

พวกเขาจึงรวมตัวกันโดยเรียกตัวเองว่า “Cypherpunk” ชื่อที่ผสมผสานระหว่างคำว่า “Cipher” ที่แปลว่าการเข้ารหัส และ “Punk” ที่สื่อถึงการต่อต้านและไม่เชื่อฟัง (แถมยังให้อารมณ์ดิบ-เถื่อน) พวกเขาไม่ใช่แค่กลุ่มคนที่มานั่งถกเถียงกันแค่เรื่องเทคฯ แต่ยังลงมือพัฒนาซอฟต์แวร์เข้ารหัสแบบ Open-Source และเทคนิคต่างๆ ที่ทำให้การเข้ารหัสเข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไป เปรียบเสมือนการแจกจ่ายโล่ห์และดาบให้กับทุกคนในอาณาจักรดิจิตอล เพื่อให้สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของตนเอง ต่อสู้กับการสอดแนมและการควบคุมจากรัฐบาลและองค์กรต่างๆ

ในบรรดานักรบ Cypherpunk ก็มีบุคคลสำคัญอยู่มากมาย เช่น เอริค ฮิวจ์ส (Eric Hughes) นักคณิตศาสตร์และนักเคลื่อนไหวผู้ร่วมก่อตั้ง Cypherpunks อีกทั้งยังเป็นผู้เขียนหนังสือ “A Cypherpunk’s Manifesto” ที่เป็นเสมือนคัมภีร์ของเหล่า Cypherpunk, จูเลียน อัสซานจ์ (Julian Assange) ผู้ก่อตั้ง WikiLeaks ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโปงความลับของรัฐบาล และ จอห์น กิลมอร์ (John Gilmore) นักเขียนและนักกิจกรรม

[ อ่านบทความ “แถลงการณ์ของไซเฟอร์พังค์ (A Cypherpunk’s Manifesto แปลไทย)” ]

พวกเขาเชื่อว่าการเข้ารหัสไม่เพียงแค่ช่วยปกป้องข้อมูลจากการเฝ้าระวังของรัฐได้เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงออก เป็นการทวงคืนอำนาจจากผู้มีอำนาจและมอบอำนาจนั้นคืนให้กับประชาชน

Cypherpunk ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์เข้ารหัส Open Source ที่สำคัญ เช่น PGP (Pretty Good Privacy) ที่พัฒนาโดย ฟิล ซิมเมอร์มันน์ (Phil Zimmermann) ซึ่งเป็นเครื่องมือเข้ารหัสอีเมลที่ได้รับความนิยม และ Tor (The Onion Router) ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถท่องอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ซอฟต์แวร์เหล่านี้เป็นเสมือนดั่งอาวุธและชุดเกราะที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถต่อสู้กับการสอดแนมและการเซ็นเซอร์

ในช่วงทศวรรษที่ 1990, สงคราม “Crypto Wars” ปะทุขึ้น รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามจะควบคุมการเข้ารหัส โดยเห็นว่ามันเป็นภัยต่อความมั่นคง พวกเขาต้องการให้มี “backdoor” ในระบบเข้ารหัสเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ แต่ Cypherpunk ก็ได้ลุกขึ้นต่อสู้ พวกเขาเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ปกป้องความเป็นส่วนตัว เหมือนกับการต่อสู้เพื่อสิทธิในการมีปราสาทของตัวเองในโลกดิจิตอล เพราะการที่รัฐบาลต้องการ “backdoor” มันก็เหมือนกับการบังคับให้ทุกคนต้องสร้างประตูหลังไว้ให้รัฐบาลเข้ามาค้นบ้านได้ตลอดเวลานั่นเอง

หลังจาก “Internet Spring” ในปี 2011 ที่ผู้คนทั่วโลกตื่นตัวในเรื่องสิทธิเสรีภาพ Cypherpunk ก็กลับมาอีกครั้ง พวกเขาส่งเสริมเทคโนโลยีบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิตอลที่เปิดโอกาสให้คนควบคุมข้อมูลตัวเองได้ เหมือนการสร้างระบบเศรษฐกิจและการปกครองของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจจากส่วนกลาง

Cypherpunk ในวันนี้จึงไม่ใช่แค่กลุ่มคน แต่เป็นแนวคิด เป็นอุดมการณ์ที่เชื่อมั่นในพลังของเทคโนโลยีในการสร้างสังคมที่เสรีและเป็นธรรม พวกเขายังคงเป็นนักรบไซเบอร์ คอยปกป้องสิทธิของเราทุกคนในโลกดิจิตอล

Cypherpunk จึงไม่ใช่แค่เรื่องเท่ห์ๆ มันคือการต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพในโลกดิจิตอลที่เราทุกคนควรจะใส่ใจ พวกเขาเป็นเหมือนผู้จุดประกายให้เกิดการปฏิวัติทางความคิด เปิดประตูสู่โลกที่ผู้คนมีอำนาจเหนือข้อมูลของตัวเอง

เสียงเพลงดาบของ Cypherpunk ยังคงดังก้องอยู่ในสมรภูมิดิจิตอล และเราทุกคนก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพนี้ได้..

จูเลียน อัสซานจ์ ขบถไซเบอร์ผู้ท้าชนอำนาจรัฐ

“จูเลียน อัสซานจ์” (Julian Assange) เป็นบุคคลเบื้องหลังและเป็นบรรณาธิการใหญ่ของ WikiLeaks ด้วยวิสัยทัศน์ที่กล้าแกร่งและความเข้าใจในแนวคิดไซเฟอร์พังค์ (Cypherpunk) อัสซานจ์เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมเครือข่าย “Cypherpunk mailing list” มาตั้งแต่ยุคแรกๆ และได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของแนวคิดนี้ในระดับโลก ผลงานของเขากับ WikiLeaks ถือเป็นการตอกย้ำจุดยืนของไซเฟอร์พังค์ที่ว่า..

“ความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ที่อ่อนแอ และความโปร่งใสสำหรับผู้มีอำนาจ”

ซึ่งตรงกับปรัชญาของเขาที่ต้องการผลักดันให้เกิดความโปร่งใสและการตรวจสอบสถาบันที่มีอำนาจ นอกจากจะเน้นให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออกและความโปร่งใสในองค์กรที่มีอำนาจ อัสซานจ์ยังเป็นนักวิจารณ์ที่ช่ำชองต่อการที่รัฐและองค์กรต่างๆ ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้คน

เขาเขียนโปรแกรมต่างๆ ที่สะท้อนแนวคิดไซเฟอร์พังค์ เช่น เครื่องมือสแกนพอร์ต TCP/IP ตัวแรกที่ชื่อว่า strobe.c ระบบไฟล์เข้ารหัสแบบ Rubberhose ที่ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูล และเขียนโค้ดต้นฉบับสำหรับ WikiLeaks เอง

ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น.. อัสซานจ์สนใจเรื่องความปลอดภัยของระบบเครือข่ายและคอมพิวเตอร์ แม้ว่าบางกิจกรรมที่เขาทำจะถูกนับเป็นอาชญากรรมเมื่อกฎหมายเริ่มปราบปรามการแฮ็กมากขึ้นในภายหลัง เขายังเป็นนักเคลื่อนไหวและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในออสเตรเลียช่วงทศวรรษ 90 นอกจากนี้เขายังร่วมเขียนประวัติศาสตร์ของขบวนการแฮ็กเกอร์ระดับนานาชาติในหนังสือ “Underground” ร่วมกับ สุเลทท์ เดรย์ฟัส (Sulette Dreyfus) ซึ่งถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง *”Underground: The Julian Assange Story”

จากการเดินทางที่ยาวนานในเส้นทางไซเฟอร์พังค์ อัสซานจ์ยังคงมุ่งมั่นในการสนับสนุนสิทธิของบุคคลและการเปิดโปงสถาบันที่ฉ้อฉล เพื่อความโปร่งใสที่มากขึ้นและเสรีภาพทางข้อมูลของทุกคนอย่างแท้จริง

image

เมื่อเสรีภาพถูกคุกคาม เราจะลุกขึ้นสู้ด้วย “รหัส”

ทุกคนเคยสงสัยกันไหมว่า.. โลกออนไลน์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มันเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างที่เราคิดกันจริงๆ หรือเปล่า?

จริงอยู่ที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากมาย สามารถเชื่อมต่อกับผู้คนทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็กำลังถูกจับตามองจากเงามืด ถูกควบคุมโดยอำนาจที่เราเองก็ไม่รู้จักได้ง่ายๆ เช่นกัน

เมื่อปี 2012 จูเลียน อัสซานจ์ ได้ออกมาส่งเสียงเตือนภัยถึงพวกเราเอาไว้ในหนังสือชื่อว่า “Cypherpunks: Freedom and the Future of the Internet”

เขาเปรียบโลกอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนอาณาจักรแห่งความคิด เป็นโลกเสมือนที่เราทุกคนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสดงออกได้อย่างอิสระ แต่โลกเสมือนที่ว่านี้ก็ยังคงถูกผูกติดเข้ากับโลกความเป็นจริง มันมีโครงสร้างพื้นฐานเป็นสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ดาวเทียมและเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนถูกควบคุมโดยรัฐบาลและองค์กรที่มีอำนาจ

รัฐบาลเหล่านี้ใช้ประโยชน์จากการควบคุมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเข้ามาสอดแนม เก็บข้อมูลและควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลในโลกออนไลน์ พวกเขาแอบดูทุก “faits et gestes” ของเรา (เป็นสำนวนภาษาฝรั่งเศส ที่หมายถึง ทุกการกระทำ) ทุกเว็บไซต์ที่เราเข้า ทุกข้อความที่เราส่ง ทุกความคิดที่เราค้นหา แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปสร้างคลังข้อมูลขนาดมหึมา เพื่อนำมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ในทางที่เราคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มสงคราม ควบคุมสื่อ หรือแม้แต่การสร้างความได้เปรียบทางการค้า

ฟังดูน่ากลัวใช่ไหมล่ะ?

แต่ จูเลียน อัสซานจ์ ก็ไม่ได้ทิ้งพวกเราเอาไว้กับความสิ้นหวัง เขายังมอบความหวังเล็กๆ ให้กับเรา นั่นก็คือ ‘การเข้ารหัส’ เขาเปรียบการเข้ารหัสเป็นเหมือนดั่งอาวุธ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถปกป้องความเป็นส่วนตัว และต่อสู้กับอำนาจที่พยายามจะควบคุมพวกเราได้

การเข้ารหัสเป็นเหมือนกับเกราะป้องกัน ที่จะช่วยให้ข้อมูลของเราปลอดภัยจากการสอดแนม แม้ว่ารัฐบาลจะมีอำนาจมากแค่ไหน ก็ไม่สามารถฝ่าด่านการเข้ารหัสที่แข็งแกร่งเข้ามาได้ง่ายๆ มันเหมือนกับการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนที่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรมหาศาลถึงจะหาคำตอบได้

ดังนั้น.. ถ้าเราอยากจะรักษาเสรีภาพในโลกออนไลน์เอาไว้ เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้อาวุธนี้ เราต้องเข้าใจหลักการของการเข้ารหัส การปกป้องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวทางไซเบอร์ (Cyber Security & Privacy) และนำมันมาใช้ในการปกป้องข้อมูลของเรา เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการสอดแนมและการควบคุมจากอำนาจในเงามืด

นี่คือเสียงกระซิบเตือนที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะอนาคตของโลกออนไลน์และอนาคตของอารยธรรมมนุษย์ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเรา

คุณจะเลือกอยู่ฝั่งไหน?

ฝั่งของผู้ที่ถูกควบคุม.. หรือฝั่งของผู้ที่จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพ?


บทนำในหนังสือของ จูเลียน อัสซานจ์ “Introduction: A call to cryptographic arms” เขาได้เริ่มต้นด้วยคำเตือนที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงอันมหาศาลที่โลกกำลังเผชิญ

“นี่ไม่ใช่คำประกาศหรอกนะเพื่อนๆ แต่มันเป็นคำเตือน!”

ประโยคเปิดของบทนำช่างทรงพลังและน่าสนใจ มันกระตุ้นให้เราตื่นตัวและตั้งคำถามกับสิ่งที่เรามักมองข้าม อัสซานจ์กำลังบอกเราว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกำลังมุ่งหน้าสู่ยุคมืดแบบใหม่ ยุคที่รัฐบาลทั่วโลกจับมือกันควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง

“การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบ เพราะคนที่รู้เรื่องก็คือคนที่ทำงานในอุตสาหกรรมการสอดแนมทั่วโลก พวกเขาไม่มีเหตุผลที่จะออกมาพูดอะไรให้เราฟัง”

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นราวกับเงาที่กำลังคืบคลานเข้ามา คนทั่วไปไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะข้อมูลถูกปกปิดเป็นความลับ มันช่างซับซ้อนและมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร แต่สิ่งที่น่าตกใจที่สุดก็คือ อินเทอร์เน็ต เครื่องมือที่เราใช้ติดต่อสื่อสาร ค้นคว้าหาความรู้ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ กำลังกลายเป็นเครื่องมือสร้างเผด็จการที่น่ากลัวที่สุดเท่าที่เคยมีมา มันเป็นภัยคุกคามต่ออารยธรรมของมนุษยชาติเลยทีเดียว

ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป อีกไม่กี่ปีโลกของเราจะกลายเป็นสังคมที่รัฐคอยจับตามองในทุกฝีก้าว ทุกๆ การกระทำจะไม่มีความเป็นส่วนตัว ไม่มีเสรีภาพ หลบหนีกันแทบไม่ได้เลย (ยกเว้นพวกที่มีทักษะขั้นเทพจริงๆ)

และอันที่จริงตอนนี้.. เราอาจจะอยู่ในสังคมแบบนั้นกันแล้วก็ได้..

หลายคนพยายามอธิบายว่าอินเทอร์เน็ตจะส่งผลต่ออารยธรรมโลกยังไง แต่สำหรับอัสซานจ์ เขาบอกว่าพวกนั้นคิดผิด เพราะพวกเขาไม่เคยสัมผัสกับศัตรูจริงๆ ไม่เคยเห็นภาพรวมทั้งหมด ประโยคสุดท้ายของวรรคแรกนี้ได้ทิ้งบางอย่างๆ ไว้ให้เราได้ขบคิดต่อ..

“ไม่มีคำอธิบายใดจะยังคงอยู่ได้หลังจากเผชิญหน้ากับศัตรู.. และเราก็ได้พบกับศัตรูแล้ว”

มันเหมือนเป็นการท้าทายให้เราเปิดตา-เปิดใจและมองหาความจริงด้วยตัวเราเอง อย่าเพิ่งเชื่ออะไรง่ายๆ เราต้องตั้งคำถาม ต้องหาข้อมูลและต้องตื่นตัวอยู่เสมอ เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและเราต้องพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น มันทำให้เกิดคำถามตามมามากมาย เช่น..

รัฐบาลทั่วโลกกำลังจับมือกันควบคุมทุกอย่างจริงๆ หรือ? มีหลักฐานอะไรบ้าง? อินเทอร์เน็ตกำลังกลายเป็นเครื่องมือสร้างเผด็จการได้อย่างไร? เราจะป้องกันตัวเองจากการถูกสอดแนมได้อย่างไร? เราจะรักษาเสรีภาพในโลกดิจิทัลได้อย่างไร? ฯลฯ

นอกจากนี้ อัสซานจ์ยังอธิบายถึงการต่อสู้ของ WikiLeaks กับรัฐบาลต่างๆ โดยระบุว่า “ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา WikiLeaks ปะทะกับรัฐบาลที่มีอำนาจเกือบทุกแห่ง” แสดงให้เห็นว่าการต่อสู้นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย มันคือการต่อสู้ที่ดุเดือด ยาวนาน และเต็มไปด้วยอันตราย ลองนึกภาพตามเรื่องราวเหล่านี้ดู..

WikiLeaks เปิดโปงเอกสารลับทางทหารและทางการทูตมากมายที่เผยให้เห็นด้านมืดของรัฐบาล ทั้งการทุจริต การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำที่ผิดกฎหมายอื่นๆ เอกสารเหล่านี้ทำให้รัฐบาลหลายแห่งต้องเสียหน้า และพยายามทุกวิถีทางเพื่อจะปิดปาก WikiLeaks

อัสซานจ์และทีมงานของเขาถูกตามล่าตัวจากหลายประเทศ เขาต้องลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ในลอนดอนนานถึง 7 ปี เพื่อหลบหนีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐอเมริกาที่เขาถูกตั้งข้อหาจารกรรม นี่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเกรงกลัวอิทธิพลของ WikiLeaks มากแค่ไหน

WikiLeaks ถูกโจมตีทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มแฮกเกอร์ที่รัฐบาลหนุนหลังและจากบริษัทเอกชน เพื่อพยายามปิดเว็บไซต์และขัดขวางการทำงานของพวกเขา

WikiLeaks ถูกกดดันจากบริษัททางการเงิน เช่น Visa, Mastercard, Paypal ให้หยุดรับเงินบริจาค นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่รัฐบาลพยายามตัดท่อน้ำเลี้ยง เพื่อบีบให้ WikiLeaks ต้องปิดตัวลง

การต่อสู้ของ WikiLeaks แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลทั่วโลกกำลังพยายามปกปิดความจริง และปราบปรามผู้ที่กล้าเปิดโปงความลับ นี่คือสาเหตุที่อัสซานจ์เรียกร้องให้เราตื่นตัวและลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพของเรา

อัสซานจ์บอกว่า..

“การเข้ารหัสข้อมูลนั้นง่ายกว่าการถอดรหัส”

ตามมุมมองของเขา การเข้ารหัสไม่เพียงแต่เป็นเครื่องมือในการปกป้องข้อมูลเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีการที่จะปกป้องอำนาจทางเสรีภาพส่วนบุคคลและอิสรภาพทางความคิด และด้วยคุณสมบัตินี้ เขามองว่ามันจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างโลกใหม่ที่ไม่ถูกรัฐบาลครอบงำ

รัฐบาลทั่วโลกทุ่มเงินมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการถอดรหัส พวกเขาอยากรู้ว่าเรากำลังทำอะไร คิดอะไรและพูดคุยอะไรกัน พวกเขากลัวการสูญเสียอำนาจ และกลัวว่าประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้าน

แต่ใสขณะเดียวกันนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกก็พัฒนาเทคโนโลยีการเข้ารหัสให้แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ มันเหมือนเป็นการแข่งขันกันระหว่างหอกกับโล่ ยิ่งรัฐบาลพยายามถอดรหัส นักพัฒนาก็ยิ่งสร้างโล่ที่แข็งแกร่งขึ้น

การเข้ารหัสช่วยให้เราสามารถสื่อสารกันได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการส่งอีเมล การคุยโทรศัพท์ หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน รัฐบาลจะไม่สามารถแอบดูหรือดักฟังข้อมูลของเราได้ มันคือเรื่องของอำนาจ มันให้อำนาจแก่ประชาชน ในการปกป้องความเป็นส่วนตัว และต่อต้านการสอดส่องจากรัฐบาล

อัสซานจ์เปรียบเทียบเอาไว้ว่า “จักรวาลเชื่อในการเข้ารหัส” เหมือนกับที่จักรวาลเชื่อในเกลือ, ทะเล หรือดวงดาว มันเป็นกฎของธรรมชาติที่ทำให้เรามีเครื่องมือในการปกป้องตัวเอง

จากมุมมองของอัสซานจ์ การเข้ารหัสเป็นการต่อสู้อย่างเงียบๆ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการที่รัฐใช้อำนาจและควบคุมข้อมูลได้ นับเป็นการประกาศอิสรภาพจากการกำกับดูแลที่รุนแรงของรัฐ

“ด้วยวิธีนี้.. เราจึงประกาศอิสรภาพ”

คำพูดของอัสซานจ์ฟังมันดูยิ่งใหญ่.. แต่มันไม่ใช่การประกาศอิสรภาพแบบที่เราคุ้นเคยกัน มันไม่ใช่การลงสู่ถนนเพื่อเดินขบวนประท้วงหรือการทำสงคราม แต่มันคือการต่อต้านอย่างเงียบเชียบโดยใช้ “การเข้ารหัส” มาเป็นอาวุธ

image

WikiLeaks ตกเป็นเป้าหมายการเล่นงานของผู้มีอำนาจ

WikiLeaks ต้องเผชิญกับความพยายามในการดำเนินคดีกับองค์กรและบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่หลายครั้ง ซึ่งมักถูกกล่าวถึงในบริบทของเหตุการณ์สำคัญๆ องค์กรนี้ยึดมั่นในพันธกิจที่จะเปิดเผยข้อมูลจากผู้เปิดโปงให้กับสาธารณชนรับทราบ พร้อมป้องกันจากการโจมตีทางกฎหมายและการเมืองที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ องค์กรทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้เผยแพร่รายสุดท้ายที่ต้องอดทนต่อแรงกดดันจากรัฐและองค์กรทรงอำนาจต่างๆ ที่ต้องการปราบปรามการตีพิมพ์ของพวกเขา

ในปี 2010 WikiLeaks ได้เปิดเผยข้อมูลอื้อฉาวหลายครั้ง ทำให้ได้รับความสนใจจากทั่วโลก การตีพิมพ์ในครั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “Collateral Murder”, “War Logs” และ “Cablegate” ซึ่งได้เผยให้เห็นถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดและความลับที่ซ่อนเร้นภายในกองทัพและรัฐบาลสหรัฐฯ

หลังจากนั้นชีวิตของอัสซานจ์ และ WikiLeaks ก็ไม่เคยได้สงบสุขกันอีกเลย พวกเขาต้องเผชิญกับการโจมตีและการข่มขู่จากผู้มีอำนาจ การตอบสนองของรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธมิตรนั้นเป็นความพยายามที่ต่อเนื่องเพื่อทำลาย WikiLeaks อย่างถึงที่สุด

การตีพิมพ์เหล่านี้นำไปสู่การตั้งคณะลูกขุนใหญ่ (Grand Jury) เพื่อสอบสวน จูเลียน อัสซานจ์ และทีมงานที่เกี่ยวข้องกับ WikiLeaks คณะลูกขุนนี้ถูกจัดตั้งขึ้นที่เมืองอเล็กซานเดรีย รัฐเวอร์จิเนีย ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงยุติธรรมและ FBI เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ในการตั้งข้อหาละเมิด รวมถึงข้อหาสมคบคิดภายใต้กฎหมาย Espionage Act ปี 1917 (พระราชบัญญัติจารกรรมปี 1917) นี่เป็นการสืบสวนที่ใหญ่โตและรุนแรงมาก ในการดำเนินคดีกับนักข่าวที่ “ตั้งใจเผยแพร่ข้อมูลที่รั่วไหล” โดยไม่มีทนายฝ่ายจำเลยหรือผู้พิพากษาเข้าร่วมด้วยเลย เป้าหมายคือการปิดปากและทำลาย WikiLeaks

การสอบสวนเกี่ยวกับ WikiLeaks ยังคงดำเนินต่อไป ผู้คนจำนวนมากถูกบังคับไปให้การทางกฎหมาย กระบวนการพิจารณาคดีของ แบรดลีย์ แมนนิ่ง (Bradley Manning) ทหารที่ถูกกล่าวหาว่าให้ข้อมูลกับ WikiLeaks เผยให้เห็นเอกสารสอบสวนของ FBI ที่ยาวมากถึง 42,100 หน้า โดยในนั้นมี 8,000 หน้าที่กล่าวถึงแมนนิ่ง

แมนนิ่งถูกกักขังโดยไม่ได้รับการพิจารณาคดีเป็นเวลามากกว่า 880 วัน และได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย ซึ่งอาจถึงขั้นทรมานอย่างโหดเหี้ยม รายงานพิเศษจากทาง UN โดย ฮวน เมนเดส (Juan Mendez) ได้ประนามอย่างเป็นทางการว่า แบรดลีย์ แมนนิ่ง นั้นได้รับการปฏิบัติที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมเป็นอย่างที่สุด

หลังจากที่ WikiLeaks ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญจาก Cablegate ไปแล้ว การโจมตีจากรัฐบาลสหรัฐฯ และกลุ่มพันธมิตรก็เพิ่มความเข้มข้นขึ้นจนถึงจุดที่นักการเมืองบางรายเรียกร้องให้มีการลอบสังหาร จูเลียน อัสซานจ์ โดยใช้โดรน พวกเขากล่าวหาว่า WikiLeaks เป็น “องค์กรก่อการร้าย” และเรียกอัสซานจ์ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายไฮเทค” และ “ศัตรูผู้ใช้การสู้รบทางไซเบอร์”

เพนตากอนได้ตั้ง “WikiLeaks Task Force” หรือ WTF ขึ้นมาโดยมีสมาชิก 120 คน เพื่อจัดการกับ WikiLeaks อย่างเต็มที่ อีกทั้ง FBI, CIA และกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อจัดการกับ WikiLeaks ด้วยเช่นกัน

เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สามารถหยุด WikiLeaks ด้วยวิธีการอื่นได้ พวกเขาจึงเริ่มทำการเซ็นเซอร์โดยตรง โดยสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดกั้นการให้บริการแก่ WikiLeaks.org ในเดือนธันวาคม 2010 จากนั้น Amazon ได้ลบ WikiLeaks ออกจากเซิร์ฟเวอร์ของตน และวันถัดมา ระบบ DNS ก็ถูกขัดขวางไม่ให้เชื่อมต่อไปยังโดเมน WikiLeaks.org

อย่างไรก็ตาม ด้วยความพยายามในการ “mass-mirroring” ผู้สนับสนุนหลายพันคนได้คัดลอกเว็บไซต์แล้วเผยแพร่ผ่านเครือข่ายของตนเอง ทำให้เว็บไซต์ยังคงออนไลน์ต่อไปได้

[ Mass-mirroring หมายถึง การที่กลุ่มคนจำนวนมากคัดลอกเนื้อหาเว็บไซต์หรือข้อมูลใดๆ แล้วจัดเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองหรือบริการโฮสต์อื่นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านั้นจะไม่หายไปหากแหล่งข้อมูลต้นทางถูกปิดกั้นหรือถูกปิดตัวลง ]

การโจมตีนี้ยังไม่หยุดเพียงแค่การเซ็นเซอร์เท่านั้น แต่ยังมีการคว่ำบาตรทางการเงินด้วยธนาคารและสถาบันการเงินหลักอย่าง VISA, MasterCard, PayPal และ Bank of America ซึ่งปิดกั้นการบริจาคและการโอนเงินไปยัง WikiLeaks สิ่งนี้เรียกว่าเป็น “การปิดล้อมทางการเงิน” ซึ่งถูกกระทำโดยไม่มีขั้นตอนทางกฎหมายและยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปัจจุบัน

จุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการคุกคาม เจคอบ แอปเปิลบาม (Jacob Appelbaum) ผู้สนับสนุน WikiLeaks และ เจเรมี่ ซิมเมอร์แมน (Jérémie Zimmermann) ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่กดดันและสืบสวนซ้ำๆ เมื่อข้ามพรมแดนหรือเดินทางภายในสหรัฐฯ โดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ

การที่ Twitter ถูกบังคับให้เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้งานที่เกี่ยวข้องกับ WikiLeaks โดยไม่ได้มีหมายค้นอย่างเป็นทางการทำให้เกิดกรณี “Twitter Subpoena Case” ซึ่งกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลกำลังละเมิดสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวของบุคคลมากแค่ไหน คดีนี้ยังดำเนินอยู่ในชั้นศาลและยังมีการเปิดเผยภายหลังว่า Sonic.net และ Google ก็ได้รับคำสั่งให้ส่งมอบข้อมูลของ แอปเปิลบาม เช่นกัน แม้ว่าจะมีการต่อสู้กันในศาลอยู่ก็ตาม..

นี่เป็นเพียงเรื่องราวบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปกป้องอำนาจในการสอดแนมของตนโดยเหล่าผู้มีอำนาจ.. เราไม่เคยรู้รายละเอียดที่ชัดเจนในเรื่องราวเหล่านี้กันมาก่อน..

มันเพราะอะไรล่ะ..

สนามรบแห่งเสรีภาพและการควบคุม

จูเลียน อัสซานจ์ให้ความเห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกของเราเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างการสื่อสารที่และการเฝ้าระวังที่เพิ่มขึ้น ผ่านบทสนทนาของเขากับผองเพื่อนภายในหนังสือ เขาชี้ว่าไซเฟอร์พังค์เริ่มตระหนักถึงความเป็นไปได้ที่รัฐจะใช้การเฝ้าระวังควบคู่ไปกับการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990

“ตอนนี้เรามีการสื่อสารและการเฝ้าระวังที่มากขึ้น” การเฝ้าระวังมากขึ้นหมายถึงการที่รัฐและองค์กรต่างๆ สามารถจับตามองชีวิตผู้คนได้อย่างลึกซึ้ง นั่นก็เพราะ.. “ผู้คนต่างแสดงไอเดียทางการเมือง การสื่อสารกับครอบครัวและมิตรภาพต่างๆ ไว้บนอินเทอร์เน็ต”

ในขณะเดียวกัน โลกไซเบอร์กลับกลายเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลและองค์กรต่างๆ พยายามเข้ามาควบคุมข้อมูลเพื่อชะลอความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลงและรักษาอำนาจของตนไว้ ตามที่แอนดี้เพื่อนของอัสซานจ์ได้เล่าว่า..

“พวกเขามองอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนโรคร้ายที่กัดกร่อนความสามารถในการกำหนดความเป็นจริงของพวกเขา”

แม้ว่ารัฐบาลจะเพิ่มการเฝ้าระวัง แต่อัสซานจ์ก็ชี้ให้เห็นว่า “การสื่อสารจำนวนมากทำให้ผู้คนหลายล้านสามารถบรรลุฉันทามติได้อย่างรวดเร็ว” ซึ่งสามารถก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จได้ เช่น การประท้วงในปี 2008 ที่กรุงไคโรผ่านทาง Facebook และการปฏิวัติในอียิปต์ปี 2011 ที่มีการเตือนในคู่มือว่า “อย่าใช้ Twitter หรือ Facebook” แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าการปฏิวัติไม่ประสบความสำเร็จ รัฐก็สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกันนี้เพื่อแกะรอยและแยกผู้เข้าร่วมออกจากกันได้

เจเรมี ซิมเมอร์แมน เน้นให้เห็นความยากที่จะแยกแยะการเฝ้าระวังจากการควบคุมโดยเฉพาะกับอุปกรณ์ดิจิทัลที่ “มีการควบคุมฝังอยู่ในเทคโนโลยี” เช่น ระบบปฏิบัติการที่มีจุดประสงค์ในการจำกัดการใช้เพื่อความปลอดภัยในบางกรณี

ในขณะที่ทุกคนมีความเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีควรถูกเปิดเผยและมีอิสระมากขึ้น จาค็อบ แอปเปิลบาม ก็ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเข้าถึง “พิมพ์เขียวของระบบที่อยู่เบื้องหลังชีวิตของเรา” เพื่อให้เข้าใจและปรับปรุงการใช้งานอย่างยั่งยืน และท้ายที่สุด การเข้าใจความซับซ้อนของการสื่อสารและการเฝ้าระวังในยุคนี้ จำเป็นต้องทำความเข้าใจวิธีการควบคุมข้อมูลที่เกิดขึ้นตามมา เพื่อนำไปสู่ระบบที่เปิดกว้างและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการเรียบเรียงและพรีวิวคร่าวๆ ถึงเนื้อหาบางส่วนจากในหนังสือ ที่พอผมได้อ่านแล้วก็เมามันส์จนอยากจะบอกต่อ.. ครั้นจะเขียนออกมาทั้งหมด เล่าทั้งหมดในภาษาของตัวเองแบบนี้ก็คงจะไม่ไหวนะครับ..

ก้าวเข้าสู่โลกของ Cypherpunk

บางคนอาจจะบอกว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเหมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลทุกอย่างบนโลก บางคนอาจจะบอกว่ามันเหมือนตลาดที่มีทุกสิ่งทุกอย่างให้เลือกซื้อ แต่สำหรับ จูเลียน อัสซานจ์ เขาบอกว่า อินเทอร์เน็ตมันเหมือน “สนามรบ” ที่เสรีภาพกับการควบคุมกำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือด

และถ้าคุณอยากรู้จักกับ อัสซานจ์ และ Cypherpunk ให้มากยิ่งขึ้น อยากเข้าใจแนวคิดและอุดมการณ์ของพวกเขา อยากรู้ว่าพวกเขาต่อสู้กับอำนาจรัฐและบริษัทใหญ่ๆ อย่างไร ผมขอแนะนำให้คุณไปอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือ “Cypherpunks: Freedom and the Future of the Internet” โดย จูเลียน อัสซานจ์

image

คุณจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของการเข้ารหัส เทคโนโลยีต่างๆ ที่ Cypherpunk พัฒนาขึ้น และวิธีที่พวกเขาใช้ เพื่อต่อสู้เพื่อเสรีภาพในโลกออนไลน์ เนื้อหาในหนังสือคร่าวๆ ก็จะประมาณนี้..

อัสซานจ์ได้อธิบายถึงความขัดแย้งระหว่างการสื่อสารอย่างเสรีและการเฝ้าระวังที่เข้มข้นมากขึ้นจากรัฐและองค์กรต่างๆ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ดำเนินไปพร้อมๆ กันในโลกดิจิทัลปัจจุบัน ความเป็นส่วนตัวของบุคคลและการแสดงออกทางความคิดถูกลดทอนลงเรื่อยๆ เมื่อรัฐได้เข้าควบคุมอินเทอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ

หนังสือจะชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทั่วโลกพยายามชะลอกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยใช้การควบคุมข้อมูล ทำให้สาธารณชนไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน รัฐบาลประกาศให้ข้อมูลเป็นความลับเพื่อควบคุมกระบวนการและปกป้องอำนาจของตน รวมไปถึงแนวคิดที่เป็นหัวใจสำคัญของปรัชญาไซเฟอร์พังค์ ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของคนทั่วไป ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้ผู้มีอำนาจมีความโปร่งใสและต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน

หนังสือกล่าวถึงวิธีการที่รัฐและองค์กรต่างๆ ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างการควบคุมผ่านการเฝ้าระวัง รวมถึงการติดตามพฤติกรรมออนไลน์ การบันทึกข้อมูลส่วนตัว และการใช้ซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการดัดแปลงหรือควบคุมฟังก์ชันต่างๆ ซึ่งเป็นภัยต่อเสรีภาพทางดิจิทัลของพวกเรา

อัสซานจ์จะเน้นถึงความสำคัญของการเข้ารหัสว่ามันเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับการเฝ้าระวังและควบคุมข้อมูลจากรัฐ เขาชี้ให้เห็นว่า “การเข้ารหัสข้อมูลนั้นง่ายกว่าการถอดรหัส” ซึ่งทำให้มันเป็นวิธีที่ทรงพลังในการปกป้องข้อมูล

หนังสือยังได้สำรวจว่าการเข้าถึงและการควบคุมข้อมูลนั้นส่งผลต่อความสามารถของบุคคลในการเข้าร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างไร การมีเทคโนโลยีที่เป็นอิสระและเสรีเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างโลกไซเบอร์ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน

องค์กรเทคโนโลยีต่างๆ ไม่เพียงแต่ช่วยรัฐในการเฝ้าระวังผู้ใช้เท่านั้น แต่ยังแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลของผู้ใช้เพื่อสร้างรายได้ อัสซานจ์เตือนถึงการร่วมมือระหว่างรัฐกับบริษัทเทคโนโลยีที่อาจละเมิดสิทธิ์ของผู้คนได้

นอกจากนี้.. อัสซานจ์และผู้ร่วมอภิปรายในหนังสือมุ่งหวังให้ผู้อ่านเข้าใจถึงแนวทางที่จะสร้างอินเทอร์เน็ตที่เป็นเสรีและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น พวกเขาสนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับไซเฟอร์พังค์ การปกป้องข้อมูลและการใช้งานซอฟต์แวร์เสรีเพื่อปกป้องเสรีภาพในยุคดิจิทัล

เสียงเพลงดาบแห่งเสรีภาพ จะช่วยจุดประกายแห่งการตื่นรู้

บทเพลงของ Cypherpunk ดังขึ้นท่ามกลางความเงียบงัน เป็นเสียงสะท้อนของจิตวิญญาณที่โหยหาอิสรภาพในโลกดิจิตอลที่กำลังถูกครอบงำ พวกเขาคือกลุ่มคนที่กล้าตั้งคำถาม กล้าท้าทาย และกล้าที่จะต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้อง

การศึกษาเรื่องราวของคนพันธุ์พังค์สำหรับเรา.. มันคือการเรียนรู้ที่จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มนุษย์ที่มีทั้งความรู้ ความกล้าและความรับผิดชอบ มนุษย์ที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม และมนุษย์ที่พร้อมจะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น

ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวล้ำและข้อมูลกลายเป็นขุมทรัพย์ เราต้องไม่ลืมว่า “เราคือเจ้าของข้อมูล” “เราคือผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราเอง” เราไม่ใช่ “สินค้า” หรือ “ข้อมูล” ที่รัฐบาลหรือบริษัทใหญ่ๆ จะนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามอำเภอใจ

Cypherpunk สอนให้เรารู้ว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มันเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีสิทธิ์ที่จะแสดงออก มีสิทธิ์ที่จะมีความเป็นส่วนตัว และมีสิทธิ์ที่จะกำหนดอนาคตของตัวเอง

เสียงเพลงดาบของ Cypherpunk ยังคงดังก้องอยู่เสมอ..

มันเป็นเสียงเรียกร้องให้พวกเราตื่นขึ้นจากภวังค์ของความสะดวกสบายและความเพลิดเพลิน บนโลกออนไลน์.. มันเป็นเสียงเตือนให้เราระวังภัยร้ายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี และมันเป็นเสียงเชิญชวนให้เราร่วมกันสร้างโลกที่เสรีและเป็นธรรมสำหรับทุกคน

ดังนั้น จงลุกขึ้นมาจับดาบแห่ง “การเข้ารหัส” ของคุณ แล้วร่วมกันต่อสู้เพื่อเสรีภาพในโลกดิจิตอล

อย่าลืมว่า.. อนาคตไม่ได้ถูกกำหนดเอาไว้ล่วงหน้า แต่มันถูกสร้างขึ้น..

จากการกระทำของเราในวันนี้..

Author Public Key
npub1mqcwu7muxz3kfvfyfdme47a579t8x0lm3jrjx5yxuf4sknnpe43q7rnz85