#longformcontent ใหม่ครับ
"เรื่องเล็กที่ถูกมองข้าม อาจจะเป็นแสงสว่างทั้งชีวิตของใครบางคน"
#storyteller
quoting
naddr1qq…nc3yไม่นานมานี้เองครอบครัวของผมได้ให้การช่วยเหลือแก่ครอบครัวของคุณลุงผู้รับเหมาก่อสร้างที่มาต่อเติมบ้านผม สิ่งที่ผมและภรรยาทำให้แก่ครอบครัวคุณลุงท่านนี้ มันดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาแพทย์และพยาบาล แต่มันเป็นสิ่งที่มีค่ามากและเป็นแสงสว่างช่วยครอบครัวของคุณลุงท่านนี้ มันเป็นยังไง ผมจะเล่าให้ฟังครับ
สำหรับเพื่อนๆพี่ๆชาวไทยทุ่งม่วง และทีมงาน Rightshift น่าจะทราบพื้นเพอาชีพของผมอยู่แล้ว แต่ผมขอแนะนำตัวเล็กน้อยเผื่อมีเพื่อนใหม่ชาวไทยบนทุ่งม่วงที่อาจจะยังไม่รู้จักผมนะครับ
ผมเป็นหมอเฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือ หมอเฉพาะทางห้องฉุกเฉินครับ
ส่วนภรรยาผมเป็นพยาบาลฉุกเฉิน แต่ปัจจุบันนี้เป็นผู้จัดการการเงินภายในครอบครัว นักลงทุน แม่บ้านและแม่ของลูกผมแบบเต็มเวลาครับ
ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2566 บ้านหลังปัจจุบันที่ครอบครัวของผมอาศัยอยู่มาได้ 7 ปีก็เริ่มมีส่วนที่ต้องซ่อมแซมตามสภาพตัวบ้าน และมีการต่อเติมเพื่อรองรับผู้สูงอายุที่จะมาอาศัยอยู่ด้วยต่อไป
การได้ผู้รับเหมาที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
ตอนแรกผมเชื่อ แต่เชื่อไม่สุด จนเมื่อมาเจอด้วยตัวเองผมเชื่อเต็มร้อยเลยครับ ครอบครัวของผมโชคดีมากที่ได้รู้จักกับทีมผู้รับเหมาทีมปัจจุบัน ช่วงแรกๆอาจจะสะดุดกันบ้างเพราะยังไม่สนิทกัน แต่พอเวลาผ่านไปผลงานของพี่ช่างทีมนี้ได้พิสูจน์ตัวพี่ๆเขาได้เป็นอย่างดี จนรู้สไตล์กัน ทำงานเข้าขากันได้ดี งานออกมาเรียบร้อย ในช่วงที่เว้นว่างจากการต่อเติมพวกพี่ๆเขาก็ส่งสวัสดีวันจันทร์ สวัสดีวันอังคารมาให้ตลอด ทำให้เราไม่ขาดการติดต่อกัน
วันนี้ที่ผมกำลังเขียนบทความนี้คือวันที่ 6 เมษายน 2567 เป็นอีกครั้งหนึ่งที่บ้านผมทำการซ่อมแซมรื้อหลังคาโรงรถเก่าที่เสื่อมสภาพตามเวลา รวมถึงงานต่อเติมชานพักที่บ้าน
ครั้งนี้มีช่างคนหนึ่งมาใหม่ คือคุณลุงท่านที่ผมกล่าวถึงตอนต้นของบทความนี้แหละครับ สิ่งที่ผมสังเกตุก็คือลุงช่างฝีมือทำงานละเอียดมาก ฝีมือดี ภรรยาผมให้การยอมรับ … ต้องบอกก่อนว่าภรรยาผมเป็นคนที่ละเอียดมาก ไม่ยอมรับฝีมือใครง่ายๆ ถ้าใครทำงานร่วมกับภรรยาผมแล้วได้รับการยอมรับนี่ถือว่าไม่ธรรมดาเลยครับ
สองวันที่ผ่านมาคือวันที่ 4 เมษายน 2567 ช่วงที่ทีมผู้รับเหมากำลังต่อเติมบ้านผมอยู่ เมื่อถึงช่วงพักเที่ยง ก็เป็นธรรมดาที่มีการพูดคุยกันระหว่างกินข้าวกลางวัน
บังเอิญว่าคุณลุงช่างท่านนี้มีปัญหาครอบครัว ที่หนักมาก คุณลุงแบกครอบครัวของเขาไว้บนหลัง เป็นคนเดียวที่สามารถทำงานหาเงินเข้าบ้านได้ และตอนนี้กำลังเจอปัญหาลูกสาวคนโตที่กำลังป่วยด้วยอาการทางจิตที่ไปรักษาแล้วไม่ดีขึ้น
ลูกสาวของลุงช่าง (ซึ่งผมจะขอเรียกแทนว่าคนไข้ต่อจากนี้นะครับ)
เคยมีสามีเป็นชาวต่างขาติ มีลูกด้วยกันหนึ่งคน แต่เกิดปัญหาทำให้เลิกรากันไป ทำให้เกิดอาการเครียดจนเกิดอาการทางจิตเวชขึ้น ได้แก่
เห็นหน้าลูกอายุ 5 ขวบของตัวเอง ที่หน้าตาคล้ายกับสามีเก่ามากๆ ทำให้หวนนึกถึงอดีตสามี แล้วมีอารมณ์เกรี้ยวกราดเกิดขึ้น ทำร้ายร่างกายลูกตัวเอง บีบคอบ้าง รัดตัวเด็กบ้าง เพื่อระบายความแค้น บางครั้งรุนแรงถึงขั้นจะฆ่าลูกตัวเอง แต่ญาติๆช่วยห้ามไว้ทัน “แค้นอดีตสามี ไปลงที่ลูก โดยมองลูกเป็นตัวแทนอดีตสามี”
ทิ้งลูกกลางทางตอนเช้าคนไข้จะเกิดจูงมือพาลูกเดินไปส่งที่โรงเรียน แต่ช่วงหลังทิ้งลูกเอาไว้กลางทาง ให้ลูกเดินไปโรงเรียนเอาเอง แล้วตัวเองเกินกลับบ้าน ญาติคนอื่นๆที่ขับรถผ่านมาเห็นเด็กนั่งร้องไห้อยู่ระหว่างทาง เข้าไปดูแลเด็กแทน
มีการใช้กัญชาและสารเสพติด
เผาข้าวของในบ้านบางครั้งคนไข้นำสิ่งของอดีตสามีที่ยังเหลือค้างอยู่ในบ้านมาเผา พออาการรุนแรงเข้า ก็ลุกลามไปถึงการจุดไฟเผาบ้าน แต่ผู้พบเห็นเหตุการณ์ห้ามไว้ทัน
หูแว่วประสาทหลอนนั่งพูดคนเดียว
เดินเร่ร่อนออกจาก จำทางกลับบ้านไม่ได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจและพลเมืองดีพบเห็น ประสานเจ้าหน้าที่ภาครัฐช่วยนำตัวกลับบ้าน
คนไข้มีสิทธิ์รักษา 30 บาทอยู่ที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ลุงช่างได้นำตัวคนไข้เข้ารับการรักษาแล้ว แต่ด้วยข้อจำกัด … หรือจะเรียกว่าความล้มเหลวในมิตินึงของระบบ 30 บาทก็ไม่รู้ ทำให้การรักษาเป็นไปได้ไม่ดี
ความล้มเหลวของระบบประกันสุขภาพในมุมมองของหมอคนนึง
ออกตัวก่อนว่าผมไม่มีตัวเลขอ้างอิง และผมก็ไม่เคยเข้าไปดูไส้ในของระบบประกันสุขภาพ หรือที่เราเรียกกันว่า 30 บาทนะครับ แต่ผมเคยทำงานอยู่ในจุดที่ต้องให้การดูแลคนไข้ 30 บาทอยู่หลายปี ถ้าหากเป็นรพ.ขนาดใหญ่ หรือ โรงเรียนแพทย์เป็นรพ.ต้นสังกัดของคนไข้คนนั้น ต้องบอกเลยว่าโชคดีมากๆแล้วครับ เพราะมีแพทย์เฉพาะทางครบทุกสาขาและรักษาได้ฟรี ไม่เสียตังค์
แต่ก็ต้องแลกมากับการ “ตื่น 5.00 แล้วได้พบหมอ 14.00”
แต่ความซวยมันจะบังเกิดถ้าหากรพ. 30 บาทต้นสังกัดของคนไข้ เป็นรพ.ขนาดเล็ก แพทย์เฉพาะทางไม่ครบ ขาดเครื่องไม้เครื่องมือหรือบุคคลากรเฉพาะทางในการรักษาโรคซับซ้อน
ผมถือว่าคนไข้จิตเวช คือกลุ่มคนที่ต้องได้รับการดูแลรักษาโดยบุคคลากรและอุปกรณ์เฉพาะทางนะครับ ภาพที่น่าเศร้าอย่างนึงในประเทศไทยก็คือแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชมีปริมาณที่น้อยมากๆ ในขณะที่สถานการณ์ในยุคปัจจุบัน จำนวนผู้คนที่มีปัญหาสุขภาพจิตกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าแต่ก่อน สัดส่วนบุคคลกรต่อผู้ป่วย มันยิ่งหนักกว่าเก่า
ผมขยายความให้เพิ่มเติมนะครับ อาการของผู้ป่วยทางจิตเวขจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักๆ
- ผู้ป่วย Psychosis (ตามตำราจิตเวชดั้งเดิม ใช้ภาษาไทยว่าผู้ป่วยโรคจิต) ลักษณะชัดๆ คำเดียวเลยคือ “หลุดโลก” ไม่อยู่กับความเป็นจริง หูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง
- ผู้ป่วย Neurosis (ตามตำราจิตเวชดั้งเดิม ใช้ภาษาไทยว่าผู้ป่วยโรคประสาท) จะเป็นกลุ่มที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เช่นโรคซึมเศร้า ไบโพล่า ย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล แพนิค
ทั้งสองกลุ่มนี้การรักษาต้างกันสิ้นเชิง กลุ่มคนไข้ psychosis อัดยาอย่างเดียวจนควบคุมอาการได้ เป็นผู้ป่วยอันตรายที่มีโอกาสทำร้ายตัวเอง คนรอบข้าง ไม่เว้นแม้แต่หมอและพยาบาล ประสบการณ์ผม ผมเคยเห็นพยาบาลโดนคนไข้ psychosis ที่อาละวาดหนักๆ เตะแสกกลางหน้ามาแล้ว
ส่วนกลุ่มคนไข้ neurosis ในปัจจุบันการักษาผู้ป่วยจิตเวช จะแบ่งเป็น 2 สายหลักๆคือ จ่ายยา (medical treatment) และการทำจิตบำบัดหรือพฤติกรรมบำบัด (behavioural - psychological therapy)ซึ่งแตกแขนงหลายสาขามากๆ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่ละสาขาก็ไปกระจุกอยู่ในโรงเรียนแพทย์ไม่กี่แห่ง
เท่านี้เพื่อนๆน่าจะเห็นปัญหาแล้วใช่มั้ยครับ กรณีรพ.30 บาทที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ภาพอันน่าเศร้าที่เห็นเลยก็คือผู้ป่วยจิตเวช มาพบหมอ อาจจะโชคดีได้เจอหมอเฉพาะทางจิตเวช แต่ด้วยข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็น
- จำนวนคนไข้ที่มากเหลือล้น
- ค่าตอบแทนเฉพาะทางที่ได้ไม่คุ้ม
- เวลาออกตรวจของแพทย์เหล่านี้อาจจะสั้นเกิน บางท่านมีเวลาออกตรวจ 3 ชม. แต่คนไข้มากกว่า 20 ราย หลายๆครั้งหมดเห็นว่าคนไข้คนนี้จำเป็นต้องบำบัดรักษาด้วยการคุยทำจิตบำบัด แต่ก็ถูกกดดันจากสถานที่อีก เช่น เดี๋ยวจะมีหมอคนท่านอื่นมาใช้ห้องตรวจต่อบ้าง หรือใกล้เวลาปิดแผนกแล้วบ้าง
ทำให้การรักษาส่วนใหญ่ไปจบที่การจ่ายยาแล้วนัดมาดูอาการ การจะทำจิตบำบัดเป็นเรื่องเป็นราว กลายเป็นเรื่องไกลตัวอย่างมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ ต้องบอกว่าคนไข้จิตเวชคนไหนที่ถูกจับ admit นอนรพ.อาจจะโชคดีกว่าคนไข้ที่ได้รับการจ่ายยากลับบ้านเสียอีก
หอผู้ป่วยเฉพาะทางจิตเวช มันก็กระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนแพทย์สังกัดมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่ง
แถมเตียงก็จำกัด แต่ถ้าได้เตียงนั่นหมายถึงการได้พบหมอเฉพาะทางตรงสาขาจริงๆ ถึงแม้ว่าจะได้พบผู้เชี่ยวชาญ ได้ทำจิตบำบัดแล้วก็ตาม มันก็ไม่จบในการคุยครั้งหรือสองครั้ง มันใช้เวลา บางคนใช้เวลาครึ่งปีถึงจะเริ่มดีขึ้น ได้ชีวิตใหม่กลับไปใช้ชีวิตภายนอกได้ อันนี้คือ happy ending ที่อยากให้เกิดขึ้น แต่กลับมาสู่สภาพความเป็นจริงครับ มันไม่ใช่ ไม่ใช่เลย
กรณีของคนไข้ที่ด้อยโอกาสล่ะ??
ก็จะมีครอบครัวของคนไข้ที่ด้อยโอกาส พยายามดิ้นรนหาทางเพื่อเอาญาติของเขาไปรักษาให้ดีที่สุด แต่มันก็มีแนวต้านที่คอยเตะตัดขาอยู่เช่นกัน ผมเล่าให้ฟังต่อนะครับ
กรณีคุณลุงท่านนี้ และ คนไข้ของเรา เขามีสิทธิ์ 30 บาทอยู่ที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งปกติ รพ.เอกชนทุกแห่ง จะไม่มีศักยภาพเพียงพอในการรับ admit ผู้ป่วยจิตเวชอยู่แล้ว กรณีที่คนไข้จำเป็นต้อง admit รพ.เฉพาะทางจริงๆ คุณหมอที่รพ.ต้นสังกัดจะต้องประเมินแล้วเห็นว่า เออคนไข้คนนี้มันเกินศักยภาพในการดูแลรักษาจริงๆนะ ถึงจะ “ได้รับการอนุมัติ” ให้เขียนเอกสารส่งตัว (ใบ refer) ไปยังรพ.ระดับสูงกว่า
มันฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆใช้มั้ยครับแค่หมอเขียนใบ refer ให้คนไข้ไปมันก็จบแล้ว
แน่นอนคนไข้และญาติเขามองเห็นแค่นั้น แต่ด้านมืดบื้องหลังการถ่ายทำก็คือ รพ.เอกชนที่เป็นต้นสังกัด จะพยายาม “ยื้อ” ทุกทาง เพื่อไม่ให้คนไข้ออกไปจากรพ.ของตนเอง เพราะค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกิดขึ้นที่รพ.ปลายทาง รพ.ตนเองจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด ด้วยความว่าคนไข้อยู่ภายในบัตร 30 บาทที่ตนเองเป็นต้นสังกัด (แต่มันจะมีการ subsidy กันหลังฉากอย่างไร หรือเล่นแร่แปรธาตุอย่างไร ผมไม่ทราบ และก็ไม่อยากทราบด้วย)
ดังนั้นอีกภาพนึงที่น่าเศร้าที่เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยๆก็คือรพ.ต้นสังกัดไม่อนุมัติการส่งตัว ต่อให้คุณหมอที่ต้องการเขียนใบ refer ใจจะขาด อยากช่วยคนไข้จะแย่ ก็ทำได้แต่นั่งนิ่งๆ โดนคนไข้หรือญาติคนไข้ด่าเอาแค่นั้น
“หมอจะดองเคสพ่อผมเหรอ , ทำไมส่งตัวไม่ได้ ทำไม?? , อยู่กับรพ.เดิมไม่เห็นดีขึ้นไม่ส่งตัวคนไข้ล่ะหมอ , เห็นๆอยู่ว่าคนไข้อาการไม่ดีจะให้ผมรออะไรอีกครับ”
เพราะคุณหมอเหล่านั้นก็ไม่ต้องการที่จะเอาตัวขึ้นไปเสี่ยงกับผู้บริหารที่ไม่อนุมัติการ refer เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณหมอเหล่านั้นกำลังหาเรื่องเสี่ยงโดนไล่ออกนั่นเอง
ผู้ร้ายของเรื่องนี้คือรพ.ต้นสังกัดหรือเปล่าหรือว่าเป็นผู้บริหารรพ.??
ไม่ใช่หรอกครับ แต่มันคือระบบที่มันพังมาตั้งแต่บนลงล่าง แน่นอนว่ารพ.เอกชนก็ต้องรองบจัดสรรจากส่วนกลางจากระบบ 30 บาทอยู่ดี บางรพ.ขาดทุนแล้วขาดทุนอีก แบกรับต้นทุนแล้วแบกรับต้นทุนอีก มีรพ.ไม่กี่แ่ห่งหรอกครับที่บริหารหน้าตักภายใต้ระบบนี้ได้ดี … จะว่าไปมันก็เป็น *Canthillon effect* ในระบบสาธารณสุขเหมือนกันนะครับ
กลับมาที่คุณลุงช่างและคนไข้ของเรากันต่อครับ แน่นอนว่าคนไข้ของเรา ได้พบหมอที่รพ. 30 บาท ไม่กี่ครั้ง ได้รับยา และนัดติดตามอาการ 2 เดือนมาพบแพทย์ครั้งนึง คนไข้ของเราอาการแย่ลง อาการทางจิตทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนรอบข้าง ทำร้ายร่างกายลูก หูแว่วประสาทหลอนเป็นหนักขึ้นๆ จนคุณลุงช่างของผมหาทางออกไม่ได้ คุณลุงช่างตัดสินใจดุ่มๆเดินทางเข้าไปที่รพ.เฉพาะทางจิตเวชแห่งหนึ่งด้วยตัวเองเพื่อเป็นที่พึ่งในการรักษาลูกสาวของคุณลุง ไม่มั่นใจว่าได้พบหมอหรือยัง แต่ได้เจอภาพสุดเศร้าภาพที่สามก็คือ เมื่อไปลงทะเบียนเพื่อเข้าตรวจ มีการตรวจสอบสิทธิ์แล้วพบว่าคนไข้มีสิทธิ์ 30 บาทอยู่แล้ว จึงได้รับคำแนะนำกึ่งๆไล่ให้กลับไปรักษารพ.ต้นสังกัดให้เต็มที่เสียก่อน ถ้าไม่ไหวค่อยทำเรื่อง refer มา
ภรรยาผมนำเรื่องนี้ปรึกษาผม ผมและภรรยาตัดสินใจยื่นมือเข้ามาช่วย ผมขอพบคนไข้หนึ่งครั้ง ในวันถัดไปคือวันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2567 ผมเห็นอาการคนไข้ และผมทำใบ refer ให้ แต่ว่ารพ.ผมไม่ใช่ต้นสังกัดของคนไข้นะครับ เพียงแต่มีจดหมายจากหมอคนนึงที่สรุปอาการบอกว่าคนไข้ของเราอาการหนัก จำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบผู้ป่วยในที่ต้องนอนรพ.แต่แล้ว ภาพที่น่าเศร้าอันที่สามก็เกิดซ้ำครับ (หรือจะเรียกว่าเรื่องทุเรศดีก็ไม่รู้) คุณลุงช่างพาคนไข้ไปถึงรพ.ปลายทางนำใบ refer ของผมให้เจ้าหน้าที่ดู ได้รับการปฏิบัติเช่นเดิมก็คือ ใบ refer นี้มาจากรพ.อื่น (รพ.ของผม) ที่ไม่ใช่รพ.ต้นสังกัด 30 บาทของคนไข้ ไม่สามารถใช้ได้ ต้องไปขอหนังสือจากรพ.ต้นกังกัดก่อนจึงจะใช้ได้ ลุงช่างของผมทำได้แค่ยอมแพ้ และพาคนไข้กลับบ้าน ภรรยาผมทราบเรื่องทีหลังและโทรปรึกษาผม
ตอนนั้นคาดเดาเหตุการณ์ได้แค่ว่า คนไข้ยังไม่ได้พบหมอ ลุงช่างน่าจะไปติดต่อที่โต๊ะลงทะเบียน ซึ่งเจ้าหน้าที่ตรงนั้น อาจจะไม่ใช่พยาบาลด้วย แล้วได้รับการบอกปฏิเสธ เพราะเนื้อหาในใบ refer ผม ถ้าเป็นบุคคลกรทางการแพทย์อ่านเข้าจะต้องเกิดความเอ๊ะแล้วว่าคนไข้คนนี้มีอาการบางอย่างที่เป็นอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้าง จะต้องมีการหยุดคิดพิจารณาการทำเรื่องนอนรพ.แน่นอน เมื่อผมทราบเรื่องนี้จากภรรยา ในขณะนั้นลุงช่างพาคนไข้เดินทางกลับถึงบ้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว… บ้านของคุณลุงช่างและรพ.แห่งนี้ระยะทางประมาณ 15 - 20 กิโลเมตร วิ่งผ่านสองอำเภอ
ผมจำเป็นต้องงัดไม้ตายสุดท้ายออกมาคือโทรหาอาจารย์แพทย์ที่อยู่ในรพ.แห่งนั้น แล้วเล่าอาการคนไข้ให้อาจารย์ของผมฟังทางโทรศัพท์
“เอ๊ะ!!!คนไข้ดูอาการฉุกเฉินมากนะ ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวก็ได้นี่นา”
นีคือสิ่งทีอาจารย์ผมอุทานออกมา หลังจากนั้นอาจารย์ท่านขอเวลา 10 นาที ในการเตรียมทีมของท่านในการรอรับคนไข้คนนี้ แล้วแจ้งผมว่าให้นำตัวคนไข้เข้ามาได้ และสุดท้ายคนไข้ของเราก็ได้รับการนอนรพ.เพื่อบำบัดรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญจริงๆ
ผมไม่โทษเจ้าหน้าที่ให้ลุงช่างของผมออกจากรพ.ปลายทางหรอกครับ เพราะเขาก็ถูกระบบเบื้องบนโยนคำสั่งลงมาให้ปฏิบัติแบบนี้ เพราะถ้าเกิดมีการอนุญาติให้คนไข้ที่ไม่ได้ทำเรื่องส่งตัวมาอย่างถูกต้องเข้ารักษา ตัวเจ้าหน้าที่เองก็ต้องรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับ เสียเวลางานเวลาพักผ่อนของเขาอีก
ส่วนวิธีการที่ผมใช้ เป็น connection ส่วนตัว ที่บังเอิญผมรู้จักอาจารย์แพทย์ท่านนั้น หากผมไม่รู้จักท่านและท่านไม่เมตตาช่วยเหลือ ผมกับภรรยาก็จะถึงสภาวะต้องปล่อยวาง เพราะเราทั้งคู่ดิ้นกันเต็มที่แล้วครับ
ผมอยากชวนคุยประเด็นหลักๆตามนี้นะครับ
[ ] ให้ทุกคนลองสวมบทบาทเป็นลุงช่างท่านนี้ดูครับ ว่าจะรู้สึกอย่างไร ตั้งแต่ต้นจนจบ
[ ] คนเราในสังคมมีบทบาทหน้าที่อาชีพที่ไม่เหมือนกัน
โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพในการทำเพื่อคนอื่น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะอาชีพของผมนะครับ อยากให้ลองพิจารณาดูว่า “สิ่งที่มันเป็นงาน routine ของเรา เราทำมันโดยไม่รู้สึกอะไร ทำมันด้วยความเคยชิน มันอาจจะไม่มีค่าอะไรสำหรับเรา แต่ไม่มีใครรู้หรอกครับว่าไอ้สิ่งเหล่านั้น มันอาจจะเป็นโลกใบใหม่ หรือชีวิตใหม่ทั้งชีวิต ให้กับใครซักคนที่เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็น หนีทุกข์มาพึ่งใบบุญ” ก็ได้นะครับ
- [ ] ลองนึกดูว่ามีสถานการณ์ไหนในประสบการณ์ของเพื่อนๆ ที่เคยเจออะไรแบบนี้บ้าง มาเล่าสู่กันฟังใต้ note ได้นะครับ ผมเชื่อว่าเรื่องราวที่มีค่าจากสังคมดีๆอย่างทุ่งม่วงแห่งนี้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่พบเห็นแน่ๆครับ
ปล. ส่วนเรื่องด้านมืดของระบบประกันสุขภาพบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น 30 บาท หรือประกันสังคมผมไม่แตะนะครับ ผมเชื่อว่าสำนักข่าวคุณภาพบางแห่ง เจาะประเด็นเรื่องนี้ตีแผ่ออกมาทีละนิดทีละหน่อยแล้ว ติดตามจากทางนั้นดีกว่าครับ
จนกว่าจะพบกันใหม่ สวัสดีครับ