ขอบคุณคุณ SunnyMoo (npub1lpn…84l4) สำหรับบทความดีๆ (70%ของยอด Zap จะถูกแบ่งให้เจ้าของบทความ)เมื่อมีข่าวพูดถึงอัตราเงินเฟ้อผู้อ่านหลายท่านคงได้ยินคำว่า”ค่าดัชนีราคาผู้บริโภค” หรือ “Consumer Price Index (CPI)” กันบ่อยๆ ทว่าค่าดัชนี CPI ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ระดับอัตราเงินเฟ้อที่ดีนัก เพราะว่าวิธีคิดค่าดัชนี CPI นั้นมาจากมูลค่าของกลุ่มสินค้าในตะกร้าสินค้าของปีปัจจุบันเทียบกับมูลค่าของกลุ่มสินค้าในตะกร้าสินค้าของปีฐาน (สมการคณิตศาสตร์เป็นดังนี้ P1X1/P0X0)
ซึ่งชนิดของสินค้าในตะกร้านั้นไม่ใช่สินค้าชนิดเดียวกัน (หากเราดูตามสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ ในปีฐานกลุ่มสินค้าเป็นกลุ่ม X0 ส่วนปีปัจจุบันกลุ่มสินค้าเป็นกลุ่ม X1) เนื่องจากสินค้าบางอย่างที่มีในปีฐานนั้นไม่มีการวางขายในปีปัจจุบัน หรือสินค้าชนิดนั้นเคยเป็นสินค้าจำเป็นในปีฐานแต่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในปีปัจจุบัน
ถ้าไม่ใช้ CPI แล้วควรใช้ตัวบ่งชี้อะไร เพื่อวัดอัตราเงินเฟ้อ
จากแนวคิดของเงินเฟ้อคือสินค้าที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันมีราคาสูงขึ้นจากเมื่อครั้งอดีตเป็นจำนวนเท่าไร การวัดอัตราเงินเฟ้อจากกลุ่มสินค้าที่ต่างกันโดยค่าดัชนีอัตราเงินเฟ้อแบบ CPI จึงไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราต้องใช้กลุ่มสินค้าเดิมเพื่อเปรียบเทียบราคาปัจจุบันกับราคาปีฐาน (P1X1/P0X1) ซึ่งหลักการนี้ใช้ในการคิดค่า GDP Deflator
ข้อเสียอันใหญ่หลวงของ GDP Deflator
ทว่าการหาค่าดัชนีเงินเฟ้อตามหลัก GDP Deflator นั้นทำได้ยาก เพราะสินค้าในปัจจุบันบางชนิดเมื่อสมัยปีฐานนั้นยังไม่มีการผลิตเกิดขึ้น เช่น ปัจจุบันเราใช้ Tablet อย่าง iPad / Galaxy tab แต่เมื่อสมัยก่อนเรามีแค่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (PC) ซึ่งการเปรียบเทียบราคาทำได้ลำบากเพราะเป็นสินค้าคนละอย่างกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงนิยมรายงานอัตราเงินเฟ้อด้วยค่าดัชนีราคาผู้บริโภค CPI เพราะหาค่าได้ง่ายโดยวิธีการสำรวจราคาสินค้าในตลาด
ถ้าไม่ใช้ CPI มีตัวบ่งชี้อื่น ๆ ที่ใช้งานง่ายกว่า GDP Deflator ไหม
แต่เรายังมีค่าดัชนีอีกตัวคือ ดัชนีราคาผู้ผลิต Producer Price Index (PPI) ซึ่งดัชนีตัวนี้จะรวบรวมมูลค่าของกลุ่มปัจจัยการผลิตที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องใช้ในการผลิตของปีปัจจุบันเทียบกับมูลค่าของกลุ่มปัจจัยการผลิตของปีฐาน ด้วยเหตุที่ปัจจัยการผลิตของสินค้าไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงจากอดีตมากนัก จึงเหมาะที่จะใช้ค่าดัชนีราคาผู้ผลิต PPI บ่งชี้อัตราเงินเฟ้อมากกว่าค่าดัชนีราคาผู้บริโภค CPI เพราะค่า PPI มีความเที่ยงตรงมากกว่าค่า CPI อีกทั้งยังหาค่าได้ง่ายเหมือนกับค่า CPI
แล้วถ้าอยากใช้ CPI ต่อไป ควรทำอย่างไรดี
อย่างไรก็ตามหากเราต้องการใช้ค่า CPI ในการวัดเงินเฟ้อ เราควรรายงานเป็นแบบแยกค่า CPI แต่ละประเภทของกลุ่มสินค้าต่างๆ เช่น หมวดอาหาร หมวดของใช้ในชีวิตประจำวัน หมวดการเดินทาง ซึ่งการใช้แนวคิดแบบนี้จะดีกว่าการใช้ค่า CPI แบบดั้งเดิมที่รวมสินค้าหลาย ๆ หมวดมาไว้ในตะกร้าใบเดียว
#siamstr #siamstrOG #siamesebitcoiners