ภาษาที่ใช้สอนธรรม มี ๒ ชั้น
คือ ภาษาคน กับ ภาษาธรรม
.
…. “ ภาษามี ๒ ชั้น ภาษาที่ใช้พูดจานี่มี ๒ ชั้น : คือ ชั้นตื้น ชั้นผิวเผิน กับ ชั้นลึก ที่รู้ความหมายได้แต่คนที่มีปัญญา, เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ภาษาคน” กับ “ภาษาธรรม”. ภาษาคน ก็คือพูดจาอย่างที่คนธรรมดาพูด, ส่วนภาษาธรรมนั้นเขามีคําพูดเฉพาะ มีความหมายลึก คือลึกกว่าที่คนธรรมดาใช้พูดจากัน
…. ภาษาคน เป็นภาษาสมมุติ คือตามที่คนเขาสมมติพูดกันอย่างไร ส่วนภาษาธรรมนั้น มันไม่ใช่สมมติของคนทั่วไป มันเป็นความรู้ของบุคคลเฉพาะคน เอามาพูดจากันกับคนธรรมดา บางทีก็ฟังไม่ถูก, ต้องอธิบายกันอีกมากจึงจะฟังถูก
…. ภาษาคน พูดไปเท่าที่คนรู้ ภาษาธรรม พูดไปตามที่บัณฑิตนักปราชญ์เขารู้ เมื่อเป็นอย่างนี้จะเรียกได้ว่า ภาษาของคนธรรมดาก็ได้, ภาษาของบัณฑิตนักปราชญ์ก็ได้, นั่นแหละคือภาษาคน-ภาษาธรรม.
…. การถ่ายทอดกันโดยภาษาคน มันก็ถ่ายทอดได้แต่เรื่องต่ำๆ ตื้นๆ ในระดับคนธรรมดา, ภาษาธรรมถ่ายทอดเรื่องลึกซึ้งเกินกว่าที่คนธรรมดาเขาพูดจากัน, มีความหมายบางทีลึกจนคนธรรมดาเข้าใจไม่ได้, หรือบางทีกลับกันอยู่ก็มี
…. ภาษาคน พูดไปตามความรู้สึกของคนที่ “มีตัวตน”,
…. ภาษาธรรม พูดไปตามความรู้สึกของคนที่ “ไม่มีตัวตน” หรือละตัวตนเสียได้ นี่ฟังให้ดีเถอะ
…. ภาษาของคนที่ยังมีตัวตน มันก็พูดอย่างมีตัวตน,
…. ภาษาธรรมของผู้รู้ มันก็พูดอย่างที่ไม่ต้องมีตัวตน แต่เป็นเรื่องของธรรมชาติอันมิใช่ตัวตน, นี่ความแตกต่างกันโดยแท้จริงมันอยู่ที่ตรงนี้
…. ภาษาที่มีตัวตน พูดสําหรับคนธรรมดา ก็สอนกันได้แต่เพียงขั้นศีลธรรม, ส่วนภาษาที่ไม่มีตัวตน ของคนที่รู้สึกกว่าธรรมดา มันก็สอนกันได้ถึงขั้นที่เรียกว่า “ปรมัตถธรรม”.
…. ภาษาศีลธรรม ก็เป็นเรื่องอยู่ในโลก อยู่ในโลก เวียนว่ายอยู่ในโลก นี้ภาษาคน หรือภาษาคนธรรมดา, เป็นไปตามเรื่องศีลธรรมของคนที่อยู่ในโลก, ภาษาธรรมเป็นเรื่องเหนือธรรมดา ก็เป็นเรื่องพูดจากันสําหรับคนที่จะอยู่เหนือโลก
…. อยู่ในโลก ก็คือว่าเอออวยกันไปตามเรื่องของโลก หัวหกก้นขวิดกันไปตามเรื่องของโลก; แต่ถ้าภาษาปรมัตถธรรม มันจะออกไปจากโลก คือจะอยู่เหนือโลก เหนืออิทธิพลของสิ่งต่างๆในโลก, จึงต่างกันอยู่อย่างที่เรียกว่าคนละทิศทางก็ได้ หรือตรงกันข้ามโดยประการทั้งปวงเลยก็ได้ อย่างที่ว่า “มีตัวตน” กับ “ไม่มีตัวตน” มันต้องพูดกันคนละอย่าง, คนมีตัวตน ตัวอย่างเช่นว่าคนมีตัวตนก็พูดว่าตาย “คนตาย” นี่มันรู้แค่เปลือกนอก แค่วัตถุ ถ้าภาษาธรรมะชั้นสูงมันก็ “คนดับ” นี่เป็นภาษาที่ว่ามันไม่ต้องมีคน มีแต่นามรูปมันดับ, ภาษาหนึ่งว่า มีคน แล้วก็พูดว่า ตาย อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นตัวอย่างที่จะต้องสังวรไว้ ศึกษากันให้ละเอียดต่อไป”
.
พุทธทาสภิกขุ
ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ ภาคอาสาฬหบูชา ครั้งที่ ๘ บรรยายเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๖ หัวข้อเรื่อง “ฟ้าสางทางภาษาพูด, สวดมนต์, มังสวิรัติ” จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ปีที่มีสวนโมกข์ ตอน ๒” หน้า ๗๔-๗๕
..
Listen to ภาษาคน-ภาษาธรรม คลิปสั้น, 4เมษา2530, a playlist by สืบสานงานท่านพุทธทาส on #SoundCloud
https://on.soundcloud.com/Nzue6
.
Listen to ภาษาคน-ภาษาธรรม คลิปสั้น, 4เมษา2530, a playlist by สืบสานงานท่านพุทธทาส on #SoundCloud
https://on.soundcloud.com/xRJC4
Hello #siamstr