Why Nostr? What is Njump?
2023-09-23 04:23:07

Libertarian.realpolitik on Nostr: ...

ทำไมสังคมอนาธิปไตยแบบฝ่ายซ้ายถึงไม่มีวันเกิดขึ้นจริง

.
ลัทธิอนาธิปไตย (anarchism) เป็นกลุ่มความคิดทางการเมืองที่เชื่อว่าต้องไม่มีรัฐที่เป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงเหนือพื้นที่แล้วผลักดันสังคมที่ไม่มีสถาบันทางการเมืองและความร่วมมือกันอย่างสมัครใจ บางครั้งคำว่าอนาธิปไตยก็ทำให้หลายคนชวนสับสน แต่เราจำเป็นต้องพูดถึงนิยามของมันตามรากศัพท์และบริบทของกรีก (ใช้จนถึงปัจจุบัน) ก่อน โดยคำว่า anarkhia หมายถึง "ปราศจากรัฐ" (ตามบริบทที่เป็นไม่ใช่ปราศจากผู้นำหรือผู้ปกครอง) โดยมันมีคำว่า an ที่หมายถึง "ปราศจาก" หรือ without ในภาษาอังกฤษ และคำว่า arkhos หมายถึง ผู้นำ หรือ ผู้ปกครอง (ruler) หากกล่าวตามบริบทจริง ๆ มันก็คือรัฐที่เป็นองค์กรเพียงองค์กรเดียวที่สามารถผูกขาดความรุนแรงเหนือพื้นที่ได้ พิจารณานิยามเพิ่มเติมจาก Oxford Dictionary ในคำว่า anarchy มันหมายถึง "สถานการณ์ในประเทศ องค์กรหรืออื่น ๆ ที่ไม่มีรัฐในการควบคุม" หรือนิยามจาก Merriam-webster บอกไว้เหมือนกันว่า "การไม่มีรัฐ" "สภาวะที่ไม่มีกฎเกณ์หรือระเบียบทางการเมืองอันเนื่องมาจากไม่มีผู้มีอำนาจของรัฐ" "สังคมอุดมคติที่มีเสพสุขไปกับเสรีภาพโดยปราศจากรัฐ" "การไม่มีผู้มีอำนาจใด ๆ ที่สร้างระเบียบ" ซึ่งในความหมายใด ๆ ก็ตามคำว่า 'ผู้ปกครอง' 'ผู้มีอำนาจ' 'ผู้นำ' ในแง่บริบทของคำว่าอนาธิปไตยจะหมายถึง "รัฐ" ทั้งหมด ไม่ได้หมายความว่าอนาธิปไตยจะไม่มีผู้นำหรือผู้ปกครอง เพราะในความเป็นจริงไม่ว่าผู้นำ (*ผู้ปกครองในบริบทที่ไม่ใช่รัฐบาล) ระเบียบทางสังคม กฎหมาย ชนชั้น ครอบครัว วัฒนธรรมต่าง ๆ ล้วนแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ในสภาวะที่ไม่มีรัฐทั้งหมด

.
ในหมู่อนาธิปไตยก็มีการแบ่งลัทธิทางความคิดไปเป็น "อนาธิปไตยฝ่ายซ้าย" (left-anarchism) และ "อนาธิปไตยฝ่ายขวา" (right-anarchism) โดยที่อนาธิปไตยฝ่ายซ้ายจะมองว่า รัฐเป็นองค์กรที่ปกป้องดูแลและให้อภิสิทธิ์แก่พวกนายทุน ซึ่งนำไปสู่การกดขี่แรงงานและสนับสนุนการถอดถอนทรัพย์สินส่วนบุคคลนำไปสู่สังคมไร้ทุน ไร้ชนชั้น ลัทธิอนาธิปไตยฝ่ายซ้ายมีรากฐานมาจากสังคมนิยมแบบดั้งเดิมอีกทีหนึ่งและผลักดันให้สังคมไปสู่สภาวะความโกลาหน (chaos) ขบวนการเคลื่อนไหวแบบอนาธิปไตยเริ่มต้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แนวคิด “อนาธิปไตย" เคยเป็นคำและขบวนการที่ผูกกับกลุ่มฝ่ายซ้ายในช่วงแรกและจะเรียกตัวเอง 'anarchist communism' หรือ กลุ่ม 'left-wing anarchism' ที่มีการขับเคลื่อนในรัสเซียโดยปีเตอร์ โครพอตกิน (Peter Kropotkin) และมิคาเอล บาคูนิน (Michael Bakunin) ซึ่งมีความคิดในลักษณะเดียวกันกับในยุโรป อย่างในสาธารณรัฐฝรั่งเศสก็มีปิแอร์-โจเซฟ พราวดอน (Pierre-Joseph Proudhon) ที่นำเสนอว่า “Property is theft” ในงานเขียนของเขาอย่าง What is property? ที่แสดงทัศนะเรื่องอนาธิปไตยแบบของเขา ในขณะที่อนาธิปไตยฝ่ายขวายอมรับการมีอยู่ของทรัพย์สินส่วนบุคคล เสรีภาพในชีวิต ทรัพย์สินแลtร่างกาย ชนชั้นทางสังคมที่แตกต่างกันอย่างสมัครใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการผลักดันสภาวะให้สังคมไปสู่ความมีระเบียบ (order) ในแบบที่ไม่มีรัฐบาล ขบวนการเคลื่อนทางการเมืองแบบอนาธิปไตยฝ่ายขวาที่โดดเด่นก็คือ 'อนาธิปไตยทุนนิยม' (anarcho-capitalism) เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นจากนักคิดอิสรนิยมอย่างเมอร์เรย์ เอ็น. ร็อธบาร์ด (Murray N. Rothbard) ซึ่งเป็นแกนหลักของอิสรนิยมในยุคปัจจุบันที่ถือเป็นเศษซากจาก "ขวาเก่า" (old right) ในช่วงสงครามเย็น

.
หากพิจารณาตามความเป็นจริงเราจะเห็นได้ว่าลัทธิอนาธิปไตยนั้นมี 2 สายและมีความแตกต่างอย่างชัดเจนว่า อนาธิปไตยฝ่ายซ้ายต้องการสร้างความโกลาหนและอนาธิปไตยฝ่ายขวาต้องการสร้างระเบียบ โดยทั้งสองอุดมการณ์นี้มีจุดร่วมเหมือนกันก็คือ "ไม่มีรัฐ" แต่คำถามในบทความนี้ก็คือ "ทำไมสังคมอนาธิปไตยแบบฝ่ายซ้ายถึงไม่มีวันเกิดขึ้นจริง" และก็ต้องถามต่ออีกว่า "แล้วทำไมสังคมอนาธิปไตยฝ่ายขวาถึงเกิดขึ้นจริงได้?" เราจึงขอตอบคำถามเหล่านี้ไล่เรียงทีละข้อแบบรัดรวบ ก็คือ (a).อนาธิปไตยและนักคิดโดยเริ่มแรกล้วนเป็น "สังคมนิยม" เริ่มแรก และมักจะมีมุมมองต่อโลกที่ยังคงเป็น 'ถ้าสังคมมีปัญหาและทุกอย่างก็ต้องหารัฐเพื่อแก้ไข' (static view of society) มันจึงทำให้พวกเขาหลงลืมว่าสิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาได้อย่างไร เพียงแต่พวกเขารู้แค่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามประวัติศาสตร์แบบเส้นตรง (ความขัดแย้งทางชนชั้น ... เป็นคอมมิวนิสต์) ตามความคิดของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx) ดังนั้น เวลาพวกเขาวิเคราะห์โลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาจะละเลยการนำ "เวลา" (time) มาเป็นองค์ประกอบในการอธิบายว่าทำไมถึงเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามในอนาคตที่ต่างจากอดีต โลกตามทัศนะของสังคมนิยมคือ คนทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน เพียงแต่ในกรณีนี้เพิ่้มเติมแค่ว่า พวกเขาเป็นอนาธิปไตยที่ยังคงเชื่อในการตัดสินใจอย่างอิสระของปัจเจกบุคคล ตรงนี้เองถึงจะมีความคิดที่คล้ายคลึงกับอนาธิปไตยฝ่ายขวาในเรื่องของ "การตัดสินใจของปัจเจก" (individual choices) แต่มันก็ไม่เพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของเศรษฐกิจและโลกที่เรียกว่า "ความพอใจในการบริโภคต่างเวลา" (time preference) หรือ ทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ceteris paribus” คืออะไรและมีได้อย่างไร? เมื่อปราศจากสิ่งเหล่านี้ในโลกแห่งความเป็นจริงมันก็ไม่สามารถบอกได้ว่า "ตลาดทำงานอย่างไร" "ความต้องการของคนในเศรษฐกิจมีเท่าไหร่" "จะประเมินคุณค่าที่แตกต่างกันได้อย่างไร";

.
(b).ข้อเท็จจริงที่ว่า "มีเพียงปัจเจกบุคคลเท่านั้น" เป็นข้อโต้แย้งที่ดีที่สุดสำหรับขบวนการเคลื่อนไหวแบบอนาธิปไตย ที่ไม่ว่าจะมีระบบ หรือ สองคนขึ้นไปก็ตามที่มีกำลังบังคับก็ไม่อาจเทียบเคียงคน ๆ เดียวได้ เพราะการมีอยู่ของ "คนสองคนขึ้นไป หรือ ระบบ" บ่งบอกถึงความไม่เท่าเทียม (ตามมุมมองของฝ่ายซ้ายมันก็คือ "การกดขี่") แต่หากมีเพียงแค่ปัจเจกบุคคล มันก็ไม่มีเหตุผลที่คนอื่นจะพยายามครอบครองอำนาจเพื่อมาปกครองอีกคนหนึ่งเพราะเขาจะต้องมีความเป็นเจ้าของตัวเองและมีความสุขไปกับสิทธิ์ที่คนอื่นจะไม่ละเมิดตน แต่ข้อเท็จจริงนี้เองมันยังหมายถึง "คนมีความแตกต่างกัน คนมองสิ่งเดียวกันอาจคิดต่างกันหรือให้ค่าไม่เท่ากัน" (subjective value) ดังนั้นโดยหลักการของสังคมนิยม (ทั้งอนาธิปไตยและอุดมการณ์ที่พึ่งพารัฐ) ไม่อาจตระหนักถึงข้อเท็จจริงตรงนี้ได้ว่ากลไกของสังคม สถาบัน ตลาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างสมัครใจและเป็นธรรมชาตินั้นไม่ได้เท่าเทียมกัน การนำเสนอหลักการใด ๆ ก็ตามที่ต้องการยกเลิกหรือบิดเบือนล้วนแล้วเป็นการ "ฝืน" ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่าการกำหนดเป้าหมายที่อยู่ภายใต้ภาพลวงตาว่าจะสามารถทำการฝืนธรรมชาติของสังคมและปัจเจกบุคคลที่ไม่เท่ากันสำเร็จได้ มันจึงนำไปสู่ (c).อุดมการณ์ทางการเมืองใดก็ตามจำเป็นต้องมีผลประโยชน์เป็นแรงขับเคลื่อน (และมี "อำนาจ" เป็นเป้าหมายสูงสุด) อย่างเช่น ทุนสนับสนุน เสบียงอาหาร หรืออื่น ๆ เป็นการทำให้องค์กร กลุ่มสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แม้แต่อนาธิปไตยฝ่ายซ้ายไม่ว่าจะเป็นโรจาวา (Rojava) ซาปาติสตา (Zapatista) ชาส (CHAZ : Capitol Hill Autonomous Zone) หรืออื่น ๆ ล้วนแล้วต้องมี "เศรษฐกิจ" (economy) เพื่อขับเคลื่อนการอยู่รอดเสมอ ประเด็นสำคัญก็คือ หลักการของอนาธิปไตยฝ่ายซ้าย หรือ สังคมนิยมฝ่ายซ้ายมีเป้าหมายเพื่อ “ถอดถอนทุนนิยม” “ล้มล้างทรัพย์สินส่วนบุคคล” ต่าง ๆ แต่กลับพยายามอาศัยสิ่งที่เป็นเป้าหมายเพื่อการล้มล้างมาใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนอุดมการณ์ของตนเอง (จำเป็นต้องอาศัย “ทุน” หรือ อะไรบางอย่างที่เป็นสัญญะของทุนนิยม) มันจึงเป็นการกระทำที่ย้อนแย้งในตัวเองของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายในโลกแห่งความเป็นจริง (self-contradiction) แม้แต่ปารีสคอมมูน (Paris commune) ที่ครั้งหนึ่งคาร์ล มากซ์อธิบายว่ามันคือ "เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ" (dictatorship of the proletariat) ที่แท้จริง แต่ก็ต้องล่มสลายไปเพราะความอ่อนแอภายในที่จำเป็นต้องปล้นทรัพยากรจากผู้มั่งมีไปให้กับกลุ่มตนเองและปัจจัยสงครามภายนอกที่มีพละกำลังมากกว่าปราบปรามเพื่อเข้ายึดปารีสกลับโดยกองทัพฝรั่งเศส

.
ในทางตรงกันข้ามทำไมอนาธิปไตยฝ่ายขวาถึงเกิดขึ้นจริงได้ละ? หากทำความเข้าใจว่าทำไมอนาธิปไตยแบบฝ่ายซ้ายเกิดขึ้นไม่ได้นั้นก็คือ 'การทำสิ่งที่ตรงกันข้ามกันทั้งหมด' อย่างเช่น (a).อนาธิปไตยฝ่ายขวายอมรับเรื่องของ "ทุน" หรือ การต้องมีอะไรตกถึงท้องจึงจะขับเคลื่อนอุดมการณ์ องค์กร หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมไปถึงการดำรงอยู่ของทรัพย์สินส่วนบุคคล สิทธิ์ในทรัพย์สิน ชนชั้นทางสังคมและอื่น ๆ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในธรรมชาติของสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องของชนชั้น การทำลายหรือย่อยสลายมันเป็นเพียง "การหมุนเวียนของชนชั้นนำที่ขึ้นมาแทนที่" (b).อนาธิปไตยฝ่ายขวาปฏิเสธมุมมองแบบรัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวข้องใด ๆ ทุกมิติทางสังคมและเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิด "สังคมเอกชน” ( “Private Society” ) อันประกอบไปด้วย องค์กรเอกชน (private company) ทรัพย์สินส่วนบุคคล (private property) กฎหมายเอกชน (private law) หน่วยงานเอกชนและอื่น ๆ (private agency) ที่ขึ้นอยู่กับการตกลงกันอย่างสมัครใจที่จะแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ หรือ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดังนั้น พื้นที่ที่อนาธิปไตยฝ่ายขวายอมรับว่าเป็นความสำเร็จของตนอย่างเช่น สาธารณรัฐคอสไปยา (Republic of Cospaia) ชุมชนอาคาเดีย (Acadian community) ไอซ์แลนด์ยุคกลาง (Medieval Iceland) ตะวันตกเก่า (the Old West) และอื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วมีความเป็นเอกราช (สามารถปกครองตนเองได้) ที่อาจเกิดจากความบังเอิญที่เป็นดินแดนนั้นถูกละเลยหรือถูกยกเว้นจากประเทศภายนอก และ (c).หลักการของอนาธิปไตยฝ่ายขวามองว่ามนุษย์ "ไม่เท่าเทียม" ในธรรมชาติ สารตั้งต้นตรงนี้นำไปสู่การพัฒนาทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ที่นำมาอธิบาย "ความพอใจในการบริโภคต่างเวลา" หรือ กฎอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งงาน การรวมกลุ่มกันเป็นสังคม กลไกตลาด การจะทำให้สังคมหรือเป้าหมายหนึ่งเป็นไปได้ก็คือ การทำสิ่งที่ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ กล่าวคือ การดำเนินการ หรือ ปล่อยไปตามธรรมชาติที่เป็นอยู่ของมัน การก้าวข้ามขีดจำกัดของธรรมชาติที่มนุษย์ไม่เท่าเทียมกันล้วนแล้วจะต้องเกิดการกระทำที่ "ย้อนแย้งในตัวเอง" จากการที่พวกเขาต้องพยายามสร้างธรรมชาติขึ้นมาใหม่ หรือ กลายสภาพไปเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติมากกว่าเดิม

.
บรรณานุกรม

Nikolic, Luka. A Brief History of French Socialists. Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2018.

Bylund, Per. The Trouble With Socialist Anarchism. Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2019.

Rothbard, Murray N. Are Libertarians "Anarchists"?. Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2022.

Mises, Ludwig von. Socialism : An Economic and Sociological Analysis. New ed. J. Cape 1953.




Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m