Why Nostr? What is Njump?
2024-04-28 02:49:21

RK Lectio on Nostr: GM #siamstr #plebchain (English version will be published within a couple of days) ...

GM #siamstr #plebchain
(English version will be published within a couple of days)

บทความ #longformcontent เรื่อง
ปัญญาประดิษฐ์ Artificial intelligent (AI) มิตรหรือศัตรู
บน
ถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ AI ช่วยทำงานมาปีกว่าๆ
รวมไปถึงข้อคิดแง่คิดที่อยากแบ่งปัน
พร้อมเสิฟแล้วครับ สวัสดีเช้าวันอาทิตย์ด้วยครับ

ผมได้ยินเรื่องราวของ AI ครั้งแรกประมาณช่วงปลายปี 2565 ผ่านสื่อออนไลน์ ช่วงนั้นผมคิดว่ามันคงยากที่ผู้ใช้งานทั่วๆไปจะเข้าถึงได้ ต้องเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลเท่านั้นมั้งที่จะเข้าถึงสิทธิการใช้งาน

จนกระทั่ง chatGPT เปิดให้ใช้งานฟรีก่อนจะมีแพคเกจจ่ายค่าบริการ ผมกระโดดเข้าไปลองเล่นทันที ผมทึ่งกับความสามารถของมันมากๆครับ ถ้าใครจำได้ในช่วงปลายปี 2565 และต้นปี 2566 บรรดา influenzer , youtuber และ content creator สายเทคและสายพัฒนาตัวเองต่างออกมาพูดถึงกันจะเป็นกระแสเป็นไวรัล

ในการทดสอบความสามารถของ chatGPT ผมทดลองถามคำถามตามนี้ครับ

ความรู้ทางการแพทย์

image

ผมถามเชิงลึกเลยว่า ข้อมูลประโยคนี้ อยู่ในวารสารฉบับไหน ใครเป็นคนเขียน มันก็อุส่าตอบได้ แต่วารสารบางฉบับเก่ามาก มันก็ตอบไม่ได้ แต่ก็แนะนำแหล่งอ้างอิงที่พอจะใกล้เคียงกันให้ผมไปหาข้อมูลต่อได้

ผมถามขั้นตอนในการปั๊มหัวใจกู้ฟื้นคืนชีพ (CPR) ซึ่งเป็นทักษะสาขาเฉพาะทางของผม มันก็ตอบได้ทั้งหมด แถมขมวดใจความสำคัญที่กระชับให้ด้วย

ผมขอความเห็นในการทำงานเชิงบริหาร ในการปรับกลยุทธบางอย่างในรพ.ของผม … (ปัจจุบันนอกจากผมจะเป็นแพทย์ออกตรวจคนไข้แล้วผมยังเป็นหัวหน้า 3 หน่วยงานที่ใหญ่มากๆด้วยครับ) มันก็เสนอมาได้น่าสนใจ บางอย่างผมเอามา implement หน้างานจริง จนเป็นผลงานในรพ.ขณะนี้ เป็นผลงานที่ลดอัตราการเสียชีวิตของคนไข้ที่นอนรพ.ได้อย่างน่าพอใจ ครั้งหนึ่งผู้บริหารขอความเห็นผมเกี่ยวกับคำจำกัดความของผู้ป่วยที่เสียชีวิตก่อนมาถึงรพ. มันมีคำสองคำคือ out of hospital cardiac arrest (OHCA) แปลว่าหัวใจหยุดเต้นก่อนมารพ. และ dead on arrival (DOA) แปลว่าเสียชีวิตก่อนมาถึงรพ. ผู้บริหารต้องการให้ใช้คำคำเดียวเพื่อลดความสับสนของคนเก็บข้อมูลในการวิเคราะห์เชิงสถิติ ณ เวลานั้นผมจำได้แค่ว่า คำว่า DOA มันเลิกใช้ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว เขาใช้คำว่า OHCA อย่างเดียว แต่ผมไม่มีแหล่งอ้างอิง ผมบอกผู้บริหารว่าผมขอตัวไปห้องน้ำซักครู่นะครับ แล้วใช้ chatGPT ถาม มันตอบได้อย่างชัดเจนว่า คำว่า DOA มีแต่จะเพิ่มความสับสนให้คนหน้างาน ส่วนคำว่า OHCA เป็นคำจำกัดความมาตรฐานที่ใช้กันในระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั่วโลก ผมจึงกลับมาเสนอผู้บริหาร ทำให้ได้ข้อสรุปและงานเดินหน้าต่อไปได้ ทางรพ.ได้ลบคำว่า DOA ออกไปจากสารบบเอกสารคุณภาพของรพ.ตั้งแต่นั้น

ครั้งนึงผมถามคำถามแบบสุดขั้วเพื่อกวนประสาทมันสุดๆครับ ผมให้ chatGPT นำเสนอความสามารถตัวเองให้กับผู้บริหารรพ.ฟัง ว่าจะดึงตัวแก (หมายถึง chatGPT) มาทำงานในรพ.อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้เหนือคู่แข่งรพ.เอกชนระดับเดียวกัน มันก็ตอบออกมาได้อย่างน่าสนใจมากๆ เช่น set up AI customer care ตอบคำถามสุขภาพเบื้องต้นโดยไม่เข้ามารพ. , การส่งข้อความแจ้งเตือนคนไข้อัตโนมัติก่อนถึงวันนัดทดแทนการใช้คนทำ หรือขั้น advanced ในการเขียนโปรแกรมฝัง chatGPT เข้าไปกับระบบข้อมูลสารสนเทศในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติเข้าไปในระบบหลัก (infrastructure) ของรพ.

เรื่องแปลกๆที่ผมคิดได้แต่ search google แล้วไม่เจอคำตอบที่หน้าพอใจ

image

ทำไมประเทศแถบเอเชียถึงใช้สายชำระในการล้างก้นหลังเข้าห้องน้ำ ในขณะที่ประเทศฝั่งตะวันตกใช้กระดาษเช็ด ไปจนถึง decomposing toilet (ไม่รู้มีคำแผลภาษาไทยมั้ยนะครับ เป็นโถส้วมของชาวตะวันตกที่เขาใส่ผงจุลินทรีย์เอาไว้ย่อยสลายสิ่งขับถ่ายของมนุษย์) ว่ามันดีจริงป่าว ผลกระทบระยะยาวมีมั้ย เรื่องกลิ่นล่ะ มีข้อมูลที่น่าสนใจครับว่าผู้คนเริ่มตระหนักแล้วว่า ใช้สายฉีดชำระแบบบ้านเรา สะอาดกว่า ระยะยาวมีปัญหาน้อยกว่า ผมรอดูการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้อยู่ครับ

ลำดับเหตุการณ์สำคัญก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) จะมีอำนาจในมืออย่างล้นเหลือจนสามารถกุมอำนาจทางการเงินโลกได้เบ็ดเสร็จ ที่เป็นที่มาที่ไปของบทความบนเวบ Rightshift ของผม “เกิดอะไรขึ้นในโลก… ทำไมบิตคอยน์ถึงได้ถือกำเนิดขึ้น” ครับ

เอามาช่วยในงานเขียนของผม

image

บทความ long form content เรื่อง Minimalism ที่ผมเขียนไว้ เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมอย่างที่ล้างสมองผู้คนให้บริโภคเกินตัวจนเป็นหนี้ ทำให้ใช้ชีวิตอยู่เพียงแค่ใช้หนี้ให้หมด (I was living to pay a debt) เป็นบทความที่ดุเดือดที่สุดที่ผมเคยเขียนไว้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผมเขียนย่อหน้าสุดท้ายเพื่อหาจุดร่อนลงเพื่อจบบทความไม่ได้ (ending paragraph) ผมก็ถาม chatGPT แหละครับ ว่าช่วยหน่อยผมเขียนบทความนี้ เนื้อหาแบบนี้ ช่วยคิดย่อหน้าสุดท้ายเพื่อร่อนลงจอดปิดบทความสวยๆให้หน่อย แล้วผมก็เอาข้อเสนอของมันมาเรียบเรียงใหม่ ทำให้งานจบได้ไวขึ้นมากๆครับ

ถ้าใครยังไม่เคยอ่านบทความ “Minimalism” ผมจะแปะ link บทความนี้เอาไวให้ด้านล่างนะครับ เป็นบทความนึงของผมที่เชื่อว่ามีประโยชน์มากๆแก่คนที่ได้อ่าน และไม่มีทางเขียนได้ที่อื่น เพราะมีโอกาสปลิว นายทุนคงเกลียดขี้หน้าผม

เอามาช่วยทำ content ขายคนญี่ปุ่น

ต้นเดือนมีนาคม 2567 นี้ ผมตัดสินใจเริ่มธุรกิจออนไลน์เล็กๆของผม โดยการใช้ generative AI ในการสร้างภาพการ์ตูนอนิเมะทำการตลาดออนไลน์กับชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบตัวละครสาวๆในอนิเมะ ผมกำลังเรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ แต่ก็ยังขั้นต้น ไม่สามารถสื่อสารได้คล่อง ก็ใช้ chatGPT ช่วยแปลมันดื้อๆเลยครับ แล้วก็เอาสำนวนที่มันแปลมาศึกษารูปแบบประโยคภาษาบ้านเขาไปด้วย

อันนี้คือตัวอย่างของ AI ที่ใช้ large language model (LLM) ถามโต้ตอบกับผู้ใช้ จนทุกวันนี้ตัวผมเองเปลี่ยนทิศทางการทำงานของผมแบบสิ้นเชิงครับ (Paradigm shift) ปกติเวลาผมหาข้อมูล ผมจะ search google แต่ตอนนี้เวลาหาข้อมูล ผมจะใช้ chatGPT ร่วมกับ perplexity AI เป็นตัวหลักในการหาข้อมูลแทน มันไวกว่ามากและตรงประเด็นกว่า

ต่อไปคือ AI อีกแบบนึงที่ผมใช้ครับ

Image generative AI

image

หรือ AI สร้างรูปภาพจากคำสั่ง (prompt) ของเราครับ หลังจากผมทดลอง chatGPT ในต้นปี 2566 ได้ไม่กี่สัปดาห์ ผมก็รู้จัก **Midjourney **เป็นตัวต่อไปครับ เป็น AI เจนภาพตัวแรกที่ผมทดลองเล่น แน่นอนครับว่าช่วงแรกที่ผมทดลองมันยังฟรี แต่ด้วยความนิยมที่แพร่ไปทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว มันคงไปทำให้เซิฟเวอร์ทำงานหนักมากถึงมากที่สุด จนผู้พัฒนาเขาต้องจำกัดสิทธิ์การทดลองใช้งานฟรี และปล่อยแพคเกจเก็บค่าบริการรายเดือนแทน ตอนนั้นผมยังทดลองไม่หนำใจ ยังไม่เข้าใจมันมาก แต่จากความพยายาม ผมก็มารู้จักกับ Stable diffusion ครับ

ต่อไปนี้ผมจะเรียกทับศัพท์คำว่าเจนภาพไปเลยนะครับ “เจน”ย่อมาจาก generation

Stable diffusion (SD) ถือเป็นครูใหญ่ ให้ผมได้ฝึุกฝีมือจนผมทำให้ผมใช้ AI เจนภาพเป็นมาจนถึงทุกวันนี้

ข้อดีของ SD คือสามารถโหลดลงเครื่องมาติดตั้งได้ฟรี ไม่ต้องเสียตังค์ ใช้ทรัพยากรในเครื่องเป็นหลักในการประมวลผลในการเจนภาพ ส่วนจะได้ภาพความละเอียดสูงแค่ไหน หรือทำงานได้เร็วแค่ไหน อยู่ที่ VRAM ของการ์ดจอครับ ด้วยความที่เครื่องคอมผมอายุ 6 ปีแล้ว การ์ดจอ GTX1060 ram 4 GB การเจนภาพแต่ละภาพใช้เวลา 3 - 5 นาที ซึ่งถือว่านานเมื่อเทียบกับเครื่องที่สเปคสูงกว่านี้ครับ ผมเอาตัวเองไปอยู่ในกลุ่มเฟสบุคของ SD แล้วอาศัยการถามแหลก เรียนรู้ผ่านประสบการณ์คนอื่น ดูคลิปของเพื่อนๆในกลุ่มที่เขาทำสอน แต่ปัจจุบันนี้เพื่อนหลายๆท่านก็ผันตัวไปเปิดคอร์สสอนการเจนภาพด้วย AI เรียบร้อยแล้วครับ เป็นการเติบโตทางอาชีพที่น่าชื่นชมมากอีกทางนึง

ช่วงเวลานั้นผมใช้เวลาฝึกวันละ 10+ ชม. ติดยิ่งกว่าเล่นเกมอีก ต้องบอกว่าเป็นการทรมานโน้ตบุคผมจนทุกวันนี้การ์ดจอมีปัญหาเลย เวลาเปิดเวบหลายๆแถบหรือบางเวบที่มีรายละเอียดภาพสูงๆ จะเด้งจอฟ้า restart เครื่องทุกครั้งครับ

เมื่อเวลาผ่านไป ตัวโมเดลที่ใช้เจนภาพเวอร์ชั่นใหม่ๆใน SD มันมีความละเอียดที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาแค่ 2 เดือน โน๊ตบุคผมก็ไม่สามารถรองรับการเจนภาพได้อีกต่อไป

กดเจนภาพปุ๊ป จอฟ้าปั๊ป restart วนไป

ในจังหวะนั้นเองมีผู้พัฒนาเขียน code ลงบน github ให้ติดตั้ง SD ลงบน google collaboration (google colab สั้นๆ) ผมก็หาลู่ทางในการขึ้นไปใช้งานบน google colab ได้ในที่สุดครับ การทำงานง่ายขึ้นมาก จากเดิมการเจนภาพหนึ่งภาพใช้เวลา 3 - 5 นาที ตอนนี้ 3 - 5 นาที ใช้เวลาเจนภาพที่ความละเอียดเริ่มต้น 512 x 512 ได้ประมาณ 10 - 15 ภาพ ทำให้ผมได้ฝึกการเจนภาพ แล้วได้เรียนเทคนิคใหม่ๆระหว่างทางเพิ่มเติมขึ้นไปอีก

แต่สุดท้ายทาง google ก็ทำการ block การใช้ SD บน google colab ถ้าใครจะใช้ต่อ จำเป็นต้องเสียตังค์ upgrade เป็น google colab pro ถึงจะใช้ได้ ในช่วงเวลานั้นเองผมก็ได้มาเริ่มการเขียนบนความกับทาง rightshift และ Yakihonne พอดี ผมก็เลยห่างๆการเจนภาพไปเลย

จนกระทั่งเวลาผ่านไปหนึ่งปี ต้นปี 2567 นี้เองอะไรซักอย่างบนทุ่งม่วงก็พาผมมารู้จักกับ pixai ในการเจนภาพสไตล์อนิเมะที่ผมชอบ มันมีลูกเล่นและมีเครื่องมือเหมือนของ SD ทุกอย่าง เมื่อผมจับมันปุ๊ปผมใช้เป็นทันที เมื่อเจนภาพไปนานๆ ผมก็ได้เปิดโลกกับโปรแกรมตัดต่อภาพ photopea ไปๆมาๆได้ฝึกใช้ capcut ทำคลิปวีดีโอ

มันกลายเป็นว่าจากการเข้ามาศึกษา chatGPT ทำให้ผมรู้จัก Midjourney ต่อด้วย Stable diffusion ต่อด้วย Pixai แตกแขนงโปรแกรมอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้แก่ photopea , capcut


เอ่อะพี่ครับ ผมรู้แล้วว่าพี่ไปเจอ LLM และ image generative AI มา แล้วมันมีอะไรพิเศษเหรอพี่

ผมเห็นปฏิกิริยาทั้งเชิงบวกตื่นเต้น และเชิงลบวิพากษ์วิจารณ์หรือถึงขั้นแบน ผลงานที่ใช้ AI ทำออกมา มันทำให้ผมแปลกใจอยู่ไม่น้อยว่าทำไมมันเป็นเช่นนั้น หลังจากที่ผมไปไล่อ่านดูความเห็นที่มีการแลกเปลี่ยนกันไปแลกเปลี่ยนกันมา ผมพอจะสรุปประเด็นได้ตามนี้ครับ

ปฏิกิริยาเชิงบวก จะได้มีผลงานออกมารูปแบบหลากหลายมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีพื้นฐานในการทำงานศิลปะหรือการเขียนบทความ การแต่งนิยาย ได้มีโอกาสได้เข้ามาทำผลงานให้กับคนทั้งโลกได้เห็นมากขึ้น ทำให้ “barrier to entry” ลดลง

ปฏิกิริยาเชิงลบ ส่วนมากแล้วจะเป็นศิลปินเจ้าของผลงาน เช่นงานเขียน หรือจิตรกรที่ใช้เวลาทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานอะไรซักอย่างที่มีความปราณีตสูง ใช้สมาธิ ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ใส่ proof of work ลงไปมาก เพื่อให้ได้ผลงานที่สมบูรณ์แบบที่สุดตามสไตล์เจ้าของผลงาน

ผู้คนเหล่านี้มองว่าผลงานจาก AI ไร้ความละเอียด ไร้การใส่ใจ ไร้ชีวิตชีวา บางคนให้ความเห็นรุนแรงถึงขั้นว่าเป็นผลงานขยะ (trash or rubbish) สำหรับศิลปินที่มีผู้ติดตามมากพอสมควรเมื่อแสดงความเห็นด้วยความรู้สึกที่รุนแรงก็เป็นการเรียกทัวร์มาลงทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยซัดกันดุเดือด แต่เมื่อถอดใจความแล้ว มันก็เถียงกันอยู่ไม่พ้นข้อสรุปปฏิกิริยาเชิงบวกและเชิงลบที่ผมสรุปมาให้นี่แหละครับ

อยู่ที่ว่าใครจะใส่ไฟสาดน้ำมันปิ้งย่างสุกเกรียมไหม้เป็นถ่านไฟลามทุ่งสู่ไฟป่าวอดวายเดือดร้อนพนักงานดับเพลิงไปได้ถึงไหน เท่านั้นเอง

image

แล้วผมมองยังไงกับเหตุการณ์นี้

เริ่มเส้นทางการเป็นศิลปิน AI สไตล์งานภาพอนิเมะ พื้นเพผมตกวิชาศิลปะมาตลอด ผมวาดรูปได้ห่วยแตกมาก เด็กอนุบาลวาดรูปยังสวยกว่าผม สมัยม.ปลายช่วงที่ผมต้องทำเกรดเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย วิชาศิลปะเป็นตัวฉุดเกรดเฉลี่ยลงตลอด อาจารย์สอนศิลปะคงดูออกแหละครับ เลยให้ผ่านๆไปจะได้ไม่ต้องมาสอบซ่อม ในขณะที่เพื่อนผมที่เขาเกิดมาเพื่องานอาร์ตโดยเฉพาะนี่คุยกับอาจารย์ได้เป็นภาษาเดียวกัน

ในขณะที่หัวผมมีไอเดียอยู่เต็มไปหมด แต่ไม่สามารถดึงมันออกมาสู่โลกภายนอกได้ แต่เมื่อใช้ AI เจนภาพเป็น มันเป็นเครื่องมือที่ดีมาก ในการดึงสิ่งที่อยู่ในหัวผมออกมาเป็นภาพ ต้องบอกว่าบางครั้งเกินความคาดหวังของผมไปเยอะ

แต่แน่นอนว่ารูปภาพที่ AI เจนออกมา มันไม่ได้สมบูรณ์แบบตั้งแต่วินาทีแรก มันต้องมีการเก็บงาน เก็บรายละเอียด ใช้โปรแกรมตกแต่งภาพมาช่วยอยู่ดี อันนี้แหละครับที่ผมเกิด learning curve ใหม่ๆ ช่วยแรกช้ามาก แต่พอทำบ่อยๆ ระยะเวลาที่ใช้ก็สั้นลงๆ จนกลายเป็นมือขยับทำเองโดยที่ไม่รู้ตัว (muscle memory)

เริ่มเส้นทางการเป็นนักเขียน ผมตัดสินใจกระโดดมาเป็นนักเขียนเล่าเรื่องครั้งแรกบนเวบ rightshift หลังจากศึกษาเรืองประวัติศาสตร์การเงินโลก เมล็ดพันธุ์ปัญหาเบื้องลึกที่ฝังรากอยู่เป็นเหมือนเนื้อร้ายเบื้องหลังระบบการเงินของมวลมนุษยชาติ และการที่บิตคอยน์ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นทางรอดจากระบบการเงินที่ถูกควบคุม พอศึกษามาถึงจุดนึง ผมอยากถ่ายทอดเรื่องพวกนี้ออกมาให้ใครซักคนอ่าน ผ่านสไตล์การเขียนเล่าเรื่องแบบตัวผมครับ แต่ก็มีบางช่วงเหมือนกัน ไม่รู้จะไปหาข้อมูลที่ไหน หรือจะเรียบเรียงยังไงให้ไม่สะเปะสะปะ ผมก็เข้าไปถาม chatGPT กับ perplexity มันดื้อๆเลย ผมก็เอาข้อเสนอแนะจากผู้ช่วยส่วนตัวที่หน้าจอมาเรียบเรียง ใส่ความเป็นตัวของตัวเองลงไป

ผมเห็นคนหลายคนกลัวมากเกินไป “AI จะมาแย่งงานคน” “คนจะตกงานอีกมากเมื่อ AI เข้ามาเต็มรูปแบบมากกว่านี้” แต่ผมกลับไม่เห็นด้วยกับกระแสที่ปั่นให้คนกลัวกันขนาดนั้นครับ

เพื่อนๆคิดอย่างไรครับ ถ้าผมบอกว่า

“AI มันไม่ได้มาแย่งงานคนหรอก แต่มันจะมาแย่งงานคนที่ใช้ AI ไม่เป็น

เป็นความจริงทีเดียว AI ที่เปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ขนาดนี้ มันหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาศึกษา มาเรียนรู้ มาใช้งานมันได้อย่างอิสระ อาจจะมีข้อจำกัดเล็กๆน้อยๆในลูกเล่นบางอย่างที่ซับซ้อนขึ้น แต่สำหรับผู้ใช้งานทั่วๆไป มันเพียงพอ

จำตัวอย่างที่ผมเอาข้อมูลจาก chatGPT มาใช้งานจริงลดอัตราการชีวิตของคนไข้ที่นอนรพ. หรือ ย่อหน้าสุดท้ายของบทความ Minimalism ได้ไหมครับ ผมไม่ได้ทำอะไรพิเศษ ผมแค่ถามๆๆๆ แล้วก็ถามมันไปเรื่อยๆ แล้วก็เอาข้อเสนอที่ฟังดูเข้าท่ามาปรับให้เข้ากับตัวผมเองและสร้างผลงานออกมา ผมไม่ได้เอาสิ่งที่ AI เสนอมา copy-paste ทั้งหมด ถ้าทำอย่างนั้น มันก็คือผลงานขยะของแท้ตามที่ศิลปินท่านนั้นโพสไว้ครับ

หรือแม้แต่การเจนภาพก็ตาม ในกลุ่มเฟสบุคที่ผมเข้าไปศึกษา ก็มีแนวคิดจากศิลปิน AI รุ่นใหญ่ที่เจนภาพเก่งๆมาพูดให้ข้อคิดที่ดีมากๆ ผมจำประโยคเป๊ะๆไม่ได้ แต่พี่ท่านนี้บอกว่า

“รูปที่เจนออกมา ยังไม่ถือว่าเป็นผลงานนะ เพราะมันเป็นสิ่งง่ายๆที่ใครพิมพ์ prompt ลงไปก็ได้แล้ว แต่มันจะวัดความต่างของผลงานที่การใช้โปรแกรมตกแต่งภาพในการแก้ไขให้มีความเป็นเอกลักษณ์”

ซึ่งมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆครับ เพราะหลักการในการเจนรูป คือเราต้องเลือกโมเดลให้ตรงกับสไตล์งานที่เราต้องการ โมเดลบางตัวถูกเทรนขึ้นมาเพื่อทำรูปคนจริงๆ โมเดลบางตัวถูกเทรนขึ้นมาเพื่อทำรูปการ์ตูนสไตล์อนิเมะ หลักการตอนเขาจะเทรนโมเดลก็คือเอารูปตัวอย่างหลายร้อยหลายพันรูปมายัดใส่เป็นชุดข้อมูลขนาดใหญ่ให้ AI เรียนรู้ เวลาเจนรูปออกมาทื่อๆมันก็จะได้รูปที่มีความคล้ายรูปต้นแบบที่เอามาให้มันเรียนรู้นั่นแหละครับ

ผมโชคดีที่เห็นข้อความของพี่ท่านนี้ ผมเลยรู้ตัวว่าถ้าแค่ใส่ prompt แล้วเจนรูปออกมา อย่าเรียกตัวเองว่าศิลปิน AI (AI artist) เลย มันเลยเป็นจุดบังคับที่ผมต้องเข้าสู่การใช่โปรแกรมตกแต่งรูป

การเจนรูปเริ่มต้นน่ะมันไม่นาน กดเจนเปิดคอมทิ้งไว้ไปอาบน้ำ กลับมาดูได้ แต่เวลาแก้งานเก็บรายละเอียดงานนั่นแหละ “ทั้งคืน”

เมื่อผมฝึกทักษะใช้เครื่องนี้พวกนี้ได้ระดับนึง ขั้นตอนในการเขียนบทความผมมันสั้นลงมาก ผมเจนภาพประกอบเอาเอง แล้วมาตกแต่งเอา ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ สมัยก่อนต้องเข้า google ไปค้นหาหารูปประกอบ และก็จะเจอปัญหาว่า “ไม่เจอรูปที่ถูกใจ” หรือ “เจอรูปถูกใจแต่ติดลิขสิทธิ์”

เขียนบทความอ่ะมันไม่นาน แต่เวลาหารูปประกอบน่ะ มันนานกว่า

พอจะเห็นภาพที่มี AI เป็น co-pilot ส่วนของผมเวลาทำคอนเท้นท์บ้างแล้วใช่มั้ยครับ

นั่นแหละครับผมถึงเห็นด้วยกับประโยคนี้

“AI มันไม่ได้มาแย่งงานคนหรอก แต่มันจะมาแย่งงานคนที่ใช้ AI ไม่เป็น”

เมื่อผมมาพิจารณาดูความสามารถของ AI มันทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่ผู้คนต้องปรับตัวเข้ามาเรียนรู้ หยิบมันมาใช้งาน แล้วสุดท้ายมันก็จะมีคนสามกลุ่ม

กลุ่มแรกคือเข้าไปศึกษาไปลองไปใช้จนเข้าใจเป็นอย่างดี

กลุ่มที่สองคือเข้าไปศึกษาไปลองไปใช้จนเข้าใจบ้าง แต่อาจจะไม่ได้ใช้งานเก่งจนคล่องมือเหมือนคนกลุ่มแรก

กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มคนที่ปฏิเสธที่จะเรียนรู้หรือทำความเข้าใจ

มันก็เป็นเรื่องเปรียบเทียบคู่ขนานไปกับเรื่องราวของบิตคอยน์ได้มีหลายแง่มุมครับ ผมเคยเขียนเอาไว้แล้วในบทความเรื่อง “Learn bitcoin before you have to , ศึกษาบิตคอยน์ซะก่อนที่ความจำเป็นจะบีบรัดหรือฆ่าคุณ“ (ผมจะทิ้ง link เอาไว้ให้ด้านล่างนะครับ เผื่อใครยังไม่เคยอ่าน)


ข้อคิดที่อยากแบ่งปันกับทุกท่านที่อ่านมาจนจบ

ปัจจุบันวันที่ผมเขียนบทความนี้คือวันที่ 27/4/2567 มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากจนยากที่จะตามทัน ผมเชื่อสุดๆเลยว่ามันจะต้องมีเครื่องมือซักอันนึงที่เข้าทางพวกเราแต่ละคน มันจะต้องมีซักเครื่องมือนึงที่ปลุกศักยภาพบางอย่างในตัวออกมาโดยที่ตัวเราเองอาจจะไม่ได้ตระหนักถึงความสามารถเหล่านั้นในตัวก็ได้ หากหมั่นฝึกฝนพลิกแพลงดีๆ มันจะเป็นตัวช่วยเร่งปฏิกิริยา ช่วยปลดล็อคอะไรบางอย่าง งานที่เคยใช้เวลานานกว่าจะทำสำเร็จ อาจจะเสร็จได้ไม่ระยะเวลาไม่กี่นาทีหรือไม่กี่วินาที

แต่ก็ต้องยอมรับครับว่าคนเราไม่สามารถที่จะติดตามทุกสิ่งทุกอย่างได้หมด มันจะทำให้เหนื่อยมากจนเกินไป จนเสียสมดุลชีวิต สูญเสียความสัมพันธ์ไปซะเปล่าๆ สุดท้ายครับ ผมอยากจะเอาคำพูดของคุณครูใหญ่โรงเรียนนานาชาติที่ลูกชายผมเรียนอยู่มาบอกกันครับ

” คุณควรจะรู้บ้างในทุกๆเรื่อง แต่คุณจะต้องรู้ทุกอย่างในเรื่องบางเรื่อง “

” You should know something about everything and You MUST know everything about something “

แล้วพบกันในบทความหน้า สวัสดีครับ


บทความเรื่อง เกิดอะไรขึ้นในโลก… ทำไมบิตคอยน์ถึงได้ถือกำเนิดขึ้น : linkนี้ครับ บทความเรื่อง Minimalism : linkนี้ครับ บทความเรื่อง Learn bitcoin before you have to : linkนี้ครับ บทความอื่นๆที่ผมเขียนไว้ เอา npub ผมไป search ใน yakihonne ได้ครับ

ผลงาน AI ที่ผมสร้าง

Showcase ดูฟรี https://www.pixiv.net/en/users/79867457 https://www.pinterest.com/rklectio/

Exclusive contents high quality download https://www.patreon.com/hikariharmony

**หมายเหตุ อนาคตมีแผนทำ AI exclusive บน nostr เหมือนกันครับ แต่ตอนนี้ยังไม่มี client ไหนถูกใจ


#ai #storyteller #storytelling
Author Public Key
npub139r6j3fhhhxjucksksxm2a3kan3sx3dq7c7gq66npf03lxlu7cnqq9d68j