หลายคนอาจไม่รู้ว่าผมพึ่งเขียน Long-form ใหม่ไปเมื่อวาน.. ส่วนโน๊ตนี้ผมตั้งใจจะถ่ายทอดอีกหนึ่งเทคนิคในการเขียนบทความให้พวกเราฮะ ✌️
เสียงผู้คนจ๊อกแจ๊กจอแจดังทั่วห้อง..
ทั้งเสียงผู้ป่วยที่กำลังเม้ามอยกันโขมงโฉงเฉง ผสานเข้ากันแบบมั่วๆ กับเสียงของเจ้าหน้าที่ ซึ่งบ้างก็ตะโกน บ้างก็ใช้ไมโครโฟนเพื่อแข่งกับมวลเสียงทั้งหมดในห้องรองรับผู้ป่วยนอกอันโอ่อ่า..
ภาพเดิมๆ ที่วนซ้ำเข้ามาในชีวิตประจำวันของผม มันช่างน่าเบื่อและแสนเหนื่อยหน่าย..
ผมหยิบหูฟังคู่ใจขึ้นมาเปิดเพลงฟังคลอๆ เป้าหมายก็แค่จะกลบเสียงพวกนั้นที่เริ่มจะทำให้ผมเซ็งตั้งแต่เช้า..
เพลงแรกในเพลย์ลิสต์ที่ดังขึ้นมาคือเพลง “Shadow of the day” ของ Linkin Park จากอัลบั้ม Minutes to Midnight (เพลงดังสุดๆ ในอัลบั้มนี้ก็คือเพลง “What I’ve Done” เพลงประกอบภาพยนตร์ Transformers อันคุ้นหูนั่นล่ะครับ)
จากนั้นทำนองอันคุ้นเคยก็ค่อยๆ โผล่แบบเลือนลางเข้ามา มันปลุกความทรงจำอันหลับไหลของผมให้ตื่นขึ้น
ย้อนกลับไปในยุค 2000s ที่เต็มไปด้วยสีสัน ความเปลี่ยนแปลง และเสียงเพลงส่วนใหญ่ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนได้อย่างชัดเจน ผมในตอนนั้นก็เป็นแค่หนุ่มน้อยวัย 20 ต้นๆ ที่ดำเนินชีวิตพลุ่งพล่านไปวันๆ ตามท่วงทำนองในแบบผู้แทนขาย เอื่อยเฉื่อยไปกับการขับรถตะลอนทัวร์ไปทั่วไทย เคล้าไปกับเสียงเพลง ปาร์ตี้และเพื่อนฝูง
จำได้ว่า.. ตอนนั้นโลกออนไลน์ยังแค่เพิ่งเริ่มบูม
อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังเป็นเรื่องไกลตัว มือถือที่ใช้ก็ยังเป็นแค่รุ่นกดปุ่ม โทรออก รับสาย ฟังเพลง MP3 ได้บ้างเท่านั้น การจะอัปเดตเทรนด์ใหม่ๆ หรือฟังเพลงเพราะๆ ต้องพึ่งพาวิทยุ รายการเพลงทางทีวี หรือไม่ก็ต้องฝากเพื่อนซื้อเทปผีซีดีเถื่อน (ซึ่งใครๆ เค้าก็ทำกันอะนะ.. ถ้าเคยได้ยินคำว่า “แผ่นแม่สาย” คุณก็คงไม่เด็กแล้วล่ะ)
แต่มันก็ไม่มีอะไรจะเติมเต็มความเป็นวัยรุ่นให้กับผมได้ดีไปกว่าเสียงเพลงอันหนักแน่น ดิบ เท่ ของวง Linkin Park อีกแล้ว
ในยุคที่ดนตรี Nu Metal กำลังเฟื่องฟู พวกเขาคือวงดนตรีที่ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ๆ ให้กับวงการเพลง ด้วยดนตรีที่ผสมผสานระหว่าง Rock, Hip-Hop และ Electronic บวกกับเนื้อหาเพลงที่สะท้อนถึงความรู้สึกของวัยรุ่นที่กำลังสับสน โดดเดี่ยว และโหยหาบางอย่าง.. ตัวตน Linkin Park เลยกลายเป็น “ไอคอน” ของ “คนบางกลุ่ม” ในรุ่นนั้นไปโดยปริยาย
ผมยังจำได้อยู่เลย ตอนได้ฟังเพลง In the End เป็นครั้งแรก ผมตื่นเต้นมาก!
ทำนองเพลงติดหู เสียงร้องที่ทรงพลัง เนื้อเพลงที่บาดลึก มันเหมือนกับว่า Chester Bennington นักร้องนำกำลังร้องเพลงแทนความรู้สึกของเราอยู่ (น่าเสียดายที่แกจากโลกนี้ไปแล้ว) และไม่ใช่แค่ผมคนเดียว เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในยุคนั้นต่างก็หลงใหลในเสียงเพลงของ Linkin Park ด้วยเช่นกัน
พวกเราร้องเพลงของพวกเขา แชร์เพลงโปรดให้กันฟัง ไปดูคอนเสิร์ตด้วยกัน (แต่คอนเสิร์ตที่เมืองทองผมไม่ได้ไป ตอนนั้นใส่เฝือกที่ขาเลยอด เสียดายมากจริงๆ) มันเป็นมากกว่าแค่การฟังเพลงนะสำหรับผม
มันคือการแบ่งปัน “ความทรงจำ” ร่วมกัน
แต่แล้วกาลเวลาก็ล่วงเลยผ่าน.. ยุคสมัยเปลี่ยนผัน วงการเพลงก็หมุนเวียนตามไปด้วย Linkin Park เองก็เช่นกัน.. พวกเขาเติบโตขึ้น ดนตรีก็พัฒนาไปในแบบเฉพาะของตัวเอง (ก็มีทั้งคนที่ชอบและเฉยๆ กับเพลงใหม่ๆ ของพวกเขาแหละ)
สำหรับผมเหรอ?
ทุกครั้งที่ได้ยินเพลงของพวกเขา ผมก็เหมือนถูกดึงกลับไปสู่ช่วงเวลาเก่าๆ อีกครั้ง ได้ระลึกถึงความฝัน ความกลัว ความหวัง และมิตรภาพดีๆ ที่เคยมีร่วมกันกับบรรดาเพื่อนฝูงในยุคนั้น
และนี่ก็มาถึงพ้อยท์สำคัญของบทความนี้จนได้..
ทำไมเสียงเพลงถึงมีอิทธิพลต่อความทรงจำของเรา (ผม) ได้มากขนาดนี้?
ทำไมเราถึงจำเรื่องบางเรื่องได้อย่างแม่นยำ แต่กลับลืมเรื่องบางเรื่องไปได้อย่างสิ้นเชิง?
คำถามมากมายผุดขึ้นมาในหัว ราวกับจะชวนให้ผมเดินทางเข้าไปสำรวจโลกใบลับ ณ ส่วนลึกที่สุดของสมองมนุษย์…
ไขความลับของห้องสมุดในหัวเรา
เรื่อง “ความทรงจำ” สำหรับผมมันค่อนข้างน่าทึ่ง
มันเหมือนเรามีห้องสมุดส่วนตัวระดับหอสมุดแห่งชาติอยุู่ในหัวเรา บางทีผมก็แอบงงๆ อยู่เหมือนกันว่ามันเก็บหนังสือ (ความทรงจำ) ของเราไว้ยังไง ด้วยวิธีการแบบไหน?
แล้วตอนที่เราจะหาหนังสือเก่าๆ หาสักเล่มมาอ่านเนี่ย.. มันหาเจอได้ยังไง?
ผมพยายามค้นคว้าศึกษาเรื่องพวกนี้มานานพอสมควร ซึ่งผมก็พบว่าเอาจริงๆ แล้ว นักวิทยาศาสตร์เค้าก็ยังงงๆ กับเรื่องความทรงจำนี่เหมือนกัน จริงๆ เค้าก็พอจะรู้บ้างแล้วล่ะว่ามันน่าจะเกี่ยวกับ “เซลล์ประสาท” (nuerons) ในสมองของเรานี่เอง
เซลล์สมองในความเข้าใจของผมมันก็คล้ายกับ “คนส่งจดหมาย” ที่แต่ละเซลล์จะเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายโยงใยไปทั่ว พอเราได้เจอหรือได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มันก็เหมือนกับการส่งจดหมาย ซึ่งยิ่งเราส่งบ่อยๆ เส้นการการส่งมันก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้น (เหมือนทางลัดที่เราใช้อยู่ประจำ ที่เราเดินจนหญ้าตายหมดกลายเป็นเส้นทางชัด)
ทีนี้ความทรงจำในวัยเด็กหรือในอดีตอันไกลโพ้นก็เหมือนจดหมายเก่าๆ ที่เราเก็บเอาไว้ในลิ้นชักแบบลึกสุดๆ ซึ่งบางทีเราก็ลืมไปแล้วว่ามันเคยมีอยู่ แต่พอได้กลิ่นอะไรบางอย่าง (หมายถึงกลิ่นจริงๆ ที่สัมผัสได้ผ่านจมูก) ได้ยินเพลงบางเพลง หรือเห็นรูปภาพบางรูป ก็เหมือนมีคนมาสะกิดให้เรานึกถึงจดหมายฉบับนั้นขึ้นมาได้นั่นเอง..
ว่าแต่.. พวกเราเคยเป็นกันบ้างไหม?
บางที.. เราก็จำเรื่องที่ไม่คิดว่าจะจำได้ขึ้นมาได้ซะอย่างงั้น ส่วนเรื่องที่พยายามท่องจำดันลืมมันซะเฉยเลย สมองของมนุษย์เรามันช่างน่าอัศจรรย์และในขณะเดียวกันมันเต็มไปด้วยความซับซ้อน บางครั้งเราอาจจะลืมเรื่องสำคัญกันไปบ้าง แต่เรากลับไปจดจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เหมือนสมองของเราจะเป็นคนกำหนดเองเลยว่าจะจำอะไร จะลืมอะไร ซึ่งจริงๆ มันก็อาจจะมีเหตุผลของมันอยู่นะ (ที่บางทีก็ดูไม่ค่อยมีเหตุผล)
เรื่องที่เราจำได้แบบงงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ “กระตุ้นอารมณ์” ของเราแบบสุดๆ ไปเลย อย่างเช่น ความทรงจำในวัยเด็กตอนไปเที่ยวดูหนังกลางแปลงครั้งแรก (โทษทีที่ผมยกตัวอย่างได้แก่มากไปหน่อย) ซึ่งเรามักจะรู้สึกตื่นเต้น สนุก และประทับใจแบบสุดๆ หรือวันที่เราเลิกกับแฟนแบบเจ็บๆ เสียใจ จนร้องไห้ฟูมฟาย หรือตอนที่โดนอาจารย์ตำหนิต่อหน้าเพื่อนทั้งห้อง เราอายจนแทบอยากมุดดินหนี..
จำได้แม้กระทั่งตอนนั้นเรากินอะไร เราใส่เสื้อผ้าสีอะไร อาจเพราะตอนนั้น “อะดรีนาลีน” ของเรามันกำลังพลุ่งพล่าน สมองเลยบันทึกความทรงจำนั้นไว้ได้แบบเหนียวแน่นชัดเจน
ส่วนเรื่องที่เราพยายามจะท่องจำแต่ดันลืมเนี่ย ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นเรื่องที่เรา “ไม่ค่อยได้ใช้” หรือมันอาจ “ไม่น่าสนใจ” สำหรับสมองเรา
เช่น สูตรเคมีที่เคยเรียนตอน ม. ปลาย (ยกเว้นว่าคุณจะเป็นนักเคมี), เนื้อหาในหนังสือเรียนที่อ่านผ่านๆ ตอนใกล้สอบ หรือเบอร์โทรศัพท์ของเพื่อนใหม่ที่เพิ่งเจอกัน (สมัยนี้กด Save ในมือถือเอา ไม่ก็แอดเฟรนด์จนแทบไม่รู้สึกว่าต้องจำอะไรแล้ว)
ผมรู้สึกได้เลยว่า.. สมองเรานี่มันขี้เกียจ มันจะพยายามประหยัดพื้นที่อยู่ตลอดเวลา และเลือกจะเก็บแต่เรื่องที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ เท่านั้น แต่บางทีผมก็แอบเซ็งอยู่เหมือนกัน อยากจะบอกกับสมองตัวเองว่า
“นี่ๆ จำเรื่องนี้ไว้หน่อยสิ! ไอ้บ้า มันสำคัญนะเว้ย!”
มีอีกอย่างที่ผมสงสัย.. คือเรื่อง “การทริกเกอร์ความทรงจำ” ระยะยาว ซึ่งก็น่าสนใจมากๆ
เราเหมือนมีกุญแจไว้คอยไขลิ้นชักลับในหัวของเราเอง บางทีกุญแจนั้นก็อาจจะแค่ “กลิ่น” บางอย่าง หรือ “เสียงเพลง” บางเพลงหรือแม้กระทั่ง “ภาพเก่าๆ” บางภาพมันก็ช่วยปลดล็อคความทรงจำเก่าๆ ที่เราลืมไปแล้วได้เฉย
ผมไปค้นคว้าต่อเลยได้รู้มาคร่าวๆ ว่าไอ้สิ่งนี้มันมีชื่อเรียกเท่ๆ ว่า “การหล่อเลี้ยงความทรงจำ” (memory retrieval)
ผมจะเปรียบเทียบยังไงดีล่ะ..?
มันน่าจะเหมือนกับการ “ล่อเหยื่อ” ล่ะมั้ง ซึ่ง “เหยื่อ” ที่ว่านี่อาจจะเป็น.. “เหยื่อแบบสัมผัส”(sensory cues) ที่แค่เราได้กลิ่นปลาทูทอด มันก็พาเราย้อนกลับไปตอนที่เรายังเด็กที่แม่เคยทำให้กินในตอนเช้า หรือจะเป็น “เหยื่อแบบอารมณ์” (emotional cues) ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพกันง่ายๆ ก็เช่น เพลงเศร้าๆ ที่พาเรานึกถึงแฟนเก่าที่เลิกรากันไปแล้ว (อันนี้ไม่เอาดีกว่า ไม่อยากไปลึก ฮ่า)
ยังมี “เหยื่อแบบบริบท” (contextual cues) ลองนึกถึงตอนที่มีโอกาสได้กลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่าสิ มันทำให้เรานึกถึงเพื่อนๆ นึกถึงกิจกรรมสนุกๆ ในอดีตได้บ้างหรือเปล่า หรือแม้แต่อาจารย์ที่เคยดุเรา.. ใช่มะ?
ทีนี้พอเหยื่อเกี่ยวเบ็ดปุ๊บ สมองเรามันจะทำงานแบบอัตโนมัติยังกับระบบค้นหาข้อมูลอัจฉริยะ มันจะเชื่อมโยง “เหยื่อ” เข้ากับ “ความทรงจำ” ที่เกี่ยวกันให้เราทันที
ซึ่งบางทีก็ทำให้เราจำรายละเอียดเป๊ะๆ ได้เลยยังกับฉายหนังกลางแปลง แต่บางทีมันก็อาจเลือนลาง เราอาจจำได้แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น เหมือนมีจิกซอว์บางชิ้นที่ขาดหายไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย (บอกแล้วว่ามันซับซ้อน) ทั้งความเข้มข้นของอารมณ์ในตอนบันทึกความทรงจำนั้น หรือความถี่ในการนึกถึงมัน ไปจนถึงเรื่องสุขภาพร่างกายและจิตใจของเราเองในตอนนั้นเลย
ทีนี้ลองกลับมาลองอธิบายต้นเรื่องของบทความนี้กัน..
“เพลงกับความทรงจำ” นี่ก็เพราะสมองส่วนการได้ยิน (auditory cortex) กับส่วนความทรงจำ มันเชื่อมต่อกันแน่นหนามาก พอเราได้ยินเสียงเพลงที่คุ้นเคย สมองมันจะปลดล็อคความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับเพลงนั้นได้แบบอัตโนมัติ
สิ่งที่น่าทึ่งคือ..
เพลงสามารถปลุกความทรงจำที่เราลืมไปแล้วได้ด้วย!
ราวกับว่าบทเพลงพวกนี้มันมีพลังวิเศษบางอย่างซุกซ่อนอยู่เลยแฮะ
ซึ่งมันก็มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องพวกนี้โดยเฉพาะที่พบว่า “เพลง” สามารถกระตุ้นความทรงจำในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ (ความจำเสื่อม) ได้ดีกว่า “รูปภาพ” หรือ “กลิ่น” เสียอีก
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า “ทำนองเพลง” (melody) “จังหวะ” (rhythm) และ “เนื้อเพลง” (lyrics) มันทำงานร่วมกัน เพื่อกระตุ้นสมองหลายส่วนพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดการเชื่อมโยงความทรงจำได้ดีกว่า
(ข้อมูลเพิ่มเติมผมจะแนบไว้เป็นเชิงอรรถท้ายบทความนะ)
สำหรับผม.. เพลงส่วนใหญ่ของ Linkin Park คงเป็นมากกว่าแค่เสียงเพลง ผมจึงตั้งชื่อบทความนี้ว่า “เสียงแห่งความทรงจำ” ที่ได้มีส่วนช่วยบันทึกช่วงเวลา ความรู้สึก และประสบการณ์ในอดีตบางส่วนของผมไว้
แล้วทำไมเราถึงชอบฟังเพลงเก่าๆ กันล่ะ?
ผมพยายามหาเหตุผลอยู่นานเหมือนกัน บางทีเราก็แค่อยากฟังเพลงเก่าๆ เพราะมันเพราะ ฟังแล้วอิน ฟังแล้วรู้สึกดี โดยที่ไม่ได้คิดจะไปรื้อฟื้นอดีตอะไรจริงจังขนาดนั้น
แต่รู้มั้ยว่า.. แค่การฟังเพลงยุคเก่าโดยไม่รู้ตัวเนี่ย มันก็เป็นการ “ทดสอบความทรงจำ” แบบหนึ่งไปในตัวแล้วนะ เพราะสมองเรามันไม่ได้หยุดทำงาน มันบันทึกและเชื่อมโยงข้อมูลตลอดเวลาแม้เราจะไม่รู้ตัวก็ตาม
อย่างเวลาเราได้ยินเพลงที่คุ้นเคย สมองส่วน “ฮิปโปแคมปัส” (hippocampus) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำระยะยาวจะถูกกระตุ้นให้ทำงานทันที มันจะพยายาม “ค้นหา” ว่าเพลงนี้เคยถูกบันทึกไว้ในลิ้นชักไหน เชื่อมโยงกับช่วงเวลา, สถานที่ และอารมณ์แบบไหนของเราในตอนนั้น..
บางที “ทำนองเพลง” (melody) ก็อาจจะพาเราย้อนไปถึงตอนเด็กๆ ที่เคยฟังกับพ่อแม่ กับญาติๆ กับเพื่อน หรือ “เนื้อเพลง” บางท่อนอาจจะทำให้นึกถึงความรักครั้งแรกที่ฟังแล้ว “อิน” เป็นพิเศษ (เคยเป็นกันไหมล่ะ?)
ถึงแม้เราจะไม่ได้ตั้งใจ แต่สมองเรามันก็ทำงานเบื้องหลัง มันช่วยรื้อฟื้นความทรงจำเก่าๆ ออกมาให้โดยไม่รู้ตัว นั่นแหละ.. อาจจะคือเหตุผลที่ว่าทำไมเวลาฟังเพลงเก่าๆ แล้วเรามักจะรู้สึก “คิดถึง” “อบอุ่น” หรือ “เศร้า” ปนๆ กันไป
การฟังเพลงยุคเก่า จึงเปรียบเสมือนการเดินทางย้อนเวลาในห้วงความทรงจำแบบไม่รู้ตัวนั่นเอง ซึ่งเอาจริงๆ เราก็แค่ “สนุกไปกับมัน” ผมไม่ได้คิดจะชวนให้เราซีเรียสไปกับเรื่องพวกนี้ ไม่ต้องจริงจังว่าจะ “จำ” อะไรได้มากแค่ไหน แค่ได้รื้อฟื้นความทรงจำเก่าๆ บ้าง (ต้องไม่ใช่เรื่องแย่ๆ ด้วยนะ)
มันก็เหมือนเราได้ท่องไปในโลกเวลานั้นอีกครั้ง มันมีความสุขจะตายไป
อีกหนึ่งคำถามเมื่อสมองเราเริ่มงอกเพราะการศึกษาเรื่องแบบนี้ ก็คือ..
สมองเรามันสามารถบันทึกความจำได้มากขนาดไหนกันนะ?
นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มบอกว่า “ความจุ” ของสมองเนี่ย มันแทบจะ “ไม่มีขีดจำกัด” ขนาดนั้นเลย
คือต่อให้เราพยายามจำ พยายามยัดสิ่งต่างๆ เข้าไปในสมองทั้งชีวิต สมองของเรามันก็ยังมีพื้นที่เหลือเฟือให้เรายัดเข้าไปได้อีกเรื่อยๆ
แต่บางกลุ่มก็บอกว่า “มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น” เพราะความทรงจำมันไม่ได้เหมือนไฟล์ข้อมูลที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ แต่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนกว่ามากๆ มันเกี่ยวข้องกับสารเคมี การเชื่อมต่อกันของเซอลล์ประสาท และยังมีการทำงานของสมองอีกหลายๆ ส่วนประกอบกัน
มาลองคิดให้อินเทรนด์เพิ่มขึ้นหน่อย ผมจะลองเปรียบเทียบสมองมนุษย์กับ AI ในแง่มุมนี้ดูบ้างก็แล้วกัน
AI นั้นเหมือน “เด็กเรียนเก่ง” ที่ได้อ่านหนังสือมาเป็นล้านๆ เล่ม จดจำข้อมูลทั้งหมดได้อย่างมากมายมหาศาล แต่ทว่าทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียง “ข้อมูลดิบ” ที่ถูกมนุษย์ป้อนเข้าไปให้ ในขณะที่สมองมนุษย์มีความสามารถในการเรียนรู้มากกว่านั้น เราเรียนรู้จาก “ประสบการณ์จริง” ได้ด้วย ด้วยการสัมผัส รูป รส กลิ่น เสียง รวมไปถึงอารมณ์ ความรู้สึก ทั้งหมดผสมปนเปกันกลายเป็น “ความทรงจำที่มีสีสัน” มีชีวิตชีวามากกว่าความจำในแบบของ AI
AI นั้นแม่นยำสุดๆ คิดคำนวณได้เป๊ะ ไม่มีลืม ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเราป้อนข้อมูลผิดพลาดให้มัน มันก็จำอะไรที่พลาดๆ นั้นได้จนขึ้นใจเหมือนกัน ส่วนสมองมนุษย์บางทีก็จำมั่วๆ บ้าง ลืมบางอย่างไปบ้าง แต่เราก็มี “สามัญสำนึก” เราปรับตัวเก่งแถมยัง “คิดเชิงนามธรรม” ได้อีกด้วย
AI ลบข้อมูลที่เคยรู้ได้ง่ายๆ เพียงแค่กด delete มันก็แค่หายไปจากหน่วยความจำ แทบไม่มีผลกระทบอะไรต่อตัวมัน
แต่การจะ “ลืม” ของมนุษย์มันซับซ้อนกว่านั้น บางอย่างเราลืมไปแล้วแต่มันก็ยังทิ้งร่องรอยเอาไว้ ยังส่งผลต่อความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของเราไปโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ AI ยังเก่งเรื่อง “ประสิทธิภาพ” ทำให้มันทำงานซ้ำๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ส่วนมนุษย์เราน่ะหรอ? เราถนัด “คิดนอกกรอบ” และเก่งมากในการจินตนาการเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
เห็นไหมล่ะ.. ผมไม่เถียงว่า AI ตอนนี้พัฒนาไปมากและคงจะไปได้อีกไกล แต่มันก็ยังเลียนแบบความมหัศจรรย์ของสมองมนุษย์ได้ไม่ทั้งหมดหรอกครับ อย่างน้อยก็อีกนานกว่าจะทำได้ (มั้ง) เอาเป็นว่าเรื่อง AI ผมคิดยังไงกับมันค่อยหาโอกาสไปว่ากันในบทความอื่นๆ ก็แล้วกัน
ทีนี้มาว่ากันที่คำถามถัดไปที่คงจะเหมือนเพลง “ความทรงจำสีจาง” ของพี่มี่ ไอ้ที่จางๆ ผมก็พอเข้าใจได้ แล้วเอาจริงๆ มันหายไปเลยได้ไหมล่ะ?
เรื่อง “ความทรงจำหายไป” มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะเซลล์ประสาทในสมองเรามันก็เสื่อมสภาพได้ตามกาลเวลา เหมือนต้นไม้ที่ค่อยๆ เหี่ยวเฉา ถ้าเราไม่ดูแลตัวเอง เช่น นอนน้อย เครียดบ่อย กินอาหารไม่ดี ก็อาจจะทำให้สมองเสื่อมเร็วกว่าปกติได้
แต่ข่าวดีคือ…
สมองเรามันก็เหมือนกล้ามเนื้อที่ยิ่งฝึกฝนยิ่งแข็งแรง!
เราสามารถชะลอความเสื่อม และกระตุ้นการสร้างเซลล์สมองใหม่ได้ด้วยการฝึกใช้สมองอยู่เสมอ ง่ายๆ เลยก็อ่านหนังสือ เล่นเกมฝึกสมอง (เกมที่เล่นแล้วหัวร้อนผมไม่นับ) เรียนภาษาใหม่ๆ หรือดูแลสุขภาพกายใจให้แข็งแรง กินอาหารบำรุงสมอง (ต้องไปถามหมอเอกเอาเองนะ) ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และจัดการความเครียด (ซึ่งเอาจริงๆ มันคือข้อเดียวที่ผมทำได้ นอกนั้นทำไม่ได้สักอย่าง ฮ่า)
เพราะงั้น.. ไม่ต้องกังวลเรื่องความจำเต็ม แค่หมั่นดูแลตัวเองสมองเราก็จะอยู่กับเราไปได้นานๆ เอง สมองเรามันเทรนได้ เหมือนฝึกกล้ามเนื้อนั่นแหละ ยิ่งฝึกบ่อย ยิ่งจำแม่น ผมมีเทคนิคฝึกความจำเยอะแยะเลย ลองเอาไปปรับใช้ดูนะ
อย่างแรกลอง “เชื่อมโยงกับเรื่องที่รู้จัก” เวลาอยากจำอะไรใหม่ๆ ลองโยงเข้ากับสิ่งที่เรารู้จักอยู่แล้วสิ เช่น จำชื่อ “คุณมะพร้าว” ก็ให้นึกถึงลูกมะพร้าวสด คราวหน้าเจอหน้ากันก็นึกถึงมะพร้าวเข้าไว้ รับรองจำชื่อได้แม่น
อ้อ.. ยัยมะพร้าวนี่เอง
หรืออาจจะ “ใช้ภาพและจินตนาการ” เพราะสมองเรามันชอบภาพ เวลาจำอะไรลองวาดภาพในหัว ยิ่งเว่อร์ ยิ่งตลก ยิ่งจำง่าย! เช่น ภาพปกคลิปแบบสมนึก (เอ้ย! หยอกๆ )
ยกตัวอย่างแบบนี้ดีกว่า.. สมมุติเราอยากจำว่าพรุ่งนี้ต้องซื้อ “นม” “ไข่” “เนื้อวัว” หลังได้ฟังหมอเอกมาแล้วก็เกิดร้อนวิชาขึ้นมาไรงี้ เราก็ลองจินตนาการว่า.. นมกล่องยักษ์กำลังวิ่งไล่จับไข่วัวที่แอบขโมยไข่ในเล้า ฮ่าๆ มันฮาดี รับรองจำได้ไม่ลืมแน่
จากนั้นก็ลอง “ทบทวนแบบเว้นระยะ” อย่าท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทองแต่ให้ทบทวนแบบเว้นระยะ เช่น วันนี้จำได้แล้ว พรุ่งนี้ทวนอีกที มะรืนนี้ทวนอีก สมองจะได้ไม่ลืมมันไปง่ายๆ
และเราอาจ “แบ่งข้อมูลเป็นส่วนย่อยๆ” ถ้าต้องจำอะไรยาวๆ อย่าพยายามยัดเข้าไปทีเดียว ให้เราลองแบ่งเป็นส่วนย่อยๆ แล้วค่อยๆ จำทีละส่วนสมองจะประมวลผลได้ดีกว่า ไม่เชื่อก็ลองดูนะ (ผมทำแบบนี้บ่อย และมันได้ผล)
สุดท้ายมันอาจจะดูน้ำเน่าหน่อยๆ คืออย่าลืม “ดูแลสุขภาพ” อย่าลืมว่าสมองก็ต้องได้รับการดูแลไม่ต่างจากอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ซึ่งจะช่วยให้สมองทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (แต่ละคนก็คงมีรูปแบบในการดูแลตัวเองต่างกันไปแหละ)
เอาล่ะ.. เรารู้ความลับเบาๆ เกี่ยวกับสมองแล้วมันได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
ผมเริ่มต้นบทความด้วยเพลง ย้อนอดีตไปไกลแล้ววกมาเรื่องวิขาการ ผมอยากจะสื่ออะไรแน่?
แค่อยากจะชวนให้คิดว่าเรื่องสมองกับความทรงจำมันไม่ใช่แค่เรื่องวิทยาศาสตร์ไกลตัวเลย ความเข้าใจเหล่านี้เราสามารถนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้นะ.. ถ้าอ่านจนจบคุณก็จะได้ของฝากติดไม้ติดมือกลับไปเพียบเลย
บทความนี้ผมกระตุ้นให้พวกเราได้ “รู้จักกับสมองตัวเองมากขึ้น” ซึ่งบางคนก็อาจไม่เคยฉุกคิดมาก่อนว่าสมองเราเจ๋งขนาดไหน มันมีศักยภาพซ่อนอยู่เพียบเลยใช่ไหมล่ะ? ซึ่งพอเรารู้ว่า “ความทรงจำ” มันมีอิทธิพลต่อความคิดและการกระทำของเรามากแค่ไหน เราก็จะเริ่ม “ใช้ชีวิตได้อย่างมีสติ” มากขึ้น มันทำให้เราระมัดระวังในการใช้ชีวิตเพื่อจะสร้าง “ความทรงจำดีๆ” ให้ตัวเองมากขึ้นไง และเราก็รู้ว่าเราสามารถฝึกสมองของตัวเองได้ (ถ้าขี้เกียจทำให้ต้วเองก็ลองเอาไปฝึกลูกดูครับ) อย่าลืมดูแลสุยภาพของตัวเองด้วยละกัน
สุดท้ายก็คือ “คุณค่าของความทรงจำ”
ไม่ว่าจะเรื่องดีหรือเจ็บปวด มันก็ล้วนหล่อหลอมให้เราเป็นเราในวันนี้ทั้งนั้นเลย.. ใช่ไหมล่ะ?
ถอดรหัสเพลง Shadow of the Day กับความหมายที่ซ่อนอยู่
เอาล่ะ.. ผมไม่ได้เขียนบทความมานานแล้ว เลยอยากจะขอแถมให้อีกหน่อยเกี่ยวกับเพลง Shadow of the Day ที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของบทความนี้
Shadow Of The Day [Official Music Video]
เอาจริงๆ เพลงนี้มันมีความหมายที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับ “การยอมรับความเปลี่ยนแปลง” “การก้าวผ่านช่วงเวลาที่มืดมน” และ “การก้าวเดินต่อไปข้างหน้า” อย่างเข้มแข็ง เพราะเนื้อเพลงนี้ได้พูดถึงการปิดกั้นตัวเองเอาไว้
“I close both locks below the window, I close both blinds and turn away” [ฉันปิดกลอนหน้าต่างซ้อนสองชั้น ก่อนจะดึงผ้าม่านกั้นแสงสว่างจากภายนอก ราวกับพยายามขังตัวเองไว้กับความมืดมิดภายในใจ]
ซึ่งอาจเป็นการเปรียบเทียบถึงการพยายามหนีจากความจริง หรือความเจ็บปวดบางอย่าง เป็นความรู้สึกที่เราทุกคนน่าจะเคยประสบ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนรัก ความผิดหวัง หรือแม้กระทั่งการจากลา
เนื้อเพลงไม่ได้บอกชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ท่อน
“Sometimes solutions aren’t so simple, Sometimes goodbye’s the only way” [บางครั้งทางออกของปัญหาก็ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิด การบอกลา อาจเป็นหนทางเดียวที่หลงเหลืออยู่]
ทำให้เรารู้สึกได้ถึงทางตัน ถึงการตัดสินใจที่ยากลำบาก และการยอมรับว่าบางครั้งการบอกลาอาจจะเป็นทางออกเดียว
ท่อนที่วนซ้ำไปมา..
“And the sun will set for you, The sun will set for you” [ดวงตะวันลาลับขอบฟ้าไปแล้ว แม้แต่แสงสุดท้ายก็จางหาย ไม่ต่างอะไรกับช่วงเวลาในชีวิต])
ราวกับเสียงกระซิบที่คอยย้ำเตือนถึงความมืดมิด ความเศร้า ที่กำลังคืบคลานเข้ามา เปรียบเสมือนเงาที่ค่อยๆ กลืนกินโลกใบนี้ เป็นการยอมรับว่า “ความทุกข์” เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยง
แต่ในขณะเดียวกัน.. เพลงนี้ก็แฝงไปด้วยความหวัง
ท่ามกลางความหม่นเศร้านั้น Linkin Park ก็ได้ทิ้งแสงสว่างเล็กๆ ไว้ให้ในท่อน
“And the shadow of the day will embrace the world in gray” [โลกทั้งใบจะถูกโอบกอดไว้ด้วยเเเสงเทาหม่นของวันใหม่]
แม้ในความมืดมิด ก็ยังมีแสงสว่างรออยู่เสมอ.. แม้ตะวันจะลับขอบฟ้าไป แต่มันจะกลับมาส่องแสงอีกครั้งในวันใหม่
สำหรับผม.. เพลง Shadow of the Day จึงไม่ใช่เพลงเศร้า แต่มันเป็นเพลงที่ช่วยให้กำลังใจทุกๆ คน ทำให้เรา “ทบทวนตัวเอง” ยอมรับในความเป็นจริง และก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง เช่นเดียวกับชีวิตของเราที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย ที่บางครั้งก็สวยงาม บางครั้งก็เจ็บปวด แต่ไม่ว่าจะสุขหรือเศร้า มันก็ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ “หล่อหลอม” ให้เราเติบโตเป็นเราในวันนี้แทบทั้งสิ้น
ผมจำบรรยากาศของเพลงนี้ที่เต็มไปด้วยเมโลดี้ติดหูได้ขึ้นใจ
ทำนองผสมผสานกับดนตรีที่ลงตัว ทั้งกีตาร์ เปียโน และเสียงร้องอันทรงพลังของ Chester บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของวง Linkin Park ที่ในเพลงนี้ได้มีการผสานดนตรี Alternative Rock เข้ากับเนื้อหาที่ลึกซึ้งได้อย่างพอดิบพอดี
ภาพในหัวผมที่ผุดขึ้นมาไวไว คือ ผมกำลังขับรถชิลล์ๆ จากตัวเมืองโคราชไปที่อำเภอเสิงสาง ผมเปิด CD อัลบั้มนี้วนซ้ำเรื่อยๆ โดยเฉพาะเพลงนี้ที่บีทช้าๆ ของมันกระแทกฝากระโปรงหลังของ CK4 คู่ใจ โหลดเตี้ย ท่อดัง แต่งเครื่องเสียง จนกระเพื่อมไม่ยอมหยุด
และหาก Shadow of the Day คือการยอมรับในความเป็นไป เพลงถัดมาที่ผมชอบไม่แพ้กันอย่าง “Valentine’s Day” ก็คือเสียงคร่ำครวญถึง “ความสูญเสีย” เป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ที่กัดกินหัวใจ โดยเฉพาะในวันที่คนทั่วโลกเฉลิมฉลองความรัก (ซึ่งมันก็สะท้อนชีวิตโลดโผนโดดเดี่ยวทั่วไทยของผมในตอนนั้น)
Valentine’s Day - Linkin Park (Minutes To Midnight)
ท่อนแรก..
“My insides all turned to ash, so slow, And blew away as I collapsed, so cold” [ภายในใจฉันป่นปี้เป็นผุยผง ค่อยๆ แตกสลายลงอย่างเลื่อนลอย]
มันช่วยถ่ายทอดความรู้สึกเจ็บปวด ราวกับโลกทั้งใบพังทลายลงต่อหน้าต่อตา ร่างกายที่แหลกสลาย หัวใจที่เย็นชา เปรียบเสมือนเถ้าถ่านที่ปลิวหายไปกับสายลม
“A black wind took them away from sight, And held the darkness over day, that night” [มันราวกับร่างกายไร้จิตวิญญาณ ที่ถูกสายลมแห่งความมืดมิดพัดพาหายไปในคืนนั้น]
เปรียบได้กับ “พายุร้าย” ที่พัดพาเอาสิ่งสำคัญไป เหลือไว้เพียงความมืดมิดและความว่างเปล่า
ในวันที่ควรจะมีแต่ความสุข กลับมีเพียงความรู้สึกที่ “ขมขื่น” “ผิดหวัง”
“And the clouds above move closer, Looking so dissatisfied” [เมฆครึ้มเคลื่อนตัวเข้าใกล้ ราวกับสะท้อนความหมองหม่นในใจ]
และท่อน
“I used to be my own protection, but not now, ‘Cause my path has lost direction, somehow” [ครั้งหนึ่งฉันเคยเข้มแข็ง แต่ตอนนี้กลับอ่อนแอ เพราะเส้นทางที่ฉันเคยเดิน กลับเลือนหายไร้ทิศทาง…]
บ่งบอกถึงความสับสน ไร้ทิศทาง เหมือนคนหลงทาง ที่เคยเข้มแข็ง แต่กลับอ่อนแอลงเมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสีย
ซ้ำร้ายความเจ็บปวดยิ่งทวีคูณ เมื่อต้องเผชิญกับภาพที่คนรอบข้างกำลังมีความสุข ในขณะที่ตัวเองจมอยู่กับความเศร้า
“And the ground below grew colder, As they put you down inside” [และความหนาวเหน็บที่กัดกินหัวใจ ราวกับโลกทั้งใบกำลังพังทลายลงตรงหน้า]
“So now you’re gone, and I was wrong, I never knew what it was like to be alone, On a Valentine’s Day” [วันวาเลนไทน์ที่ควรสดใส กลับกลายเป็นวันที่ฉันต้องเผชิญกับความเดียวดายอย่างแท้จริง]
นี่เป็นท่อนที่ Chester ร้องซ้ำๆ ราวกับเสียงสะท้อนไปมา ส่งแรงสะท้อนถึงความ “โดดเดี่ยว” อย่างที่สุด.. ที่ต้องเผชิญกับความเหงาเพียงลำพังในวันที่คนอื่นเค้ามีคู่กัน
“Valentine’s Day” เป็นเพลงที่ “ฟังยาก” สำหรับใครหลายๆ คน เพราะมันเต็มไปด้วยความรู้สึก “เศร้า” “หดหู่” แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นเพลงที่ “จริงใจ” “สะท้อนความเป็นมนุษย์” ที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย
ซึ่ง Linkin Park ก็ไม่ได้พยายามปลอบใจหรือบอกว่าทุกอย่างจะโอเค แต่พวกเขา “อยู่เคียงข้าง” “เข้าใจความรู้สึก” และถ่ายทอดมันออกมาผ่านเสียงเพลง
ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ “เยียวยา” จิตใจของใครบางคนได้ดีที่สุดแล้ว..
เสียงเปียโทนต่ำมันสร้างบรรยากาศโศกเศร้าตั้งแต่เริ่มต้น เสียงกีตาร์ที่เกามาแบบ fingerpicking เพิ่มความรู้สึกเประบางให้กับเนื้อเพลง เสียงกลองที่เน้นจังหวะหนักแน่นแต่ช้า เสริมอารมณ์อันหดหู่ และเสียงร้องของ Chester ที่สื่อถึงความเจ็บปวด สิ้นหวัง ได้อย่างชัดเจน ก่อนจะปลดปล่อยความรู้สึกออกมาหมดในท่อนฮุค (ก็ชอบนั่นแหละ)
ทุกครั้งที่ผมได้ยินเสียงเพลงที่คุ้นเคยเหล้านี้ มันเลยเหมือนกับผมได้กลับไป “เยี่ยมเยือน” โลกใบเก่าที่แสนจะคิดถึง โลกของหนุ่มอิสรชนที่เต็มไปด้วยความทรงจำอันมีค่า ที่ผมจะไม่มีวันลืม…
// ปล. ในตอนนั้นผมไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับความรักเลยนะครับ เป็นแค่หนุ่มรักสนุกใช้ชีวิตโลดโผนเสี่ยงๆ คนนึง เพลงเหล่านี้เกี่ยวข้องกับความรู้สึก บรรยากาศ และความทรงจำในด้านอื่นของผมมากกว่า..
ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนจบนะครับ บทความนี้อาจจะดูมั่วๆ และมีหลากหลายรสชาติไปสักนิด จริงๆ ผมก็แค่คันไม้คันมืออยากจะหาอะไรเขียนเท่านั้นแหละ
แต่ผมก็อยากรู้และอยากเชิญชวนทุกคนให้แสดงความคิดเห็นต่อบทความนี้นะครับ
- เราได้เรียนรู้หรือได้ประโยชน์อะไรจากบทความนี้บ้าง? หรือมันก็ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจสักเท่าไหร่..
- เราชอบบทความแนวนี้กันไหม อ่านชิลๆ ยามว่างๆ ไม่ซีเรียสมากมาย
- ชอบส่วนไหนของบทความนี้มากที่สุด เพราะอะไร?
- แล้วพวกเรามีความทรงจำอะไรในอดีตที่นึกถึงกันบ้าง?
- จำได้ไหมว่าเราชื่นชอบมันเพราะอะไร?
- เราเข้าใจความหมายของเพลงพวกนั้นไหม?
- เราทำอะไรอยู่ในตอนนั้น?
เสียงเพลง..
เส้นใยบางๆ ที่คอยเชื่อมโยงช่วงเวลา ความรู้สึก และผู้คนให้กลับมาบรรจบกันอีกครั้ง 🎧✨
มันมีพลังมากพอที่จะปลุกความทรงจำที่หลับใหลให้ตื่นขึ้น พาเราย้อนกลับไปสัมผัสกับโลกใบเดิม รับรู้ถึง “ความรู้สึก” แบบเดียวกับที่เราเคยรู้สึกในวันนั้น
ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความเศร้า ความตื่นเต้น หรือแม้แต่ความเจ็บปวด ล้วนถูกบันทึกไว้ใน “ห้องสมุดความทรงจำ” ส่วนลึกในใจของเรา รอคอยวันที่เสียงเพลงจะปลดล็อค
แล้วเพลงไหนล่ะ? ที่ทำให้คุณนึกถึงอดีต…
อาจจะเป็นเพลงรักหวานซึ้งที่เคยฟังกับคนพิเศษ เพลงที่เปิดในรถคันเก่าตอนออกเดินทาง หรือแม้แต่เพลงเศร้าๆ ที่เราแอบร้องไห้คนเดียว
ลองหลับตาลง ปล่อยใจไปกับเสียงเพลง และปล่อยให้ความทรงจำพาเราย้อนเวลากลับไปอีกครั้ง…
บางที… ความทรงจำที่สวยงามที่สุดอาจจะไม่ใช่ “ภาพ” ที่ชัดเจน แต่เป็น “ความรู้สึก” ที่อบอุ่นหัวใจ
ลองแบ่งปันสู่กันฟัง ผมรอจะอ่านเรื่องราวของพวกเราบ้างนะครับ
เชิงอรรถ
การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Alzheimer’s Research & Therapy ได้ทำการศึกษาเพื่อสรุปผลกระทบของการบำบัดด้วยเพลงต่อฟังก์ชันการรับรู้ในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ ผลการศึกษาพบว่า.. มีการปรับปรุงฟังก์ชันการรับรู้หลังจากการใช้การบำบัดด้วยเพลง
บทความในวารสาร Brain ได้สำรวจเหตุผลที่ความทรงจำทางดนตรีอาจรอดพ้นจากการทำลายล้างของโรคอัลไซเมอร์ โดยพบว่าบางพื้นที่ของสมองที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำทางดนตรีได้รับผลกระทบน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆในสมอง
การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Brain and Life ซึ่งได้ใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพสมองเพื่อศึกษากลุ่มผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และพบว่าพื้นที่ของสมองที่เข้ารหัสความทรงจำทางดนตรีแสดงความเสียหายน้อยมาก
นอกจากนี้ยังมี..
- Sacks, O. (2007).
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย Oliver Sacks นักประสาทวิทยาชื่อดัง เขาได้รวบรวมกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับอิทธิพลของดนตรีต่อสมองมนุษย์ รวมถึงเรื่องพลังของดนตรีที่ช่วยปลุกความทรงจำในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วย
- Irish, M., et al. (2014). Music Therapy for Managing Neuropsychiatric Symptoms in Dementia. Cochrane Database of Systematic Reviews, (12), CD003477.
งานวิจัยแบบ Meta-analysis นี้ รวบรวมและวิเคราะห์งานวิจัยหลายชิ้น พบว่าดนตรีบำบัด (Music Therapy) มีประสิทธิภาพในการลดอาการทางจิตเวชในผู้ป่วยสมองเสื่อม รวมถึงช่วยเรื่องความทรงจำ พฤติกรรม และอารมณ์
- Cuddy, L. L., & Duffin, J. (2005). Music, Memory, and Alzheimer’s Disease: Is Music Therapy a Route to the Soul? The Neuroscientist, 11(4), 363-369.
บทความวิชาการนี้ อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างดนตรี ความทรงจำ และโรคอัลไซเมอร์ โดยเน้นย้ำถึงศักยภาพของดนตรีบำบัดในการช่วยเหลือผู้ป่วย
- Groulx, R., et al. (2018). Network-Specific Modulation of Neural Entrainment to Music by Alzheimer’s Disease. Alzheimer’s & Dementia: The Journal of the Alzheimer’s Association, 14(9), 1195-1206.
งานวิจัยนี้ใช้เทคนิค fMRI ศึกษาการทำงานของสมอง พบว่าดนตรีที่ผู้ป่วยคุ้นเคยสามารถกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนต่างๆ รวมถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำได้ดีกว่าการใช้เสียงพูด
- Levitin, D. J. (2006). This Is Your Brain on Music: The Science of a Human Obsession. New York: Dutton.
หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงอิทธิพลของดนตรีต่อสมองมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ รวมถึงบทบาทของดนตรีต่อความทรงจำ อารมณ์ และการเคลื่อนไหว
Yaki| https://yakihonne.com/article/jakk@rightshift.to/L46h5wbduIF2wCTeH041S
คนที่ยังไม่ได้อ่านก็คงเพราะผมเล่นพิเรนไม่ยอมโน๊ตบอกกันตรงๆ 55 (หรืออาจจะยังไม่ว่าง) แต่ไม่เป็นไร ก็ไปตามอ่านกันเองได้นะครับ Thank you!
เทคนิคที่ว่าก็คือ.. “**การประเมิณผลงานของตัวเอง**” (แบบวางอคติส่วนตัวลง) ซึ่งเอาจริงๆ มันไม่ได้ใช้แค่กับงานเขียน เราสามารถนำหลักการนี้ไปประยุกต์ได้กับทุกเรื่องในชีวิตนะครับ
มันฟังดูแปลกๆ ใช่ไหม?
จะอวยผลงานตัวเองมากกว่าจะออกมาวิจารณ์ล่ะมั้ง?
ทำแบบนั้นไม่ได้ประโยชน์หรอกครับ.. ทุกคนก็รู้ว่าผมไม่ใช่คนเก่งระดับฟ้าประทาน สิ่งเดียวที่ผมมุ่งมั่นอยู่ตลอดคือ “**พยายามจะเป็นคนที่เก่งขึ้น**” “**พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา**” และการรีวิวตัวเองก็เป็น “**ขั้นสูง*”” ของทักษะหนึ่งที่จะพาเราไปสู่จุดนั้น
ที่บอกว่าเป็นขั้นสูง เพราะมันยากที่มนุษย์จะมอง “**งานของตัวเอง**” ในด้านลบได้จริงๆ (ไบแอสกันซะส่วนใหญ่) มันยากที่จะได้ผล
*(ใครกลัวโดนสปอยล์เนื้อหาบทความในรีวิวนี้ แนะนำให้ลองไปหาเวลาอ่านมาก่อนนะครับ)*
ปกติคนส่วนใหญ่ก็จะปล่อยผ่าน จะมีอ่านวนๆ ชื่นชมผลงานตัวเองอยู่หลายรอบ แต่ก็มีน้อยคนที่จะมานั่งอ่านซ้ำเรื่อยๆ หรือคิดจะวิจารณ์งานของตัวเอง
เอาแบบนี้.. เวลาที่เราทำกับข้าวเสร็จเรายังต้องชิมก่อนเลยใช่ไหมล่ะ? มันอร่อยไหม เค็มไปหรือเปล่า หวานจัด หรือขาดอะไรไปไหม?
การรีวิวงาน (บทความ) ตัวเองก็เหมือนกัน.. เป็นการ “**ชิม**” งานของตัวเอง ว่ารสชาติของมัน (เนื้อหา, ภาษา) เป็นยังไง มีอะไรที่เราจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้บ้าง
**แล้วเราจะได้อะไรบ้างจากการรีวิวตัวเอง?**
เราจะฝึกมองให้เห็น “**แผนที่**” ของบทความ เห็นเส้นทางทั้งหมดว่าเราได้พาคนอ่านไปไหนบ้าง จุดไหนที่น่าสนใจ จุดไหนบ้างที่น่าเบื่อ?
ฝึกมองหา “**จุดแข็ง**” ในงาน ส่วนไหนที่เราเขียนได้ดี ประโยค, สำนวน, คำไหนบ้างที่เด็ดๆ สละสลวย เข้าใจง่าย อ่านแล้วเข้าหัว ฯลฯ อะไรที่ดีเราสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
ในทางกลับกันการพิจารณาผลงานโดยวางอคติส่วนตัวลง (วางได้จริงๆ) เราจะพบ “**จุดอ่อน**” ว่ามันมีตรงไหนบ้างที่อ่านแล้วงง ภาษาวกวน บางจุดก็ไม่รู้จะใส่มาทำไมเพราะไม่สัมพันธ์หรือให้ประโยชน์อะไรต่อตัวบทความ ฯลฯ เราจะเห็นสิ่งเหล่านี้ เพื่อคราวหน้าจะได้ไม่พลาดอีก
นอกจากนี้.. ลองสังเกตดูสิว่าเวลาเราเขียนเรามักจะ “**อิน**” กับเรื่องของตัวเอง ทำให้มักจะลืมนึกถึงคนอ่าน การรีวิวจะช่วยฝึกให้เรามองจากมุมคนอ่าน พวกเค้าสนใจเรื่องแบบนี้ไหม ชอบมันไหม อ่านแล้วจะเข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อหรือเปล่า?
คำถามที่ยากก็คือ แล้วเราจะรีวิวยังไงให้ “**เวิร์ค**”?
สเต็ปง่ายๆ คือต้องเริ่มจากการ “**พักก่อน**” คืออย่ารีบรีวิวปุ๊บปั๊บ เราควรรอสักพักให้ความอินมันจางลงก่อน จากนั้นจึงค่อยกลับมาอ่านใหม่ ทำแบบนี้จะได้เห็นข้อผิดพลาดชัดขึ้น
ในตอนที่กลับมาอ่านก็ลองคิดว่า เรา “**เป็นคนอ่าน**” ที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย อ่านแล้วรู้สึกยังไง เข้าใจหรือน่าเบื่อ?
จากนั้นก็ลองถามตัวเองว่าบทความมันน่าสนใจไหม? ภาษาล่ะ.. อ่านเข้าใจได้ง่ายหรือยาก? เนื้อหาครบถ้วนหรือเปล่า? มีตรงไหนบ้างที่น่าเบื่อ? อ่านแล้วอยากรู้อะไรเพิ่มไหม?
และอย่าลืม “**Take note**” เจออะไรดี ไม่ดี จดไว้เลย เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองลืม สามารถเอาสิ่งที่จดไว้ไปปรับปรุงพัฒนาตัวเองได้
ถัดจากนี้ก็เป็นขั้นตอนของมืออาชีพแล้วล่ะ นั่นคือการ “**พิสูจน์อักษร**” และ “**Proofread**” ขั้นตอนสุดท้ายที่สำคัญมากๆ (แบบที่ อ.พิริยะ Live ในรายการ POW นั่นล่ะ)
หลายคนอาจจะมองข้ามขั้นตอนนี้ไป หรือไม่เคยรู้เลยว่าควรต้องทำ แต่จริงๆ แล้ว มันสำคัญมากนะ
ในการเขียนบทความ (เขียนหนังสือ หรืองานเขียนรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งการโพสต์บนโซเชียลมีเดีย) ถ้ามี "**คำผิด**" มันก็ตะหงิดๆ รำคาญลูกตา หรือถ้ามี "**ประโยคไม่รู้เรื่อง**" คนอ่านก็จะ "ไม่อิน" มันก็ตรงไปตรงมาแบบนี้แหละ..
ผมจะแชร์เทคนิคง่ายๆ ที่ใช้ในการ "**พิสูจน์อักษร**" บทความให้นะครับ
เหมือนเดิม ไปพักก่อนหลังจากเขียนเสร็จ พักสัก 1-2 วัน ค่อยกลับมาอ่าน จะช่วยให้เรามอง “**เห็นคำผิด**" ได้ง่ายขึ้น
จากนั้นลองอ่านออกเสียงดูหน่อย ทุกประโยค ทุกคำ การอ่านออกเสียงจะช่วยให้เราจับ "**จังหวะ**" "**ความลื่นไหล**" ของประโยคเหล่านั้นได้ กระทั่งจังหวะการหายใจของคนอ่าน
ทีนี้ลองอ่านย้อนหลังดูบ้าง (แปลกๆ ใช่มะ?)
โดยเริ่มอ่านจากประโยคสุดท้ายย้อนขึ้นไป เหตุผลที่ต้องทำท่ายากแบบนี้ก็เพราะมันจะช่วยให้เราโฟกัสที่ "**คำ**" มากกว่า "**ความหมาย**” นั่นเอง
วุ่นวายกว่านั้นหน่อยก็คือลองให้คนอื่นช่วยอ่าน ถ้าเป็นไปได้ก็ให้เพื่อนหรือคนรู้จักช่วยอ่าน และให้คำแนะนำกับเรา (ในทีม RS เรามีคนทำหน้าที่ Proofread แยกจากคนเขียนเลยล่ะ)
เห็นไหมล่ะว่า “**งาน**” ไม่ได้จบแค่การ “**ทำให้เสร็จ**” มันมีขั้นตอนในส่วน “**Post-production**” ทำนองนี้ด้วย ซึ่งถ้าเราคือคนประเภทที่อยากจะทำทุกๆ อย่างให้ออกมาดีที่สุด เราชอบพัฒนาตัวเราเอง สนุกกับการได้ “**เป็นคนที่ดีขึ้น**” เราก็จะไม่มองว่าสิ่งเหล่านี้คืองานหรือเป็นภาระแต่อย่างใด..
สิ่งเหล่านี้คือบทบาทที่ผมทำจริงๆ อยู่เบื้องหลัง ตอนที่ผมมีโอกาสได้ช่วยอาจารย์พิริยะแปลหนังสือ “**Layered Money**” และ “**Inventing Bitcoin**” รวมไปถึงบางบทความบนเว็บไซต์ RS และของตัวเอง
โอเค.. ต่อไปผมขอขึ้นคำว่า **SPOILED ALERT** 🚨⚠️ไว้ก่อนแล้วนะ!
จากที่ผมแนะนำมาทั้งหมด ทีนี้เรามาลองดูการรีวิวบทความ "**เสียงแห่งความทรงจำ**" ของผมกันบ้าง
## เริ่มจาก **ข้อดี** ก่อนละกัน
อย่างแรกที่ชัดคือ **การเล่าเรื่อง** ในมุมมอง **First person** ที่ผมถนัด ด้วยเทคนิค **Storytelling** ในแบบเฉพาะของผมเอง ซึ่งมักจะมี “**ตัวละคร**” (ก็คือตัวผม) มี “**ฉาก**” (ยุค 2000s) และมักจะมี “**ปัญหา**” (ความเบื่อหน่าย, เสียงเพลงที่พาผมย้อนอดีต) นำมาเสมอ
ผมชอบที่เริ่มต้นบทความด้วยเรื่องส่วนตัว บรรยากาศชิลๆ จากการฟังเพลง “**Shadow of the Day**” แล้วจึงค่อยๆ โยงไปเรื่องความทรงจำ มันเหมือนผมพยายามจะ "**ดึง**" คนอ่านเข้ามาในโลกของบทความ (ผมชอบทำแบบนั้นแหละ)
ส่วนด้าน **ภาษา** ด้วยความที่ผมเคยได้เกรด 1 ภาษาไทยมาก่อน ผมรู้ตัวเองไม่น่าจะไปสายพรรณาโวหารได้ ผมจึงตั้งใจใช้ภาษาแบบคนคุยกันธรรมดาๆ ไม่เป็นทางการมากนัก มันเลยอ่านได้สบายๆ ไม่วิชาการจ๋า โดยแอบหวังว่ามันจะทำให้คนอ่านรู้สึก "**ใกล้ชิด**" และ "**เข้าถึง**" บทความได้ง่ายขึ้น
ในแง่ของ **ความรู้** ถึงมันจะเป็นบทความที่เน้น Storytelling แต่ผมก็ได้พยายามสอดแทรกเกร็ดความรู้เรื่อง “**สมอง**”, “**ความจำ**” และ **AI** ลงไปด้วย เพราะอยากให้มันทั้งอ่านสนุก ทั้งได้ความรู้แบบ "**เบาสมอง**" ดูบ้าง
ฉากเรื่องใน **ยุค 2000s** ผมแทรกความเป็น “**Pop Culture**” ลงไป ผมเชื่อว่าคนที่โตมากับ **Linkin Park** อ่านแล้วน่าจะคิดถึงวันเก่าๆ ของวัยรุ่น 2000 และบรรยากาศเก่าๆ มันเหมือนเป็น "**รหัสลับ**" ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงคนรุ่นเดียวกันนั่นเอง
## ส่วนเรื่อง **ข้อเสีย** ที่ผมมองเห็น
ผมอ่านเองแล้วพบว่าเนื้อหา **ส่วน "ไขความลับ" มันยาวและอัดแน่นเกินไป** นี่แหละ.. คือจุดที่ผมรู้สึกว่า "**พลาด**" ที่สุด คือตอนเขียนมันอินมากไปหน่อย อยากจะใส่ข้อมูลเยอะๆ เกี่ยวกับสมอง, ความจำ และอยากแถมเรื่อง AI ด้วย เกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง แต่ลืมคิดไปว่า คนอ่านอาจจะรู้สึก "**อิ่ม**" จนเกินไป 😵💫
และแน่นอน.. **ความยาว** ซึ่งก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ โดยส่วนตัวมันเป็น “**Trademark**” ของผมอยู่แล้วที่มักจะเขียนอะไรก็ยาวไปหมด ผมพยายามไม่เขียนให้ยาวเกินไป (แล้วนะ) เพราะจริงๆ ก็รู้ว่าคนส่วนใหญ่ในสมัยนี้ไม่ค่อยมีเวลาอ่านอะไรยาวๆ กันเท่าไหร่ ดังนั้นมันควรจะ "**เข้าถึงง่าย**" และอ่านจบได้ในเวลาไม่นาน บทความนี้มันยาวไปหน่อยนั่นเอง..
ลึกลงไปอีกคือ **โครงสร้างเนื้อหา** ซึ่งผมควรจะแบ่งส่วนนี้ให้เป็นหัวข้อย่อยๆ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น เช่น ผมควรแยกหัวข้อและใช้ Heading หรือ Bullet points เข้ามาช่วยแบ่งส่วนของเนื้อหาให้เป็นหมวดหมู่ย่อยๆ
* สมองกับการทำงานของความทรงจำ
* ทำไมเราถึงจำบางเรื่อง ลืมบางเรื่อง
* พลังของเสียงเพลง
* สมองมนุษย์ vs. AI
* ความทรงจำหายไปได้จริงหรือ?
* เทคนิคฝึกสมอง
จะเห็นว่า.. ถ้าผมแบ่งหัวข้อแยกออกแบบนี้ มันก็อาจจะช่วยให้คนอ่านสามารถ wrap up หรือ Summarize เนื้อหาได้ง่ายขึ้นมากนั่นเอง (แต่ที่ไม่ทำก็เพราะไม่อยากให้เหมือน AI ทำ 555+)
นอกจากนี้ผมยังรู้สึกว่า “**โครงสร้างเนื้อหา** ยังจัดเรียงได้ไม่ดี ผมมีทางเลือกที่จะเหลาเรื่องเพลงและความหมายให้จบในตับเดียวก็ได้ แต่ผมดันเลือกเอาวิชาการ “**ความจำ**” มาแทรกกลางแทนที่จะตบในส่วนท้าย ซึ่งสำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่าเนื้อหามันกระโดดไปมามากเกินไป..
สุดท้ายคือ.. ผมรู้สึกว่าบทความนี้ **ตอนจบยังขาดพลัง**
หลังจากวิเคราะห์ความหมายในเพลง “**Shadow of the Day**” และ “**Valentine's Day**” แล้ว ผมเหมือน "**ปล่อย**" คนอ่านให้ "**ลอยเคว้ง**" ไปเลย 🤔 มันควรจะดีกว่านี้
จริงๆ ผมควรจะ "**ดึง**" คนอ่านให้กลับมาที่ "**ประเด็นหลัก**" อีกที เช่น ผมอาจจะย้ำถึงพลังของเสียงเพลงที่เชื่อมโยงกับความทรงจำ หรือชวนให้คนอ่านคิดถึงเพลงที่ทำให้คิดถึงอดีตอะไรแบบนี้ เป็นต้น
หรืออาจจะทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกส่วนตัว หรือมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับ "**ความทรงจำ**" ให้บทความจบแบบ "**น่าประทับใจ**" (ภาษาในการเขียนบทภาพยนตร์เรียกว่า **Traditional ending**)
แต่ก็นั่นแหละ ผมคือ **Jakk Goodday** ผมขอเลือกจบแบบ **Non-traditional** ดูบ้าง แต่สำหรับบทความนี้ผมคิดว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะเลือกจบแบบที่ทำลงไปเลยสักนิด.. ผมคิดอะไรพิเรนมากไปหน่อย
เอาล่ะ.. ผมขอจบโน๊ตนี้ลงตรงนี้เลยดีกว่า
เราจะเห็นว่า “**การเขียน**” โดยเฉพาะถ้าต้องการให้มันออกมาดี และหวังจะพัฒนาตัวเองในทักษะด้านนี้ มันมีสิ่งมากมายกว่า “**แค่เขียน**” ที่เราต้องดีลกับมัน ตั้งแต่การตั้งต้นไอเดีย วางแผน ดราฟท์ ฝึกทักษะ ศึกษาเทคนิค ฯลฯ ไปจนถึงกระบวนการหลังการเขียนที่จะช่วยต่อยอดพัฒนาตัวเอง
**ผมทำเรื่องง่ายๆ ให้มันยากเกินไปหรือเปล่า?** *
ผมไม่รู้เหมือนกัน.. ผมแค่รู้สึกว่าแบบนี้มันมี **Benefit** มากกว่า ทั้งกับตัวคนเขียนเอง และคนอ่าน เลยอยากลองเอามาแชร์กัน (เพราะผมก็หวังจะได้อ่านผลงานดีๆ จากเพื่อนๆ ด้วยเหมือนกัน)
หวังว่า "**รีวิวบทความตัวเอง**" ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนอื่นที่อยากเขียนบทความให้ดีขึ้นนะครับ 💪✍️
อย่าลืม "**ชิม**" งานตัวเองบ่อยๆ ล่ะ 👅 😋
#siamstr #jakkgoodday #jakkstr