Why Nostr? What is Njump?
2023-08-27 05:53:28

Libertarian.realpolitik on Nostr: "สงครามทางวัฒนธรรม" : ...

"สงครามทางวัฒนธรรม" : การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์เพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด
.
ในปรัชญามากซิสต์ของอันโตนิโอ กรัมซี่ได้นำเสนอความแตกต่างของยุทธศาสตร์ทางการเมืองระหว่าง "War of Position" เป็นเรื่องของการต่อสู้ทางวัฒนธรรมและความคิดเพื่อสร้างวัฒนธรรมแบบชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาตอบโต้อำนาจนำในสังคมของชนชั้นกระฎุมพี หรือก็คือการสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นให้มากขึ้นและสอนทฤษฏีการปฏิวัติกับคนอื่นต่อไปเป็นทอด ๆ กล่าวคือ เป็นการหลบซ่อนเจตนาและมีเป้าหมายที่จะคืบคลานเพื่อยึดกุมอำนาจทางวัฒนธรรมโดยไม่ใช้ความรุนแรงกับ "War of Manœuvre" เป็นการเปิดฉากความขัดแย้งระหว่างชนชั้นโดยที่ผลลัพธ์จะถูกกำหนดโดยผลแพ้ชนะของผู้มีอำนาจรัฐกับนักปฏิวัติบ่อยครั้งจะมาในรูปของความรุนแรงปะปนมา
.
แนวคิดของกรัมซีในเวลาต่อมาได้กลายเป็นฐานของกลุ่มซ้ายใหม่ในช่วงทศวรรษ 1960s เป็นผลพวงมาจากความพ่ายแพ้ของซ้ายเก่าที่ไม่สามารถยึดครองความนิยมในหมู่ของแรงงานได้ในหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อันเนื่องมาจากการพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่เติบโตมากขึ้นหลังจากนั้นทำให้แรงงานได้กินดีอยู่ดีมากขึ้น ปรัชญามากซิสต์จึงไม่สามารถขายแก่แรงงานได้อีกในแง่ทางเศรษฐกิจ พวกเขาจึงเบนเข็มมาหาเรื่องทางวัฒนธรรมที่ถูกละเลยโดยกลุ่มขวาใหม่ (new rights) ทำให้แนวคิดซ้ายใหม่มุ่งเป้าไปที่ชนชั้นกลางที่เป็นปัญญาชนมากกว่าชนชั้นแรงงานแทน
.
จะสังเกตได้ว่าทำไมคนที่เรียกตัวเองว่า "มากซ์ซิสต์" (marxism) ส่วนใหญ่จึงเป็นคนชนชั้นกลางในเมืองและมักจะพบได้บ่อยในหมู่วัยรุ่นจนมีคำเรียกเฉพาะทางอย่างติดปากว่า "champagne socialist" ที่มองว่าฝ่ายซ้ายชนชั้นกลางค่อนข้างมี “ความเห็นอกเห็นใจ” ชนชั้นที่่ต่ำกว่าตนเอง แล้วพยายามเรียกร้องความเท่าเทียมในมิติทางเศรษฐกิจและการเมืองให้กับชนชั้นล่างและกับตนเอง แต่ทว่าพวกเขาไม่ยอมสละทรัพย์สินของตนเองไปให้คนอื่น กลับกันพวกเขาล้วนสนับสนุนการปล้นทรัพย์สินจากคนที่มั่งคั่งกว่าไปให้คนชนชั้นล่างแทน (ฝ่ายซ้ายมักจะให้ความชอบธรรมกับการปล้นทรัพย์สินของผู้อื่นโดยอ้างเหตุผลประมาณว่า “คนรวยมีความมั่งคั่งมากพอแล้ว ควรจะแบ่งให้คนจนบ้าง”) พร้อมกับเสพสุขกับความเป็นชนชั้นกลางของพวกเขาอย่างเต็มที่ไม่มีความแตกต่างระหว่างคนที่พวกเขากล่าวหาว่าเป็นผู้กดขี่ชนชั้นแรงงานกับตัวพวกเขาเอง
.
เป้าหมายของอุดมการณ์ทางการเมืองใด ๆ ก็ตาม (ซ้ายใหม่, ซ้ายเก่า, ขวาใหม่, ขวาเก่า และอื่น ๆ) ล้วนต้องการแสวงหาการมีอำนาจทั้งสิ้น แต่การจะได้มาซึ่งอำนาจในรัฐสมัยใหม่จะต้องมีฐานมวลชนเป็นกลุ่มก้อนสนับสนุนเพื่อสร้างความชอบธรรมในอำนาจนั้น ทว่าถ้าเรามุ่งเน้นไปที่ "ขบวนการฝ่ายซ้ายใหม่" (new left movement) พวกเขามีทฤษฏีและหลักการในการเข้าใจธรรมชาติของรัฐเป็นอย่างดี โดยเริ่มจาก
.
(a).จะต้องย้อนไปหาทฤษฏีของแอนโทนีโอ กรัมซี่อีกรอบ การยึดครอง "อำนาจนำทางวัฒนธรรม" (cultural hegemony) คือปลายทางของการสถาปนาอำนาจใหม่ในสังคมผ่านการจัดตั้งกลุ่มทางความคิด การเผยแพร่อุดมการณ์ "ความเท่าเทียมในมิติเศรษฐกิจและสังคม" เพื่อสร้างปัญญาชนและฐานมวลชนให้เหนียวแน่น หลักเกณฑ์ทางทฤษฏีของกรัมซีอาจใช้ได้กับประชานิยมฝ่ายซ้าย (left-wing populism) ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันนี้ผ่านกระแสของพรรคอนาคตใหม่จนถึงพรรคก้าวไกลและ (b).การทำความเข้าใจธรรมชาติของรัฐผ่านทฤษฏีทางการเมืองของหลุยส์ อันธูแซร์ (Louis Althusser) ได้แบ่งกลไกของรัฐเป็น 2 ประเภทด้วยกันก็คือ (i).กลไกการปราบปราม (repressive state apparatuses) ใช้ความรุนแรงในการปกครองและปราบปรามภัยคุกคามที่มุ่งเข้าหาชนชั้นปกครอง (ระเบียบการปกครอง) โดยกลไกการปราบปราบที่แสดงอย่างเป็นรูปธรรมก็คือ การมีอยู่ของสถาบันทางสังคมอย่างรัฐบาล, ศาล, ทหาร, ตำรวจและอื่น ๆ กับ (ii).กลไกทางอุดมการณ์ (Ideological state apparatuses) เป็นการบ่มเพาะค่านิยม ชุดความคิด หรืออุดมการณ์ผ่านกลไกสถาบันทางสังคมอย่างสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษาและอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหล่อหลอมคนในระบบเข้ากับระเบียบทางสังคมที่เป็นอยู่ ทั้งนี้กลไกทั้งสองจะต้องมีการทับซ้อนกันโดยแบ่งเป็น "ด้านหลัก" และ "ด้านรอง" อย่างแยกขาดออกจากกันไม่ได้ ในแง่หนึ่งกลไกการปราบปรามก็จำเป็นต้องใช้กลไกทางอุดมการณ์ในการบ่มเพาะความเป็นเอกภาพของคนในองค์กร ขณะที่กลไกทางอุดมการณ์ก็อาจจะต้องพึ่งพากลไกการปราบปรามเช่น โรงเรียนหรือวัดต่างก็ใช้วิธีการที่เหมาะสมในการลงโทษบุคลากรของตน ทั้งสองทฤษฏีเป็นแม่แบบของการแย่งชิงพื้นที่ความคิดทางการเมืองของขบวนการฝ่ายซ้ายในไทยและต่างประเทศ การแย่งชิงพื้นที่หมายถึง การสร้างมวลชนที่มีความคิดเหมือนกับตนเองทำให้พื้นที่สาธารณะในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ล้วนประกอบไปด้วยคนที่มีความคิดคล้ายคลึงกับตนจำนวนมาก เป็นเหตุผลว่าทำไมกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษจะมีประชากรที่เป็นฝ่ายซ้ายเป็นส่วนใหญ่เสมอ สมมติฐานนี้เป็นจริงตามสถานภาพทางสังคม (ภาพรวม) เอียงไปทางซ้าย ตรงกันข้ามถ้าสถานภาพทางสังคม (ภาพรวม) เอียงไปทางขวาก็มีแนวโน้มที่กลุ่มทางการเมืองก็จะมีกลุ่มประชากรที่เป็นขวาเป็นส่วนใหญ่
.
อย่างไรก็ตามเราจะต้องยอมรับว่าการเผยแพร่อุดมการณ์แบบมากซิสต์เริ่มแพร่หลายในประเทศไทยอย่างมากแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นไปอีกในภายภาคหน้า พวกเขาปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ของกรัมซี่และอันธูแซร์อย่างเป็นระบบและวางแผนเพื่อเพาะต้นอ่อนสำหรับคนในรุ่นถัดไปที่จะขึ้นมาสานต่ออุดมการณ์ฝ่ายซ้ายแทนพวกเขาในอนาคต แล้วเมื่อใดที่ต้นอ่อนความคิดคอมมิวนิสต์เติบโตในสังคมไทยจึงเป็นความสำเร็จอันล้นหลามของขบวนการฝ่ายซ้ายเรียบร้อยแล้วและมีความพร้อมอย่างมากที่จะทำสงครามทางวัฒนธรรมกับฝ่ายขวาและชนชั้นนำเดิมตลอดเวลา ตามคำกล่าวของรศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดีที่กล่าวคำพูดไว้ใน Live สัมมนา “Talks for Thailand รัฐ ลวง ลึก” นาทีที่ 54:56-55:27 มีใจความว่า
.
“การต่อสู้จากนี้ไปมันไม่เป็นเรื่องของก้าวไกล เพื่อไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติหรือพรรคอื่น ๆ ต่อไปนี้ไม่ว่าคุณจะชอบหรือชังมันคือการต่อสู้ของคนข้างบนและคนข้างล่าง ... จะช้าหรือจะไว พวกคุณ [ผู้สนับสนุนก้าวไกล,.. etc.] ก็ชนะ”
.
ณ ตอนนี้พวกเขารู้สึกสิ้นหวังและจะนำความสิ้นหวังก่อให้เกิด "พลัง" (ในที่นี้คือ พลังใจที่จะลุกขึ้นสู้-เดินหน้าในชีวิต) เพื่อขับเคลื่อนสังคมตามอุดมการณ์ที่พวกตนยึดถือ กล่าวได้ว่าในสังคมตอนนี้เราอยู่ในจุดที่ต้อง "แย่งชิงพื้นที่ทางความคิด" อันเป็นผลต่อเนื่องมาจากการมีรัฐบาลใหม่ที่ยึดแนวคิดการ "สลายความขัดแย้ง" ตลอดหลายปีที่ผ่านมา สังคมเสื้อสีจึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอีกต่อไป เพราะบัดนี้สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สงครามวัฒนธรรมอย่างเต็มตัวที่จะต้องกล่าวว่าใครเป็น "ซ้าย" และใครเป็น "ขวา" ถัดมาก็คือถ้านิยามเป็นฝ่ายซ้ายแล้วเป็นซ้ายแบบไหน? หรือนิยามเป็นขวาแล้วเป็นขวาแบบไหน? จึงจะเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคมไทยในเวลาต่อมา
.
บรรณานุกรม
Althusser, L. (1971). Ideology and ideological state apparatuses. In L. Althusser (Ed.), Lenin and philosophy and other essays. New York: Monthly Review Press.

“(Full Version) สัมมนา ‘Talks for Thailand รัฐ ลวง ลึก’ : Matichon TV.” YouTube, YouTube, 23 Aug. 2023, www.youtube.com/watch?v=9bkrBT3Aq30&ab_channel=matichontv.

“ทำไมเราควรอ่าน “อันโตนีโอ กรัมชี” ยุทธศาสตร์ฝ่ายซ้ายเพื่อมุ่งยึดครองสถาบันทางสังคม”, อิสรนิยมศึกษา, https://www.facebook.com/libertarian.realpolitik/posts/pfbid02sK5qdAn4WEBHcRA7BFGHG26JeBLYTbwfzxz9BdNjn2cNENGed3576oYkrdSADQZEl.

“ยุทธศาสตร์ของขบวนการฝ่ายซ้ายหลังเลือกตั้งและการล่มสลายของอำนาจเก่า”, อิสรนิยมศึกษา, https://www.facebook.com/libertarian.realpolitik/posts/pfbid02sK5qdAn4WEBHcRA7BFGHG26JeBLYTbwfzxz9BdNjn2cNENGed3576oYkrdSADQZEl.





Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m