Why Nostr? What is Njump?
2023-11-03 02:10:27

Libertarian.realpolitik on Nostr: ...

มูลค่าจิตวิสัยไม่ใช่สิ่งที่จะกำหนดได้ตามอำเภอใจ

.
เศรษฐศาสตร์กระแสหลักอธิบาย "กฎการลดน้อยถอยลงของอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม" (law of diminishing marginal utility) ว่าความพึงพอใจใด ๆ ก็ตามมาจากการบริโภคสินค้าและบริการอันเฉพาะเจาะจง และความพึงพอใจของการบริโภคจะลดลงต่อหน่วยจากปริมาณที่เราบริโภคมากขึ้น กฎดังกล่าวถูกนำไปอธิบายผ่านสูตรคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า "ฟังก์ชั่นอรรถประโยชน์" (utility function) แต่หากตั้งคำถามว่าในความเป็นจริง ความพึงพอใจมันเป็นสิ่งที่คงที่พอที่จะสามารถคำนวณได้อย่างชัดเจนตามสูตรคำนวณหรือไม่? คำตอบก็คือ "ไม่" ดังนั้นสิ่งที่เราจะต้องทำความเข้าใจในลำดับถัดมาว่า "การประเมินคุณค่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร" และ "การประเมินคุณค่าดังกล่าวเกิดขึ้นตามอำเภอใจหรือไม่?"

.
ตามความคิดของคาร์ล เมนเจอร์ (Carl Menger) ผู้ก่อตั้งสำนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนมองว่า "ปัจเจกบุคคลกำหนดมูลค่าของสินค้าตามความสำคัญที่สินค้าและบริการนั้น ๆ มีผลต่อการดำรงชีวิตของเขา" และความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดทำให้ปัจเจกบุคคลต้องหาว่าสิ่งใดสำคัญต่อการดำรงชีวิต มันเป็นผลให้ "มูลค่า หรือ คุณค่า" เป็นสิ่งที่มีลำดับความสำคัญ มีการแบ่งชั้นจากน้อยไปมาก ฯลฯ ยกตัวอย่างเช่น นาย A เป็นคนทำขนมปัง เขาผลิตขนมปัง 4 ก้อน ผ่านการใช้ทรัพยากรเพื่อบรรลุความต้องการอันไม่สิ้นสุดของเขา ตรงนี้นาย A มีสิ่งที่ต้องคิดในหัวว่า "สิ่งสำคัญมากที่สุด" ในตอนนี้คือ เขาจะต้องบริโภคขนมปังที่เขาผลิตเพื่อที่จะกระทั่งชีวิตของเขาเองไม่ให้อดตาย และขนมปังที่เหลือทั้งก้อนที่สอง สามและสี่ก็อาจนำไปแลกเปลี่ยนเพื่อ "สิ่งที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี" เราจะสังเกตได้ว่าการแลกเปลี่ยนขนมปังก้อนที่สองและสามเป็นสิ่งที่นาย A แลกเปลี่ยนทรัพยากรของเขากับสินค้าอื่น ๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการหลากหลายอย่างอันไม่มีสิ้นสุด ตรงนี้มันก่อให้เกิดความเหมาะสมของทรัพยากรที่นำไปแลกเปลี่ยนโดยคำนึงถึงมูลค่าของความต้องการอย่างเฉพาะเจาะจง ยกตัวอย่างเช่น ความต้องการเสื้อเพื่อสวมใส่ นาย A จะต้องตัดสินใจว่าจะใส่เสื้อลำลอง หรือ เสื้อทำงาน โดยนาย A จะต้องหาเสื้อหลายตัวและหลายแบบเพื่อหาตัวที่เหมาะสมกับความต้องการอันเฉพาะเจาะจงของเขา ในกรณีนี้ถ้านาย A ทำงานอยู่กับเตาอบขนมปังที่ร้อนมาก เขาก็จำเป็นต้องหาเสื้อที่บางเพื่อให้ถ่ายเทความร้อนได้ดีในระหว่างทำงาน

.
หมายความว่ามูลค่าจึงเป็นผลมาจากความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุดของปัจเจกบุคคลตามแต่ละสถานการณ์ พื้นที่และเวลา ยิ่งไปกว่านั้นความต้องการของมนุษย์เองก็ไม่ได้ถูกกำหนดตามอำเภอใจ แต่ถูกจำลำดับตามความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ยกตัวอย่างเช่น ถ้านาย A จำลำดับความสำคัญของชีวิตตามอำเภอใจแล้ว เขาก็จะต้องอยู่บนความเสี่ยงที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ ยกตัวอย่างก็คือ ในอากาศหนาวเย็นเยือกที่ใครต่อใครก็ต้องการความอบอุ่น สำหรับสถานการณ์ของนาย A ถ้านาย A จัดสรรทรัพยากรส่วนใหญ่สัตว์เลี้ยงของเขาเช่น อาหารและที่พักอาศัยอันอบอุ่น และจัดสรรทรัพยากรส่วนน้อยให้กับตัวเองแทนเช่น อาจจะไม่มีที่พักที่อบอุ่นและอาหารที่ไม่เพียงพอ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสัตว์เลี้ยงก็จะมีชีวิตรอดต่อในอากาศหนาวเย็น ในขณะที่นาย A ก็เสี่ยงที่จะป่วย

.
ด้วยเหตุนี้เอง แนวคิดอรรถประโยชน์ส่วนเพิ่ม (marginal utility) ไม่ใช่สิ่งที่ตามเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเข้าใจว่า การเพิ่มขึ้นหนึ่งหน่วยสะท้อนอรรถประโยชน์มวลรวมในเชิงปริมาณ แต่สิ่งที่เรียกว่า 'อรรถประโยชน์' เป็นผลมาจากการจัดลำดับความสำคัญและลำดับชั้นของแต่ละบุคคลในการดำรงชีวิตของเขา ความต้องการเฉพาะเจาะจงกำหนดมูลค่าที่สะท้อนทรัพยากรเพื่อแลกเปลี่ยนมัน มูลค่าจิตวิสัยนั้นไม่ได้ถูกสร้างมาตามอำเภอใจ แต่ตามความเหมาะสมของดำรงชีพและความเป็นอยู่ที่ดีแต่ละคน ดังนั้น การประเมินมูลค่าที่แตกต่างของคนจึงจะต้องสะท้อนกับความเป็นจริงเสมอ ถ้าหากการประเมินมูลค่าเกิดขึ้นตามอำเภอใจแล้วละก็ มันก็จะนำความเสี่ยงมาสู่ตนเอง

.
บรรณานุกรม

Karl E. Case and Ray C. Fair, Principles of Microeconomics, 7th ed. (Amsterdam, NL: Prentice Hall, 2003).

Carl Menger, Principles of Economics, trans. James Dingwall and Bert F. Hoselitz (Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2007), chap. 3.

Shostak, Frank. Subjective Value Is Not the Same as Arbitrary Value. (Auburn, AL: Ludwig von Mises Institute, 2021).



Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m