
อะไรคือ “การเลี้ยงลูกที่ดี”?
.
นี่เป็นคำถามที่ตอบยากจริงๆครับ
.
อย่างไรก็ตาม หากเราเปลี่ยนคำถามกลายเป็น…อะไรคือ “การเลี้ยงลูกที่ไม่ดี”?
.
คำถามนี้ตอบง่ายขึ้นเยอะครับ
.
ผลการศึกษาพบว่า สไตล์การเลี้ยงลูกต่อไปนี้ถือเป็น “การเลี้ยงลูกที่ไม่ดี” ครับ
.
# 1 ไร้ความอบอุ่น มีแต่การควบคุม
.
นี่คือสไตล์การเลี้ยงลูกที่เน้นให้ลูกเชื่อฟังและทำตามแบบเป๊ะๆ โดยไม่สนใจอารมณ์ ความรู้สึก หรือความต้องการของลูก
.
บทสนทนาระหว่างพ่อแม่สไตล์นี้กับลูกของพวกเขา…จะเต็มไปด้วยประโยคคำสั่งจากพ่อแม่
.
ส่วนลูกก็มักจะเพียงแค่พูดตอบรับว่า “ครับ/ค่ะ”
.
สไตล์การเลี้ยงลูกแบบนี้อาจจะทำให้ลูกดูเป็นเด็กที่มีวินัยสูง
.
แต่ “ผลข้างเคียง” ของสไตล์การเลี้ยงลูกแบบนี้ก็คือ ลูกจะเกิดการเรียนรู้ว่า มุมมองและความรู้สึกของเขาไม่สำคัญ ส่งผลให้ลูกอาจมีปัญหาในการ “ยืนหยัดเพื่อตัวเอง” เวลาที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่อีกฝ่ายจ้องจะ “เหยียบย่ำ” ลูกในอนาคตได้ (เช่น ไม่กล้าปฏิเสธเวลาที่เพื่อนร่วมงาน “โยนงาน” มาให้ทำอย่างไม่เป็นธรรม)
.
นอกจากนี้ การที่พ่อแม่เป๊ะกับลูกมาก อาจส่งผลให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นคนที่กลัวล้มเหลว ทำให้ลูกไม่กล้าเลือกเส้นทางชีวิตที่มีความเสี่ยง (แม้ว่ามันจะเป็นความเสี่ยงที่ “คุ้มค่า” สำหรับลูกก็ตาม)
.
หรือในบางกรณี การที่พ่อแม่เป๊ะกับลูกมากๆ อาจทำให้ลูก “ทนไม่ไหว” และเริ่มต้นจงใจทำพฤติกรรมที่ “สวนทาง” กับทุกอย่างที่พ่อแม่ต้องการ (ซึ่งอาจสร้างปัญหาต่างๆในอนาคตมากมาย เช่น ปัญหาการใช้สารเสพติด)
.
ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ที่พ่อแม่ “โหด” กับลูกแบบนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกมี “ระยะห่าง” และอาจทำให้เป็นปัญหาเวลาที่ลูกเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด (เช่น ความสัมพันธ์กับแฟน) ในอนาคตอีกด้วย
.
# 2 อะไรก็ได้ไม่คาดหวัง
.
พ่อแม่ที่มีสไตล์การเลี้ยงลูกนี้จะมีความเป็น “เพื่อน” กับลูกสูง
.
สไตล์การเลี้ยงลูกแบบนี้จะให้อิสระกับลูกสูงมาก ลูกอยากจะทำอะไร ลูกก็จะทำได้เต็มที่ พ่อแม่ไม่ค่อยห้าม ไม่ค่อยมีกฎกติกา ไม่ค่อยมีกรอบ
.
หากมองดูเผินๆ สไตล์การเลี้ยงลูกแบบนี้ “ดูดี” ไม่น้อยเลยนะครับ
.
อย่างไรก็ตาม แม้ลูกจะชอบอิสรภาพที่ได้รับในสไตล์การเลี้ยงลูกแบบนี้ แต่การที่ลูกไม่มีกรอบหรือไม่ได้รับการชี้นำจากพ่อแม่เลย มันก็สามารถทำให้ลูกรู้สึกเคว้งได้เหมือนกัน
.
ฉะนั้น ลูกที่ถูกเลี้ยงด้วยสไตล์นี้จึงมักจะต้อง “ลองผิดลองถูก” กับหลายๆเรื่องด้วยตัวเอง ซึ่งการ “ลองผิดลองถูก” นี้ก็อาจทำให้ลูกต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่อันตรายโดยไม่จำเป็น
.
ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องจากการ “ลองผิดลองถูก” มักจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ “ล้มเหลว” มากกว่า “สำเร็จ” มันมีความเป็นไปได้เหมือนกันครับที่เด็กอาจจะรู้สึกหมดกำลังใจและเริ่มตัดสินตัวเองว่า “ฉันไม่มีทางทำอะไรได้สำเร็จหรอก” (ซึ่งสามารถส่งผลเสียกับเด็กได้ในระยะยาวหากเด็ก “คุ้นชิน” กับการตัดสินตัวเองในลักษณะนี้บ่อยๆเข้า)
.
นอกจากนี้ การที่ลูก “คุ้นชิน” กับการได้รับอิสระจากพ่อแม่แบบเต็มสูบนี้ ยังสามารถส่งผลให้ลูกเติบโตขึ้นมามีนิสัย “เอาแต่ใจ” ได้ (โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น) ซึ่งนี่จะเป็นปัญหาในการปรับตัวของลูกชัดเจน เวลาที่ลูกค้นพบว่า คนอื่นๆในสังคมไม่ได้ “ตามใจ” ลูกเหมือนกับพ่อแม่
.
# 3 แค่มีชีวิตเท่านั้น
.
นี่คือสไตล์การเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของลูก (อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ฯลฯ) เพียงอย่างเดียว
.
ส่วนเรื่องอื่นๆนั้น พ่อแม่ไม่ได้เข้ามาสนใจอะไรด้วย
.
นี่คือสไตล์การเลี้ยงลูกที่พบได้บ่อยๆในครอบครัวที่พ่อแม่ต้องทำงานหนัก พอลูกกลับมาจากโรงเรียน ลูกก็จะเจอกับบ้านที่ว่างเปล่า ทานข้าวมื้อเย็นด้วยอาหารแช่แข็งที่พ่อแม่ซื้อใส่ตู้เย็นไว้ให้ก่อนหน้านี้ และใช้เวลาที่เหลืออยู่กับหน้าจอทีวี (หรือโทรศัพท์มือถือหรือเกม console)
.
เวลาที่ลูกเจอกับอุปสรรคต่างๆในชีวิต (เช่น ติดขัดเรื่องการบ้าน ถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง) ลูกจะต้องหาทางดิ้นรนแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เพราะพ่อแม่อาจไม่ได้รับรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ
.
สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกที่ถูกเลี้ยงแบบนี้ก็คือ ลูกมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวเป็นอย่างมาก
.
นอกจากนี้ ลูกยังมีแนวโน้มที่จะมองว่าตัวเองถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ไม่เป็นที่ต้องการของพ่อแม่ และเป็น “ภาระ” ของพ่อแม่อีกด้วย
.
ทั้งหมดนี้สามารถนำมาสู่ปัญหาสุขภาพจิตของลูก (เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล) รวมถึงการทำพฤติกรรม “มีปัญหา” ต่างๆ (เช่น ใช้สารเสพติด มีเรื่องทะเลาะวิวาท) เพื่อหวังว่าพ่อแม่จะหันมาให้ความสนใจกับตัวเอง
.
อ้างอิง
https://connect.springerpub.com/content/sgrjcp/24/3/151
https://www.researchgate.net/publication/265025870_Effects_of_Parenting_Style_on_Children_Development
https://psycnet.apa.org/doi/10.1037/1089-2699.10.1.43
https://doi.org/10.1080/07448481.2015.1060597
https://doi.org/10.1007/s10826-018-1242-x
https://doi.org/10.7759/cureus.30574
#จิตวิทยา #siamstr