
เราทุกคนล้วนมีสิ่งที่เราทำได้ไม่ดี ไม่เก่ง หรือไม่ถนัด
.
ยกตัวอย่างเช่น ตัวผมเองเป็นคนหนึ่งที่ทำอาหารได้แย่มาก อาหารที่ผมทำได้อร่อยคืออาหารสำเร็จรูป และผมเอามา “ทำต่อ” เท่านั้น เป็นต้น
.
และมันก็ปกติมากๆเลยครับที่เราจะหลีกเลี่ยงการทำสิ่งที่เราทำได้ไม่ดี ไม่เก่ง หรือไม่ถนัดนั้น (เหมือนตัวผมเองที่หลีกเลี่ยงการทำอาหาร)
.
เพราะเราไม่อยากเห็นผลลัพธ์ความ “ห่วย” ของตัวเอง (ซึ่งทำให้เรารู้สึกแย่กับตัวเองอีกที)
.
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมอยากจะเชิญชวนในวันนี้ก็คือ ผมอยากชวนให้เราลองพาตัวเองไปทำสิ่งที่เรารู้ตัวล่วงหน้าว่าจะทำได้ไม่ดี ไม่เก่ง หรือไม่ถนัดเป็นระยะๆ
.
เพราะมันจะเป็นประโยชน์กับตัวเราอย่างน้อย 3 ประการด้วยกันครับ
.
ประการแรก มันจะช่วยให้เรากลัวความล้มเหลวน้อยลง
.
หลายคนกลัวความล้มเหลวมากจนทำให้พวกเขาไม่กล้าคว้าโอกาสสำคัญๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโอกาสในเรื่องการทำงาน โอกาสในเรื่องความรัก หรือโอกาสในเรื่องอื่นๆ
.
การจงใจพาตัวเองไปลองทำสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เราไม่เก่งหรือไม่ถนัด จะทำให้เราคุ้นชินกับการเผชิญหน้ากับความล้มเหลวมากขึ้น ส่งผลให้เรารู้สึกกลัวมันน้อยลง
.
ฉะนั้น หากโอกาสสำคัญๆผ่านเข้ามาในชีวิตเราอีก เราก็มีโอกาสที่จะถูกความกลัวครอบงำน้อยลง และกล้าที่จะโอกาสนั้นไว้ในมือได้มากขึ้น
.
ประการที่สอง มันช่วยให้เราเป็นที่ชื่นชอบของคนอื่นมากขึ้น
.
เพราะเมื่อคนอื่นมองเห็น “ข้อผิดพลาด” ของเรา คนอื่นจะรู้สึกว่าเรา “เข้าถึงง่าย” มากขึ้น (เมื่อเทียบกับกรณีที่คนอื่นมองมาที่เราและเห็นแต่ “ความสำเร็จ” หรือ “ความเก่งกาจ” ของเราเพียงอย่างเดียว)
.
ฉะนั้น เราอาจจะ “ล้มเหลว” ในสิ่งที่เราทำ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำได้ไม่ดี ไม่เก่ง ไม่ถนัด) แต่เรา “สำเร็จ” ในการ connect กับคนอื่นครับ
.
ประการที่สาม มันช่วยพัฒนาทักษะการแก้ไขปัญหาของเรา
.
เวลาที่เราทำในสิ่งที่เรารู้ล่วงหน้าว่าเราจะทำมันได้ไม่ดี เรามีโอกาสที่จะทำสิ่งๆนั้นด้วยใจที่เบาสบายไร้ความกดดัน (ต่างจากเวลาที่เราทำสิ่งที่เรารู้ล่วงหน้าว่าเราสามารถทำมันให้ดีได้ เพราะในกรณีนี้ เรามีแนวโน้มที่จะทำสิ่งๆนั้นด้วยใจที่กดดันและหวังผลมากกว่า)
.
การที่เราได้มีประสบการณ์ที่ใจเรา “ปล่อยวางผลลัพธ์” (ไม่ใช่ “มุ่งเน้นผลลัพธ์”) สามารถกระตุ้นให้สมองของเรามีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่งผลให้นอกจากเราจะแก้ไขปัญหาต่างๆในชีวิตเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว เรายังมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเครียดได้ยากขึ้นอีกด้วย
.
อ้างอิง
Neff, KD. (2011). Self-Compassion: The Proven Power of Being Kind to Yourself. HarperCollins.
https://psycnet.apa.org/doi/10.3758/BF03342263
https://psycnet.apa.org/record/2009-17682-000
#จิตวิทยา #siamstr