บทความนี้ใช้หนังสือ The Fiat Standard ในการอ้างอิง
--------------------------------------------------------------------------------
โลกวิชาการที่ถูกเอารัดเอาเปรียบโดยสำนักพิมพ์ยักษ์ สู่การเกิดขึ้นของ Sci-Hub
.
ห้าแสนครั้งต่อวัน คือจำนวนครั้งที่มีผู้ใช้งาน Sci-Hub เว็บไซต์ที่นักศึกษาและนักวิจัยทุกคนต้องรู้จัก
.
การเข้าถึงบทความวิชาการอย่างถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับคนธรรมดาทั่วไป เพราะต้องจ่ายเงินอย่างน้อย 30 ดอลลาร์ฯ ต่อการอ่านหนึ่งบทความ ในขณะที่สถาบันการศึกษาเสียค่าสมาชิกรายปีหลายพันดอลลาร์ฯ เพื่อให้อาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาเข้าถึงวารสารเพียงหนึ่งเล่ม
.
ในทางกลับกันบริษัทสำนักพิมพ์กลับสร้างกำไรได้มหาศาล เช่น RELX Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสำนักพิมพ์ Elsevier มีอัตรากำไร (profit margin) จากสำนักพิมพ์ของพวกเขา สูงถึง 39% ซึ่งสูงกว่าอัตรากำไรของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง Apple (25%) และ Google (24%) สะท้อนให้เห็นถึงกำไรที่สูงเกินควรของบริษัทสำนักพิมพ์วารสารวิชาการรายใหญ่
.
บริษัทเหล่านี้ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำเพราะเก็บค่าลงบทความ โดยมีราคาตั้งแต่ 200 ถึง 12,290 ดอลลาร์ฯ ต่อหนึ่งบทความจากสถาบันการศึกษา
.
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันสำนักพิมพ์ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าพิมพ์วารสารฉบับกระดาษแล้ว เพราะบทความถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล ขณะที่หน้าที่ตรวจสอบและแก้ไขความถูกต้องของบทความ เป็นงานบริการของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน (reviewer) นอกจากได้รับแค่คำขอบคุณและการยกย่องชื่นชมจากสำนักพิมพ์เท่านั้น
.
มีใครบางคนเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุติธรรมที่ธุรกิจสำนักพิมพ์ทำกำไรมหาศาลได้จากทั้งผู้อ่านบทความและผู้ทำวิจัย
.
อเล็กซานดรา เอลบัคยาน (Alexandra Elbakyan) เป็นหญิงสาวชาวคาซัคสถานที่หลงใหลในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ เธอเริ่มต้นด้วยการแฮ็คเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อความสนุกส่วนตัว รวมถึงเว็บไซต์ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology, MIT) ซึ่งทำให้เธอสามารถเข้าถึงและอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
.
ขณะที่เอลบัคยานเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในสาขาประสาทวิทยา (neuroscience) ทั้งเธอและเพื่อนของเธอต่างประสบปัญหาการเข้าถึงบทความวิชาการที่ถูกกักขังอยู่ภายใต้ระบบเสียค่าใช้จ่าย (paywall) แต่ด้วยความสามารถด้านการเขียนโปรแกรมของเอลบัคยาน เธอจึงรู้วิธีแฮ็คฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยอื่นๆ เพื่อเธอและคนรอบข้างจะได้อ่านบทความวิชาการได้ฟรี เพื่อนๆ ต่างชื่นชมและขอบคุณเอลบัคยาน และข่าวนี้ก็แพร่กระจายเป็นวงกว้าง เอลบัคยานมีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้คนจำนวนมาก เธอมองว่านี่เป็นการกระทำที่ถูกต้อง เพราะความรู้เพื่อการพัฒนาต่อยอดควรเป็นความรู้ที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ และจะส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม ตามความเชื่อลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เธอศรัทธา
.
นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เอลบัคยานตัดสินใจสร้างเว็บไซต์ Sci-Hub ขึ้นมาในปี 2011 เพื่อให้นักศึกษาและนักวิจัยทั่วโลกสามารถเข้าถึงองค์ความรู้วิทยาศาสตร์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
.
หลักการทำงานของ Sci-Hub คือการหาช่องทางเข้าถึงฐานข้อมูลบทความวิจัยของมหาวิทยาลัยกว่า 400 แห่งทั่วโลก ซึ่งสถาบันเหล่านี้ล้วนสมัครสมาชิกกับสำนักพิมพ์วารสารต่างๆ ไว้ เมื่อผู้ใช้มีประวัติการดาวน์โหลดบทความวิจัยเหล่านั้น ระบบจะดึงเอกสารมาจัดเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ของ Sci-Hub โดยอัตโนมัติ โดยปัจจุบันมีบทความงานวิจัยกว่า 88 ล้านบทความอยู่ในเว็บไซต์นี้ เมื่อผู้ใช้ค้นหาบทความใน Sci-Hub ระบบจะตรวจสอบว่ามีบทความนั้นในฐานข้อมูลหรือไม่ หากพบผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดบทความได้ทันที
.
อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ Sci-Hub จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลเซิร์ฟเวอร์ ในปี 2013 เอลบัคยานต้องการระดมทุน เธอจึงเปิดรับเงินบริจาคผ่าน PayPal ในเวลาไม่กี่วันเธอก็สามารถระดมทุนได้หลายพันดอลลาร์แล้ว แต่ไม่นานบัญชีของเธอก็ถูกระงับโดย PayPal เนื่องจากสำนักพิมพ์ Elsevier ร้องเรียน
.
ต่อมาผู้ใช้งาน Sci-Hub ได้แนะนำให้เอลบัคยานรับบริจาคด้วยบิตคอยน์ ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีเยี่ยม ในช่วงเวลานั้นราคาบิทคอยน์ค่อนข้างต่ำ หรืออยู่ที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบิทคอยน์ อย่างไรก็ตาม หลังจากเวลาผ่านไปหลายปี มูลค่าบิตคอยน์ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เอลบัคยานมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการจัดหาเซิร์ฟเวอร์คุณภาพสูง
.
เงินบริจาคแก่ Sci-Hub สามารถถูกตรวจสอบได้ผ่านที่อยู่บิตคอยน์ (bitcoin address) เนื่องจากการบันทึกรายการธุรกรรมในเครือข่ายบิตคอยน์มีความโปร่งใส จากข้อมูลพบว่า เธอได้รับการบริจาคมาแล้วกว่า 2,000 รายการ คิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 101.4 บิตคอยน์ หากคำนวณเงินบริจาคในปัจจุบัน ปี 2024 ก็จะมีมูลค่าหลักหลายร้อยล้านบาท ทำให้ Sci-Hub กลายเป็นโปรเจกต์ที่มีมูลค่าสูงอย่างไม่น่าเชื่อ
.
ในปี 2015 มีคดีฟ้องร้องจากสำนักพิมพ์ Elsevier และ American Chemical Society โดยผู้พิพากษาในสหรัฐฯ ตัดสินว่า Sci-Hub ละเมิดลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์เหล่านั้น และต้องจ่ายค่าปรับ 15 ล้านดอลลาร์ฯ และ 4.8 ล้านดอลลาร์ฯ ตามลำดับ เอลบัคยานไม่ได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีหรือส่งตัวแทนมาในชั้นศาล และค่าปรับดังกล่าวยังไม่ได้รับการชำระจนถึงปัจจุบัน
.
ทั้งนี้เรื่องความถูกต้องของการมีอยู่ของเว็บไซต์ Sci-Hub เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก สำนักพิมพ์วิชาการมองว่า Sci-Hub ละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากเว็บไซต์ให้การเข้าถึงบทความวิจัยที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนโต้แย้งว่าเว็บไซต์ Sci-Hub มีจุดประสงค์ที่ดีที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงความรู้วิชาการได้อย่างเสรี ในทางกลับกันสำนักพิมพ์ต่างหากที่เป็นฝ่ายเก็บค่าธรรมเนียมอย่างไร้จริยธรรม
.
ไม่ใช่แค่ Sci-Hub ที่ท้าทายอำนาจของบริษัทสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ในปี 2019 มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California, UC) ที่ประกอบด้วยวิทยาเขต 10 แห่ง ได้แก่ UC Berkeley, UC Los Angeles, UC Davis เป็นต้น ตัดสินใจยกเลิกการสมัครสมาชิกรายปีกับสำนักพิมพ์ Elsevier คิดเป็นเงินมูลค่ากว่า 11 ล้านดอลลาร์ฯ โดยมหาวิทยาลัยมองว่าสำนักพิมพ์ Elsevier ผู้เป็นเจ้าของผลงานวิชาการกว่า 18% ของงานวิจัยทั้งหมด กำลังกอบโกยผลประโยชน์จากการผูกขาดองค์ความรู้ทางวิชาการ และสำนักพิมพ์เก็บค่าธรรมเนียมการลงบทความสูงเกินควร ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยไม่ประสงค์ให้องค์ความรู้ทางวิชาการถูกกักขังอยู่ภายใต้ระบบเสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามสองปีถัดมา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียและ Elsevier ได้เจรจาและสร้างข้อตกลงร่วมกันที่จะสนับสนุนให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยที่ลงบทความกับสำนักพิมพ์ Elsevier สามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (open access) นอกจากนี้ยังมีการลดค่าธรรมเนียมการเผยแพร่บทความลงถึง 10% ต่อหนึ่งบทความอีกด้วย
.
นี่เป็นข่าววงการศึกษาที่น่าสนใจ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสามารถต่อกรกับอำนาจของบริษัทสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ได้ จนนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยและการเผยแพร่องค์ความรู้แก่สาธารณะอย่างไม่ปิดกั้น
.
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเอลบัคยานเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดข้อถกเถียงเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ของสำนักพิมพ์อย่างไร้จริยธรรม และการที่ RELX Group บริษัทแม่ของสำนักพิมพ์ Elsevier อยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นเหตุผลหนึ่งของการหารายได้ที่ไม่เป็นธรรมด้วยหรือไม่ หลังจาก RELX Group เข้าซื้อกิจการสำนักพิมพ์ Elsevier ตั้งแต่ต้นปี 2015 ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 130% ในขณะที่สำนักพิมพ์นี้ยังคงหารายได้อย่างต่อเนื่องโดยการการขึ้นค่าสมาชิกรายปี ปีละ 4.25%
.
บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่าบริษัทจากตลาดทุนได้ส่งผลกระทบต่อวงการวิชาการแล้ว และมีผลเสียต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศกำลังพัฒนาอย่างบ้านเรา จากต้นทุนการทำงานวิจัยที่สูงขึ้นในแต่ละปี การนำประเด็นการเอารัดเอาเปรียบของสำนักพิมพ์ต่องานวิจัยไทยมาถกเถียงในหมู่นักวิชาการจึงเป็นหัวข้อที่น่าพูดคุย อาจนำมาสู่แนวทางแก้ไขและนำเสนอต่อผู้บริหารระดับอุดมศึกษาได้ด้วยเช่นกัน