📚 สรุปหนังสือ Broken Money โดย Lyn Alden
(ยาวมาก แนะนำให้แชร์ไว้ก่อน อ่านไปเพลินๆ จะได้ไม่หาย)
หนังสือที่จะพาคุณไปสำรวจประวัติศาสตร์ของเงิน
ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของเงินผ่านระบบแลกเปลี่ยนแบบดั้งเดิม
การเกิดขึ้นของธนาคาร ระบบการเงินสมัยใหม่
และการเกิดขึ้นของเงินดิจิทัล โดยเฉพาะ Bitcoin
.
✍️*เนื้อหาของหนังสือยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่น่าสนใจ
บทความนี้เป็นเพียงการรีวิวสรุปหนังสือในประเด็นแอดมินสนใจเท่านั้น
-----------------------------------------
💸 ส่วนที่ 1 - WHAT IS MONEY? เงินคืออะไร?
หนังสือเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปสู่รากฐานของเงิน
โดยอธิบายถึงการใช้ระบบบัญชีตั้งแต่สมัยโบราณ (Ledgers)
ไปจนถึงการเกิดขึ้นของสินค้าที่มีคุณสมบัติเป็นเงิน เช่น เปลือกหอย และโลหะมีค่า
.
📋 บัญชี (Ledgers) คือรากฐานของเงิน
ก่อนการประดิษฐ์ตัวอักษร มนุษย์ก็ใช้ระบบบัญชีแบบปากเปล่า
เพื่อติดตามหนี้สินและเครดิตระหว่างกันในกลุ่มสังคมเล็กๆ
เครดิตทางสังคมนี้ ทำหน้าที่เป็นเสมือนสกุลเงิน
ที่อาศัยความไว้วางใจระหว่างกันเป็นหลักประกัน
ช่วยให้การค้าขายระหว่างคนรู้จักเป็นไปอย่างราบรื่น
.
🐚 เมื่อสังคมขยายตัว ความต้องการเงินก็เพิ่มขึ้น
เมื่อกลุ่มของสังคมขยายใหญ่ขึ้น การค้าขายกับคนแปลกหน้าก็เริ่มเกิดขึ้น
สินค้าที่มีคุณสมบัติเป็นเงินได้ (Commodity Money)
เช่น เปลือกหอย ได้เข้ามามีบทบาทแทนที่เครดิตทางสังคม
เปลือกหอยที่แกะสลักและขัดเงา เป็นตัวอย่างของ "สินค้าที่ซื้อขายคล่องที่สุด" ในยุคนั้น
เนื่องจากมีขนาดเล็กพกพาง่าย หายาก ทนทาน และเป็นที่ต้องการของผู้คน
.
🧂 วิวัฒนาการของสินค้าที่ทำหน้าที่เป็นเงิน
ผู้เขียนสำรวจสินค้าต่างๆ ที่เคยทำหน้าที่เป็นเงิน
เช่น เปลือกหอย เกลือ ขนสัตว์ ผ้า น้ำตาล มะพร้าว
ปศุสัตว์ ทองแดง เงิน และทองคำ
สินค้าเหล่านี้ ต่างก็มีข้อดีข้อเสีย และมักถูกใช้ควบคู่กันไป
เพื่อตอบสนองความต้องการ ในการค้าขายที่หลากหลาย
.
🪙 ทองคำคือผู้ชนะ
ด้วยความสามารถที่เหนือกว่าบรรดาสินค้าอื่นใดทั้งหมด
ทองคำได้กลายเป็นสินค้าที่ทำหน้าที่เป็นเงินที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
เนื่องจากมีคุณสมบัติครบถ้วน เช่น
- แบ่งแยกเป็นหน่วยย่อยได้ (Divisible)
- มีความสามารถในการพกพา (Portable)
- มีความทนทาน (Durable)
- หายาก (Scarce)
ทองคำเก็บรักษารักษามูลค่าได้ดี แม้ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า
เพราะมนุษย์ไม่สามารถผลิตทองคำเพิ่มขึ้นได้มากมาย อย่างรวดเร็ว
แม้ว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
.
📈 อัตราส่วน Stock-to-Flow เป็นตัวชี้วัดความหายาก
หนังสืออธิบายแนวคิดเรื่อง "อัตราส่วน Stock-to-Flow"
ซึ่งใช้วัดอัตราส่วนระหว่าง
"ปริมาณสินค้าที่มีอยู่ในระบบ เทียบกับ ปริมาณที่ผลิตเพิ่มได้ในแต่ละปี"
ทองคำมีอัตราส่วน Stock-to-Flow สูงที่สุดในบรรดาสินค้าทั้งหมด
หมายความว่าปริมาณทองคำที่มีอยู่นั้นมีมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ผลิตได้ในแต่ละปี
.
🔴 สรุปส่วนที่ 1 หนังสือได้วางรากฐานความเข้าใจเกี่ยวกับ "เงิน"
โดยชี้ให้เห็นว่าเงินเกิดขึ้นจากความต้องการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจาก
การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันโดยตรงหรือ Barter
และสินค้าที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดให้ทำหน้าที่เป็นเงินมาอย่างยาวนาน
คือ "ทองคำ" เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหนือกว่าสินค้าอื่นๆ
-----------------------------------------
💸 ส่วนที่ 2 - การกำเนิดขึ้นของธนาคาร
ในส่วนนี้หนังสือได้พาเราเดินทางสำรวจวิวัฒนาการของธนาคาร
ตั้งแต่รูปแบบบริการธนาคารของยุคแรกเริ่มไปจนถึงธนาคารที่ให้บริการครบวงจรอย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน
ผู้เขียนได้อธิบายถึงนวัตกรรมทางการเงิน
ที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน
และก็ได้ก่อให้เกิดความเสี่ยงใหม่ๆ ขึ้นมาเช่นกัน
.
💰 บริการธนาคารแบบดั้งเดิม และ ระบบ Hawala
ธนาคารในความหมายอย่างกว้าง คือ การสร้างระบบทางกฎหมายและเทคโนโลยีบนรากฐานของเงิน
ตัวอย่างของบริการธนาคารแบบดั้งเดิม เช่น ระบบ Hawala
ที่ใช้เครือข่ายนายหน้าแลกเปลี่ยนเงิน หรือ Hawaladars
ที่กระจายอยู่ทั่วภูมิภาค เพื่อช่วยให้การโอนเงินระหว่างประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ลดความเสี่ยงจากการโจรกรรม และลดความจำเป็นในการขนส่งเงิน
.
📋 นวัตกรรมของระบบบัญชีคู่ (Double-Entry Bookkeeping)
การพัฒนาระบบบัญชีคู่ เกิดขึ้นในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี และได้ปฏิวัติวงการธนาคาร
โดยระบบนี้แบ่งบัญชีออกเป็นสองส่วน คือ
- ส่วนของสินทรัพย์ (Assets) หรือ เดบิต
- ส่วนของหนี้สิน (Liabilities) หรือ เครดิต
สองส่วนนี้สามารถนำมากระทบยอดหักลบกันได้ ช่วยให้ธนาคารสามารถจัดการ
สินทรัพย์และหนี้สิน ที่มีซับซ้อนได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดบริการทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น
.
🍃 ธนาคารเสรี (Free Banking) กับ ธนาคารกลาง (Central Banking)
หนังสือได้ทำการเปรียบเทียบระหว่างระบบธนาคารเสรี
ที่ธนาคารพาณิชย์สามารถออกธนบัตรที่ผูกติดเอาไว้กับทองคำได้อย่างอิสระ
กับระบบธนาคารกลาง ที่ธนาคารกลางมีอำนาจควบคุมการออกธนบัตร
ระบบธนาคารเสรี มีข้อดีในแง่ของการแข่งขันและนวัตกรรม
แต่ก็มีความเสี่ยงจากการล้มละลายของธนาคาร
ในขณะที่ธนาคารกลาง มีความมั่นคงสูงกว่า
แต่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจในทางที่ผิด
.
⏳ ความรวดเร็วในการทำธุรกรรม กับ ความรวดเร็วในการชำระบัญชี
นวัตกรรมทางการเงิน อย่างเช่น ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange)
หรือธนบัตร (Banknotes) ช่วยให้การทำธุรกรรมมีความรวดเร็ว และปลอดภัย มากขึ้น
การปฏิวัติการสื่อสารและการเพิ่มขึ้นของอำนาจธนาคาร
การประดิษฐ์โทรเลขและโทรศัพท์ ทำให้ความเร็วในการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น อย่างก้าวกระโดด
ในขณะที่ทองคำสามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้ช้ากว่ามาก
ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้อำนาจของธนาคารและธนาคารกลางเพิ่มขึ้น
เนื่องจากพวกเขากลายเป็นผู้ให้บริการการชำระเงินทางไกลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า
.
🔴สรุปส่วนที่ 2 ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นถึงวิวัฒนาการของธนาคาร
ที่เกิดจากความพยายามในการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน
แต่นวัตกรรมเหล่านี้นำไปสู่การมีอำนาจที่เพิ่มขึ้นของของธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลาง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่มีการสื่อสารแบบทันทีซึ่งส่งผลต่อการควบคุม ระบบการเงินในระยะยาว
-----------------------------------------
💸 ส่วนที่ 3 - การเจริญเติบโตและเสื่อมถอยของระบบการเงินโลก
หนังสือพาเราเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ของระบบการเงินโลก นับตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20
ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและความล้มเหลวของระบบการเงิน
ที่เกิดจากสงคราม การเมือง และ เทคโนโลยี ที่มีผลกระทบเกิดขึ้นกับประเทศต่างๆทั่วทั้งโลก
.
🖨 การพิมพ์เงินเพื่อทำสงคราม (Printing Money for War)
สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลทั่วโลก
หันมาพิมพ์เงินเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำสงคราม
ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรง เกิดการลดค่าเงินในหลายประเทศ
ตัวอย่างที่โดดเด่น คือ การที่รัฐบาลสหราชอาณาจักร ต้องพิมพ์เงินเพื่อซื้อพันธบัตรสงคราม (War Bonds)
เนื่องจากไม่สามารถระดมทุนจากประชาชนได้เพียงพอ
.
⚖️ ระบบ Bretton Woods
ความพยายามในการสร้างเสถียรภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ทำให้ระบบ Bretton Woods ถือกำเนิดขึ้น
โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงินโลก
ระบบนี้มีการผูกค่าสกุลเงินต่างๆเข้ากับดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งประเทศต่างๆสามารถนำดอลลาร์มาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ในอัตราคงที่
ระบบนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงแรก แต่ก็ล้มเหลวไปในที่สุด
เนื่องจากการขาดดุลการค้าและการลดลงของทุนสำรองทองคำในคลังของสหรัฐ
.
⛽️ การเจริญเติบโตของ Petrodollar
หลังจากสหรัฐยกเลิกการแลกเปลี่ยนดอลลาร์เป็นทองคำในปี 1971
ระบบ Petrodollar ก็ถือกำเนิดขึ้น จากการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างสหรัฐอเมริกากับซาอุดีอาระเบีย
ที่กำหนดให้การขายน้ำมันจะต้องชำระเงินเป็นดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
และต้องนำเงินส่วนเกินจากการขายน้ำมัน (Petrodollars) ไปลงทุนในพันธบัตรของสหรัฐ
ระบบนี้ช่วยให้สหรัฐรักษาสถานะผู้นำด้านการเงินของโลกเอาไว้ได้
แต่ก็สร้างความไม่สมดุลทางการค้าและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ
.
❗️ผลักดันความโกลาหล
ระบบ Petrodollar ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างรุนแรง
เนื่องจากความต้องการดอลลาร์สหรัฐ ในการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น น้ำมัน
และต้องเผชิญกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ควบคุมโดยสหรัฐอยู่ตลอดเวลา
นอกจากนี้ระบบการเงินโลกที่มีดอลลาร์สหรัฐเป็นศูนย์กลาง
ได้สร้างความเหลื่อมล้ำและผลักดันความเสี่ยงไปยังประเทศอื่นๆ
โดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนา เช่น
- ปัญหาเงินเฟ้อ จากความสามารถในการพิมพ์เงิน และกำหนดนโยบายการเงินได้ตามความต้องการของตนเอง
- วงจรหนี้สินที่ไม่สิ้นสุด จากการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันการเงินระดับโลก
- ผลประโยชน์ที่ตกอยู่แค่กับประเทศร่ำรวย ระบบนี้เอื้อประโยชน์ต่อประเทศร่ำรวย
ที่สามารถส่งออกสินค้าและบริการไปยังประเทศกำลังพัฒนา
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ หรือ วัตถุดิบในการผลิต
เพื่อหาเงินมาชำระหนี้และนำเข้าสินค้าที่จำเป็น
.
😣 ภาระแห่งการเป็นผู้นำ
การเป็นผู้ออกสกุลเงินสำรองของโลกนั้น มาพร้อมกับต้นทุนและความเสี่ยงสูง
ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน การขาดดุลการค้า และหนี้สินที่เพิ่มขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงสู่เข้าสู่การมีหลายขั้วอำนาจ
ที่แต่ละประเทศต่างแสวงหา อำนาจ และ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
โดยมองข้ามผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นกับประชาชนของตนเองและเสถียรภาพของระบบการเงินโลกในระยะยาว
.
🔴สรุปส่วนที่ 3 หนังสือได้แสดงให้เห็นถึง ความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ของระบบการเงินโลก
ที่เกิดจากสงคราม การเมือง และ การแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจ
ระบบ Petrodollar ในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย
ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะของสหรัฐ ความไม่สมดุลทางการค้า
และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์จากประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เช่น จีน
-----------------------------------------
💸 ส่วนที่ 4 - ความไม่เป็นระเบียบของระบบเงิน Fiat
หนังสือได้พาเราเจาะลึกเข้าไปในกลไกของระบบการเงินสมัยใหม่
โดยเน้นไปที่เงินเฟ้อ (Inflation) ที่เกิดจากการใช้เงิน Fiat
.
♻️ ระบบการเงินสมัยใหม่ - วงจรหนี้สินที่ไม่มีวันสิ้นสุด
ระบบการเงินในปัจจุบันนั้น ถูกสร้างขึ้นจากวงจรหนี้สินที่แสนซับซ้อน
สินทรัพย์ทางการเงินส่วนใหญ่ เป็นเพียง "พันธสัญญา" ว่าจะชำระเงินคืนใน อนาคต (IOUs)
ระบบนี้มีความเปราะบาง เนื่องจากต้องอาศัยการเติบโตของหนี้สินอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบล่มสลาย
.
💵 วิธีการสร้างเงิน Fiat และ การทำลาย
เงิน Fiat ถูกสร้างขึ้นเมื่อมีการก่อหนี้ใหม่ และ ถูกทำลายเมื่อหนี้นั้นถูกชำระคืน หรือ มีการผิดนัดชำระ
ธนาคารพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญ ในการสร้างเงิน Fiat ผ่านการปล่อยกู้
บนรากฐานของเงินทุนสำรองที่ธนาคารกลางเป็นผู้ควบคุม
.
🏷 การกำหนดราคา กลไกการจัดระเบียบที่ทรงพลัง
การกำหนดราคาเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจ
การพิมพ์เงินโดยรัฐบาลและธนาคารกลาง สามารถบิดเบือนกลไกการ กำหนดราคา
และ นำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ
เนื้อหาในบทนี้ยังกล่าวถึง ความเชื่อที่ผิดพลาดของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก
ที่มองว่า "เงินเฟ้อ" เป็นสิ่งจำเป็นต่อเศรษฐกิจ
.
🏠 การเงินในทุกสิ่ง
การที่มูลค่าของเงิน Fiat นั้นลดลงได้เองตลอดเวลา
ทำให้นักลงทุน หันมาลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น และ ของสะสม เพื่อรักษามูลค่าของเงินเอาไว้
ส่งผลให้สินทรัพย์เหล่านี้มีราคาแพงขึ้น และ เกิดภาวะฟองสบู่อยู่บ่อยครั้ง
.
💧 ผู้ได้รับประโยชน์จาก Cantillon Effect
Cantillon Effect อธิบายถึง ผลกระทบที่ไม่เท่าเทียมกันที่เกิดขึ้นจากการพิมพ์เงิน
โดย "ผู้ที่อยู่ใกล้" แหล่งกำเนิดของเงินใหม่ เช่น ธนาคาร และ บริษัทขนาดใหญ่
จะได้รับประโยชน์มากกว่า "ผู้ที่อยู่ห่างไกล" เช่น ผู้บริโภค และ ผู้ประกอบการรายย่อย
.
💳 วัฏจักรหนี้ระยะยาว
การสะสมหนี้สินในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนั้น นำไปสู่วิกฤตทางการเงินเป็นระยะๆ
และรัฐบาลมักแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการพิมพ์เงินเพื่อชดเชยหนี้สิน
ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อ และเป็นการลดค่าเงินลงในระยะยาว
.
🔴สรุปส่วนที่ 4 ความล้มเหลวของระบบการเงินในปัจจุบัน ที่เกิดจากการใช้เงินตราที่ออกโดยรัฐบาล
และ ธนาคารกลางนั้น สามารถบิดเบือน กลไกการกำหนดราคา สร้างความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ
และ ลดทอนมูลค่าของเงินออมในอนาคต
-----------------------------------------
💸 ส่วนที่ 5 - เงินที่เกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต
หนังสือได้พาเราเดินทางเข้าสู่โลกของ "เงินดิจิทัล" โดยเฉพาะ Bitcoin
ซึ่งเกิดขึ้นบนอินเทอร์เน็ต ผู้เขียนนำเสนอ Bitcoin ในฐานะทางเลือกใหม่ที่
ท้าทายระบบการเงินแบบเดิม และอธิบายถึงศักยภาพและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนี้
.
🟠 เงินที่ไร้รัฐ
Bitcoinเป็นนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการการเงิน โดยเป็นสกุลเงินดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized)
ที่ไม่มีรัฐบาล หรือ หน่วยงานกลางใดควบคุม
ผู้เขียนได้ย้อนความพยายามในอดีต ของการสร้างเงินดิจิทัล เช่น DigiCash และ e-gold
ที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็ล้มเหลวไปในสุดท้าย เนื่องจากข้อจำกัดด้านการรวมศูนย์ (Centralization)
.
👦 เส้นทางการเติบโตของ Bitcoin
Bitcoin เริ่มต้นจากกลุ่มนักพัฒนา และ ผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี
ก่อนที่จะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก
หนังสือได้อธิบายถึง ปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตของ Bitcoin
เช่น การนำไปใช้ในตลาดมืด (Dark Web) การยอมรับจากสถาบันการเงิน
และความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ
.
💫 สกุลเงินดิจิทัล และ ข้อดี-ข้อเสีย
ผู้เขียนได้ทำการวิเคราะห์ ข้อดี และ ข้อเสีย ของ Bitcoin เทียบกับ สกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ
โดยเน้นถึงความสำคัญของการกระจายศูนย์ (Decentralization)
ความปลอดภัย (Security) และ ความไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Immutability)
นอกจากนี้ยังอธิบายถึง ระบบ Proof-of-Work ที่ใช้พลังงานในการตรวจสอบธุรกรรม
และรักษาความปลอดภัยของเครือข่าย Bitcoin
ซึ่งแตกต่างจาก ระบบ Proof-of-Stake ที่ใช้การถือครองเหรียญเป็นหลักประกัน
.
⚡️ Lightning Network
เครือข่าย Lightning Network เป็นเทคโนโลยีเลเยอร์ 2 ที่สร้างขึ้นบน เครือข่ายของ Bitcoin
เพื่อเพิ่มความเร็วในการทำธุรกรรม ลดค่าธรรมเนียม และ เพิ่มความเป็นส่วนตัว
หนังสืออธิบายถึงกลไกการทำงานของ Lightning และ ศักยภาพในการปรับปรุงการใช้งาน Bitcoin ในชีวิตประจำวัน
.
🔋การใช้พลังงานของ Bitcoin
ส่วนนี้ได้อธิบายถึงการใช้พลังงานของเครือข่าย Bitcoin
และหักล้างข้อกล่าวหาที่ว่า Bitcoin นั้นสิ้นเปลืองพลังงาน
โดยชี้ให้เห็นว่านักขุด Bitcoin มักใช้แหล่งพลังงานราคาถูกที่เหลือใช้ หรือ ไม่สามารถเข้าถึงได้
เช่น ก๊าซธรรมชาติที่ถูกเผาทิ้ง พลังงานน้ำส่วนเกิน และ พลังงานจากหลุมฝังกลบ
.
⚠️การวิเคราะห์ความเสี่ยงของสกุลเงินดิจิทัล
ผู้เขียนได้วิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับ Bitcoin และ สกุลเงินดิจิทัล อื่นๆ เช่น
ความเสี่ยงจากการลดค่าเงิน (Market Dilution)
ข้อผิดพลาดของซอฟต์แวร์ (Software Bugs)
การห้ามใช้โดยรัฐบาล (Government Bans)
และภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Computational Threats)
.
🔴สรุปส่วนที่ 5 ผู้เขียนได้นำเสนอ Bitcoin ในฐานะทางเลือกใหม่
สำหรับระบบการเงินแบบเดิมโดยเน้นย้ำถึงศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย
และความเป็นส่วนตัวของธุรกรรมทางการเงิน
อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้เตือนให้ผู้อ่าน ตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีนี้เช่นกัน
-----------------------------------------
💸 ส่วนที่ 6 - เทคโนโลยีทางการเงินและสิทธิมนุษยชน
ส่วนนี้หนังสือได้เจาะลึกถึงประเด็น ความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพทางการเงินในยุคดิจิทัล
โดยผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคาม จากการสอดแนมที่เพิ่มขึ้น
และการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลและองค์กรขนาดใหญ่
และนำเสนอแนวทางในการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิเหล่านี้
ผ่านการใช้เทคโนโลยี การเข้ารหัส (Encryption) และ เงินดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Digital Currencies)
*เนื้อหาส่วนนี้กล่าวไปถึงรายละเอียดเรื่องราวที่อัลกอของแอปฟ้าไม่ถูกใจ
.
👁️🗨️ การเสื่อมถอยของความเป็นส่วนตัว
ผู้เขียนอธิบายถึงวิวัฒนาการ การละเมิดความเป็นส่วนตัว
ตั้งแต่ยุคก่อนอินเทอร์เน็ตที่การสอดแนมต้องใช้ความพยายามและมีค่าใช้จ่ายสูง
จนถึงยุคดิจิทัลที่ข้อมูลส่วนตัวถูกรวบรวม วิเคราะห์อัตโนมัติโดยรัฐบาลและองค์กรต่างๆ
.
🛡️ การป้องกันแบบอสมมาตร
ผู้เขียนนำเสนอการเข้ารหัส (Encryption) ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้เพื่อความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล
การเข้ารหัสทำให้ข้อมูลเป็นความลับและไม่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ได้รับอนุญาต
แม้แต่รัฐบาลหรือองค์กรที่มีอำนาจมากก็ไม่สามารถถอดรหัสข้อมูลที่เข้ารหัสได้
.
🌐 โลกที่เปิดกว้าง หรือ โลกที่ถูกควบคุม
ผู้เขียนได้ตั้งคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับอนาคตของระบบการเงินและสังคม
ว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปสู่โลกที่เปิดกว้าง ที่บุคคลแต่ละบุคคลมีอำนาจควบคุมข้อมูลและการเงินของตนเอง
หรือโลกที่ถูกควบคุม โดยรัฐบาลและองค์กรต่างๆ
ที่มีอำนาจสอดแนม ควบคุมประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
Bitcoin และ เทคโนโลยี blockchain อื่นๆ
นำเสนอโอกาสในการสร้างระบบที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และปราศจากการควบคุมจากส่วนกลาง
แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลหลายประเทศกำลังพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง หรือ CBDC
ซึ่งอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการควบคุมและลดเสรีภาพของประชาชน
.
🔴 สรุปส่วนที่ 6 ส่วนสุดท้าย
ผู้เขียนได้กระตุ้นให้ผู้อ่านตื่นตัวต่อภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้น
ที่มีผลต่อความเป็นส่วนตัว และ เสรีภาพทางการเงิน
โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิเหล่านี้ผ่านการใช้งานเทคโนโลยี
ที่กระจายศูนย์ (Decentralization) โปร่งใส (Transparency) มีการเข้ารหัส (Encryption)
เพื่อสร้างระบบการเงินและสังคม ที่มีเสรีภาพมากขึ้น
-----------------------------------------
#siamstrupdate #บิตคอยน์ #Bitcoin #การเงิน #หนังสือน่าอ่าน #สรุปหนังสือ #Brokenmoney #เศรษฐกิจ #siamstr