เศรษฐกิจญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2
.
เศรษฐกิจญี่ปุ่นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ทางผู้เขียนมองว่าน่าสนใจแต่แวดวงผู้ที่สนใจญี่ปุ่นกลับมักจะมองข้าม อาจจะเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่สามารถยอมรับความเป็นจริงที่ได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นตั้งแต่การปฏิรูปเมจิจนถึงปีโชวะที่ 20 (昭和20年) ถูกทำให้ “ทันสมัย” ในด้านของการเปิดตลาดให้เสรีในแบบคู่ขนานและเปลี่ยนผ่านจากยุคการเกษตรแบบยังชีพกับสังคมเกษตรกรรมมาเป็นระบบทุนนิยมอย่างสมบูรณ์ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าพวกเขาจัดรวมนโยบายด้านสังคมและเศรษฐกิจของสมัยจักรวรรดิญี่ปุ่นให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับแนวคิดเรื่อง “เผด็จการ” และมองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีคำอธิบายเชิงวิชาการใด ๆ พวกเขาจึงมองข้ามการพัฒนาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในยุคดังกล่าว แต่ถึงอย่างนั้นทางผู้เขียนยืนหยัดที่จะเสนอว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นก่อนสงครามและช่วงสงคราม (ค.ศ. 1868 - 1945) มีความหลากหลายและแตกต่างในตัวของมันเองและเป็นพื้นฐานให้กับการเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยเฉพาะในยุคหลังสงคราม บทความนี้จึงเป็นการสร้างภาพมโนทัศน์ที่แตกต่างจากแนวคิดสายกระแสหลักที่มองว่าญี่ปุ่นเอาแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จากโลกตะวันตกไปใช้ประโยชน์อย่างเดียว ในญี่ปุ่นช่วงนั้นเองก็ได้มีนักปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ยุคเอโดะ (江戸時代) ที่พัฒนาแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมแบบญี่ปุ่นและผสมผสานเข้ากับแนวคิดของทางโลกตะวันตก แนวคิดของพวกเขาก็มีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจโดยรวมในยุคก่อนสงครามและยุคหลังสงคราม
=
การพัฒนาทางเศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลเมจิ
=
นับตั้งแต่การปฏิรูปเมจิได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1868 การพัฒนาการทางด้านแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์, การเมือง, วัฒนธรรม และความเป็นชาติในประเทศญี่ปุ่นก็ได้เกิดขึ้นอย่างล้นหลาม หนึ่งปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์เหล่านี้และการขึ้นมาของอิทธิพลแวดวงนักวิชาการญี่ปุ่นเป็นผลพวงมาจากการที่ประเทศได้รับแรงกดดันจากมหาอำนาจตะวันตก เช่น สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และ สหรัฐอเมริกา ที่แผ่ขยายอำนาจเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แนวคิดเพื่อ “ปฎิรูปเศรษฐกิจ” ให้ทันสมัยเพื่อให้ทัดเทียมและเป็นแรงต้านอิทธิพลจากชาติตะวันตกจึงเป็นผลทำให้มีการนำเข้าแนวคิดปรัชญาทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาจากโลกตะวันตกและผสมผสานเข้ากับแนวคิดเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีรูปแบบเพียงพอด้วยการยืนด้วยขาตัวเองและการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นที่ส่งทอดมาจากยุคสมัยเอโดะ (江戸時代) แว่นแคว้น (藩) ต่าง ๆ ในช่วงปลายการปกครองของโชกุนต่างก็เข้าหาเทคโนโลยีและแนวคิดจากตะวันตกเพื่อนำมาผสมเข้ากับพฤติกรรมด้านเศรษฐกิจดั้งเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็จำกัดพื้นที่ของชาวต่างชาติที่นำเข้าแนวคิดและที่เข้ามาประกอบธุรกิจเพื่อไม่ให้รุกล้ำอธิปไตยของแต่ละแคว้นมากเกินไป ผลที่ตามมาคือการผูกขาดสินค้าและบริการบางอย่างแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่อิงตามแว่นแคว้น (Flath 2022) ... หนึ่งในตัวอย่างของผู้ที่สนับสนุนให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและสถาบันสังคมอื่นโดยรวมก็คือ ฟูกูซาวะ ยูกิจิ (福澤 諭吉) จากแคว้นนาคัตสึ (中津藩) เขาเป็นผู้ที่สนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบรัฐสภา, ระบบพรรคการเมือง และ การขยายดินแดนของจักรวรรดิ เพื่อ “รักษาอธิปไตยญี่ปุ่นจากชาติตะวันตกในระยะยาว” ราวกับเป็นการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างมาตรการป้องกันโรค แต่ถึงอย่างไรก็ตาม “การปฏิรูป” ดังกล่าวนั้นไม่ใช่การเปลี่ยนประเทศให้แตกต่างอย่างสมบูรณ์แต่อย่างใด แต่เป็นการสานต่อ (continuity) ตลาดเสรีแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่มีจุดเริ่มมาจากการปฏิรูปเศรษฐกิจในสมัยของเอโดะช่วงแรกหรือที่เรียกว่านโยบาย “ราคุอิจิ/ราคุซ่า” (楽市・楽座) ที่เป็นการทดลองตลาดเสรีในขนาดย่อมในแคว้นต่าง ๆ โดยรัฐบาลโชกุน (Takeda 2004)
.
การอุตสาหกรรม (industrialization) ก่อตัวขึ้นมาจากการพยายามปรับตัวของผู้เล่นในประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นเอกชนในขณะที่รัฐบาลเป็นผู้เล่นในเกมการเมืองและกฎหมายเพื่อกระตุ้นการกระโดดของอุตสาหกรรมเสียส่วนใหญ่ ลักษณะของการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจในช่วงนี้มีดังนี้ (a) นำเข้ารูปแบบสถาบันทางสังคมจากชาติตะวันตกเข้ามาผสมผสานแล้วสร้างของ “ญี่ปุ่น” ขึ้นมาเอง เช่น ระบบการศึกษาและระบบการจัดการธุรกิจ; (b) สร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ, ถนนหนทาง และ วางระบบไฟฟ้า; (c) งานด้านเทคนิคที่เป็นปฏิกิริยาก่อตัวขึ้นมาของการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจกลายเป็นฐานหลักของเศรษฐกิจประเทศ ส่งผลทำให้การผลิตสินค้าและบริการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสนองความต้องการของตลาด; (d) การขึ้นมาของกลุ่มบริษัท “ไซบัตสึ” (財閥) ที่มีรากฐานมาจากตระกูลซามูไรที่มีอิทธิพลในสมัยเอโดะเป็นผลทำให้ระบบการจัดการและการบริหารเศรษฐกิจในภาคเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมการผลิต จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีนำเข้าแนวคิดจากชาติตะวันตกเข้ามาเพื่อ “ปฏิรูป” และ “ทำให้ทันสมัย” แต่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากระบบโชกุนมาเป็นระบบรัฐ-สมัยใหม่การพยายามรักษาคงความเป็นชาติญี่ปุ่นก็ยังคงชัดเจน (Ohno 2017) เพราะญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นและความเป็นชาตินิยมที่สูงการเปิดตลาดให้เสรีในช่วงของจักรวรรดินั้นจึงเป็นไปในรูปแบบของนโยบายคู่ขนาน กล่าวคือในขณะที่การส่งเสริมให้มีการค้าขายเสรีภายในประเทศการค้าขายระหว่างประเทศถือว่ามีการจำกัดอย่างมากเพื่อสนับสนุนความเป็นชาติคล้ายกับรูปแบบเศรษฐกิจ “พาณิชย์นิยม” (“mercantilism”) ของสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนการส่งออกให้มากที่สุดในขณะที่การนำเข้าจากต่างประเทศมีการกีดกั้นถึงขีดสุด นโยบายเช่นนี้จะเป็นแบบอย่างให้กับนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของญี่ปุ่นจนกระทั่งวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงยุค 90s มรกดกตกทอดจากรูปแบบเศรษฐกิจของศักดินาญี่ปุ่นมาสู่ยุคจักรวรรดิถือว่ามีความสำคัญมากต่อการเข้าใจเศรษฐกิจญี่ปุ่น แม้แต่ในปัจจุบันเราก็เห็นได้ว่าพนักงานรายเดือน (サラリーマン) มักจะถูกจ้างโดยบริษัทญี่ปุ่นใหญ่ ๆ พร้อมกันเมื่อเรียนจบ (新卒一括採用) หรือแม้แต่ระบบการจ้างตลอดชีพ (終身雇用) ที่เป็นมรดกของระบบศักดินาบริวาร-ซามูไร (Fukao 2017) (ในแวดวงวิชาการญี่ปุ่น “ศักดินาในญี่ปุ่น” ค่อนข้างต่างจาก “ศักดินายุโรป” ที่เราเข้าใจกัน, นักวิชาการบางท่านปฏิเสธว่าศักดินาเกิดขึ้นในญี่ปุ่น ทางผู้เขียนใช้คำว่า “ศักดินา” เพื่อสื่อถึงระบบการปกครองและเศรษฐกิจโดยรวมของยุคเอโดะเพื่อความสะดวก)
=
ด้านการเงินและธนาคาร
=
นอกเหนือจากการนำแนวคิดตลาดเสรีทุนนิยมมาปรับใช้ในรูปแบบนโยบายคู่ขนานแล้วแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์จากประเทศยุโรปที่กำลังโตและพัฒนาเพื่อเทียบเท่ากับสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสอย่างจักรวรรดิเยอรมันที่รวมชาติได้เพียงไม่กี่ปีก็เป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรทางด้านแนวคิดด้านการเงินและธนาคารที่สำคัญต่อประเทศญี่ปุ่น (Pauer 2014) ในช่วงแรกหลังจากรัฐบาลโชกุนได้ถูกล้มลงแล้วนั้นรัฐบาลเมจิก็ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินและธนาคารเหมือนกับประเทศมหาอำนาจในตะวันตก ยกตัวอย่างเช่น มีการนำแนวคิดการเงินของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในช่วงนั้นมาปรับใช้ กล่าวก็คือไม่มีการสร้างธนาคารแห่งชาติแต่เป็นการสร้างธนาคาร “เอกชน” ที่สนับสนุนโดยรัฐให้ออกธนบัตรในแต่ละท้องถิ่นอิงตามอดีตพื้นที่ของแว่นแคว้นผ่าน “พระราชบัญญัติธนาคารแห่งชาติ ค.ศ. 1872” (国立銀行条例) ในขณะที่ใช้ทองคำเป็นมาตราฐานในการรองรับการพิมพ์ธนบัตรเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ แต่หลังจากนั้นได้ไม่นาน “กบฏซัตสึมะ” หรือ “สงครามเซนัน” (西南戦争) ก็ได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1877 สภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเมื่อรัฐบาลเมจิที่มีทองคำสำรองไม่พอในการรองรับนโยบายพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อทำสงครามกับแคว้นซัตสึมะ ในขณะเดียวกันนั้นรัฐวิสาหกิจที่ถูกสร้างขึ้นมาจากนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาลก็ไม่ได้สร้างกำไร มิหนำซ้ำยังสร้างภาระให้กับรัฐบาลและผู้จ่ายภาษีที่ตอนนี้จ่ายให้กับรัฐบาลแห่งชาติไม่ใช่รัฐบาลท้องถิ่นของแว่นแคว้นอีกต่อไป ด้วยภาระทางการเงินที่สูง, สภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และ ประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการที่ลดลงจากการแทรกแซงโดยรัฐและสงครามเป็นผลทำให้ มัตสึกาตะ มาซาโยชิ (松方 正義) ผู้สนับสนุนแนวคิดการควบคุมปริมาณเงินและการจำกัดงบประมาณรัฐ ขึ้นมามีตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (大蔵大臣) เขามีแนวคิดคล้ายกับ อาราอิ ชิราอิชิ (新井 白石) นักปรัชญาขงจื๊อผู้ที่ทำนโยบายการเงินมั่นคงให้กับรัฐบาลโชกุนในศตวรรษที่ 17 ในช่วงที่วิกฤตเงินเฟ้อได้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลเมจิ มาซาโยชิ กล่าวเอาไว้ว่า:
.
“จะเห็นได้ชัดเจนว่าความซบเซาในการผลิตเกิดจากขาดการลงทุนซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนในนโยบายสกุลเงินของเรา [...] การลดค่าเงิน [เยน] เกิดจากความไม่เพียงพอของ [มาตรฐานทองคำสำรอง] ซึ่งก็เป็นผลกระทบจากการผลิตที่ตกต่ำ”
.
นอกเหนือจากนั้น มาซาโยชิ ยังมองว่านโยบายการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมและการค้าขายกับต่างประเทศจำเป็นที่จะต้องดำเนินต่อไปเพื่อรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจและลดการขาดดุลทางการค้าที่เป็นปัญหามานานตั้งแต่สมัยเอโดะตอนปลาย มากไปกว่านั้นเขายังปฏิเสธแนวคิดของรัฐบุรุษ โอกูมะ ชิเงโนบุ (大隈 重信) ว่าด้วยเรื่องการกู้ยืมเงิน “50 ล้านเยน” จากสหราชอาณาจักร มาซาโยชิ มองว่าการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศและการกู้ยืมเงินโดยรวมกับการขยายปริมาณเงินในระบบโดยรวมจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ภายใต้นโยบายทางการเงินของ มาซาโยชิ เป็นผลทำให้เกิดสภาวะเงินฝืดขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดในขณะที่วิกฤตการณ์เงินเฟ้อที่เกิดก่อนหน้านั้นในช่วงทศวรรษที่ 1870s ก็ได้หายไปอย่างรวดเร็ว นโยบายการจำกัดงบประมาณรัฐก็ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเมจิยุคแรกค่อย ๆ ที่จะหายไป ในขณะที่ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (日本銀行) ถูกก่อตั้งขึ้นเดือนตุลาคม ค.ศ. 1882 เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินโดยรวมของประเทศผ่านการใช้ระบบ “เงินกระดาษ” (“fiat money”) ที่อิงกับระบบแลกเปลี่ยนของแว่นแคว้นในอดีต แต่ถึงอย่างไรก็ตามความเป็นอิสระของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นนั้นเป็นรากฐานทางการเงินที่สร้างทั้งวิกฤตและความเจริญในยุคให้หลัง ในปี ค.ศ. 1897 ธนาคารแห่งชาติประกาศกลับมาใช้มาตรฐานทองคำอีกครั้งเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงิน (Ohno 2017) ในยุคนี้เองบริษัทเอกชนต่าง ๆ ก็ผุดขึ้นมาเป็นมากมายเป็นปฏิกิริยาต่อการเป็นระบบระเบียบของเศรษฐกิจและแรงจูงใจที่เกิดจากการโอกาสมากมายในตลาด (Ramseyer 1996) ... หลังจากที่ฟองสบู่ทางเศรษฐกิจจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของญี่ปุ่นได้แตกและทำให้เกิดหนี้มากขึ้นในสถาบันการเงินและบริษัทต่าง ๆ ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นนอกเหนือจากที่จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดกลับเข้าไปอุ้มด้วยการให้สถาบันการเงินและบริษัทเหล่านั้นกู้อย่างรวดเร็วแทนที่จะแก้ปัญหาที่โครงสร้างทางการเงิน นอกเหนือจากนั้นในปี ค.ศ. 1923 เมื่อแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตเกิดขึ้นธนาคารแห่งชาติก็ปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์มากขึ้นไปอีกมากกว่าเดิม นอกเหนือจากนั้นธนาคารแห่งชาติยังไม่สามารถที่จะจ่ายอัตราผลตอบแทนต่อธนบัตรที่จ่ายออกช่วงแผ่นดินไหวไปถึง 431 ล้านเยน เพิ่มกับหนี้ของเอกชนที่ล้นเกินประเทศหลายล้านเยน ในท้ายที่สุดทุกก็ล้มเหลวเมื่อวิกฤตการณ์การเงินโชวะในปี ค.ศ. 1927 และ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของทั้งโลกเกิดขึ้น จนทุกอย่างถูกกลบด้วยเศรษฐกิจแบบสงคราม... (Miwa 2015)
=
ตลาดเสรีทุนนิยม
=
หลายคนอาจจะวาดภาพมโนทัศน์ที่ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงก่อนสงครามและช่วงสงคราม (หรือแม้แต่หลังสงครามเอง) เป็นเหมือนรูปปั้นที่แข็งทื่อไม่สามารถขยับได้หรือไม่มีความเสรีและความยืดหยุ่นเลย แต่ในความเป็นจริงนั้นสภาวะความเป็นเอกชนและสิทธิในทรัพย์สินถือว่ามั่นคงพอสมควรยกเว้นเพียงแค่ช่วงที่ญี่ปุ่นทำสงครามเต็มรูปแบบ (total war) ช่วงสู้ต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตรเท่านั้นที่เศรษฐกิจจะถูกคุมโดยรัฐอย่างกึ่ง ๆ การส่งออกถือว่าเป็นความสำคัญของฐานเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงยุคนี้ สินค้าที่ส่งออกที่สำคัญจากมากที่สุดตามลำดับมีดังนี้: เส้นไหมดิบ, ใบชา, ธัญพืช, อาหารทะเล, แร่ธาตุ และ ถ่านหิน ผ้าไหมค่อนข้างที่จะเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมากในหมู่สังคมชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ที่สนับสนุนตลาดเสรีทุนนิยมและเป็นผู้ที่สนับสนุนสิทธิในทรัพย์สินอย่างมั่นคงก็คือ อุกิจิ ทากุจิ (田口 卯吉) ผู้มากประสบการในกระทรวงการคลังและตั้งกิจการสื่อเอกชนที่ทำตามโมเดลหนังสือพิมพ์ “The Economist” ของสหราชอาณาจักร เขามีตำแหน่งผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎร (衆議院) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894 จนถึง 1905 ตามแนวคิดที่ต้องการให้ชาติญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นแนวหน้าของโลกเท่าเทียมกับชาติมหาอำนาจตะวันตก เขาได้กล่าวว่า:
.
“ในประเด็นเรื่องการค้าเสรี ... นโยบายการค้าเสรีควรนำมาใช้เพราะว่าเช่นนั้นจะเป็นผลทำให้ผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ”
.
ทากุจิ มีความเป็นชาตินิยมสูงแต่ในขณะเดียวกันเขาก็มองว่าการค้าเสรี/ตลาดเสรีทุนนิยมคือทางออกสำหรับประเทศญี่ปุ่นและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระยะยาว ในมุมมองของเขาความเป็นชาตินิยมและยึดถือต่อประเพณีกับวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นไม่จำเป็นที่จะต้องมีการแทรกแซงเศรษฐกิจโดยรัฐบาล นอกเหนือจากนั้นเขายังมีแนวคิดที่เอียนเอียงไปทางสำนักแนวคิดสายเสรี เช่น สำนักสเปนซาลามังกา (Escuela de Salamanca, School of Salamanca) และ สำนักออสเตรียน (Austrian School of Economics) ที่มีฐานคิดในด้าน “ส่วนเพิ่มนิยม” (“marginalism”) (Flath 2022) มากไปกว่านั้น ทากุจิ ก็ได้เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นมากมายเพื่อบูรณาการความนึกคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นของชาวญี่ปุ่นเอง โดยเฉพาะในหนังสือ “ประวัติแบบสั้นของอารยธรรมญี่ปุ่น” (日本開化小史) ที่มองว่าขุนนางยุคสมัยนาระ (奈良時代) และ สมัยเฮอัง (平安時代) ทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องตกยากลำบากผ่านการจ่ายภาษีที่มากเพื่อไปทำรัฐสวัสดิการตามโมเดลของจักรวรรดิจีนในสมัยนั้น ในขณะที่หนังสือยังกล่าวต่อไปอีกว่าในสมัยของโชกุนคามาคุระ (鎌倉時代) การทำรัฐสวัสดิการมีน้อย, รัฐบาลเป็นชนชั้นนักรบ และ มีการบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ แนวคิดของ ทากุจิ ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อการค้าเสรีกับต่างประเทศแต่ก็ผสมผสานกับแนวคิดปกป้องเศรษฐกิจของชาติโดยรัฐบุรุษ อินุไค ซึโยชิ (犬養 毅) ซึ่งนโยบายผสมผสานแบบนี้บวกกับนโยบายคู่ขนานที่กล่าวไปข้างต้นจะกลายเป็นลักษณะโดยรวมของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจนกระทั่งสงครามกับจีนในปี ค.ศ. 1937 และ สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปลายปี ค.ศ. 1941 (Flath 2022)
=
เข้าสู่เศรษฐกิจแบบสงคราม
=
รัฐบาลญี่ปุ่นในสมัยของจักรวรรดินั้นค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับระบบข้าราชการสูงเป็นอย่างมาก ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในพื้นฐานที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน หนึ่งในนโยบายที่สำคัญต่อการสร้างจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ที่ไม่เป็นรองให้กับมหาอำนาจชาติตะวันตกได้นั้นก็คือการลงทุนกับพื้นที่อาณานิคม ถึงแม้จะเป็นงานหนักที่ใช้งบประมาณมากจนกระทั่งทองคำสำรองหมดไปเท่าตัวและหนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product, GDP) ตั้งแต่ ค.ศ. 1937 เมื่อญี่ปุ่นทำสงครามกับจีนอย่างเต็มรูปแบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็เริ่มที่จะถูกควบคุม (Boldorf 2015) รัฐบาลสนับสนุนที่จะรวมกลุ่มบริษัทไซบัตสึให้เป็นกลุ่มผู้ผูกขาดเพื่อครอบงำตลาด (cartelization) ให้มีเป้าหมายอย่างเดียวคือการทำเพื่อชาติและระดมทรัพยากรทุกอย่างเพื่อสงคราม ธนาคารและสถาบันเงินในรูปแบบอื่นล่มละลายไปกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่กล่าวไปข้างต้นก็หน้านั้นในช่วงสงครามการเงินและการธนาคารจึงถูกคุมโดยสถาบันทางการเงินใหญ่ ๆ โดยเฉพาะจากกลุ่มไซบัตสึ ในขณะเดียวกันนั้นกลุ่มไซบัตสึก็เข้าใจดีกว่าตลาดเสรีทุนนิยมจะต้องคงอยู่เพื่อความมั่นคงและเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจแห่งชาติ กลุ่มไซบัตสึส่วนใหญ่จึงต่อต้านและปฏิเสธการรวมอำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่คุมโดยทหาร แต่ในท้ายที่สุดเศรษฐกิจก็ถูกคุมอย่างสมบูรณ์และกลุ่มไซบัตสึก็ถูกนำโดยคำชี้นำจากรัฐบาล ในบทความครั้งหน้าเกี่ยวกับญี่ปุ่นทางผู้เขียนจะเจาะลึกเกี่ยวกับ “กลุ่มบริษัทไซบัตสึ”
.
บรรณานุกรม
Boldorf, Marcel and Tetsuji Okazaki. Economies Under Occupation: The Hegemony of Nazi Germany and Imperial Japan in World War II. United Kingdom: Routledge. March 27, 2015.
Flath, David. The Japanese Economy. United Kingdom: Oxford University Press. October 3, 2022.
Fukao, Kyoji, et al. [岩波講座 日本経済の歴史] (“Iwanami Handbook of the Japanese Economic History”). Tokyo, Japan: Iwanami Shoten. July 12, 2017.
Miwa, Yoshiro. Japan’s Economic Planning and Mobilization in Wartime, 1930s—1940s. United Kingdom: Cambridge University Press. January 22, 2015.
Ohno, Kenichi. The History of Japanese Economic Development. United Kingdom: Routledge. September 6, 2017.
Pauer, Erich, et al. Japan’s War Economy. United Kingdom: Routledge. December 2, 2014.
Ramseyer, J. Mark. Odd Markets in Japanese History: Law and Economic Growth. United Kingdom: Cambridge University Press. September 28, 1996.
Takeda, Haruhito. [日本経済思想史] (“History of Japanese Economic Thought”). Tokyo, Japan: University of Tokyo. 2004. https://ocw.u-tokyo.ac.jp/course_11267.