Why Nostr? What is Njump?
2024-04-19 10:27:42

Tum ⚡🟧 on Nostr: 14% จริงด้วยแฮะ หลังจากที่ ...

14% จริงด้วยแฮะ

หลังจากที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้ทักท้วงเรื่องที่เซฟเฟดีน ได้กล่าวบนเวทีว่า โลกเราประสบกับเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยประมาณ 14% มาโดยตลอด 60 ปีที่ผ่านมา

ผมก็ได้กลับไปพยายามค้นหาข้อมูลดังกล่าวใน The Bitcoin Standard และพบว่า ไม่มีส่วนไหนในหนังสือที่กล่าวถึงตัวเลขดังกล่าวเลยแม้แต่ครั้งเดียว
โดยแต่ละครั้งที่เซเฟดีนกล่าวถึงเงินเฟ้อในรูปของ Monetary Supply Inflation จะใช้ตัวเลขราว ๆ 6-8% ซึ่งตรงกับข้อมูลการเจริญเติบโตของ M2 Money Supply หรืออุปทานเงินตามความหมายอย่างกว้างเสมอ

แต่ในที่สุดผมก็หาเจอ ( จากที่มีผู้ติดตามชี้ให้ไปดู )
ในหนังสือ The Fiat Standard หน้า 221
โดยในส่วนนี้ เซเฟดีนได้อ้างอิงถึงข้อมูลตัวเลขการเติบโตของอุปทานเงินตามความหมายอย่างกว้างของแต่ละประเทศทั่วโลกจากปี 1960 ถึงปัจจุบันจากฐานข้อมูลของ World Bank โดยพบว่า
กลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ มีอัตราการเติบโตของอุปทานเงินตามความหมายอย่างกว้างโดยเฉลี่ย ในช่วง 1960 - 2020 ดังนี้
Switzerland 6.67% ต่อปี
U.S. 7.44% ต่อปี
U.K. 10.87% ต่อปี
Japan 9.76% ต่อปี
China 20.33% ต่อปี
Euro Zone (ข้อมูลจาก OECD) 7.79% ต่อปี
และประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 30.10% ต่อปี!
เมื่อนำอัตราการเติบโตของอุปทานเงินมาคำนวณหาค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก โดยให้
Major Economies 80%
Other Countries 20%
เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงได้ใกล้เคียงขึ้น จะพบว่า ค่าเฉลี่ยอัตราการเจริญเติบโตของอุปทานเงินของโลกอยู่ที่ 13.72% ต่อปี

จึงสรุปได้ว่า เงิน เฟ้อขึ้น (ในความหมายของอุปทานเงิน) ที่ 14% ต่อปีมาโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 1960 - 2020

แน่นอนว่า อ่านเสร็จเราก็ต้องไปเช็คดูบ้าง
จากการศึกษา M2 Supply Growth ของหลายประเทศทั่วโลก ผมพบอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6-7 % ต่อปี (ทบต้น)
ซึ่งแตกต่างจาก 14% ต่อปีอยู่เท่าตัวเลยทีเดียว
แต่เมื่อศึกษาข้อมูลจากชุดข้อมูลของ World Bank และ OECD ก็พบว่า ข้อมูลเป็นไปตามทีอ.เซฟได้กล่าวไว้จริง

เพื่อให้มั่นใจว่าอ.เซฟไม่ได้หารผิด ผมเลยลองเอาชุดข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณหาอัตราการเจริญเติบโตทบต้น (CAR) ของตัวเลขทั้งหมด พบว่าจะได้ผลแตกต่างจากการเอาค่าเฉลี่ยมาหารเฉลี่ยโดยตรงอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังใกล้เคียงกับตัวเลขในหนังสือ

โดยเมื่อขยายขอบเขตข้อมูลถึงปี 2022 ถ้าคำนวณด้วยวิธีเดียวกันกับอ.เซฟ จะได้ผลออกมาอยู่ที่ประมาณ 15.31% ต่อปี แต่หากนำมาคำนวณหาอัตราการเติบโตแบบทบต้น โดยกำหนดค่า PV = 1 แล้วหา FV จากค่าการเติบโตในแต่ละปีแล้วจึงนำมาคำนวณหาค่า i จะได้ค่าเท่ากับ 14.42%

ถึงตอนนี้ผมมีข้อสรุปและคำถามเพิ่มเติมดังนี้
1. สรุปว่าตัวเลข 14% นั้น เป็นตัวเลขที่ไม่ได้มั่ว
2. แต่ทำไมผลที่ออกมาจึงแตกต่างจากข้อมูลปริมาณเงิน M2?

ทั้งนี้คาดเดาว่าน่าจะมีเหตุผลดังนี้
1. Definition ของ M1 M2 M3 ในแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไปและมีการปรับเปลี่ยนอยู่เป็นประจำ เป็นไปได้ว่า Worldbank มีมาตรวัดเป็นของตัวเองโดยไม่ได้อ้างอิงตัวเลข M2 ที่รัฐบาลต่าง ๆ ทำการประกาศ
2. อาจเป็นการใช้ M3 ที่มีความหมายที่กว้างกว่า เนื่องจากชุดข้อมูล จาก World Bank บอกเพียง Broad Money Supply แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็น M2 หรือ M3 ส่วนข้อมูลจาก OECD เป็น M3 ชัดเจน
3. หรือ World Bank และ OECD จะมั่วนั่งเทียนตัวเลข ?
4. แต่ตัวเลขที่อ.เซฟอ้างอิงในย่อหน้าถัดไป เป็นปริมาณ M2 ต่อ Global GDP ซึ่งถ้านำ growth rate ของ M3 มาคำนวณใส่ M2 อาจทำให้เพี้ยนไปบ้าง แต่ก็ยังจะทำให้ตัวเลขออกมาดูดีกว่าการคำนวณใส่ M3 ด้วยซ้ำ

ไว้ค่อยมาหาคำตอบกันต่อทีหลัง ไปเล่นกับลูกดีกว่า

ปล.
ชุดข้อมูล World Bank https://data.worldbank.org/indicator/FM.LBL.BMNY.ZG
ชุดข้อมูล OECD
https://data.oecd.org/money/broad-money-m3.htm
Author Public Key
npub1prya33fnqerq0fljwjtp77ehtu7jlsjt5ydhwveuwmqdsdm6k8esk42xcv