Why Nostr? What is Njump?
2025-03-19 02:14:09

journaling_our_journey on Nostr: ...



เวลาที่เราสูญเสียอะไรสักอย่างหรือใครสักคนไป การรับมือกับความสูญเสียนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
.
ยิ่งสิ่งที่เราสูญเสียหรือคนที่เราสูญเสียมีความสำคัญกับเรามากเท่าไหร่ ความสูญเสียดังกล่าวก็ยิ่งส่งผลกับเรามากเท่านั้น - มากจนอาจทำให้ชีวิตของเรา “เสียศูนย์” ได้เลยทีเดียว (ในบางกรณี)
.
เราจะรับมือกับความสูญเสียที่สำคัญๆในชีวิตอย่างไรไม่ให้ตัวเอง “เสียศูนย์” มากเกินไปนัก?
.
นักจิตวิทยา Rick Hanson (เจ้าของหนังสือ Hardwiring Happiness) มีคำตอบครับ
.
คำตอบของ Hanson ก็คือ Let Be, Let Go และ Let In ครับ
.
.
.
# 1 Let Be
.
Let Be คือการที่เราอนุญาตตัวเองให้นั่งอยู่กับความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นหลังจากที่เราเจอกับความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเสียใจ ความรู้สึกผิด ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกคิดถึง หรือความรู้สึกอะไรก็ตาม
.
และที่สำคัญก็คือ มันเป็นการที่เราอนุญาตให้ตัวเองได้อยู่กับความรู้สึกเหล่านั้น โดยไม่ตัดสินความรู้สึกเหล่านั้นด้วยคำว่า “ควร/ไม่ควร” “ผิด/ถูก” “เหมาะสม/ไม่เหมาะสม”
.
ต่อไปนี้คือตัวอย่างของการตัดสินความรู้สึกของตัวเองที่ผมพูดถึงในย่อหน้าข้างต้นครับ
.
“ฉันควรจะ move on ได้แล้ว ฉันควรจะหยุดคิดถึงแฟนเก่าได้แล้ว ฉันจะจมอยู่กับแฟนเก่าทำไมกัน ในเมื่อแฟนเก่าเขา move on ไปได้แล้ว”
“ฉันไม่ควรโกรธคุณยายฉันเลย มันไม่ใช่ความผิดคุณยายเลยนะที่ป่วยและเสียไปแบบนั้น”
“ฉันควรหยุดโกรธและควรให้อภัยคนที่ขับรถชนฉันและทำให้ฉันต้องสูญเสียขาข้างนึงได้แล้ว เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจจริงๆ”
.
แทนที่เราจะตัดสินความรู้สึกของตัวเอง Hanson เสนอให้เราอ้าแขนต้อนรับความรู้สึกเหล่านี้ เราไม่จำเป็นต้อง “ชอบ” ความรู้สึกเหล่านี้ที่อยู่ในใจเรานะครับ แต่ Hanson เสนอให้เราอนุญาตให้ความรู้สึกเหล่านี้ได้ “มีพื้นที่” อยู่ในใจเรา (คล้ายๆกับการที่เราอาจจะไม่ได้ “ชอบ” เพื่อนร่วมห้องของเรา แต่เราก็เปิดทางให้เพื่อนร่วมห้องของเรา “มีพื้นที่” อยู่ในห้องเดียวกันกับเราครับ)
.
ต่อไปนี้คือตัวอย่างของการอ้าแขนต้อนรับความรู้สึกของตัวเองที่ผมพูดถึงในย่อหน้าก่อนหน้านี้ครับ
.
“ฉันไม่ชอบเลยที่ตัวเองยังคงคิดถึงแฟนเก่า ทั้งๆที่แฟนเก่า move on ไปไกลแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆว่าฉันยังคงคิดถึงเขามากๆอยู่”
“ฉันรู้ว่าคุณยายไม่ได้ตั้งใจที่จะป่วยและทิ้งฉันไว้แบบนี้ แต่เสี้ยวนึงในใจฉันก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกโกรธคุณยายที่ทิ้งฉันไปอยู่ดี”
“ต่อให้คู่กรณีจะไม่ได้ตั้งใจขับรถชนฉัน แต่ถ้าจะให้ฉันให้อภัยเขาในตอนนี้ ฉันยอมรับว่าฉันกำลังรู้สึกโกรธเขามากเกินกว่าที่จะให้อภัยได้จริงๆ”
.
# 2 Let Go
.
สำหรับหลายๆคน เพียงแค่พวกเขาเริ่มต้น Let Be พวกเขาก็สัมผัสได้ว่า ความรู้สึกทั้งหลายที่เข้มข้นในใจ (หลังจากที่เกิดการสูญเสีย) มันก็ค่อยๆลดความเข้มข้นลงเรียบร้อยแล้ว
.
แต่สำหรับคนที่อยาก “ไปต่อ” Hanson เสนอว่าขั้นตอนต่อไป (ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ควรทำหลังจากที่ได้ใช้เวลาอยู่กับการ Let Be นานระดับหนึ่งแล้ว) คือ Let Go ครับ
.
Let Go คือการที่เราหยิบเอาความคิดความรู้สึกที่เรามีอยู่ในใจ (หลังเกิดเหตุการณ์สูญเสีย) มาพิจารณาดูและเริ่มต้นปล่อยมันออกไปทีละนิดๆๆ
.
ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละวัน เราจะล็อกเวลาไว้ให้ตัวเองวันละ 10 นาที ซึ่งในช่วง 10 นาทีนี้ ทุกครั้งที่เราหายใจเข้า เราจะหายใจเข้าพร้อมกับพูดกับตัวเองในใจว่า “ฉันรู้ว่าในใจฉันมีความรู้สึกโกรธที่เจ้านายเก่าไล่ฉันออกด้วยเหตุผลที่ไม่เป็นธรรม” จากนั้น ทุกครั้งที่เราหายใจออก เราก็จะหายใจออกพร้อมกับพูดกับตัวเองในใจว่า “ฉันอยากจะเริ่มต้น ‘ปล่อยมือ’ จากความรู้สึกโกรธนี้ ฉันอยากให้พลังงานความโกรธนี้ค่อยๆออกไปจากใจฉันพร้อมกับลมหายใจออกนี้” เป็นต้น
.
ในช่วงแรกๆ เราอาจจะพบว่าเรายังไม่สามารถปล่อยความคิดความรู้สึกดังกล่าวได้
.
นี่ถือเป็นเรื่องปกติมากๆครับ และมันไม่เป็นไรเลยครับที่เราจะยัง “ปล่อยไม่หลุด” ในช่วงนี้
.
อย่างไรก็ตาม หากเรายังคงตั้งใจที่จะ Let Go อย่างสม่ำเสมอ ในที่สุดแล้ว ความคิดความรู้สึกเหล่านั้นที่คั่งค้างอยู่ในใจเราก็จะค่อยๆลดระดับความเข้มข้นลงจนได้ครับ
.
# 3 Let In
.
หลังจากที่เรา Let Go ความคิดความรู้สึกทางลบที่คั่งค้างอยู่ในใจไปได้แล้ว มันอาจจะช่วยลดความปั่นป่วนทรมานในใจลงไปได้ก็จริง แต่หลายคนก็พบว่าใจของพวกเขารู้สึก “ว่างเปล่า” จนน่าใจหายเช่นกัน
.
ด้วยเหตุนี้ Hanson จึงเสนอว่า นอกจากเราจะ Let Be และ Let Go แล้ว เราอาจจะลองเพิ่มในส่วนของ Let In (เมื่อเราพร้อม) ด้วย
.
กล่าวคือ เราควรจะเปิดใจต้อนรับสิ่งดีๆ อนุญาตให้สิ่งดีๆ หรือแม้กระทั่งแสวงหาสิ่งดีๆให้เข้ามาในชีวิตเรา (ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ดีๆ ผู้คนดีๆ กิจกรรมดีๆ ความทรงจำดีๆ หรือความคิดความรู้สึกดีๆก็ตาม)
.
ยกตัวอย่างเช่น…
.
เราอาจจะคอยสังเกตสิ่งดีๆเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้นในชีวิตเราแต่ละวัน (เช่น ซื้อผลไม้ในตลาดและแม่ค้าแถมผลไม้เพิ่มให้ 2 ผล) และจดบันทึกมันไว้
เราอาจจะพาตัวเองไปเจอเพื่อนสมัยมัธยมฯ หลังจากที่เรา “หายหน้าหายตา” ไปนานตอนที่เราเริ่มต้นคบกับแฟนคนเก่า (ที่เพิ่งเลิกกับเราไปเมื่อไม่นานมานี้)
เราอาจจะทำงานเป็นอาสาสมัครที่เข้ามาให้การดูแลกับผู้ป่วยไร้ญาติ (ที่ป่วยเป็นโรคด้วยกันกับที่พรากชีวิตของคุณยายเราไป)
.
.
.
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า แนวทาง Let Be, Let Go, Let In ของ Hanson นี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกๆคนที่กำลังรับมือกับความสูญเสียในชีวิตได้บ้าง…ไม่มากก็น้อยนะครับ

#จิตวิทยา #siamstr
Author Public Key
npub1kmuax8ezgue2zz8z9mhpjgr5x83584g5fqlqlp42048hez4sjp8sz7wk8n