ตอนที่ 3 ของ #FuckIMF องค์กรชาติชั่ว! กับการเปิดโปงสิ่งที่เรียกว่า “ความช่วยเหลือ” จาก IMF และธนาคารโลก ที่มักมาพร้อมกับเงื่อนไขอันเลวทรามต่ำช้า #Siamstr
🟪 Habla Link | https://w3.do/iZlQUGE0
🟪 Yakihonne | https://w3.do/2kcvArph
quoting
naddr1qq…ej8d3. การปรับโครงสร้าง (Structural Adjustment)
“การปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องใหม่เสมอ และไม่เคยจบสิ้น”
–Otmar Emminger อดีตผู้อำนวยการ IMF และผู้คิดค้น SDR
ในพาดหัวข่าวการเงินทุกวันนี้จะเต็มไปด้วยเรื่องเกี่ยวกับการที่ IMF ไปเยี่ยมเยือนประเทศต่าง ๆ เช่น ศรีลังกาหรือกาน่า และผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นคือกองทุน IMF ได้ปล่อยเงินกู้นับพันล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ประเทศที่กำลังประสบวิกฤติ โดยแลกกับสิ่งที่เรียกว่า “การปรับโครงสร้าง” (Structural Adjustment)
ในเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างนั้น นอกเหนือจากที่ผู้กู้จะต้องจ่ายเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยแล้ว ผู้กู้ยังจะต้องยินยอมที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของตนเองตามความต้องการของธนาคารโลกและ IMF โดยเงื่อนไขเกือบทุกครั้งมักจะระบุให้ผู้กู้ต้องเพิ่มการส่งออกให้มากที่สุด โดยแลกมากับการบริโภคภายในประเทศที่ต้องได้รับผลกระทบ
ในช่วงค้นคว้าข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้ ผู้เขียนได้เรียนรู้เป็นอย่างมากจากผลงานของคุณ Cheryl Payer นักวิชาการด้านการพัฒนาซึ่งเขียนหนังสือและงานวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของธนาคารโลกและกองทุน IMF ในช่วงทศวรรษ 1970, 1980 และ 1990 แม้ผู้เขียนเองอาจจะมีความเห็นที่ไม่ตรงกับคุณ Payer ในเรื่องของ “ทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา” ซึ่งทางแก้ของคุณ Payer นั้นค่อนข้างเอนเอียงไปในแนวทางสังคมนิยม เฉกเช่นเดียวกับนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ที่วิพากษ์วิจารณ์ธนาคารและกองทุน IMF แต่ถึงกระนั้นข้อสังเกตเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่เธอค้นพบก็เป็นความจริงที่ไม่ได้เอนเอียงไปตามอุดมการณ์ใด ๆ
“เป้าหมายของโครงการจาก IMF นั้นชัดเจนและไม่ซับซ้อน” เธอกล่าว “นั่นคือการกีดกันการบริโภคในท้องถิ่น เพื่อให้มีทรัพยากรที่เหลือเฟือสำหรับการส่งออก”
นี่เป็นประเด็นสำคัญที่เน้นย้ำเท่าไรก็คงไม่พอ
หากกล่าวตามเรื่องเล่าอย่างเป็นทางการแล้ว ธนาคารและกองทุนเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่อการ “ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดปัญหาความยากจน” แต่ถนนและเขื่อนที่พวกเขาสร้างนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาการขนส่งให้ดีขึ้น หรือเพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้ชุมชนในท้องถิ่น มันกลับมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้เป็นการง่ายต่อบรรษัทข้ามชาติในการกอบโกยความมั่งคั่งออกไป
และเงินให้กู้เพื่อความช่วยเหลือจาก IMF นั้นไม่ได้มีไว้เพื่อ “ช่วยเหลือ” ประเทศให้รอดพ้นจากการล้มละลาย (ซึ่งจากในหลายกรณีแล้วนั้น การล้มละลายไปน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด) แต่มีไว้เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถจ่ายหนี้ก้อนเดิมได้ด้วยหนี้ก้อนใหม่ที่ใหญ่กว่า เพื่อช่วยให้ธนาคารจากชาติตะวันตกไม่ต้องมีหนี้สูญในงบดุลของพวกเขา
คุณ Payer ได้อธิบายไว้ในหนังสือของเธอที่เกี่ยวข้องกับเรื่องธนาคารโลกและ IMF ถึงวิธีที่สถาบันการเงินเหล่านี้ใช้อ้างว่าเงื่อนไขของเงินกู้เหล่านี้ที่ต้องปฏิบัติตามนั้น จะช่วยให้ประเทศผู้กู้ “มีสภาพดุลการค้าและดุลบัญชีชำระเงินที่ดีขึ้น” แต่จุดประสงค์หลักจริง ๆ แล้วนั้น เธอกล่าวว่า “นั่นคือการติดสินบนรัฐบาลของประเทศผู้กู้ เพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขาสร้างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปในทางที่ดีขึ้นที่จะทำให้พวกเขาสามารถลดการพึ่งพาประเทศอื่น และสามารถเลี้ยงตัวเองได้”
เมื่อประเทศต้องจ่ายคืนหนี้เงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างเหล่านี้ การชำระหนี้จะกลายเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ และเงินเพื่อการใช้จ่ายภายในประเทศก็จะถูก “ปรับ” ให้ลดน้อยลง
เงินกู้ของ IMF มักจะถูกจัดสรรผ่านกลไกที่เรียกว่า “Stand-by Agreement” ซึ่งคือทางกองทุนจะจัดเตรียมวงเงินกู้ไว้ให้ แต่จะให้เบิกใช้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลประเทศผู้กู้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ โดยตั้งแต่จาการ์ตา ลากอส ไปจนถึงบัวโนสไอเรส จะมีเจ้าหน้าที่ของ IMF บินไปยังประเทศเหล่านี้ (บนที่นั่งชั้นหนึ่งหรือชั้นธุรกิจเสมอ!) เพื่อพบกับผู้นำที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตย และเสนอเงินให้มูลค่านับล้านหรือนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแลกกับการทำตามวิธีการด้านเศรษฐกิจของพวกเขา
โดยทั่วไปแล้วสิ่งที่ IMF ต้องการให้ประเทศผู้กู้ทำก็คือ :
- การลดค่าเงิน
- การลดหรือยกเลิกการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและการนำเข้า
- การลดการปล่อยกู้ของธนาคารภายในประเทศ
- การขึ้นอัตราดอกเบี้ย
- การเพิ่มภาษี
- ยุติการให้การอุดหนุนด้านอาหารและพลังงานแก่ประชาชน
- ให้มีการตั้งเพดานค่าแรง
- จำกัดการใช้จ่ายและลงทุนของรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษา
- มีเงื่อนไขด้านกฎหมายและแรงจูงใจที่เป็นมิตรต่อบริษัทข้ามชาติ
- ให้มีการขายรัฐวิสาหกิจและขายสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติในราคาที่ถูกมาก ๆ
และทางธนาคารโลกเองก็มีวิธีการบีบบังคับประเทศลูกหนี้ของพวกเขาเองเหมือนกัน โดยคุณ Payer ได้ยกตัวอย่างไว้ดังนี้ :
- เปิดให้มีการลงทุนในด้านการขนส่งและการสื่อสารในพื้นที่ที่ห่างไกล
- ให้มีการช่วยเหลือบริษัทข้ามชาติที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่
- เน้นย้ำจุดยืนด้านการผลิตเพื่อการส่งออก
- กดดันผู้กู้ให้แก้สิทธิพิเศษทางกฎหมายในด้านภาระภาษี เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น
- คัดค้านการออกกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำและการทำกิจกรรมของกลุ่มสหภาพแรงงาน
- ยุติมาตรการปกป้องทางการค้าสำหรับธุรกิจท้องถิ่น
- ให้เงินสนับสนุนโครงการเวนคืนที่ดิน ผืนน้ำ และป่าไม้ จากกลุ่มคนยากจน และส่งมอบสิทธิการบริหารจัดการให้กับบริษัทข้ามชาติ
- ลดขนาดอุตสาหกรรมการผลิตและธุรกิจการผลิตอาหารให้เล็กลง เพื่อแลกกับการส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบ
ตามประวัติศาสตร์แล้ว รัฐบาลของประเทศโลกที่สามมักถูกบังคับให้รับเงื่อนไขเหล่านี้รวม ๆ กัน (ซึ่งบ้างจะรู้จักในชื่อ “ฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus)”) เพื่อให้สามารถเบิกใช้เงินกู้ของธนาคารโลกและกองทุน IMF ได้
เหล่าอดีตเจ้าอาณานิคมนั้นมักจะปล่อยเงินกู้เพื่อใช้สำหรับ “การพัฒนา” ให้แก่อดีตประเทศใต้อาณานิคม หรือประเทศที่อยู่ในเขตอิทธิพลของตัวเอง เช่น :
- ฝรั่งเศสให้กู้กับแอฟริกาตะวันตก
- ญี่ปุ่นให้กู้กับอินโดนีเซีย
- อังกฤษให้กู้กับแอฟริกาตะวันออกและเอเชียใต้
- สหรัฐอเมริกาให้กู้กับลาตินอเมริกา
โดยตัวอย่างที่เด่นชัดคือเขตประชาคมทางการเงินของแอฟริกา (CFA) ซึ่งผู้คนกว่า 180 ล้านคนของประเทศในทวีปแอฟริกากว่า 15 ประเทศ ยังคงถูกบังคับให้ใช้สกุลเงินของประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส อย่างฟรังก์ซีเอฟเอ (CFA Franc) และด้วยคำแนะนำของ IMF ในปี 1994 ฝรั่งเศสก็ได้ทำการลดค่าเงินสกุลฟรังก์ซีเอฟเอถึงร้อยละ 50 ถือเป็นการทำลายเงินออมและอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของคนหลายสิบล้านคนที่อาศัยในประเทศต่าง ๆ ไล่ตั้งแต่เซเนกัล ไอวอรีโคสต์ จนถึงกาบอง โดยทั้งหมดนั้นเพื่อทำให้การส่งออกวัตถุดิบมีความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น
หมายเหตุผู้แปล : ประชาคมทางการเงินของแอฟริกา (CFA) (ในภาษาฝรั่งเศส Communauté Financière d’Afrique, ในภาษาอังกฤษ African Financial Community) คือกลุ่ม 15 ประเทศในแอฟริกา ที่ใช้เงินสกุล CFA Franc ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ถูกหนุนหลังโดยกระทรวงการคลังของฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลยูโรแบบคงที่ โดยที่ทางฝรั่งเศสจะเป็นผู้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนนี้
ผลลัพธ์จากนโยบายของธนาคารโลกและกองทุน IMF ที่มีต่อประเทศโลกที่สามนั้น ช่างคล้ายคลึงเหลือเกินกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นภายใต้ระบอบจักรวรรดิแบบดั้งเดิม นั่นคือค่าแรงถูกกดขี่ ผู้คนสูญสิ้นอิสรภาพ และการต้องพึ่งพาประเทศอื่นในด้านการเกษตร โดยความแตกต่างที่สำคัญสำหรับระบอบใหม่นี้ คือดาบและปืนที่เคยถูกใช้เป็นอาวุธ วันนี้มันถูกแทนที่ด้วยอาวุธที่เรียกว่า “หนี้สิน”
ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การปรับโครงสร้างมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับเงินกู้ที่ธนาคารโลกและกองทุน IMF ปล่อยกู้ก่อนปี 1980 ซึ่งในช่วงนั้นการปล่อยเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างของธนาคารโลกถือเป็นเรื่องไม่ปกติ เงินกู้เกือบทั้งหมดนั้นเป็นการปล่อยกู้แบบเจาะจงเฉพาะรายโครงการ หรือเจาะจงเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่นั้นมา การปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือของธนาคารโลกจะเป็นแบบ “เชิญใช้ได้ตามใจชอบ” โดยเอาระบบเศรษฐกิจมาแลก การกู้ลักษณะนี้ได้กลายเป็นส่วนหลักของนโยบายธนาคาร ซึ่งสำหรับ IMF แล้วนี่เป็นสิ่งสำคัญเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงพวกเขา
ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนที่ IMF ได้ให้แพ็กเกจเงินกู้ช่วยเหลือแก่เกาหลีใต้และอินโดนีเซียมูลค่า 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐและ 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระหว่างช่วงวิกฤติทางการเงินของเอเชียในปี 1997 ซึ่งทางกองทุน IMF มีเงื่อนไขที่เข้มงวดให้ผู้กู้ต้องลงนามในข้อตกลงที่ “ละเอียดซับซ้อนเกินกว่าจะเป็นสัญญากู้เงินปกติ โดยมีเงื่อนไขถึง 50-80 รายการที่ระบุไว้อย่างละเอียดและครอบคลุม ตั้งแต่การยกเลิกกฎหมายจนเกิดการผูกขาดในตลาดกระเทียม ไปจนถึงการเก็บภาษีในอาหารวัว และกฎหมายสิ่งแวดล้อมแบบใหม่” ตามที่นักวิชาการด้านการเมือง คุณ Mark S. Copelvitch ได้กล่าวไว้
รายงานวิจัยในปี 2014 แสดงให้เห็นว่าในช่วง 2 ปีก่อนหน้านั้นทาง IMF จะใส่เงื่อนไขในการปล่อยเงินกู้เฉลี่ย 20 เงื่อนไขต่อการให้กู้ในแต่ละครั้ง ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างเป็นประวัติกาล โดยประเทศอย่างจาเมกา กรีซ และไซปรัส ที่ได้กู้เงินในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น มีการถูกตั้งเงื่อนไขในการกู้เงินของแต่ละประเทศเฉลี่ยประมาณ 35 รายการ
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ทางธนาคารโลกและ IMF เป็นผู้กำหนดขึ้น ซึ่งควรถูกพูดถึง นั่นก็คือการที่เงื่อนไขเหล่านี้ไม่เคยระบุถึงการปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและด้านสิทธิมนุษยชน หรือยับยั้งการผลาญเงินผ่านงบกลาโหม หรือควบคุมการใช้ความรุนแรงของตำรวจ
และที่บิดเบี้ยวขึ้นไปอีกคือนโยบายของทางธนาคารโลกและกองทุน IMF สร้างสิ่งที่เรียกว่า “เงินกู้ซ้ำซ้อน (Double Loan)” ตัวอย่างเช่น การปล่อยเงินกู้เพื่อใช้สร้างเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แต่เม็ดเงินเกือบทั้งหมดกลับถูกจ่ายคืนไปให้บริษัทในชาติตะวันตก ฉะนั้นเหล่าผู้เสียภาษีในประเทศโลกที่สามก็ต้องรับภาระในการจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของเงินกู้นั้นคืนกลับ
นั่นเท่ากับว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจะได้รับเงินคืนเป็นสองเท่า!
บริบทของเงินกู้ซ้ำซ้อนนี้ คือการที่ชาติที่เหนือกว่ามอบเงินกู้ยืมให้กับเหล่าอดีตประเทศใต้อาณานิคมผ่านทางธนาคารโลกและ IMF ซึ่งบรรดาผู้ปกครองท้องถิ่นของประเทศผู้กู้มักใช้เงินกู้ก้อนใหม่นี้จ่ายคืนให้กับบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์โดยตรงผ่านการให้บริการเป็นที่ปรึกษา บริการด้านการก่อสร้าง และบริการด้านการนำเข้าสินค้า
โดยการที่ธนาคารโลกและ IMF สามารถบังคับใช้เงื่อนไขการปรับโครงสร้าง ก็เพื่อที่จะรับประกันได้ว่าจะมีการลดค่าเงิน การควบคุมค่าแรง และการเพิ่มมาตรการที่เข้มงวดในการปล่อยกู้ของธนาคารท้องถิ่นได้ ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นต้องตกอยู่ในสถานะเสียเปรียบอย่างหนัก เพราะต้องจมอยู่กับระบบเงินเฟียตในประเทศที่กำลังล่มสลาย อีกทั้งยังถูกทิ้งให้เผชิญกับปัญหาโดยลำพัง ในขณะที่ผลประโยชน์กลับไปตกอยู่กับกลุ่มบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เงินสกุลดอลลาร์ ยูโร หรือเยน
แหล่งข้อมูลอีกแหล่งนึงของผู้เขียนคือหนังสือ “The Lords of Poverty” โดยนักประวัติศาสตร์ Graham Hancock ซึ่งเขียนขึ้นเพื่อสะท้อนถึงช่วง 5 ทศวรรษแรกของนโยบายของธนาคารโลกและ IMF รวมถึงความช่วยเหลือต่อประเทศอื่น ๆ ในภาพรวม
“ธนาคารโลกนั้น” คุณ Hancock ได้เขียนไว้ “เป็นองค์กรแรกที่ยอมรับว่าแท้ที่จริงแล้ว จากเงินทุก 10 ดอลลาร์สหรัฐที่ประเทศเหล่านั้นได้รับ จะมีเงินถึงประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐที่ถูกนำกลับไปใช้ซื้อสินค้าและบริการจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย”
ในช่วงที่ธนาคารโลกเร่งขยายการสนับสนุนทางการเงินเมื่อปี 1980 นั้น เขากล่าวว่า “จากเงินภาษีของสหรัฐฯ ทุก 1 ดอลลาร์ที่ให้ไป จะมีเงินจำนวนถึง 82 เซนต์ที่กลับคืนสู่ธุรกิจอเมริกันทันทีผ่านรูปแบบของใบคำสั่งซื้อ”
โดยพลวัตเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่เงินปล่อยกู้ แต่ยังรวมถึงเงินให้ความช่วยเหลือด้วย ยกตัวอย่าง เช่น ในตอนที่สหรัฐอเมริกาหรือเยอรมนีส่งเครื่องบินขนความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่ประสบภัย ค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่ง อาหาร ยา และเงินเดือนเจ้าหน้าที่จะถูกรวมเข้าไปอยู่ใน ODA ซึ่งคือ “ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance)”
ดูผิวเผินแล้ว สิ่งนี้เหมือนเป็นการช่วยเหลือและการสนับสนุน แต่แท้ที่จริงแล้วเงินส่วนใหญ่กลับไหลคืนสู่บริษัทในชาติตะวันตก แทบไม่ได้ไหลลงไปยังพื้นที่ประสบภัยแม้แต่นิดเดียว
เมื่อวิเคราะห์เหตุการณ์วิกฤติหนี้สินของประเทศโลกที่สามในช่วงปี 1980 คุณ Hancock สังเกตว่า “เงินทุก 1 ดอลลาร์ของการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา จะมีถึง 70 เซนต์ของเงินก้อนนั้นที่ไม่เคยได้ออกไปนอกแผ่นดินอเมริกันเลยด้วยซ้ำ” ในส่วนของสหราชอาณาจักรนั้น ร้อยละ 80 ของเงินช่วยเหลือจะไหลตรงไปยังสินค้าและบริการสัญชาติอังกฤษทันที
“มีอยู่ปีหนึ่ง” คุณ Hancock ระบุ “ผู้เสียภาษีชาวอังกฤษได้มอบเงินให้แก่หน่วยงานในการช่วยเหลือระดับพหุภาคีกว่า 495 ล้านปอนด์ อย่างไรก็ตามในปีเดียวกันนั้นเอง บริษัทอังกฤษก็ได้รับสัญญาซื้อขายกว่า 616 ล้านปอนด์” คุณ Handcock ได้กล่าวว่าหน่วยงานระดับพหุภาคีเหล่านี้ “พึ่งพาการจัดซื้อสินค้าและบริการจากประเทศอังกฤษ โดยเป็นมูลค่าเทียบเท่าร้อยละ 120 ของเงินที่ประเทศอังกฤษบริจาคให้ในระดับพหุภาคีทั้งหมด”
เราคงจะเริ่มเห็นแล้วว่าสิ่งที่เรียกว่า “ความช่วยเหลือ” ที่เรามักจะคิดว่าเป็นการกุศล แต่แท้จริงกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม และอย่างที่คุณ Handcock ได้ชี้ให้เห็นว่างบประมาณด้านความช่วยเหลือต่อต่างประเทศนั้นมีแต่จะเพิ่มขึ้นตลอดไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะความคืบหน้าที่เกิดขึ้นจะแสดงเสมือนว่าความช่วยเหลือที่ให้ไปนั้นได้ผล และเช่นเดียวกัน “การช่วยเหลือที่ไม่คืบหน้าก็ถือเป็นหลักฐานว่าจำนวนเงินที่ส่งไปยังไม่มากพอ และจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณเงินให้มากขึ้นอีก”
โดยฝ่ายผู้ที่สนับสนุนการพัฒนานั้น ทางคุณ Handcock ได้เขียนไว้ว่า “พวกนี้จะโต้แย้งว่าเป็นการไม่สมควรที่เราจะปฏิเสธความช่วยเหลือต่อประเทศที่ทำได้ดี (จนเจริญก้าวหน้า) และจะถือว่าโหดร้ายยิ่งกว่า หากจะปฏิเสธความช่วยเหลือต่อประเทศที่ขัดสนและจำเป็นต้องให้ช่วย (ซึ่งยังพัฒนาตามหลังอยู่) ดังนั้นเงินช่วยเหลือจึงเปรียบเสมือนเหล้าแชมเปญ กล่าวคือในยามที่คุณทำสำเร็จคุณก็สมควรได้รับมัน แต่ในยามที่คุณล้มเหลวคุณก็ยิ่งต้องการมัน”
และนี่คือกับดักนรกที่วนเวียนไปไม่มีวันจบสิ้น..
⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ
(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)