Why Nostr? What is Njump?
2023-09-07 13:25:17

RightShiftCuration on Nostr: 5 ดาว !! ...


5 ดาว !! บทความเปิดโปงความระยำของ IMF และธนาคารโลก | บทที่ 1 : 'ฟาร์มกุ้งวิปโยค' 🔥
#FuckIMF #FuckWorldBank #Siamstr 🇹🇭

👀 Yakihonne | https://w3.do/HTeCD80T
👀 Habla | https://w3.do/SPUwR8Nq

1. ฟาร์มกุ้งวิปโยค

“ทุกอย่างล้วนหายไปหมดแล้ว”

–Kolyani Mondal

เมื่อ 52 ปีก่อน พายุไซโคลนโบลาฆ่าผู้คนในแถบชายฝั่งของบังกลาเทศไปมากกว่า 1 ล้านคน ถือเป็นพายุไซโคลนที่ร้ายแรงที่สุดที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

หน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรนานาชาติรู้ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายร้ายแรงจากพายุลักษณะนี้เป็นอย่างดี ดังนั้นในช่วงปี 1960 หน่วยงานภูมิภาคจึงสร้างแนวกันคลื่นขนาดใหญ่เพื่อป้องกันแนวชายฝั่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการใช้พื้นที่สำหรับการเกษตรได้มากขึ้น

แต่หลังจากการลอบสังหารผู้นำอย่าง ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน ในการประกาศอิสรภาพ ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางภายใต้ระบอบเผด็จการของบังกลาเทศด้วยการผลักดันของอิทธิพลจากต่างประเทศ ชีวิตของผู้คนถูกลดความสำคัญ และแนวป้องกันพายุสำหรับประชาชนถูกทำให้อ่อนแอลง

หมายเหตุผู้แปล : ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน (Sheikh Mujibur Rahman) เป็นผู้ก่อตั้งประเทศบังกลาเทศ โดยดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 1971 จนถูกลอบสังหารในปี 1975

ทั้งหมดก็เพื่อเร่งอัตราการส่งออกและเพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้

โดยแทนที่จะส่งเสริมการปลูกป่าชายเลน ซึ่งสามารถเป็นแนวป้องกันพายุตามธรรมชาติ เพื่อประโยชน์สำหรับประชาชนมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่ง หรือแม้แต่ลงทุนในการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะกู้เงินจากธนาคารโลกและกองทุน IMF เพื่อที่จะขยายฟาร์มกุ้ง ซึ่งกระบวนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศนั้นถูกควบคุมโดยเครือข่ายชนชั้นปกครองที่ร่ำรวยอีกด้วย

พวกคนรวยรวมหัวกันผลักดันบรรดาเหล่าชาวไร่ให้กู้ยืมเงินเพื่อทำสิ่งที่เรียกว่าการ “อัปเกรดกระบวนการเพาะเลี้ยง” โดยทำการขุดหลุมตามแนวกันคลื่นซึ่งป้องกันที่ดินของพวกเขาจากทะเล ทำให้ที่ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์ของพวกเขาเต็มไปด้วยน้ำเกลือ หลังจากนั้นพวกเขาก็ต้องทำงานอย่างหลังขดหลังแข็ง เพื่อจับตัวอ่อนของกุ้งจากทะเลด้วยมือเปล่า เพื่อนำมันกลับมาเลี้ยงในบ่อพัก ก่อนจะขายกุ้งตัวโตเต็มวัยให้กับผู้รับซื้อกุ้ง ซึ่งมักจะเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

image

เงินทุนที่กู้จากธนาคารโลกและ IMF ทำให้ไร่นาสวน ที่ดินลุ่มน้ำ และป่าชายเลนนับไม่ถ้วน ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นบ่อกุ้งที่เรียกว่า “ghers”

พื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคานั้นถือเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างน่าทึ่ง โดยเป็นที่ตั้งของ “ป่าสุนทรพนา” ป่าชายเลนที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่หลังจากที่การทำฟาร์มกุ้งเชิงพาณิชย์ได้กลายเป็นธุรกิจหลักในท้องถิ่น ต้นโกงกางมากกว่าร้อยละ 45 ได้ถูกตัดออกไปเกลี้ยง ทิ้งให้ผู้คนเผชิญกับคลื่นสูงกว่า 10 เมตรที่พุ่งเข้าชนแนวชายหาดเวลาเกิดพายุไซโคลน พื้นที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์และสิ่งมีชีวิตตามริมแม่น้ำค่อย ๆ ถูกทำลายไปจากความเค็มที่เพิ่มขึ้นจากน้ำทะเล

จนสุดท้ายป่าทั้งป่าก็ได้อันตรธานหายไป เพราะฟาร์มกุ้งนั้นทำลายพืชพรรณท้องถิ่นทั้งหมด กลุ่มความร่วมมือพัฒนาชายฝั่ง (Coastal Development Partnership) ได้กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ว่า “การกระทำนี้ทำให้ดินแดนที่เคยอุดมสมบูรณ์กลายเป็น ‘ทะเลทรายที่เต็มไปด้วยน้ำเค็ม’ ”

image

พื้นที่ไร่นาที่ปล่อยน้ำทะเลเข้ามาเพื่อทำฟาร์มกุ้งในจังหวัด Khuna


อย่างไรก็ตาม ผู้มีอิทธิพลที่รับซื้อกุ้งเหล่านี้กลับร่ำรวยขึ้นอย่างมาก และกุ้ง (ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “ทองคำสีขาว”) ก็กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 2 ของประเทศ

โดยนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา ชาวบังกลาเทศมากกว่า 1.2 ล้านคนทำงานในอุตสาหกรรมกุ้ง และผู้คนอีกกว่า 4.8 ล้านคนที่ต้องพึ่งพิงอุตสาหกรรมนี้ในทางอ้อม ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนคนยากจนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่ง คนเก็บกุ้งเป็นผู้ที่ทำงานหนักที่สุด (ซึ่งถือเป็นร้อยละ 50 ของแรงงานในอุตสาหกรรม) แต่ได้รับส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 6 ของผลกำไร โดยร้อยละ 30 ของแรงงานนั้นเป็นแรงงานเด็กที่มีทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิง ซึ่งทำงานในน้ำเค็มมากถึง 9 ชั่วโมงต่อวันด้วยค่าจ้างรายวันน้อยกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐ เด็กเหล่านี้ส่วนมากไม่รู้หนังสือและไม่ได้เรียนต่อ

ผู้คนเคยมีการลุกฮือขึ้นประท้วงต่อต้านการขยายตัวของฟาร์มกุ้ง แต่แล้วก็ถูกปราบปรามอย่างรุนแรง โดยในเหตุปราบปรามที่เลื่องลือครั้งหนึ่่งนั้น ขบวนผู้ประท้วงถูกทำร้ายด้วยระเบิดจากผู้มีอิทธิพลที่รับซื้อกุ้งและกลุ่มลูกน้อง และมีผู้หญิงรายหนึ่งชื่อ Kuranamoyee Sardar ถูกตัดศีรษะจากเหตุปราบปรามดังกล่าว

ในงานวิจัยปี 2007 ซึ่งสำรวจฟาร์มกุ้งของชาวบังกลาเทศกว่า 102 แห่ง พบว่าแม้ค่าใช้จ่ายในการผลิตทั้งหมดจะอยู่ที่ 1,084 ดอลลาร์สหรัฐต่อเฮกตาร์ แต่รายได้สุทธิกลับอยู่ที่ 689 ดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายถึงกำไรที่ประเทศได้จากการส่งออกนั้น แลกมาด้วยการที่แรงงานในอุตสาหกรรมกุ้งต้องรับเคราะห์จากค่าจ้างที่ถูกกดและสภาพแวดล้อมของพวกเขาที่ถูกทำลายจนหมดสิ้น

ในรายงานที่จัดทำโดยมูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) ชาวไร่ที่อยู่ริมชายฝั่งอย่างคุณ Kolyani Mondal ได้กล่าวว่า “เธอเคยปลูกข้าว พร้อมเลี้ยงปศุสัตว์และสัตว์ปีก” แต่หลังจากที่ได้มีการทำเกษตรฟาร์มกุ้ง “วัว ควาย และแพะของเธอก็เริ่มเป็นโรคท้องร่วงไปพร้อม ๆ กับเหล่าแม่ไก่และเป็ดซึ่งเป็นสัตว์ของเธอ พวกมันล้วนตายทั้งหมด”

image

ตอนนี้ทุ่งของเธอเต็มไปด้วยน้ำเกลือ และที่ดินที่ยังเหลืออยู่ก็เพาะปลูกอะไรแทบไม่ขึ้น ในอดีตนั้นครอบครัวของเธอสามารถปลูกข้าวได้ 18-19 มอนต่อเฮกตาร์ แต่ตอนนี้เหลือแค่ 1 มอนต่อเฮกตาร์ เธอยังจำช่วงเวลาในปี 1980 ที่เพิ่งเริ่มมีการทำฟาร์มกุ้งได้ ในตอนนั้น ชาวบ้านได้รับการสัญญาว่าสิ่งนี้จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งมอบอาหารและพืชผลให้พวกเขามากขึ้น

แต่ตอนนี้ “ทุกอย่างล้วนหายไปหมดแล้ว” ชาวไร่ผู้เลี้ยงกุ้งขอเช่าที่ดินของเธอ โดยตกลงจะจ่ายเงินเธอ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ตอนนี้อย่างดีที่สุดที่เธอได้รับคือเงินผ่อนจ่ายแปลงละ 8 ดอลลาร์สหรัฐบ้างเป็นครั้งคราว โดยเธอกล่าวว่า “ในอดีตครอบครัวของเธอสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้อย่างดีจากบนผืนดินแห่งนี้ แต่ตอนนี้ไม่เหลือทางเลือกใด ๆ นอกจากการไปซื้ออาหารที่ตลาด”


หมายเหตุผู้แปล :

  • มอน (Muand) เป็นหน่วยวัดน้ำหนักดั้งเดิมที่ใช้กันในเอเชียใต้ โดย 1 มอนมีค่าเทียบเท่าที่หลากหลายตั้งแต่ 11 กิโลกรัม จนถึง 72 กิโลกรัม
  • เฮกตาร์ (Hectare) เป็นหน่วยวัดพื้นที่ในมาตราเมตริกโดย 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 10,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 6 ไร่ 1 งาน. ———–

ในบังกลาเทศนั้นเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างจากธนาคารโลกและ IMF ปริมาณนับพันล้านดอลลาร์ (ที่มาของชื่อ “เงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้าง” ได้มาจากการที่ผู้ปล่อยกู้จะบังคับให้ประเทศผู้กู้ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้เอื้อกับการส่งออก ซึ่งต้องแลกมาด้วยการบริโภคภายในประเทศ) ได้ทำให้กำไรในการส่งออกกุ้งของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 2.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1973

  • เพิ่มเป็น 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1986
  • และเพิ่มเป็น 590 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2012

ซึ่งรายได้ดังกล่าวถูกนำมาใช้จ่ายหนี้ต่างประเทศและใช้ในการพัฒนากองทัพ แต่เงินบางส่วนก็ไหลเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่รัฐ (ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับกรณีส่วนใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา) ในขณะที่เหล่าแรงงานทาสในอุตสาหกรรมกุ้งต้องถูกกดขี่ให้ยากจน ถูกลิดรอนอิสรภาพ ต้องพึ่งพิงผู้อื่น และมีความสามารถในการหาเลี้ยงตัวเองได้น้อยลงกว่าแต่ก่อน

โดยที่แย่ไปกว่านั้นคือผลวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า “หมู่บ้านที่มีป่าชายเลนไว้เป็นแนวป้องกันตัวจากคลื่นพายุซัดฝั่งจะมีผู้เสียชีวิตน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับหมู่บ้านที่ป่าชายเลนเสียหายหรือถูกทำลาย”

image

ภายใต้แรงกดดันของสาธารณชน ในปี 2013 ธนาคารโลกจึงได้ปล่อยเงินกู้ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่บังกลาเทศเพื่อใช้ในการพยายามแก้ไขความเสียหายของระบบนิเวศที่เกิดขึ้น ซึ่งพูดในอีกแง่หนึ่งก็คือธนาคารโลกจะได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยจากการพยายามแก้ปัญหาที่ตัวเองเป็นผู้ก่อขึ้นตั้งแต่แรก ในขณะเดียวกันธนาคารโลกยังได้ปล่อยเงินกู้นับพันล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังทุกประเทศ ไล่ตั้งแต่เอกวาดอร์ ไปยันโมร็อกโก จนถึงอินเดีย เพื่อเปลี่ยนฟาร์มดั้งเดิมในท้องถิ่นให้กลายเป็นฟาร์มกุ้ง

ธนาคารโลกได้อ้างว่าบังกลาเทศนั้นคือ “เรื่องราวที่น่าทึ่งของการลดความยากจนและการพัฒนาประเทศ” หากยึดจากในข้อมูลตามเอกสารที่ว่าแล้ว นี่ถือเป็นชัยชนะ เพราะเศรษฐกิจของประเทศอย่างบังกลาเทศมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไป ในขณะเดียวกับที่มูลค่าการส่งออกนั้นเติบโตขึ้นเพื่อชดเชยมูลค่าจากการนำเข้า แต่แท้จริงแล้วรายได้จากการส่งออกส่วนใหญ่กลับไหลเข้าสู่กระเป๋าของชนชั้นนำและเจ้าหนี้ต่างประเทศ และหลังจากได้รับเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างมาถึง 10 ครั้ง หนี้ของบังกลาเทศเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล โดยเพิ่มจาก 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1972 กลายเป็น 95,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ซึ่ง ณ ตอนนี้ประเทศบังกลาเทศเองก็กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) จากหนี้สินอีกครั้ง และในเดือนพฤศจิกายน 2022 รัฐบาลก็ตกลงที่จะกู้เงินปรับโครงสร้างครั้งที่ 11 จาก IMF โดยมีการอัดฉีดเงินช่วยเหลือมูลค่า 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้ามาในระบบ โดยแลกกับการถูกแทรกแซงในการปรับโครงสร้างที่เพิ่มขึ้นไปอีก

ธนาคารโลกและ IMF นั้นก็ต่างอ้างว่าพวกเขาต้องการช่วยเหลือประเทศที่ยากจน แต่ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา ผลลัพธ์จากนโยบายของพวกเขาก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเทศอย่างบังกลาเทศกลับกลายเป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น และเต็มไปด้วยหนี้สินอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

image

ในระหว่างวิกฤตหนี้ของประเทศโลกที่สามในช่วงทศวรรษ 1990 การวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณชนทั่วโลกที่ต้องการจะตรวจสอบข้อเท็จจริงของธนาคารโลกและ IMF ได้ค่อย ๆ สะสมจนปะทุขึ้น เริ่มมีการศึกษาวิจัยเพื่อสืบค้นข้อมูลอย่างจริงจัง ผู้คนออกมาประท้วงตามท้องถนน และมีความเชื่อที่แพร่กระจายไปยังทุกฝั่งการเมือง (แม้กระทั้งในรัฐสภาของสหรัฐฯ เอง) ว่าองค์กรเหล่านี้ไร้ซึ่งประโยชน์ หรือกระทั่งเป็นพิษภัยด้วยซ้ำ แต่ความรู้สึกและความสนใจในองค์กรเหล่านี้ได้จางหายไปเกือบหมดแล้ว และถึงแม้ความรู้สึกและความสนใจเหล่านี้จะกลับมาอีกครั้ง มันกลับถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ หรือแม้จะมีการยอมรับว่าองค์กรพวกนี้มีปัญหาแต่ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ หรือกระทั่งยังมีความเชื่อว่าองค์กรพวกนี้มีประโยชน์และยังได้รับการต้อนรับเหมือนเดิม

ความเป็นจริงแล้วองค์กรเหล่านี้ทำให้ผู้คนนับล้านยากจนลงและชีวิตเสี่ยงอันตรายมากกว่าในอดีต ในขณะเดียวกันกลับทำให้เหล่าผู้นำเผด็จการและเครือข่ายที่ยักยอกความมั่งคั่งของประเทศนั้นร่ำรวยขึ้น และยอมละทิ้งสิทธิมนุษยชนเพื่อทำให้อาหาร ทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานราคาถูกไหลออกจากประเทศที่ยากจนไปสู่ประเทศที่ร่ำรวย พฤติกรรมของพวกเขาที่กระทำในบังกลาเทศนั้นไม่ใช่เรื่องผิดพลาดหรือเป็นกรณียกเว้นแต่อย่างใด

แต่นั่นเป็นวิธีการดำเนินธุรกิจตามปกติของพวกเขา..

⚡️กด Zap บทความนี้เป็นกำลังใจทีมงาน

(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)


แปลและเรียบเรียงจากบทความต้นฉบับเรื่อง : STRUCTURAL ADJUSTMENT: HOW THE IMF AND WORLD BANK REPRESS POOR COUNTRIES AND FUNNEL THEIR RESOURCES TO RICH ONES ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ปี ค.ศ. 2022


Author Public Key
npub1l2cp3t052ljhqnt2emsq5py30qqppj3pytprppc4ygjznhv6lzws99ye04