Why Nostr? What is Njump?
2025-03-24 03:04:40

journaling_our_journey on Nostr: ...



สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่จำนวนมากก็คือ เมื่อลูกของพวกเขาเติบโตขึ้น ลูกก็ได้ค้นพบว่า หลายสิ่งที่พ่อแม่เคยทำหรือพูดกับลูกในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ “ไม่ถูกต้อง”
.
ยกตัวอย่างเช่น การใช้ความรุนแรงกับลูก การลำเอียงกับลูกคนหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด การโกหกลูก เป็นต้น
.
แน่นอนครับว่าปฏิกิริยาของลูกแต่ละคน…ไม่เหมือนกัน
.
ลูกบางคนสามารถมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาที่เข้าใจ (ว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถผิดพลาดได้)
.
แต่สำหรับลูกจำนวนไม่น้อย พวกเขามองสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับความรู้สึกเจ็บปวด โกรธ ผิดหวัง ฯลฯ
.
นอกจากนี้ พวกเขายังหยิบสิ่งที่เกิดขึ้นไปพูดคุยกับพ่อแม่ในลักษณะที่เป็นการ “เผชิญหน้า” ด้วยอารมณ์ที่เข้มข้นอีกด้วย!
.
ในสถานการณ์เช่นนี้ พ่อแม่หลายคนจะพยายามแก้ต่างหรืออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น…เพื่อหวังว่าจะช่วงให้สภาวะอารมณ์ของลูกผ่อนลง
.
อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนั้นมักจะให้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างอะไรกับการ “ราดน้ำมันบนกองไฟ”
.
วิธีที่ดีกว่า (ในสายตาผม) คือการรับฟังลูก ทำความเข้าใจความรู้สึกที่อยู่ในใจลูก ณ ขณะนั้น และสื่อสารในลักษณะที่ “เปิดช่อง” ให้ลูกช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น
.
ยกตัวอย่างเช่น
.
“แม่ไม่เคยแคร์ผมเลย! แม่สนใจแต่พี่สาวคนเดียวตลอด!” => “แม่เสียใจที่ทำให้ลูกรู้สึกว่าลูกไม่เคยอยู่ในสายตาแม่เลย อะไรคือสิ่งที่แม่ยังทำทุกวันนี้ที่ทำให้ลูกยังรู้สึกแบบนี้หรือ?”
.
“ถ้าพ่อ support หนูมากกว่านี้ ชีวิตหนูก็คงไม่ตกอับถึงขนาดนี้หรอก!” => “พ่อเข้าใจว่าชีวิตลูกในตอนนี้มันไม่ได้เป็นอย่างที่ลูกหวังเอาไว้ มีอะไรที่พ่อสามารถทำได้เพื่อที่จะช่วย support ให้ลูกมีชีวิตที่ลูกต้องการมากขึ้นไหม?”
.
เป็นต้น
.
หากพ่อแม่รับมือกับลูกแบบตัวอย่างในข้างต้น ลูกมีโอกาสที่จะใจเย็นลง (เมื่อเทียบกับกรณีที่พ่อแม่พยายามแก้ต่างหรืออธิบาย) นอกจากนี้ การรับมือแบบข้างต้นยังจะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น (ซึ่งจะนำมาสู่การที่พ่อแม่ “เกาถูกจุด” กับลูกได้มากขึ้นในอนาคต) อีกด้วย
.
ทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้ ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะสื่อว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของลูกนั้น เป็นความผิดของพ่อแม่แบบ 100% นะครับ
.
ใช่ครับ พ่อแม่มีส่วนที่พ่อแม่อาจต้องรับผิดชอบ แต่ตัวลูกเองก็มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
.
แนวทางการรับมือที่ผมนำเสนอในวันนี้สามารถช่วยให้พ่อแม่เริ่มต้น “ก้าวแรก” ในการรับผิดชอบในส่วนของพ่อแม่ได้
.
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่จะต้อง “ไปต่อ” เรื่อยๆๆๆๆๆจนกระทั่งพ่อแม่กลายเป็นฝ่ายที่รับผิดชอบชีวิตลูกแบบ 100% นะครับ

#จิตวิทยา #siamstr
Author Public Key
npub1kmuax8ezgue2zz8z9mhpjgr5x83584g5fqlqlp42048hez4sjp8sz7wk8n