#siamstr #siamstrog #nostr
quoting
naddr1qq…cmsxสวัสดีครับเพื่อน ๆ ชาว #siamstr วันนี้ผมจะมาแนะนำ Meshtastic เครื่องมือสื่อสารที่ไร้ศูนย์กลางที่เพื่อน ๆ ไม่ควรพลาดเป็นอันขาด!! เพราะมันคือเครือข่ายการสื่อสารที่ใช้เทคโนโลยี LoRa (Long Range Radio) ซึ่งสามารถส่งข้อความได้ไกลมาก ๆ เป็นกิโลเลยทีเดียว ที่สำคัญไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตและไร้การสอดส่องและควบคุมจากรัฐ
Meshtastic คืออะไร?
Meshtastic จะสร้างเครือข่าย “mesh” โดยที่ทุกอุปกรณ์ในเครือข่ายจะช่วยกันรับส่งข้อความต่อ ๆ กันไป ทำให้ทุกคนในเครือข่ายสามารถรับข้อความได้ แม้ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน นอกจากนี้ ข้อความทั้งหมดจะถูก เข้ารหัสไว้ ทำให้เฉพาะผู้ส่งและผู้รับเท่านั้นที่สามารถอ่านได้ ส่วนอุปกรณ์ที่ส่งต่อข้อความจะไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาได้เลย ในการใช้งานนั้นเพื่อน ๆ สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ Meshtastic เข้ากับโทรศัพท์มือถือเพื่อทุกคนในเครืองข่ายสามารถสื่อสารกันได้ง่าย ๆ ผ่านแอปส่งข้อความบนมือถือ
จับมือทำ เริ่มต้นใช้งาน Meshtastic แบบง่าย ๆ
เพื่อน ๆ อยากลองใช้ Meshtastic แล้วใช่มั้ย? มาดูขั้นตอนง่ายๆ กันเลยครับ
1. หาซื้ออุปกรณ์ที่ต้องใช้
ขั้นแรกเลย เราต้องมีอุปกรณ์ LoRa กันก่อนครับ ส่วนตัวผมแนะนำบอร์ด LoRa32 ของ LILYGO ครับ เพราะหาซื้อในไทยและต่างประเทศได้ง่ายมาก โดยจะมีให้เลือกหลายรุ่นมากตามความชอบและการใช้งาน ผมได้ทำตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของแต่ละรุ่นดังนี้
Name MCU RF option Battery GPS Link Lora32 2.1-1.6 ESP32 433/868/915/923 Mhz no no https://a.aliexpress.com/_opRiKMR Lora32 T3S3 ESP32 433/868/915 Mhz / 2.4 GHz no no https://a.aliexpress.com/_opRiKMR T-Beam v1.1 ESP32 433/868/915/923 Mhz has batt slot yes https://a.aliexpress.com/_oneeH43 T-Watch S3 ESP32 433/868/915 Mhz yes no https://a.aliexpress.com/_olkXkLlData T-Deck ESP32 433/868/915 Mhz yes no https://a.aliexpress.com/_olkXkLlData T-Echo nRF52840 433/868/915 Mhz yes yes https://a.aliexpress.com/_olkXkLlData คุณสมบัติสำคัญที่ควรพิจารณาเป็นหลักในการเลือกอุปกรณ์เลยคือความถี่คลื่นวิทยุ (radio frequency) ครับ เพราะการเลือกความถี่สำหรับใช้งานกับ Meshtastic นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น กฎระเบียบในประเทศ, ระยะทางที่ต้องการสื่อสาร, และความหนาแน่นของสัญญาณในพื้นที่นั้นๆ อุปกรณ์ LoRa ทำงานที่ความถี่ต่างกันในแต่ละภูมิภาค ตามกฎระเบียบในแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาใช้คลื่น 915 MHz, ยุโรปใช้ 868 MHz สำหรับประเทศไทยความถี่ที่ได้รับอนุญาตและไม่มีข้อจำกัดในการใช้งานมีดังนี้ครับ:
- 433 MHz: ความถี่นี้เป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศรวมถึงในยุโรปสำหรับอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่ำและไม่ต้องขอใบอนุญาต (LPWAN) เหมาะสำหรับการใช้งานส่งสัญญานได้ไกลเพราะความยาวคลื่นยาวที่สุดในบรรดาตัวเลือกทั้งหมด
- 923 MHz: ความถี่นี้ใช้ได้ในหลายประเทศในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ IoT ที่สื่อสารระยะไกลอย่าง LoRa ได้รับอนุญาตให้สามารถส่งสัญญาณได้ด้วยกำลังงาน (50mW) ที่สูงกว่าคลื่น 433 MHz (10mW) ถือว่าเป็นความถี่ที่เหมาะสำหรับการใช้งานในไทย
- 2.4 GHz: เป็นความถี่ที่ใช้กันทั่วโลก และนิยมใช้กับอุปกรณ์หลายประเภท เช่น Wi-Fi และ Bluetooth ความถี่นี้สามารถใช้ในทั่วโลกได้อย่างเสรี แต่มีระยะการส่งสัญญาณที่สั้นกว่าและไม่ค่อยทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ดีนัก เหมาะกับพื้นที่ในเมือง
ส่วนตัวผมเลือกใช้ความถี่ 433 MHz เพราะมันทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ดี เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางเยอะ เช่น ป่าเขา และช่วยให้การสื่อสารครอบคลุมระยะทางไกลโดยไม่ต้องพึ่งอินเทอร์เน็ตครับ
2. ประกอบอุปกรณ์
เมื่ออุปกรณ์มาถึง ก็จัดการประกอบเลย! อย่าลืมต่อเสาอากาศและแบตเตอรี่ (ถ้ามี) ให้เรียบร้อยก่อนเปิดเครื่องล่ะ ถ้ารุ่นที่ไม่มีแบตก็ต้องหา power bank อแดปเตอร์จ่ายไฟไว้ให้พร้อมครับ
3. Flash Firmware
ต่อไปก็มาลงเฟิร์มแวร์ล่าสุดให้กับอุปกรณ์ของคุณ โดยใช้เครื่องมือ Meshtastic Flasher ซึ่งแนะนำให้ใช้ผ่านเบราว์เซอร์ Chrome จะดีที่สุด ภายในเว็บให้เลือกอุปกรณ์ตามรุ่นที่เราซื้อมา เลือกเวอร์ชันของ firmware เป็นล่าสุด แล้วกด flash ได้เลยครับ
4. ติดตั้งแอป Meshtastic
จากนั้นก็ดาวน์โหลดแอป Meshtastic มาลงบนมือถือของคุณได้เลย iPhone: https://meshtastic.org/docs/software/apple/installation/ Android: https://meshtastic.org/docs/software/android/installation/
หลังจากนั้นเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ เปิดแอป Meshtastic แล้วเชื่อมต่ออุปกรณ์ LoRa กับมือถือผ่าน Bluetooth ด้วยการกดที่เครื่องหมาย + ที่ขวาล่างในหน้า setting ดังรูป แอปจะทำการค้นหาและเชื่อมต่ออุปกรณ์ ให้ทำการกรอกหมายเลขตามที่ปรากฏบนหน้าจอของอุปกรณ์ lora
5. ปรับแต่งการตั้งค่า
เข้าไปตั้งค่าในแอป เลือกภูมิภาคตามความถี่ของอุปกรณ์ที่เราซื้อมาครับ ยกตัวอย่างเช่น
- ความถี่ 433 MHz ให้เลือก EU_433
- ความถี่ 923 MHz ให้เลือก TH
- ความถี่ 2.4 GHz ให้เลือก LORA_24
หลังจากนั้นตั้งชื่ออุปกรณ์ให้เท่ ๆ และปรับแต่งค่าอื่น ๆ ได้ตามใจชอบ
6. ทดสอบส่งข้อความ
ลองส่งข้อความทดสอบไปที่ช่องแชทสาธารณะ “LongFast” ดู แล้วรอคำตอบจากเพื่อน ๆ ในเครือข่าย
7. สนุกกับการสื่อสารแบบไร้ศูนย์กลาง
เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็เริ่มใช้ Meshtastic ได้เลยครับ ลองสำรวจฟังก์ชันต่าง ๆ และสนุกไปกับการแชทส่วนตัวแบบไม่ต้องพึ่งพาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกันเลยครับ
สรุปส่งท้าย
Meshtastic เป็นโซลูชันการสื่อสารที่ดีและประหยัดสุด ๆ เหมาะกับการใช้ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ต เพราะมันทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายที่รัฐควบคุม เพื่อน ๆ สามารถใช้ Meshtastic ได้อย่างอิสระ ใครได้ลองกันแล้วเป็นยังไงก็อย่าลืมทักกันเข้ามานะครับ จะ DM ผ่าน meshtatic นี้หรือ nostr ก็ได้ หากเพื่อน ๆ มีข้อสงสัยหรือติดปัญหาอะไรก็ทักมาถามกันได้ ไว้พบกันใหม่นะครับ :)