ทำไมประเทศในกลุ่มนอร์ดิกถึงไม่ใช่รูปแบบเศรษฐกิจ “สังคมนิยม”
.
คำว่า "สังคมนิยม" ในรูปแบบสังคมนิยมทั้งหมดและความหมายทั่วไปนั้นย่อมหมายถึง "การทำให้ปัจจัยการผลิตเป็นของส่วนรวม" ความเข้าใจสังคมนิยมในปัจจุบันที่มีความโดดเด่นมากที่สุดก็คือ "สังคมนิยมสายมากซ์" (Marxism) เป็นสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์ ที่ปฏิเสธความคิดแบบสังคมนิยมอุดมคติบางประการแล้วทำให้เป็นเรื่องของวัตถุนิยม (materialism) เมื่อมองตามนิยามสังคมนิยมดังกล่าวจะเห็นได้ว่าประเทศที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นสังคมนิยมอย่าง 'ประเทศกลุ่มนอร์ดิก' (Nordic country) ก็ไม่มีส่วนผสมที่ใกล้เคียงสังคมนิยมในแบบความหมายโดยทั่วไป แต่หากมองในมุมเชิงปริมาณก็สามารถพูดได้ว่าเป็นลักษณะเป็นสังคมนิยมแบบอ่อน ๆ (soft socialism) ในลักษณะที่รัฐมีบทบาทในการกระจายทรัพยากรอย่างเข้มข้น พร้อมกับการคงอยู่ของระบบตลาดเสรีทุนนิยมเพื่อค้ำจุนสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโตที่สูง
.
ในความเป็นจริงนั้นประเทศแถบนอร์ดิก “ไม่ใช่สังคมนิยม” (ความเข้าใจทั่วไป) ตามความคิดของนักวิชาการเมืองไทยหรือต่างประเทศที่โฆษณาชวนเชื่อว่า ‘ประเทศแถบนอร์ดิก’ คือความฝันหรือเป้าหมายของฝ่ายซ้ายที่จะทำให้ประเทศของตนเองเป็นอย่างนั้นบ้าง พวกเขาล้วนเป็นผู้ชื่นชอบรัฐสวัสดิการในกลุ่มประเทศนอร์ดิกไม่เคยพิจารณาถึง (a) ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ การนำเข้า-ส่งออก และฐานทางเศรษฐกิจที่จะต้องมีผลิตภาพและการแลกเปลี่ยนเพื่อทำให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ทรัพยากรน้ำมัน แร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีการส่งออกไปต่างประเทศ (มันเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศโดยตรง ในที่นี้มันเอารายได้จากส่วนนั้นมาทำรัฐสวัสดิการ) (b) ปัจจัยทางวัฒนธรรมของประชากรทำให้สภาพสังคม ประเพณีมีการปรับตัวและกลมเกลียวกันกับคนในสังคม ในหมู่ประชากรของประเทศแถบนอร์ดิกล้วนเป็นประชากรที่เป็นผู้นับถือศาสนาที่มีความปึกแผ่นเดียวกัน พร้อมทั้งประชากรส่วนใหญ่มีความเข้มแข็งอดทนต่อสภาพแวดล้อมที่สามารถทำงานหนัก ๆ ได้ แม้ว่าประชากรจะอยู่ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่มีการเก็บภาษีสูง พวกเขาก็สามารถอยู่ได้ แต่ทว่ารัฐสวัสดิการเองก็ยังเป็นตัวบั่นทอนวัฒนธรรมของประชากรในหมู่ประเทศแถบนอร์ดิกอีกด้วย ทำให้เราไม่สามารถพูดได้ว่าสุดท้ายการอยู่อาศัยในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการจะสุขสบายอย่างที่ใครกล่าวอ้างเสมอไป และ (c ) เศรษฐกิจในประเทศแถบนอร์ดิกล้วนเป็น “ตลาดเสรีทุนนิยม” (free-market capitalism) หรือเศรษฐกิจตลาดที่ปล่อยให้ทำไปในช่วงศตวรรษที่ 19 เฉกเช่นเดียวกันกับญี่ปุ่น สวิสเซอร์แลนด์และสหรัฐอเมริกาในเวลาเดียวกัน เป็นเพราะกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรม (industrial revolution) ที่ยกระดับคุณภาพชีวิต ความมั่งคั่งและสายธารการผลิตที่มากขึ้น และมีประสิทธิภาพขึ้น ในยุคเริ่มแรกของเศรษฐกิจที่เติบโตและร่ำรวยที่สุดของโลกล้วนแล้วเกิดจาก “ตลาดเสรี” ไม่ใช่ “สังคมนิยม” (Nima Sanandaji, 2015)
.
แต่สิ่งที่ประเทศนอร์ดิกเป็นก็คือ “สังคมประชาธิปไตย” (social democracy) ตรงกันข้ามกับ “ประชาธิปไตยสังคมนิยม” (democratic socialism) และ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” (socialist democracy) อันที่จริงแล้วสังคมประชาธิปไตยมันกลายเป็นคนที่ทำให้คนหลายคนชวนสับสน อันเนื่องมาจากการใช้คำว่า “สังคมนิยม” ในความหมายที่ผิดทำให้ช่วงแรกเกิดความเข้าใจว่าประเทศในกลุ่มนอร์ดิกคือ “สังคมนิยมประชาธิปไตย” ซึ่งหากดูความหมายแล้ว คำนี้จะหมายถึงระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นซ้ายจัด (far-left) รวมประชาธิปไตยและสังคมนิยมเข้าด้วยกัน (ตามหลักการของมากซ์-เลนิน) ซึ่งไม่ใช่ความหมายแบบเดียวกันกับ ‘สังคมประชาธิปไตย’ หมายถึงระบบการเมืองและเศรษฐกิจแบบผสมระหว่างตลาดเสรีทุนนิยมกับการแทรกแซงของรัฐในสัดส่วนที่มาก กล่าวคือ เป็นการประนีประนอมกับทุนนิยมเพื่อให้คงอยู่เพื่ออุ้มชูเศรษฐกิจ ในขณะที่จะต้องมีการเก็บภาษีที่สูงนำมากระจายทรัพยากรที่มาก ซึ่งไม่ใช่การทำให้ปัจจัยการผลิตเป็นของส่วนรวมตามความหมายของ "สังคมนิยม" แม้ว่าในเชิงปริมาณแนวทางแบบรัฐสวัสดิการของประเทศนอร์ดิก/สแกนดิเนเวียจะเป็นขอบเขตที่ใกล้เคียงสังคมนิยมอย่าง "การกระจายนิยม" (distributism) ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ใช่สังคมนิยม แต่เป็นแนวทางแบบเคนส์ (Keynesianism)
.
การใช้คำว่า “สังคมนิยม” ที่แสดงถึงระบบของประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย/นอร์ดิก คือ ‘ความเข้าใจผิด’ อันเกิดมาจากการไม่เข้าใจถึงนิยามของคำ บางครั้งจะปรากฏในหนังสือเรียนหรือตำราในมหาวิทยาลัย (ที่ไม่เปรียบเทียบความแตกต่างของนิยาม คุณสมบัติ ลักษณะเฉพาะของแนวคิดของระบบนั้น ๆ ) หรือ มีวาระซ่อนเร้นเพื่อสร้างความเข้าใจผิดและต้องการเปลี่ยนประเทศของตนเองไปสู่สังคมนิยม [ตัวอย่าง ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวีย/นอร์ดิก] ว่าสามารถเป็นไปได้ ซึ่งคนเหล่านี้ที่สร้างความเข้าใจผิดมักจะให้ความคิดเห็นว่าในเรื่องรัฐสวัสดิการบ่อยครั้งเป็นอุดมคติ หรือ ภาพวาดอนาคตว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดอย่างไม่มีข้อตกบกพร่องใด ๆ
.
อันที่จริงระบบเศรษฐกิจแบบผสมที่อนุญาตให้มีรัฐสวัสดิการและประนีประนอมกับตลาดเสรีทุนนิยมนั้นไม่ใช่ระบบที่อุดมคติขนาดนั้น หากลองย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจและพัฒนาการของประเทศในกลุ่มนอร์ดิกแล้ว จะเห็นได้ว่าช่วงที่เติบโตที่สุดในอดีตกับปัจจุบันมันต่างราวฟ้ากับเหวมาก … มันเป็นเพราะอะไร? ถ้ารัฐช่วยให้ชีวิตคนดีขึ้นแล้ว (ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ) ช่วยสร้างกรอบการปกป้องมนุษย์ที่ยึดหลักมนุษยธรรมให้กับทุกคนได้ แล้วถ้าเช่นนั้นทำไมเราถึงไม่ให้รัฐเข้ามาควบคุมชีวิตเราไปเลยล่ะ? เหตุผลที่ผู้สนับสนุนรัฐสวัสดิการเหล่านี้คิดออก แต่ก็ไม่มีวันเข้าใจก็คือ “ความรู้สึกของนกในกรง”
.
บรรณานุกรม
Democracy Talk Series SS 2 Ep.5 สแกนดิเนเวีย: สังคมนิยมประชาธิปไตย และรัฐสวัสดิการ
ต้นแบบรัฐสวัสดิการ จุดลงตัวรัฐประชาธิปไตยสังคมนิยม ระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี.
Hans-Hermann Hoppe, Social Democracy (Auburn, Ala.: Mises Institute, 2018), chap. 4 "Socialism Social-democratic Style" in A Theory of Socialism and Capitalism (Auburn, Ala.: Mises Institute and Norwell, Mass.: Kluwer Academic Publishers, 2010).
Sanandaji, Nima. Scandinavian Unexceptionalism. United Kingdom: Institute of Economic Affairs (IEA), 2015.