พัฒนาการของแนวคิดตลาดเสรี : เมื่อทฤษฏีเสรีนิยมไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง
.
บทสรุปจากหนังสือ Private Government : How Employers Rule Our Lives (And Why We Don’t Talk about It) ของเอลิซาเบธ เอส. แอนเดอร์สัน (Elizabeth S. Anderson) ได้นำเสนอมุมมองคร่าว ๆ ที่ว่า (i).วิธีคิดแบบเสรีนิยมตลาดเสรีในยุคปัจจุบันนั่นล้าหลัง เพราะพวกเขามีความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดในแบบช่วงศตวรรษที่ 17-18 แต่ไม่มีความเข้าใจว่าโลกเมื่อเข้าสู่ยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมมันเกิด economy of scale เข้ามาครอบคลุมวิธีคิดของสายธารการผลิตและการแข่งขันในตลาดจนถึงทุกวันนี้แตกต่างกัน รวมไปถึงช่องว่างระหว่างนายจ้างและผู้ประกอบการที่กว้างขึ้นจึงอาจกล่าวได้ว่าแนวคิดเสรีนิยมต่อสภาพการทำงานของลูกจ้างไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ของ "เสรีภาพ" และ (ii).ความผิดพลาดของพวกเสรีนิยมตลาดเสรีที่ไม่พิจารณาว่าแนวคิดทางทฤษฏีของตนกับความเป็นจริงมันตรงกันข้าม กล่าวคือทฤษฏีของนักคิดเสรีนิยมแช่แข็งอยู่กับสภาพการณ์ของตลาดก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมมากกว่าหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความสัมพันธ์แบบ private government ที่นายจ้างกลายเป็นผู้ถูกปกครองเพื่อบงการชีวิตของลูกจ้างอย่างไม่มีแม้แต่ข้อจำกัด ผู้เขียนหนังสือยังเสนอต่ออีกว่า ทางออกของเรื่องนี้ก็คือ การสลายสภาวะ private government ในความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างและทำให้ความสัมพันธ์ตรงนี้กลายเป็นเรื่องสาธารณะที่มีกฎหมายและรัฐเข้ามาดูแล
.
ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ "แนวคิดตลาดเสรี" ไม่ได้ถูกนำเสนอแค่จากนักคิดยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักยุคสมัยใหม่ที่พูดถึงตลาดเสรี แก่นสารของตลาดเสรีก็คือกลไกตามธรรมชาติที่ไม่ให้รัฐเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัจเจกบุคคลในทางเศรษฐกิจ นั่นหมายความว่าประชาชนคนธรรมดาสามารถประกอบอาชีพ ค้าขาย ทำธุรกิจหรืออะไรต่าง ๆ ได้อย่างอิสระโดยปราศจากการควบคุมของรัฐ นิยามเช่นนี้ย่อมเป็นแบบเดียวกันกับนิยามตั้งแต่ยุคสมัยของอดัม สมิท (Adam Smith) หรือก่อนหน้านั้น อีกทั้งแนวคิดตลาดเสรีย่อมมีการถกเถียงภายในระหว่างแนวคิดสำนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน (Austrian economics) และแนวคิดสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิค (Classical economics) (*ไม่ใช่พวกเดียวกัน ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคจะสร้างฐานเรื่องตลาดเสรีไว้ก็ตาม*) อย่างหัวข้อที่ได้รับความนิยมถึงทุกวันนี้ก็คือ "ทฤษฏีมูลค่าแรงงาน" (labor theory of value) ที่เริ่มแรกมาจากนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคอย่างเดวิด ริคาร์โด้ (David Ricardo) ที่ถูกตีตกโดยนักเศรษฐศาสตร์ของสำนักออสเตรียนและสร้างบรรทัดฐานทางทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ใหม่ก็คือ "ทฤษฏีมุลค่าจิตวิสัย" (subjective theory of value) จากกระแส Marginal revolution โดยคาร์ล เมนเจอร์ (Carl Menger) ฟรีดิช ฟอน ไวเซอร์ (Friedrich von Wieser) ออยเกิน ฟอน โบห์ม-บาแวร์ค (Eugen von Böhm-Bawerk) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 อันเป็นรากฐานให้กับเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ กล่าวได้ว่าแนวคิดตลาดเสรีถูกส่งมาจากรุ่นต่อรุ่นจนมาถึงยุคปัจจุบันและมีการพัฒนาทฤษฏีอย่างต่อเนื่อง มันไม่ได้ถูกแช่แข็งตามคำที่กล่าวอ้างมาแต่อย่างใด
.
มากไปกว่านั้นความเข้าใจที่ว่านักเสรีนิยม อิสรนิยมหรือผู้สนับสนุนตลาดเสรีทุนนิยมล้วนมีความคิดที่ติดแหง็กอยู่กับยุคศตวรรษที่ 17-18 อยู่นั้นจึงมีข้อบกพร่องในตัวเอง เนื่องจาก (a).แนวคิดตลาดเสรีทุนนิยมมีเพียงนิยามเดียวคือ "การที่รัฐไม่แทรกแซง" ซึ่งเป็นนิยามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการขยายกรอบคิดที่ว่าความแตกต่างระหว่างโลกยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมและหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นจึงมีข้อบกพร่อง เนื่องจากมันไม่ได้สนใจว่ามันจะเกิด economy of scale มากน้อยแค่ไหน; (b).ช่องว่างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างมักจะมีปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ "รัฐเข้ามายุ่ง" เสมอ ดังนั้น ทางออกของปัญหาที่ว่าจะป้องกันความไม่เป็นธรรมและการเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างจึงไม่ใช่การทำให้พื้นที่ทางเอกชนใด ๆ กลายเป็นของสาธารณะหรือถูกควบคุมจากกฎหมายและรัฐบาล แต่เป็นการปล่อยไปให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเรื่องการตัดสินใจในระดับเอกชนระหว่างนายจ้างและลูกจ้างตามกลไกตลาดเสรีเอง หมายความว่าพวกเขาจะต้องพิจารณาอย่างรอบขอบทั้งเรื่องสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ ความปลอดภัย สภาพแวดล้อมการทำงานต่าง ๆ อย่างเร่งครัด รวมไปถึงความเสี่ยงของนายจ้างเมื่อพวกเขาทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมลงไปกับลูกจ้างไม่ว่าด้วยเหตุผลใดมันคือผลที่ตามมาจากความเสี่ยงดังกล่าว และ (c).โลกยุคปัจจุบันเป็นโลกที่ไม่ได้เป็นไปตามคำทำนายของเหล่ามาร์กซิสต์ที่ว่าโลกจะถูกปฏิวัติทางชนชั้นและกลายเป็นสังคมนิยม (socialism) แต่กลับกันตามมุมมองของเจมส์ เบิร์นแฮม (James Burnham) มองว่าหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจโลกเกิดการเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมผู้ประกอบการ (entrepreneurship capitalism) อันมีนายทุนเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนบุคคลเพียงผู้เดียวไปสู่ทุนนิยมแบบผู้ประกอบการ (managerial capitalism) ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพย์สินมีความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มากกว่านายทุน ซึ่งพวกเขากลายเป็นชนชั้นใหม่ที่เรียกว่า “ชนชั้นผู้จัดการ” ยกตัวอย่างเช่น ชนชั้นกลาง (middle class) หรือ แรงงานคอปกขาว (white-collar worker) ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มักจะมีบทบาทอยู่ในรัฐบาล กระทรวง องค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำนโยบาย หรือ บริษัทขนาดใหญ่ที่มีการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์และมีผู้ถือหุ้นส่วน ซึ่งระบบทุนนิยมลักษณะแบบนี้เองก็ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนที่ยึดถือแนวคิดตลาดเสรีทุนนิยมแบบผู้ประกอบการมาโดยตลอด
.
นอกจากนี้นักคิดเสรีนิยมได้พัฒนา "กฎเกณฑ์" ที่ใช้สำหรับอธิบายโลกแห่งความเป็นจริงผ่านเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนที่มุ่งเน้นเรื่อง "การกระทำของมนุษย์" (human action) ที่ว่าการกระทำของปัจเจกบุคคลล้วนมีต้นทุนโอกาสและเป้าหมายอยู่เสมอ ตามคำกล่าวของลุควิก วอน มิซิส (Ludwig von Mises) อธิบายในหนังสือ Human Action: A Treatise on Economics ต่อเรื่องการกระทำของมนุษย์เอาไว้ว่า;
“เป็นความจริงที่ว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์เชิงทฤษฎี และด้วยเหตุนี้เองมันจึงละเว้นจากการตัดสินคุณค่าใด ๆ […] ทว่าวิทยาศาสตร์ไม่เคยบอกมนุษย์ว่าควรปฏิบัติตนเองอย่างไร มันเพียงแสดงให้เห็นว่ามนุษย์จะต้องกระทำอย่างไรหากต้องการตอบสนองความต้องการอย่างไร้ขีดจำกัดที่แน่นอน”
.
และเนื่องจากกฎเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์ถือเป็นสัจพจน์ (axioms) ที่ไม่สามารถหักล้างได้ เพราะมันถือเป็นทฤษฏีที่ถูกทดสอบอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเป็นจริงจากการสังเกตปรากฏการณ์ที่ซับซ้อน แต่มีผลของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หากอุปสงค์ของดินสอเพิ่มขึ้น ราคาดินสองก็เพิ่มตาม ในขณะที่อุปทานลดลง ตรงกันข้ามเมื่ออุปสงค์ของดินสอลดลง ราคาดินสองก็จะต้องลดลงตาม ในขณะที่อุปทานเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นทฤษฏีที่ไม่ได้ถูกแช่แข็งหรือมีความเก่าแก่แต่อย่างใด แต่มันคือ “กลไกธรรมชาติ” ที่ไม่มีใครสามารถปฏิเสธหรือหักล้างมันได้ กล่าวคือความแตกต่างระหว่างบริบทนั่นเป็นเพียงการอธิบายเหตุการณ์ที่บริบทของคำว่า "ก่อน" และ "หลัง" จึงไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งที่เป็นสาระสำคัญในยุคปัจจุบันคือ ในอดีตหลายประเทศมีความเสรีทางเศรษฐกิจสูงกว่าทุกวันนี้ที่มีรัฐแทรกแซงเศรษฐกิจมากทำให้ทฤษฏีและแนวคิดในอดีตถูกท้าทายจากความต้องการควบคุมรัฐและชีวิตประจำวันของปัจเจก ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนากรอบทางทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ที่ทำให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นด้วยสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐมิติ” (econometrics) หรือการพยายามนำแนวทางแบบวิทยาศาสตร์มาปรับใช้เพื่อหักล้างทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ผ่านวิธีการทดลองตามธรรมชาติ (natural experiment) ฯลฯ
.
#siamstr
.
บรรรณานุกรม
Mises, L. (1949). Human Action. A Treatise on Economics. New Haven, CT: Yale University Press
“Book Review: Private Government: How Employers Rule Our Lives (and Why We Don’t Talk about It), by Elizabeth Anderson.” The Independent Institute, www.independent.org/publications/tir/article.asp?id=1292&fbclid=IwAR3UpTocsNcX_DXRI9WLdw_Rq1pAmAtn2O9ecI0tVFZgzxmx74EeNTHV_wM. Accessed 5 Nov. 2023.
Shostak, Frank. Facts and Data Have No Meaning without a Theory to Explain Them. Auburn, AL: Mises Institute. 2022.
Shostak, Frank. We Cannot Interpret Economic Data Unless We Know Economic Theory. Auburn, AL: Mises Institute. 2022.