Why Nostr? What is Njump?
2023-08-30 21:34:22

Libertarian.realpolitik on Nostr: ...

ขบวนการฝ่ายซ้ายกับการใช้เหตุผลวิบัติในการสื่อสาร

.
โดย TheReactionarist

.
ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะเคยผ่านประสบการณ์การเถียงกับฝ่ายซ้ายมาบ้างแล้ว พวกท่านอาจจะได้เคยพบเห็นวิธีการเถียงของพวกมันที่เน้นเรื่องการบิดเบือน, ย้อนแย้ง และ “ความเห็นใจ” เป็นหลักมากเสียกว่าที่จะใช้เหตุผลและหลักการ หนึ่งในเหตุผลที่พวกมันเป็นแบบนั้นก็เพราะว่าผู้เขียนมองว่า (a) หลักการของพวกมันใช้ไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง ฉะนั้นการที่พวกมันจะหลีกเลี่ยงการตอบคำถามด้วยเหตุผลและหลักการจึงเป็นหนึ่งในทางออกเมื่อพวกมันไม่สามารถแถ (เถียง) ได้อีกต่อไป โดยการหลีกเลี่ยงดังกล่าวอาจจะตามมาด้วยการโจมตีบุคคลเรื่องส่วนตัวของฝ่ายตรงข้ามหรือด่าทอโดยใช้ฐานความคิดเพียงแค่ด้านความเห็นใจเป็นหลัก;

.
(b) พวกมันถูก “ล้างสมอง” จากแนวคิดซ้ายและบวกกับการเมืองไทยที่ได้สร้างความแตกแยกจนเกิดการแบ่งขั้ว (political polarization) อย่างชัดเจนจึงทำให้การพูดคุยเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้รวมไปถึงเทรนทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ทั่วไปที่มองเพียงแค่ว่าเวทีทางการเมืองไทยเป็นเพียงแค่ “การต่อสู้ระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย” ในขณะที่ใครก็ตามที่ยืนอยู่นอกเหนือกรอบทางการเมืองดังกล่าว เช่น เพจ อิสรนิยมศึกษา - Libertarian Studies ก็จะถูกตีความว่าเป็นเสื้อเหลือง-สลิ่ม หรือตรงกันข้ามฝ่ายเสื้อเหลือง-สลิ่มก็จะมองว่าเราเป็นเสื้อส้ม-สามกีบ

.
ในบทความสั้นนี้ทางผู้เขียนกล่าวถึงการใช้เหตุผลวิบัติในการสื่อสารของฝ่ายซ้ายที่พบเห็นได้ทั่วไปบนโลกอินเตอร์เน็ต เราจะเน้นที่ฝ่ายซ้ายมากกว่าตามเหตุผลที่ได้กล่าวไปข้างต้น มันอาจจะไม่เป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายใช้พวกเดียวแต่อาจจะรวมไปถึงฝ่ายอื่นด้วยเช่นกันแต่ทางเรามองว่าเหตุผลวิบัติเหล่านี้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายบนเวทีการเมืองโดยฝ่ายซ้ายในประเทศไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก

.
Red herring: การเฮอร์ริ่งแดงหรือ “red herring” คือการหันเหใจความสำคัญของการสื่อสารและการถกเถียงไปที่เรื่องอื่นโดยที่เรื่องดังกล่าวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญกับการสื่อสารหรือการถกเถียง ฝ่ายซ้ายมักจะใช้เหตุผลวิบัติในรูปแบบนี้เพื่อหลีกเลี่ยงถึงปัญหาที่ตามมาของอุดมการณ์และความต้องการของพวกมันบนเวทีการเมือง ยกตัวอย่างเช่น คุณกำลังถกเถียงกับฝ่ายซ้ายอยู่ในเรื่องที่ว่าทำไมประเทศไทยถึงมาจุดนี้ได้ แต่แล้วอยู่ดี ๆ ฝ่ายซ้ายก็โพล่งขึ้นมาว่า “ถ้าการเมืองดีเราจะ...” – ตรงนี้จะเห็นได้ชัดถึงความพยายามที่จะหันเหประเด็นไปเรื่องอื่นให้คุณและผู้ฟังไปเน้นที่ประเด็น “การเมืองดี” แทนหลักการหรือเหตุผลอื่นที่มีน้ำหนักมากกว่า การเฮอร์ริ่งมักจะถูกใช้ร่วมกับ “วาทกรรม” (“rhetoric”) เพื่อจูงใจผู้ฟังในขณะที่ฝ่ายซ้ายมักจะไม่อธิบายเลยว่า “การเมืองดี” ดังกล่าวคืออะไร? นิยามแบบไหน? เป็นในรูปแบบใด? มากไปกว่านั้นนอกเหนือจากการเฮอร์ริ่งแดงแล้ว วาทกรรม “การเมืองดี” เป็นเครื่องมือแบ่งดีร้ายใช้เพื่อสร้างภาพ เพียงเพราะแค่มันใช้วาทกรรม “การเมืองดี” แล้ว คุณและผู้ฟังก็จะต้องยอมจำนนต่อความต้องการ “การเมืองดี” ของมันในขณะที่คุณถูกป้ายสีให้เป็น “การเมืองร้าย”

.
Ad hominem: การโจมตีตัวบุคคลหรือ “ad hominem” คือเหตุผลวิบัติที่โจมตี ลักษณะ, รูปลักษณ์, แนวคิด, แรงจูงใจ, ความเป็นมา, ประวัติ และ อื่น ๆ ที่นิยามตัวบุคคลแทนที่จะเป็นการถกเถียงที่ตัวประเด็นจริง ๆ เหตุผลวิบัติในรูปแบบนี้สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในโลกอินเตอร์เน็ตเพราะการเข้าถึงที่ง่ายและเป็นแหล่งรวมคนรุ่นใหม่ฝ่ายซ้ายที่ยังคิดถกเถียงและคุยให้ตรงประเด็นไม่ได้อย่างสมบูรณ์หรือกล่าวในภาษาอังกฤษก็คือ “unwise” ทั้งนี้ทางเราก็เคยเห็นคนรุ่นเก่าที่ใช้เหตุผลวิบัตินี้เช่นกันตามเพจข่าวต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น มีคนเสื้อแดงออกมาต้อนรับอดีตนายกท่านนั้นที่กลับไทยมาไม่ว่าจะเหตุใดก็ตาม แต่กลุ่มคนบางกลุ่มโดยเฉพาะที่อ้างตัวว่าเป็น “คนรุ่นใหม่-เสื้อส้ม” ก็ออกมาโจมตีว่า “คนเสื้อแดงโดนจ่ายมา” – ตรงนี้จะเห็นได้ชัดถึงการโจมตีแรงจูงใจของคนเสื้อแดงมากกว่าที่จะถกเถียงถึงประเด็นที่ว่าทำไมคนเสื้อแดงถึงออกมาต้อนรับอดีตนายก เพราะเขายังเป็นคนที่สามารถกู้ประเทศได้จากกระแสฝ่ายซ้ายใหม่? เพราะเขายังเป็นคนที่สามารถสร้างความสงบได้? เพราะเขาสามารถจะช่วยทำให้ประเทศดำเนินต่อไปที่ตรงกันข้ามกับที่พวกมันต้องการแต่ยังเป็นที่ชื่นชอบต่อคนต่างจังหวัด? พวกมันไม่ได้สนคำถามเหล่านี้แต่โจมตีคนเสื้อแดงเพียงง่าย ๆ แค่ว่า “คนเสื้อแดงโดนจ่ายมา” รวมไปถึงอาจจะโจมตีพร้อมความเชื่อผิด ๆ ที่ว่าคนเสื้อแดงทุกคนต้องการเงินจึงออกมาต้อนรับอดีตนายก ในประเด็นนี้แสดงให้เห็นชัดถึงการมโนภาพของฝ่ายซ้ายที่มองว่าตัวเองมีศีลธรรมและการศึกษาที่สูงกว่าผู้อื่น – ทั้งนี้การโจมตีตัวบุคคลในต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศตะวันตกมักจะเป็นการโจมตีโดยป้ายสีตรง ๆ อย่างรุนแรง เช่น กล่าวหาว่าบุคคลหนึ่งเป็น “นาซี” หรือ “ฟาสซิสต์” ถ้าบุคคลดังกล่าวไม่ได้เป็นพวกเขาก็ถือว่าผิด หรือถ้าบุคคลดังกล่าวเป็นจริง ๆ แล้วยังไง? บุคคลดังกล่าวก็มีหลักการและเหตุผลที่มีน้ำหนักพอที่จะเถียงได้ (นอกเสียจากจะมองในเชิงฝ่ายซ้ายที่ตีความว่า “ลัทธิฟาสซิสต์” ไม่มีหลักการมาโดยตลอด ทางเราไม่เคยมองว่าเพราะศัตรูเราเป็นซ้าย/คอมมิวนิสต์เราจึงต้องโจมตีเพราะพวกมันเป็นแบบนั้น เราโจมตีที่หลักการและเหตุผลของพวกมัน)

.
Straw man fallacy: การโจมตีหุ่นฟางหรือ “straw man fallacy” คือเหตุผลวิบัติที่โจมตีเหตุผลที่อีกฝ่ายไม่ได้เสนอ ฝ่ายซ้ายมักจะใช้เหตุผลวิบัตินี้ในการสร้างภาพลวงที่ว่าตนได้โต้แย้งเหตุผลของอีกฝ่ายได้อย่างสมบูรณ์เพื่อทำให้ผู้ฟังคิดว่าตนได้ชนะอีกฝ่ายแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ทางเพจ อิสรนิยมศึกษา - Libertarian Studies ได้อธิบายว่า “แรงงานไม่ได้เป็นผู้สร้างมูลค่า ([l]abor does not create value) แรงงานถือเป็นปัจจัยหนึ่งในการผลิตสินค้าและบริการก็จริง แต่ “มูลค่าของสินค้า” ขึ้นอยู่กับอรรถประโยชน์ของปัจเจกแต่ละคน” แต่กลับมีบุคคลท่านหนึ่งกล่าวว่า “ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำตามใจ ไปตามจิตวิสัยเสมอไป เพราะงบประมาณคนเราไม่เท่ากัน และจิตวิสัย ไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกถึงความ สมเหตุสมผล กับราคาที่ต้องจ่ายเสมอไป” – ในประเด็นนี้เราจะเห็นได้ชัดว่าบุคคลดังกล่าวพยายามที่จะเบี่ยงประเด็นไปที่เรื่อง “งบประมาณ [...] ไม่เท่ากัน” มากกว่าที่จะโจมตีว่าทำไม “อรรถประโยชน์ของปัจเจกแต่ละคน” ถึงไม่ใช่กฎเหล็กของการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ มากไปกว่านั้นบุคคลท่านนั้นยังมองว่า “ความรู้สึก” ที่มีต่อ “งบประมาณ” ไม่เกี่ยวกับ “จิตวิสัย” ในขณะที่ทางเพจได้อธิบายในประเด็นเรื่องนี้ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน (Austrian School of Economics) มาอยู่หลายครั้งอย่างสม่ำเสมอ

.
Self-contradiction: ความย้อนแย้งในตัวเอง “self-contradiction” คือเหตุผลวิบัติที่เกิดขึ้นเมื่อประโยคประพจน์ของผู้กล่าวขัดแย้งในตัวมันเองหรือขัดแย้งกับความจริงที่เป็นที่ยอมรับทั้งในด้านประจักษ์นิยม (empiricism) และเหตุผลนิยม (rationalism) ฝ่ายซ้ายมักจะเสนอนโยบายซ้ายของพวกมันออกมาโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่พวกมันกำลังเสนอนั้นย้อนแย้งในตัวมันเอง และถึงทำไปก็ถือว่าเป็น “การแก้ปัญหาด้วยการวนอยู่ที่เดิม” เสียมากกว่าที่จะเป็นการก้าวไปข้างหน้าหรือข้างหลัง ทั้งนี้เหตุผลวิบัติในข้อนี้ถือว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญหลักที่ทำให้พวกซ้ายพยายามที่จะเปลี่ยนเทรนของโลกให้ไปทางซ้ายทีละนิดทีละน้อย เมื่อธรรมชาติของจักรวาลและธรรมชาติของมนุษย์ถูกเปลี่ยนเป็นไปเป็นแบบที่พวกซ้ายต้องการความย้อนแย้งก็จะเกิดขึ้นได้ยาก กล่าวคือธรรมชาติอยู่ในมือของพวกมันฉะนั้นความย้อนแย้งจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ทางเพจ อิสรนิยมศึกษา - Libertarian Studies ให้ความเห็นว่าการแข่งขันตามธรรมชาติโดยไร้รัฐเข้ามาแทรกแซงเท่านั้นที่จะเป็นแรงผลักดันทำให้ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น แต่กลับมีบุคคลท่านหนึ่งกล่าวว่า “เอกชนจะแข่งขันกันให้เกิดค่าแรงที่เหมาะสมกับแรงงานก็ต่อเมื่อ มีความสามารถในการแข่งขันเท่ากัน อยู่ในบริบททางสังคม และ/หรือมีมาตรฐานจริยธรรมเดียวกันเท่านั้น” โดยที่หลักฐานของความเป็นจริงทั้งในด้านประจักษ์และเหตุผลนั้นการแข่งขันที่จะทำให้เกิดความเหมาะสมต่อสภาวะสังคมจริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้คนมีความต่างกัน เมื่อธรรมชาติของมนุษย์ยังคงอยู่และถูกแบ่งด้วยความแตกต่างและชนชั้นเท่านั้นที่จะทำให้ “เกิดค่าแรงที่เหมาะสม” ในขณะเดียวกันการทำให้ “อยู่ในบริบททางสังคม และ/หรือมีมาตรฐานจริยธรรมเดียวกันเท่านั้น” โดยใช้อำนาจรัฐในการควบคุมการแข่งขัน “ให้เท่ากัน” รัฐเข้ามาเพื่อบังคับให้ค่าจ้างแรงงาน “เหมาะสม” ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้ “เหมาะสม” แม้แต่น้อยเมื่อปัจเจกในประเทศถูกลดทอนอำนาจในการต่อรองแล้วให้รัฐเข้ามาเป็นนายหน้าโดยที่คำว่า “เหมาะสม” ถูกนิยามโดยรัฐ ฉะนั้นความเหมาะสมจริง ๆ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดว่า “การแข่งขัน [ที่เท่ากัน]” ดังกล่าวของบุคคลท่านนั้นย้อนแย้งในตัวมันเอง “การแข่งขัน” ถูกทำให้ “เท่ากัน” มันจะไม่ใช่ “การแข่งขัน” อีกต่อไป

Author Public Key
npub187fs6hc9k2ase93v54h9qzx3zz5rrhwc89gstjdextprzlxcee9sdltz9m