บทความนี้เป็นการเรียบเรียงเนื้อหาซึ่งพูดไปในรายการ สภายาส้ม EP38 เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 26/4/2024
ถ้า BRC-20 คือขี้หมาท้องเสียแฉะ ๆ บนฟุตบาทประเทศไทย Rune ก็คงเป็นขี้ชะมดในไร่กาแฟพันธุ์ดีบนเกาะสุมาตรา
เช้าวันเสาร์ที่ 20/4/2024 ผมและสมาชิก Right Shift ตื่นแต่เช้าเปิดคอมไลฟ์จับตาดูปรากฎการณ์ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่า ปรากฎการณ์นั้นก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ในระหว่างนั้นเราได้เห็นค่าธรรมเนียมของเครือข่ายบิตคอยน์พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เป็นไปตามที่คาดไว้ว่าจะมีคนจำนวนมากที่พยายามจ่ายค่าธรรมเนียมเพื่อให้ธุรกรรมของตัวเองได้ถูกบรรจุอยู่ในบล็อกประวัติศาสตร์นี้ โดยเฉพาะพวกคนที่ต้องการจะฝังข้อมูลไว้ในเครือข่ายของบิตคอยน์ด้วยวิธีการ “Inscription” ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ก่อนหน้านี้ หรืออีกนัยหนึ่งหากกล่าวตามวิธีคิดแบบ Ordinals Theory คือพวกเขาพยายามจะ mint NFT บนบิตคอยน์นั่นเอง
ในไลฟ์วันนั้นพวกเราเข้าไปสำรวจธุรกรรมลำดับที่ #1 ของบล็อกที่ 840000 ซึ่งจ่ายค่าธรรมเนียมสูงถึง 6.732 BTC หรือคิดเป็นอัตรา 3,604,819 sat/vB และพบว่าบนธุรกรรมนั้นได้มีการ Inscribe ภาพอักษรรูนนี้เอาไว้
ในตอนนั้นยังไม่มีใครเข้าใจว่ามันมีความหมายอะไร และทำไปทำไม และหันไปให้ความสนใจกับธุรกรรมที่ตกค้างใน mempool จำนวนมากที่จ่ายค่าธรรมเนียมสูงเกินปกติไปมากแต่ยังสูงไม่มากพอที่จะเป็นส่วนหนึ่งในบล็อกสำคัญนั้น เราคิดว่าธุรกรรมเหล่านี้เพียงแค่ “พลาด” เป้าหมายที่พวกเขาต้องการ และจะค่อย ๆ ทะยอยถูกปิดลงบล็อกถัด ๆ มา และคงถูกกำจัดหมดไปในเวลาไม่นาน
แต่เราคิดผิด
วันแล้ววันเล่าผ่านไป โดยที่ค่าธรรมเนียมในเครือข่ายบิตคอยน์ยังคงสูงลิบอย่างต่อเนื่อง ค้างเติ่งอยู่ที่ระดับสูงกว่า 1000 sat/vB ซึ่งไม่ใช่ภาพที่เราเห็นได้ทั่วไป แม้แต่ช่วงที่เกิดการ hype เรื่อง Inscription หรือ BRC-20 ก็ไม่ได้สูงขนาดนี้ ธุรกรรมที่ดันค่าธรรมเนียมของเครือข่ายให้สูงอยู่อย่างนั้นคือธุรกรรมที่ถูกส่งเข้ามาใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ธุรกรรมค้างท่อมาจากเมื่อเช้าวันเสาร์แต่อย่างใด
และนั่นเองคือจุดที่ทำให้ผมได้พบว่าเบื้องหลังของเรื่องนี้คือ Rune Protocol
Rune คืออะไร
Rune คืออีกหนึ่งโปรโตคอล หรือมาตรฐานเหรียญสำหรับการสร้าง Fungible Token บนบิตคอยน์อีกรูปแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับ Omni Layer, Taproot Assets หรือ BRC-20 ซึ่งผมพอใจที่จะเรียกสิ่งนี้ว่า “Shitcoin on Bitcoin” มากกว่า
แน่นอนว่าในฐานะ Bitcoiner ผมออกจะรำคาญสิ่งเหล่านี้อยู่บ้างโทษฐานที่ทำให้ค่าธรรมเนียมในเครือข่ายบิตคอยน์เพิ่มสูงขึ้นและทำให้ผม stack sats ได้ยากขึ้น ถึงอย่างนั้นผมก็มองว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้ามันจะต้องเกิดขึ้นในสักวันก็ขอให้เกิดขึ้นด้วยโปรโตคอลที่มีประสิทธิภาพที่สุด หมายถึงเบียดบังพื้นที่ในบล็อกเชนให้น้อยที่สุด แข็งแกร่งที่สุด และสามารถใช้งานได้อย่างหลากหลายที่สุด
นั่นคือสาเหตุที่ผมเปรียบ BRC-20 เป็น “ขยะเปียก” มาตลอด เพราะมันเป็นโปรโตคอลที่ห่วยแตกอย่างมาก กินพื้นที่ในบล็อกเชนเกินจำเป็น สร้าง dust UTXO มหาศาล และให้ผลลัพธ์เป็นโทเค็นที่มีตัวตนอยู่นอกบล็อกเชนของบิตคอยน์ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้งานต่อในลักษณะไหนได้นอกจากการส่งให้กันไปมา (ยังไม่นับเรื่องที่ 1 ธุรกรรมของ BRC-20 จำเป็นต้องทำธุรกรรมบนเครือข่ายบิตคอยน์ถึงสองครั้ง!)
และในขณะเดียวกัน นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผมค่อนข้างคาดหวังกับ Taproot Assets (Taro) มาตลอด จากการที่ตัวโปรโตคอลออกแบบมาดีกว่ามาก และที่สำคัญคือเป็นผลงานจาก Lightning Labs ซึ่งเป็นทีมผู้พัฒนา LND หรือซอฟต์แวร์สำหรับรัน Lightning Node โดยที่มีคำมั่นสัญญาว่าโทเค็นซึ่งถูกสร้างบนมาตรฐาน Taproot Assets จะสามารถถูกนำไปบรรจุใน Lightning Channel เพื่อเอาขึ้นไปวิ่งอยู่บน Lightning Network ได้ และทำให้เรามีภาพในจินตนาการเกี่ยวกับโลกที่ผู้คนสามารถใช้ USD stable coin ผ่าน Lightning Network ด้วยความเร็วปานสายฟ้า ปราศจากตัวกลาง และสามารถเปลี่ยนเป็นบิตคอยน์เมื่อไรก็ได้
จนกระทั่งการมาถึงของ Rune
Rune เจ๋งยังไง
บนบล็อกของ Casey Rodarmor ผู้สร้างโปรโตคอลนี้ (และเป็นผู้สร้างโปรโตคอล BRC-20 ด้วย ถถถ)ได้กล่าวถึงข้อเสียของมาตรฐานเหรียญบนบิตคอยน์รูปแบบอื่น ๆ ไว้ดังนี้
เมื่อกลั่นคำซ้ำออกมาแล้วจะพบว่าข้อเสียของ protocol อื่น ๆ ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบก็คือ ไม่ใช่ UTXO-based (not UTXO-based), ซับซ้อน (complex) และพึ่งพาข้อมูลที่อยู่นอกบล็อกเชน (relies on off-chain data)
ซึ่งโดยอนุมานแล้ว Rune กำลังนำเสนอโปรโตคอลซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับคุณสมบัติซึ่งถูกมองว่าเป็นข้อเสียเหล่านั้น ก็คือ จะต้องเป็น UTXO-based เรียบง่าย และไม่พึ่งพาข้อมูลที่อยู่นอกบล็อกเชน
ซึ่ง… พอสำรวจแล้วก็พบว่าเป็นไปตามนั้นจริง
Rune ทำงานอย่างไร
กลไกหลักของ Rune คือการฝังคำสั่งเกี่ยวกับ Rune ไว้ในบล็อกเชนของบิตคอยน์ผ่านการใช้ OP_RETURN (เช่นเดียวกับ Omni) โดยที่คำสั่งของ Rune จะมีชื่อเรียกเก๋ ๆ ว่า Rune stone
นั่นทำให้ในช่วงที่เครือข่ายบิตคอยน์เต็มไปด้วย Rune เราจะสามารถเห็นภาพสัดส่วนปริมาณธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Rune บนเว็บไซต์ mempool.space ได้ด้วยการใช้ฟังก์ชั่น goggle กรองดูเฉพาะธุรกรรมที่มี OP_RETUEN และมั่นใจได้ว่าเกือบทั้งหมดนั้นคือธุกรรม Rune
ภาพจากบล็อก 840021
หากจะดูให้แน่ใจ output OP_RETURN ของ Rune จะเริ่มต้นด้วย OP_RETURN และตามด้วย OP_PUSHNUM_13 เสมอ จากนั้นก็จะตามหลังด้วย OP_PUSHBYTE ตามจำนวน byte ของคำสั่ง Rune ที่ต้องการจะทำ อาจจะยาวหรืออาจจะสั้น และ byte ที่ตามมาหลังจากนั้นทั้งหมดคือส่วนที่จะถูกนำไป decode เป็นคำสั่ง Rune จริงๆ อีกที
ด้านล่างนี้คือตัวอย่าง Runestone สั่งโอน Rune token อย่างง่าย กรณีนี้กินพื้นที่บนบล็อกเชนเพิ่มจากธุรกรรมบิตคอยน์ปกติเพียง 11 byte เท่านั้น
คำสั่ง Runestone แบ่งเป็นประเภทหลัก ๆ 3 อย่างสำหรับ 3 กิจกรรม คือ การประกาศเหรียญ (Etching), การสร้างเหรียญ (Minting), และการโอน (Transferring)
ส่วนการ Burn หรือทำลายเหรียญนั้นไม่มีรูปแบบ Runestone ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ แต่สามารถทำได้โดยการทำ Runestone สำหรับโอนเหรียญโดยสั่งให้ Rune token ไปผูกอยู่กับ output ที่เป็น OP_RETURN เพื่อให้ไม่สามารถถูกนำไปใช้โอนต่อได้อีกต่อไป หรือหากสร้าง Runestone โดยไม่ถูกต้องตามหลักโปรโตคอล Runestone นั้นจะถูกเรียกว่า Cenotaphs และถือว่า Rune token ที่ถูกนำมาใช้เป็น input ในธุรกรรมนั้นถูก burn โดยปริยาย
หากสนใจการทำงานที่ลึกขึ้นของ Rune สามารถศึกษาได้ที่ https://docs.ordinals.com/runes.html
Rune are Live!!!
การที่จะมี Rune token สักชื่อหนึ่งเกิดขึ้นบนบิตคอยน์ได้นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือรอให้ถึงบล็อก 840000 เสียก่อน นั่นคือสิ่งที่ถูกกำหนดไว้โดยผู้สร้างโปรโตคอล OP_RETURN ที่ถูกบรรจุลงในบล็อกก่อนการ halving จะไม่ถูกนับเป็น Runestone
จากนั้น Runestone แรกที่จะต้องถูกสร้างขึ้น คือ Etching เพื่อประกาศให้มี Rune token ชื่อนั้นในระบบ โดยผู้ที่ทำการ Etching จะสามารถกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ให้กับ Rune token นั้นได้ เช่น ชื่อ สัญลักษณ์ ปริมาณอุปทานสูงสุด จำนวนหลักทศนิยม สามารถ Mint ได้ครั้งละกี่หน่วย หรือสามารถ Mint ได้จนถึงบล็อกที่เท่าไร เป็นต้น รวมไปถึงหากจะทำการ pre-mine โทเค็นไว้ให้ตัวเองเท่าไร ก็สามารถทำพร้อมกันใน Runestone เดียวกันนี้ได้เลย
เราได้ผ่านตาตัวอย่างธุรกรรมที่มี Etching Runestone กันมาแล้วในบทความนี้ นั่นคือธุรกรรมแรกของบล็อก 840000 ในธุรกรรมนั้นมี Runestone ประกาศให้มี Rune token ชื่อ Z•Z•Z•Z•Z•FEHU•Z•Z•Z•Z•Z (ᚠ) โดยที่ภาพอักษรรูนที่ถูก Inscribe ด้วยธุรกรรมเดียวกันนั้นก็คือภาพสัญลักษณ์สำหรับ Rune token นี้นั่นเอง
ธุรกรรมนั้นทำให้เกิดโทเค็น ᚠ ขึ้นเป็นโทเค็นแรกในบรรดา Rune token ทัังมวล ทำให้ ᚠ ได้รับตำแหน่งเป็น Rune #1 และเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมากที่แห่กันเข้ามา Mint โทเค็นนี้กันอย่างล้นหลาม แต่นอกจาก ᚠ แล้วก็มี Rune token ชื่ออื่น ๆ ถูก Etching ให้มีตัวตนตามขึ้นมาอีกมาก
เมื่อมีโทเค็นชื่อใด ๆ ถูก Etching ให้มีตัวตนขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถสร้าง Runestone เพื่อ Mint โทเค็นนั้นให้กับตัวเองได้ภายใต้เงื่อนไขที่ผู้สร้างเหรียญกำหนดไว้ (เว้นเสียแต่ผู้สร้างโทเค็นนั้นจะ pre-mine ให้ตัวเองจนเต็มอุปทานสูงสุดตั้งแต่แรก) และสามารถโอนหากันได้ตามอัธยาศัยด้วยการทำ Runestone ประเภท Transferring หรือจะทำการแยกหรือรวม UTXO ทำธุรกรรมส่งให้ตัวเองเหมือนบิตคอยน์ปกติก็ทำได้เช่นเดียวกัน
สำหรับโทเค็น ᚠ ผู้สร้างได้กำหนดให้ ᚠ มีปริมาณอุปทานสูงสุดที่ 1,111,111 เหรียญ และสามารถถูก Mint ได้ครั้งละ 1 เหรียญ เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อ ᚠ ถูก Mint จนครบจำนวนอุปทานสูงสุดและไม่สามารถถูก Mint ได้อีกต่อไป ระดับค่าธรรมเนียมบนเครือข่ายบิตคอยน์ก็ตกฮวบฮาบกลับมาที่ระดับปกติอย่างรวดเร็ว บางทีอาจจะมีเพียงโทเค็นนี้ที่มีความสำคัญพอให้ทุกคนแย่งกันก็เป็นไปได้
มูลค่าและคุณค่าของ Rune
ปัจจุบัน Rune เป็นโปรโตคอลเปิดที่ใครก็สามารถ Etching, Minting และ Transferring ได้ตามอัธยาศัยโดยไม่ต้องทำตามเงื่อนไขอะไรอื่นใดมากไปกว่าการจ่ายค่าธรรมเนียมธุรกรรมให้กับนักขุดบิตคอยน์ตามอัตราที่เป็นไปตามกลไกตลาด
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ Rune token นั้น ในตอนนี้ไม่ได้มีความพิเศษใด ๆ มากไปกว่าเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการสร้าง “Shitcoin on Bitcoin” นั้นสามารถทำได้อย่างดีขึ้นกว่าเดิม
วันหนึ่งอาจมีผู้ให้บริการออก stablecoin มาออก stablecoin ด้วย Rune token ก็นับว่าโทเค็นนั้นถูกแบ็คมูลค่าด้วยตัวผู้ให้บริการนั้นและสินทรัพย์ที่ถูกใช้หนุนหลังอยู่
วันหนึ่ง Rune token อาจสามารถถูก bridge ข้ามไปยังบล็อกเชนประเภท smart contract อื่น ๆ เพื่อเอาไปเล่น De-Fi หรือเล่นเกม Rune token ก็อาจจะมีคุณค่าในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้นมา
หรือวันหนึ่ง หาก BitVM หรืออะไรบางอย่างที่คล้ายกันทำให้เครือข่ายบิตคอยน์มีความสามารถในการทำ smart contract บนเครือข่ายบิตคอยน์เอง Rune token ก็อาจจะมีกลไกบางอย่างคอยหนุนหลังให้มันมีมูลค่าอยู่ได้
แต่จนกว่าจะถึงตอนนั้นคุณค่าของ Rune token แต่ละตัว ก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเป็น memecoin เท่านั้น
Rune กับ สิ่งอื่น ๆ
Rune กับ Omni Layer
สิ่งแรกที่ผมรู้สึกว่าควรนำ Rune ไปเปรียบเทียบด้วยคือ Onmi Layer เพราะว่าคำสั่งของทั้งสองโปรโตคอลนี้ต่างใช้ OP_RETURN เช่นเดียวกัน
ข้อได้เปรียบข้อแรกที่ Rune มีดีกว่า คือ Rune ประหยัดพื้นที่บนบล็อกเชนมากกว่า จากการที่ OP_RETURN ของ RUNE นั้นกินพื้นที่บนบล็อกเชนตามจำเป็น การ Mint อาจกินพื้นที่เพียง 7 byte, การ Transfer อาจกินพื้นที่เพียง 11 byte แต่ Omni Layer นั้น เพียงแค่คำสั่งในการโอนครั้งเดียวจะใช้พื้นที่ 22 byte ซึ่งเป็นจำนวนที่ตายตัว ไม่มีการปรับให้สั้น-ยาว ตามความจำเป็น
อีกข้อได้เปรียบหนึ่งคือ Omni Layer นั้นเป็น account-based ทำให้ไม่สามารถนำ Omni token ขึ้นไปวิ่งอยู่บน Lightning channel ได้ ในขณะที่ Rune เป็น UTXO-based
Rune กับ Lightning Network
แม้ว่าความเป็นไปได้ในการสร้างโทเค็น “Shitcoin on Bitcoin” จะแทบไม่สิ้นสุด แต่สิ่งเดียวที่ผมคาดหวังในทางบวกคือการได้เห็น Fiat stablecoin ขึ้นไปวิ่งอยู่บน Lightning Network ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่เปิดประตูให้ no-coiner ได้เข้ามาใกล้ชิดกับบิตคอยน์มากขึ้น และเปิดโอกาสสู่ Bitcoin Adoption อย่างมีนัยสำคัญ
และการที่ Rune เป็น UTXO-basd แล้ว ในทางทฤษฎีจะทำให้ Rune token สามารถถูกบรรจุลงไปใน UTXO ที่ถูกล็อคด้วย multi-sig address เพื่อสร้างเป็น lightning channel ระหว่าง lightning node ได้ และสามารถนำ Rune token ขึ้นไปวิ่งอยู่บน lightning network ได้ และหากว่า Rune token นั้นคือ Fiat stablecoin เราก็จะสามารถใช้งานเงินเฟียตผ่าน lightning network ได้ในท้ายที่สุด เช่นเดียวกับการใช้ Taproot Asset
อย่างไรก็ตามความหวังนี้ยังมีอุปสรรคสำคัญอีกสองประการ คือหนึ่ง จะต้องมีผู้ออก stablecoin อย่างเช่น Tether มาออก stablecoin บน Rune เสียก่อน และสองคือจะต้องมีใครสักคนพัฒนา Lightning Implementation หรือซอฟต์แวร์สำหรับการรัน lightning node ให้สามารถรองรับการมีอยู่ของ Rune token เสียก่อน
Rune กับ Taproot Asset
ผมเคยชื่นชอบการออกแบบของ Taproot Assets เป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับโปรโตคอลคู่แข่งที่มีอยู่ในเวลานั้น แม้ปัจจุบันผมก็ยังยอมรับว่า Taproot Assets นั้นออกแบบมาได้อย่างงดงาม พิสดาร และสามารถทำอะไรได้หลายอย่างมาก
แต่เมื่อ Rune ปรากฎตัวขึ้นก็กลับเห็นได้ชัดว่า Taproot Assets เป็นการออกแบบที่ overengineering เมื่อเทียบกับสิ่งที่มันทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว Rune ก็ทำได้เช่นกันโดยใช้วิธีการที่เรียบง่ายกว่า ที่สำคัญคือวันนี้ Rune ถูกใช้งานจริงในวงกว้างแล้ว ในขณะที่ Taproot Assets ยังคงตามหลังอยู่
ยังไม่นับส่วนที่ว่า Taproot Assets จะต้องมีการตั้งหน่วยบริการข้อมูลภายนอกที่เรียกว่า Universe หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ สำหรับโทเค็น Taproot Assets แต่ละประเภทจะต้องมีการตั้งเซิร์ฟเวอร์ของแต่ละโทเค็นขึ้นมาเพื่อคอยบริการข้อมูลแก่ผู้ใช้งาน เพราะว่าสิ่งที่ Taproot Assets บันทึกในบล็อกเชนของบิตคอยน์นั้นเป็นเพียง proof ของข้อมูลที่ถูกเก็บไว้นอกเชนโดย Universe นี้เอง หากปราศจากเซิร์ฟเวอร์ Universe หรือข้อมูลใน Universe สาบสูญไป ตัว Taproot Assets นั้นก็จะไม่สามารถใช้งานได้
ต่างกับ Rune ที่ทุก ๆ ข้อมูลที่จำเป็นถูกบันทึกอยู่ในบล็อกเชนของบิตคอยน์ด้วย OP_RETURN ซึ่งวอลเล็ตสามารถดึงข้อมูลทุกอย่างได้จากโหนดของบิตคอยน์ ไม่จำเป็นต้องขอข้อมูลจากแหล่งอื่นเลย ในแง่นี้จะกล่าวว่าในเชิงความแข็งแกร่งของตัวโทเค็นแล้ว Rune มีความแข็งแกร่งมากกว่า Taproot Assets ก็ว่าได้
Rune กับ BRC-20
ในขณะที่ BRC-20 ทั้งซับซ้อน กินพื้นที่บนบล็อกเชนมาก และไม่แข็งแกร่งเท่า Rune เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งหมด
เริ่มจากในการทำธุรกรรมใดๆ ด้วย BRC-20 ผู้ใช้จะต้องทำธุรกรรมบนเครือข่ายบิตคอยน์ถึงสองครั้ง ครั้งแรกเพื่อซ่อนคำสั่ง BRC-20 ไว้ใต้ hash ของ taproot address เรียกว่า “commit transaction” และทำธุรกรรมครั้งที่สองเพื่อเปิดเผยคำสั่งที่ถูกซ่อนไว้ออกมา เรียกว่า “review transaction”
โดยที่ธุรกรรมทั้งสองขั้นตอนนี้จะต้องถูกทำต่อกันตามลำดับ แม้ว่า commit transaction ของธุรกรรม BRC-20 หลาย ๆ ธุรกรรม อาจสามารถถูกรวบเป็น batch transaction เดียวกันได้ แต่ review transaction ก็จะต้องเกิดขึ้นแยกแต่ละรายธุรกรรมอยู่ดี และไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าธุรกรรม BRC-20 หนึ่งครั้ง ต้องพึ่งพาธุรกรรมสองครั้งอยู่ดี
ธรรมชาติของโปรโตคอลที่ออกแบบมาในลักษณะนี้ทำให้ตลาดการแข่งกันจ่ายค่าธรรมเนียมมีความดุเดือดเกินจำเป็น โดยเฉพาะระหว่างช่วงที่ผู้ใช้แย่งกัน Mint โทเค็นให้ทันก่อนที่โทเค็นจะถูก mint จนเต็มอุปทานสูงสุด เพราะว่าเมื่อผู้ใช้ทำ commit transaction สำเร็จไปแล้ว เท่ากับว่าผู้ใช้เกิด sunk cost สำหรับความพยายามนี้ไปแล้วโดยที่ยังทำธุรกรรมไม่สำเร็จด้วยซ้ำ และเขาต้องพยายามจ่ายค่าธรรมเนียมแข่งกับคนอื่น ๆ เพื่อทำ review transaction ให้ทันก่อนที่คนอื่นจะแซงหน้า ไม่เช่นนั้นค่าธรรมเนียมที่เคยจ่ายไปสำหรับ commit transaction ก่อนหน้านี้ก็จะสูญเปล่า
นอกจากนี้ตัวคำสั่ง BRC-20 ที่ถูกเปิดเผยออกมาใน review transaction นั้นจะถือว่าเป็นส่วน signature ซึ่งถูกบันทึกอยู่ใน segwit block ที่โหนดบิตคอยน์บางโหนดอาจจะตัดสินใจ prune ทิ้งได้เพื่อลดภาระในการจัดเก็บข้อมูล ในขณะที่การใช้ OP_RETURN จะทำให้ตัวคำสั่ง Rune ถูกบันทึกไว้ในบล็อกเชนหลักของบิตคอยน์โดยตรงและมั่นใจได้ว่าจะไม่มี full node ไหนลบข้อมูลส่วนนี้ทิ้ง
เป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อ Rune ถูกใช้งานจริง Rune ก็เบียดบังปริมาณธุรกรรม BRC-20 จนแทบจะสูญพันธุ์ไป
Rune กับ Cashu และ Fedimint
Cashu และ Fedimint ไม่ใช่คู่แข่งของ Rune และบางทีเราอาจเห็นการใช้งานร่วมกัน
ในความเห็นของผม เป็นการยากที่จะเจาะจงว่า Cashu กับ Fedimint นับเป็นเลเยอร์ที่ 2 หรือ 3 ของบิตคอยน์กันแน่ เพราะหากว่าเราแบ็คอัพโทเค็นในระบบไว้ด้วย Bitcoin on-chain ก็นับว่าระบบนี้เป็น Layer 2 แต่ถ้าแบ็คอัพด้วย Bitcoin lightning ก็นับว่าระบบนี้เป็น Layer 3 และบางที ก็อาจมีบาง Cashu หรือ Fedimint ที่เปิดให้สมาชิกสามารถฝากถอนจากระบบด้วยทั้งสองเลเยอร์ ก็ยิ่งยากที่จะระบุเข้าไปใหญ่
ประเด็นก็คือโทเค็นในระบบ Cashu และ Fedimint สามารถถูกแบ็คอัพด้วยอะไรก็ได้ที่สามารถฝากถอนได้ และ Rune token ก็เป็นหนึ่งในนั้น ดั้งนั้นคงไม่แปลกถ้าในอนาคตเราจะสามารถฝาก Rune token เข้าไปในระบบเหล่านี้และสามารถใช้งานได้โดยมีความเป็นส่วนตัวสูงมากขึ้นกว่าเดิม
สรุป
ถ้าหากว่า “Shitcoin on Bitcoin” เป็น nerrative ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเรากำลังพยายามมองหาโปรโตคอลที่ดีที่สุดสำหรับการทำสิ่งนี้ ในวันนี้ผมเชื่อว่า Rune คือสิ่งที่ใกล้เคียงคำว่า “สมบูรณ์แบบ” มากที่สุดสำหรับเรื่องนี้ มันดูราวกับจะเป็น “ตัวจบ” ที่ยากจะหาอะไรดียิ่งกว่า
Rune เป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างความแข็งแกร่งของตัวโทเค็น (คือเทียบเท่ากับบิตคอยน์), ภาระที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนหลักที่ไม่มากเกินไป และความสามารถในการขยายขีดจำกัดเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก (scaling)
Rune อาจสามารถดึงเอา demand สำหรับการส่งผ่านมูลค่าในหน่วยเงินอื่น จากที่เดิมที่เคยหนีจากบิตคอยน์ไปเพราะความล่าช้าและค่าใช้จ่ายที่แพง ให้กลับมาอยู่บนบิตคอยน์อีกครั้งหนึ่ง และเราจะได้รู้กันว่าโทเค็นต่าง ๆ ที่อยู่บน “บล็อกเชนอื่น ๆ” นั้นมันอยู่ตรงนั้นเพราะมีความต้องการที่จะใช้งานของเล่นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ smart contract จริง ๆ หรือเพียงเพราะตรงนั้นมันโอนเงินได้ถูกกว่าและไวกว่าเฉย ๆ
แต่ถ้าหากว่าวันนี้บิตคอยน์มี Rune แล้วยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เกิดขึ้นหลังจากนี้ บางที “Shitcoin on Bitcoin” ก็อาจจะไม่ได้เป็น nerrative “ของแทร่” อย่างที่เราคิด
วันนี้ไม่เหลือที่ว่างสำหรับข้ออ้างว่า “เราจะต้องรอให้มีโปรโตคอลที่ดีกว่านี้” อีกต่อไปแล้ว มีแต่จะ “ปัง” หรือ “พัง” เท่านั้น
และนั่นคือเรื่องที่เราต้องจับตาดูกันต่อไป
#Siamstr #Rune