Why Nostr? What is Njump?
2024-08-02 06:43:30

lvlick on Nostr: GA สวัสดีตอนบ่ายครับ ...

GA สวัสดีตอนบ่ายครับ มาต่อจากช่วงเช้ากัน
หลักเกณฑ์ที่เนื่องกันอยู่กับปฏิจจสมุปบาท จะมีอยู่ดังต่อไปนี้

1. จะมีภพ หรือชาติ ทุกคราวที่มีการกระทบทางอายตนะ ที่ปราศจากสติปัญญาในเรื่องของการหลุดพ้น(วิมุตติ) เรียกอีกอย่างหนึ่งก็ว่า ในขณะกระทบนั้นมีแต่ ความไม่รู้ในทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์(อวิชชา) จึงปรุงเป็น ปฏิจจสมุปบาท

2. ในภาษาปฏิจจสมุปบาท จะไม่มีคำว่า บุคคล ตัวตน เรา เขา ซึ่งเป็นผู้มีทุกข์ หรือดับทุกข์ หรือแล่นท่องเที่ยวไปในการเวียนว่ายตายเกิด

3. ในภาษาปฏิจจสมุปบาทไม่มีคำว่า “สุข” จะมีแต่คำว่าทุกข์และดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เพราะไม่มุ่งจะแสดงสุข ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสัสสตทิฏฐิ เว้นแต่จะกล่าวโดยภาษาคน ถือเอาภาวะที่ไม่มีทุกข์นั้นเป็นความสุข เพื่อประโยชน์ก่การสอนศีลธรรมเท่านั้นเอง ดังที่กล่าวว่า “นิพพานเป็นยอดสุข” เป็นต้น

4. ปฏิสนธิวิญญาณ ชนิดที่เป็นตัวตน ไม่มีในภาษาปฏิจจสมุปบาท ดังนั้นคำว่าวิญญาณ จึงระบุไปยังวิญญาณ 6 แต่ถ้าจะหาเลศเรียกวิญญาณเหล่านี้ว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ” ก็ยังมีทางทำได้ คืออธิบายว่า วิญญาณหกนี้เอง ก่อให้เกิด นามรูป- สฬายตนะ – ผัสสะ  ขึ้นมาแล้วสืบต่อไปถึง ภพ ชาติ แต่พระองค์ไม่เรียกหรืออธิบายไว้ในที่ไหนว่า ปฏิสนธิวิญญาณ เพราะต้องการให้เรามองกันในแง่ของวิญญาณตามธรรมดา คำว่า ปฏิสนธิวิญญาณ เพิ่งมีใช้ในหลังสือชั้นหลัง เป็นการดึงสัสสตทิฏฐิกลับเข้ามาสู่พุทธศาสนาโดยปริยาย และเป็นกาฝากของพุทธศาสนา ซึ่งจะคอยกัดกินพุทธศาสนาเรามีวิญญาณหกตามธรรมดาและมีปฏิจจสมุปบาทโดยไม่ต้องอาศัยคำว่า ปฏิสนธิวิญญาณเลย

5. ในวงของปฏิจจสมุปยาท มีแต่ปฏิจจสมุปปันนธรรม คือสิ่งที่ได้อาศัยสิ่งอื่นแล้วเกิดขึ้น ปรากฏอยู่ชั่วขณะ เพื่อปรุงแต่งให้เกิดสิ่งอื่นต่อไป อาการที่ปรุงแต่งกันไปนั้นเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท มีคำที่ต้องสนใจเพียงสองคำเป็นหลัก อย่าให้เกิดเป็นตัวตน และก็อย่าให้เห็นตรงกันข้ามจากตัวตน จนไม่มีอะไรเสียเลย แต่ให้อยู่ตรงกลาง

6. ถ้ากล่าวไปในเรื่องกรรม ธรรมนี้มุ่งแสดงกรรมไม่ดำไม่ขาว และเป็นที่สิ้นสุดแห่งกรรมดำกรรมขาว จัด บุญ อบุญ อเนญชา(สภาพที่ปรุงแต่งภพอันมั่นคง ไม่หวั่นไหว ของฌานที่ 4) เป็นเรื่องทุกข์ไปหมด ต้องเหนือสิ่งทั้งสามนี้ จึงจะดับทุกข์สิ้นเชิง จึงไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น ว่าตัวตน

7. หลักพุทธศาสนา ต้องประกอบอยู่ด้วยความเป็นปัจจุบันธรรมหรือ สันทิฏฐิโก เสมอ การให้ปฏิจจสมุปบาทรอบเดียวกินเนื้อที่ตั้ง 3 ชาติ (ตามความหมายในภาษาคนธรรมดา) นั้นไม่ใช่ปัจจุบัน อาการของปฏิจจสมุปบาททั้ง 11 อาการต้องเป็นปัจจุบัน ตลอดเวลาจึงเป็นสิ่งที่ทรงสอน

8. สูตรของปฏิจจสมุปบาทพูดไว้หลายแบบ ไปตามลับดับ(อวิชชา-ทุกข์) ย้อนกลับ มีทั้งการดับ ตั้งต้นที่อายตนะ-วิญญาณ-ผัสสะ-เวทนา หรือ เวทนาไปถึงทุกข์ หรือ การเกิดและดับในคราวเดียว ทำนองจะแสดงยืนยันว่า แม้ปฏิจจสมุปบาทจะดำเนินไปจนถึงตันหาแล้ว ก็ยังอาจจะเกิดสติกั้นกระแสตันหาให้หยุด และวกกลับกลายเป็นการดับทุกข์ได้ ถ้าเราเอาสูตรของธรรมนี้ทุกๆแบบมาดูพร้อมๆกัน จะทำให้เห็นได้ชัดว่า ธรรมนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกินเนื้อที่หรือเวลา คร่อมกันถึง 3 ภพ 3 ชาติ(ตามความมายของภาษาคน)

9. ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องของการเกิดดับตลอดเวลา ไม่ใช่การมีตัวมีตนตลอดเวลา ดังนั้นคำว่า เกิด คำว่า ชาติ ย่อมหมายถึงการเกิดในขณะแห่งปฏิจจสมุปบาทสายหนึ่งๆ ในชีวิตประจำวันของคนธรรมดา คือเผลอสติเมื่อมีการกระทบทางอายตนะครั้งหนึ่ง ตามข้อ 1 นั่นเอง รู้ได้ง่ายๆ เช่นเกิดโลก หรือโกรธ ลง ครั้งหนึ่งๆ ก็มีการเกิดแห่งตัวกูชาติหนึ่งๆ เสร็จไปแล้ว การถือเอาการเกิดจากท้องแม่ครั้งหนึ่งตามภาษาคน ทำให้เข้าใจเรื่องปฏิจจสมุปบาทไม่ได้ เราควรชอบชาติหน้าที่ใกล้ๆที่คว้าถึง และจัดการได้ตามต้องการ ดีกว่าชาติหน้าที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

10. ปฏิจจสมุปบาทสำหรับพูด นั้นเป็นปรัชญา : ไม่จำเป็นและไม่มีประโยชน์อะไรนัก ปฏิจจสมุปบาทแท้จริง คือ การปฏิบัติ เพื่อไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้น มีสติในทวารทั้ง 6 เมื่อมีการกระทบ หรือสำรวมอินทรีย์ โดยประการที่อาสวะจะเกิดขึ้นไม่ได้ จัดเป็นปฏิจจสมุปบาทฝ่ายดับ(นิโรธวาร)โดยสมบูรณ์
ทั้งหมดนี้ เป็นหลักทดสอบเพื่อรู้จักปฏิจจสมุปบาทที่แท้จริง คือปฏิบัติได้และมีประโยชน์ในการดับทุกข์โดยตรง มีความทุกข์เพราะกิเลสครั้งหนึ่ง ก็จัดเป็น ปฏิจจสมุปบาทคราวหนึ่ง และคล้ายกับมีการเกิด 2 ครั้ง คือ 

1. เมื่ออายตนะภายนอกและภายในกระทบกัน เกิดวิญญาณขึ้น ในขณะที่ประกอบอยู่ด้วยอวิชชา นี้คือการเกิดขึ้นของวิญญาณ-นามรูป-อายตนะ ซึ่งก่อนหน้านี้ เหมือนกับไม่ได้มี เพราะกำลังหลับอยู่ วิญญาณในลักษณะนี้จึงอยู่ในลักษณะที่พวกสัสสตทิฏฐิจะขนานนามให้ว่า “ปฏิสนธิวิญญาณ”
2.ครั้นเกิดเวทนาโดยผัสสะแล้ว ก็จะเกิดกิเลสโดยตรง คือ ตัณหาอุปาทานที่จะก่อให้เกิดภพ-ชาติ เป็นการเกิดอีกครั้งหนึ่ง 
ซึ่งเป็นการเกิดของตัวกู ของกู(อัตตวาทุปาทาน) ที่จะได้รับทุกข์ด้วยปัญหาอันเกิดจาก ชาติ  ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาสะ หรือเรียกรวมๆว่า ปัญจุปาทานักขันธ์อันเป็นทุกข์ รวมความว่าในปฏิจจสมุปบาทรอบหนึ่งมีการเกิด 2 ครั้ง ดังนี้ ไม่จำเป็นต้องตายเข้าโลง จึงจะมีตายหรือเกิด ซึ่งเป็นเรื่องของภาษาคน ไม่ใช่ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ #siamstr #ปฏิจจสมุปบาท
Author Public Key
npub1uprlst7kjp0eyfxe4yn7q36gr885mjr9fm6ejfqt8pmdta7stv9s2xvysq