Why Nostr? What is Njump?
2023-12-22 01:50:16

ritto on Nostr: เมื่อวานหลาย ๆ ...

เมื่อวานหลาย ๆ คนน่าจะได้ฟังเรื่องนี้ในสภายาแดงเมื่อคืนกันไปแล้ว มันนี้จะมาแชร์มุมมองส่วนตัวที่มีต่อภาพยนตร์เรื่องนี้นะครับ

Barbie: Existentialism to Its Core เมื่อบาร์บี้คิดอยากจะเปลี่ยนแปลง [Spoilers]

ยอมรับแต่แรกเลยว่าไม่คิดจะดูภาพยนตร์เรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะด้วยความเป็นบาร์บี้ที่ตัวเองไม่มีความสนใจเลยแม้แต่น้อย ตุ๊กตาที่เด็กผู้หญิงเล่นกัน จะไปดูทำแมวน้ำอะไร และแถมสิ่งที่ชอบเกี่ยวกับบาร์บี้ที่สุดคือเพลง Barbie Girl ของวง AQUA ที่เด็กยุค 90’s น่าจะจำกันได้ดี (ใครอยากรำลึกความหลังดูได้ในคอมเมนต์นะ) แต่เพลงนี้เป็นเพลงที่ MATTEL บริษัทแม่ที่ผลิตบาร์บี้ไม่ค่อยปลื้มนัก ก็เลยคิดว่ามันไม่น่าจะมาเป็นเพลงประกอบในหนังเรื่องนี้ได้ ก็เลยไม่คิดที่จะดูเข้าไปใหญ่ (แต่สุดท้ายก็ได้มาประกอบแต่ดันเป็นเวอร์ชั่น Barbie World ที่สองสาวฮิปฮอป Nicki Minaj และ Ice Spice เอาเพลงเดิมมาแซมพลิง หรือนำทำนองกับเนื้องร้องบางส่วนมาใส่ในเพลงใหม่เท่านั้น) บวกด้วยเสียงเล่าอ้างที่ว่ามีความเฟมินิสต์ (Feminist) หรือสตรีนิยมแบบสุดโต่งก็เลยตัดสินใจที่จะข้ามเรื่องนี้ไป แต่แล้วพอภาพยนตร์เรื่องนี้มาลงสตรีมมิ่งอย่าง HBO Go และบวกกับความที่ไม่รู้จะดูอะไร ก็เลยอ่ะ ลองเปิดใจดูซักนิดว่าเรื่องนี้มันเป็นจริงอย่างที่เขาว่ากันมั้ย และทำไมตัวภาพยนตร์ถึงทำเงินได้อย่างมหาศาล โดยรายรับรวมทั่วโลกสูงถึง 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ



พอภาพยนตร์ได้จบลงแล้วความคิดที่เคยมีต่อเรื่องนี้ก็ได้เปลี่ยนไป Barbie กลับกลายเป็นภาพยนตร์ที่ได้ให้อะไรมากกว่าสร้างความบันเทิงและความเป็นเฟมิสต์ที่เขาว่ากัน มันกลับเป็นภาพยนตร์ที่แซะเฟมินิสต์แบบเบา ๆ ซะอีก นักแสดงก็ทำหน้าที่ได้อย่างดี มาร์โก้ ร็อบบี้ (Margot Robbie) ตีบท ”บาร์บี้” หรือในเรื่องคือ “Stereotypical Barbie” ได้แตกกระจุย ไรอัน กอสลิ่ง (Ryan Gosling) ก็จะดูเอนจอยกับบทเคน (Ken) หรือในเรื่องคือบีชเคน (Beach Ken) ที่มีความรั่วแบบชายแท้อกสามศอกที่ได้รับมาก และยังมีนักแสดงจากซีรีส์ Sex Education ในเน็ตฟลิกซ์มาร่วมแจมอีกเพียบ สุดท้ายนักแสดงที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ อล็กซานดร้า ชิปป์ (Alexandra Shipp) ที่หลายคนอาจจะคุ้นหน้าจากบทมิวแทนต์สตอร์ม (Storm) ในวัยใส จากภาพยนตร์ X-Men: Apocalypse และ X-Men: Dark Phoenix แสดงในเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลายเวอร์ชั่นของบาร์บี้ ที่ยิ่งดูยังไงยิ่งหน้าเหมือนดาราไทย “จันจิรา จูแจ้ง” ตอนสาว ๆ มากกกกกกกกก อย่างกับแอบไปโคลนนิ่งตัวเองที่สหรัฐอเมริกา



และเมื่อมาวิเคราะห์ดูแล้วแกนของภาพยนตร์เรื่องนี้มันไม่ใช่ความเป็นเฟมินิสต์เหมือนที่หลาย ๆ คนและรีวิวต่าง ๆ ได้บอกกันมา แต่ส่วนตัวคิดว่าความเป็น “อัตถิภาวนิยม” หรือ “Existentialism” ต่างหากที่เป็นแกนของภาพยนตร์เรื่องนี้



Existentialism คือ หลักปรัชญาว่าด้วย การดำรงอยู่ (Existence) ของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล (Individual) ที่มีคุณค่าและความหมาย ไม่ใช่วัตถุสิ่งของแต่มีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึก มีความต้องการ โดยองค์ประกอบที่สำคัญของลัทธินี้ก็ คือ “ความมีเสรีภาพ ความรู้สึกรับผิดชอบและการเลือกตัดสินใจ” และสาเหตุที่เกิดคำจัดความของ “Existentialism” คือกรอบสังคมที่มีการสร้างบรรทัดฐานและจำกัดการดำรงชีวิตบุคคล และเมื่อเทคโนโลยียิ่งเจริญก้าวหน้า และบุคคลสามารถเสพย์สื่อและเข้าถึงข้อมูลได้แค่เพียงปลายนิ้ว ทำให้เราอาจจะอยากเป็นคนที่ได้เห็นตามหน้าฟีด หรือยากทำในสิ่งที่คนอื่นนั้นกำลังทำโดยที่ตัวเรากลับลืมตัวตนที่แท้จริง หรือสิ่งที่ตัวเองนั้นอยากจะทำจริง ๆ ไป โดยบาร์บี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่ต่างกัน



เมื่อสมัยยุค 60’s ตุ๊กตาบาร์บี้เปรียบเสมือนกับ “Perfect Woman หรือ Beauty Standard” หรือการเป็นแม่แบบของความเป็นผู้หญิงของสังคมชาวตะวันตก เช่น ผมบลอนด์ยาว หุ่นดีมีทรวดทรงองเอว ใส่ส้นสูง เป็นต้น หรือที่ถูกนำเสนอด้วยตัวละคร Stereotypical Barbie ที่ มาร์โก้ ร๊อบบี้ นำแสดงนั่นเอง หรือแม้กระทั่งตัวเคนเองก็ตามที่ถูกสร้างเป็น “Perfect Man” ที่มีความเป็นผู้ชายเต็มขั้น ผมบลอนด์ ตัวโตกล้ามใหญ่ มาให้เป็นคู่สร้างคู่สมของกันและกัน แต่เมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนไปค่านิยมของความเป็น Ideal เองก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักแต่เพิ่มเติมคือความหลายหลายทางสีผิวซะมากกว่า ซึ่งถูกแสดงด้วยตัวละครในเวอร์ชั่นต่าง ๆ ของบาร์บี้ในเรื่องนี้



ดินแดนบาร์บี้หรือ Barbieland ภายในเรื่องนั้นก็เหมือนกับการที่อยู่เหล่าปวงชนชาวบาร์บี้เวอร์ชั่นต่าง ๆ ซึ่งมีแน่นอนต้องมีผู้หญิงเป็นผู้นำทางสังคม (Matriarchy) หรือ “มาตาธิปไตย” (เหมือนจะเปรียบได้ว่าเป็นดินแดนอุดมคติหรือ Utopia ของเหล่าบาร์บี้ก็ไม่ปาน) และมีอาชีพชั้นนำต่าง ๆ ส่วนเคนที่เหมือนกับตัวรองและเหมือนกับไม่มีอาขีพ เช่น นักท่องเที่ยว ศิลปิน ไม่ก็เป็นนักกีฬา หรือแม้กระทั่งเป็นเงือกก็โชว์ออฟความเป็นชายเพื่อที่จะได้รับความสนใจของบาร์บี้ โดยเหล่าบาร์บี้และเคนทั้งหลายในโลกก็นี้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไร้ความทุกข์ไปวัน ๆ แต่ในโลกนี้ยังมีตัวละครเสริมที่ถูกละเลยโดยเหล่าบาร์บี้และเคนที่แสดงถึงความไม่สมบูรณ์หรือ “Imperfection” ในโลกของบาร์บี้อย่าง มิดจ์ (Midge) อัลลัน (Allan) ที่ถูกสร้างมาให้เป็นเพื่อนของบาร์บี้และเคน แต่โมเดลของทั้งสองนั้นถูกยกเลิกการผลิตไปนานพอสมควรแล้ว และยังรวมถึงบาร์บี้เพี้ยน (Weird Barbie) ที่ในโลกของบาร์บี้คือตุ๊กตาที่ถูกเจ้าของเล่นจับแต่งหน้า แต่งตัว ตัดผม แหกแข้งขาแหกขา จนมีสภาพที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม



แต่มีอยู่วันนึงที่บาร์บี้รู้สีกคิดถึงเรื่องการตายขึ้นมา ต่อมาวันรุ่งขึ้นก็มีอาการอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอย่างการมีกลิ่นปาก มีเซลลูไลท์ และภาวะเท้าแบนซึ่งทำให้ไม่สามารถใส่ส้นสูงได้อีกต่อไป ซึ่งทำให้บาร์บี้นั้นต้องไปขอความช่วยเหลือจากบาร์บี้เพี้ยนที่แนะนำให้บาร์บี้ออกตามหาเจ้าของตัวเองในโลกของความจริงเพื่อที่จะรักษาอาการที่ไม่สมบูรณ์เหล่านี้ และมีบีชเคนที่ขอติดตามไปด้วยโดยที่บาร์บี้เองนั้นไม่ค่อยเต็มใจนัก แต่เมื่อมาถึงโลกแห่งความจริงบาร์บี้ก็ได้เรียนรู้ว่าโลกแห่งความจริงนั้นไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด แต่บีชเคนนั้นดูเหมือนจะถูกโฉลกกับโลกที่ “ชายเป็นใหญ่” นี้พอสมควร



ในโลกแห่งความจริงเราได้เจอตัวละครอย่าง กลอเรีย พนักงานต้อนรับหน้าห้องในบริษัท MATTEL ที่ทำงานไปวัน ๆ และกำลังประสบกับความเป็น “Existential Crisis” แม้ตัวเองจะมีความสารถที่เป็นได้มากกว่าพนักงานต้อนรับ ที่สำคัญยังเป็นเจ้าของบาร์บี้กำลังตามหาอยู่ ลูกสาวของกลอเรียอย่างซาช่าที่มีความหัวขบถและยังเป็นคนที่บอกตัวว่าบาร์บี้นั้นคือ “Unrealistic Beauty Standard” ในโลกปัจจุบัน ซึ่งเปรียนเหมือนความเป็น “Existential” ของคนสมัยใหม่ที่ไม่ยึดติดกับอะไรเดิม ๆ มีความเป็นตัวเองสูง และรวมไปถึงแก๊งค์บอร์ดบริหารของ MATTEL ซึ่งเป็นผู้ชายล้วน ๆ ที่มีความเป็นนายทุนหรือ “Capitalism” แบบเต็มสูบ ที่รู้ข่าวเรี่องบาร์บี้หลุดมาที่โลกนี้ ก็พยายามจับบาร์บี้ไปรีโปรดักส์ขายซะเลย



ส่วนบีชเคนนั้นเมื่อได้ติดใจโลกแห่งความเป็นจริงใบนี้ก็เลยได้แรงบันดาลใจกลับไปยึดดินแดนบาร์บี้ร่วมกับเคนเวอร์ชั่นอื่น ๆ แล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นผู้ชายเป็นผู้นำทางสังคม (Patriarchy)” หรือ “ปิตาธิปไตย” อย่างเต็มรูปแบบ โดยเปลี่ยนบาร์บี้ที่อยู่ในโลกนั้นให้กลายเป็นแค่บทบาทรองทางสังคมให้กับเหล่าเคน เช่น คู่รัก/ภรรยา หรือแม้กระทั่งเป็นคนรับใช้ ส่วนบาร์บี้นั้นหลังจากแยกกับบีชเคนแล้วโดนจับไปโดยเหล่าผู้บริหาร ทำการหลบหนีด้วยความช่วยเหลือของกลอเรียและซาช่า และได้หนีกลับไปที่ดินแดนบาร์บี้ด้วยกันสามคน



แต่หลังจากที่ได้กลับมาเจอโลกที่ “ชายเป็นใหญ่” บาร์บี้ได้พยายามชักชวนให้เหล่าบาร์บี้คนอื่น ๆ กลับมาทำให้ดินแดนบาร์บี้กลับมาเป็นดังเดิม แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ แต่ด้วยการช่วยเหลือของคาแรกเตอร์ที่โดนสังคมเดิมหมางเมิน อย่าง มิดจ์ อัลลัน เหล่าบาร์บี้และเคนที่ตกรุ่น และไม่สมบูรณ์คนอื่น ๆ และด้วยการพูดปลุกใจของกลอเรียที่กล่าวถึงความคาดหวังของผู้หญิงในสังคมโดยมีใจความสำคัญว่า

“I’m just so tired of watching myself and every single other woman tie herself into knots so that people will like us. And if all of that is also true for a doll just representing women, then I don't even know.”

“ฉันเหนื่อยมากที่ต้องเห็นตัวเองแล้วก็ผู้หญิงทุกคนผูกตัวเองไว้กับปมที่ต้องมาคอยทำให้ทุกคนชอบ แล้วถ้านั่นมันเกิดขึ้นกับตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงด้วยอีก ฉันก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว”

ด้วยการปลุกใจนี้เองที่ทำให้เหล่าบาร์บี้ที่โดนล้างสมองกลับเป็นดังเดิมและช่วยกันวางแผนที่รวมตัวกันสับรางสร้างความอิจฉากันเองให้เหล่าเคนทั้งหลาย กลับมายึดคืนดินแดนบาร์บี้ให้กลับเป็นเหมือนเดิม แต่คราวนี้เมื่อได้เผชิญกับความกดขี่จากสังคมด้วยตัวเอง ทำให้เหล่าบาร์บี้นั้นสัญญาว่าจะปฏิบัติต่อเหล่าเคนและเหล่าคาแรกเตอร์อื่น ๆ ที่เคยถูกหมางเมินให้ดีกว่าเดิม



จากประโยคด้านบนจะเห็นได้ว่าตัวละครอย่างกลอเรียและบาร์บี้นั่นเองที่เป็นภาพสะท้อนของกันและกัน และเหมือนกับคารแรกเตอร์ตุ๊กตาบาร์บี้ซึ่งเปรียบเสมือนการส่งข้อความให้คนดูได้รู้ว่าบาร์บี้นั้นจะไม่ยึดติดกับความเป็นบรรทัดฐานหรือกรอบทางสังคมอีกต่อไป และการเป็นตัวของตัวเองแหละนั้นดีที่สุดแล้ว โดยที่บาร์บี้ยังบอกบีชเคนว่าให้ค้นหาความเป็นตัวเองให้เจอโดยที่ไม่ต้องยึดติดกับบทบาทเดิมของเคนที่เคยถูกสร้างเพื่อมาให้เป็นคู่กับบาร์บี้ ซึ่งนั่นก็คือความเป็น “Existentialism”



และหลังจากนั้นเองที่บาร์บี้กำลังตัดสินใจว่าตัวเองควรจะเป็นอะไรได้พบกับ รูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) ผู้คิดค้นและหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท MATTEL ซึ่งตัวจริงเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2022 ด้วยอายุ 85 ปี ซึ่งบอกบาร์บี้ว่าเรื่องราวบาร์บี้นั้นไม่มีจุดจบและเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่ต้องยึดติดกับประวัติศาสตร์และบรรทัดฐานความเป็นบาร์บี้เดิม ๆ และหลังจากนั้นเองที่บาร์บี้ตัดสินใจได้แล้วว่าควรจะเป็นอะไร แล้วก็กลับโลกแห่งความเป็นจริงพร้อมกับกลอเรียและซาช่า ซึ่งนั้นก็คือไปเป็น “มนุษย์” นั่นเอง



จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้มีความเป็น “Existentialism” สูงมาก ซึ่งในทางสังคมอุดมคตินั้นก็เป็นเรื่องที่ดีเข้ากับในสมัยปัจจุบัน โลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโลยีใหม่ ๆ ค่านิยมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น ใครอยากเป็นอะไรก็เป็น ขอให้มีความเชื่อมั่นในและมีความพยายามในตัวเอง แต่สุดท้ายนั้นการเป็น “Existentialism” หรือแม้กระทั่งความเชื่ออื่น ๆ ด้วยนั้น ต้องไม่เบียดเบียนหรือทำร้ายใครที่มีความเชื่อที่ต่างกัน ไม่ให้พูดให้ร้ายซึ่งกันและกัน เคารพความแตกต่าง เข้าใจซึ่งกันและกัน คุยกันด้วยเหตุและผล ไม่อย่างนั้นสังคมก็ไม่มีทางเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นจากที่หลาย ๆ คนคาดหวังอยากให้เป็น และเราก็จะอยู่กับการแตกแยกแบบเดิม ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พูดง่าย ๆ ว่าสังคมเราก็ยังรักษามาตรฐานเดิม ๆ แบบในอดีตนั่นแหละ แค่ทะเลาะกันด้วยวิธีที่ต่างกัน จากที่เรียกว่า “มนุษย์” เราก็แค่เป็นได้แค่ดั่ง “ตุ๊กตา” ทำตามโปรแกมหรือบรรทัดฐานที่วางมาตั้งแต่อดีตแค่นั้นเอง



Resources
*https://www.the101.world/existential-crisis/
*https://www.gotoknow.org/posts/677147
*http://www.parst.or.th/philospedia/Existentialism.html
*https://www.britannica.com/topic/existentialism

#siamstr #barbie #film #margotrobbie #ryangosling #hbogo #บาร์บี้ #ภาพยนตร์ #มาร์โกร๊อบบี้ #ไรอันกอสลิ่ง #สภายาแดง

Author Public Key
npub15wteale5c3zruyjan4qrur60ptyc2maa85hm24l4dn3g0mgzjzgsxp7s62