เศรษฐกิจไทยวิกฤตจริง แต่แก้ด้วยการพิมพ์เงินเข้าระบบ มันจะได้ผลตามหวัง หรือไม่
ใคร ๆ ที่ติดตามสถานการณ์สภาพสังคมและเศรษฐกิจ ต่างก็รับรู้และสัมผัสได้ว่าเศรษฐกิจไทย เปรียบดุจ "กบอยู่ในหม้อที่กำลังต้มอยู่" เพราะไม่เห็นการลงทุนอะไรในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เลย สินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตกันอยู่ก็มีแต่สินค้าตกรุ่น จะขายแบบโก่งราคาเพื่อหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ก็ทำไม่ได้
เราลองมานึก ๆ ดูกันว่าสินค้าและบริการที่เราใช้เพื่อดำรงชีพในชีวิตประจำวัน ในปี ร.ศ. 242 ยังมีสิ่งใดที่ผลิตขึ้นในขอบขัณฑสีมาของกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา หรือไม่
โทรศัพท์เคลื่อนที่/ คอมพิวเตอร์/ เครือข่ายอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่ผู้เขียนกำลังใช้เพื่อเขียนบทความนี้ ล้วนมีชิ้นส่วนที่เกิดขึ้นในขอบขัณฑสีมาแห่งนี้เป็นจำนวนน้อยมาก อีกทั้ง หากเดินเข้าไปยังร้านค้าของผู้ประกอบการที่มีทุนขนาดใหญ่ซี่งได้มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย ก็พบว่ามีสินค้านำเข้าที่ผลิตจากต่างประเทศล้นทะลักเข้ามาจำนวนมาก รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายแบบออนไลน์ ก็มีสินค้าจากต่างประเทศที่มีกลวิธีในการหลีกเลี่ยงมาตรการทางภาษี ทำให้ราคาถูกกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในประเทศ หรือมีผู้ประกอบไทยนำเข้ามาแบบถูกต้องตามกฎหมาย
ทุกวันนี้ เศรษฐกิจไทย ขับเคลื่อนด้วยภาคบริการ ซึ่งก็มาพังเพราะทัวร์ศูนย์เหรียญ และวิกฤตโควิด อีกทั้งภาคบริการส่วนใหญ่ ก็ถูกครอบครองด้วยผู้ประกอบการที่มีทุนขนาดใหญ่ซึ่งได้มาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง
การยัดเงินเข้าระบบด้วยโครงการแจกเงินหมื่น ด้วยอ้างว่าเหล่าผู้ประกอบการขนาดจิ๋วขาดแคลนแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ประกอบกิจการ เพราะเหล่าบรรดานายธนาคารไม่ยอมปล่อยกู้ให้ ด้วยกังวลว่าจะเกิดปัญหาหนี้เสียจากภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ตอนนี้ใคร ๆ ก็มองไม่เห็นอนาคต หากโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจยังคงสภาพเดิมเช่นปัจจุบัน
แต่สหายรุ่นน้องคนนี้ ขอถามพี่หมอมิ้ง สหายรุ่นพี่ พคท. ด้วยความสัตย์ว่า การแจกเงินหมื่นเข้าระบบจะทำให้ผู้ประกอบการขนาดจิ๋วได้เงินทุนเพิ่มขึ้นอย่างไร เมื่อผู้ประกอบการเหล่านั้นไม่มีทุนในการไปสั่งซื้อสินค้ามาจำหน่ายเพิ่ม เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่พุ่งสูงขึ้นมาอย่างฉับพลัน ดังนั้นเหล่าผู้บริโภคก็จะหันไปซื้อสินค้าจากร้านค้าสาขาของเหล่าผู้ประกอบการที่มีทุนขนาดใหญ่ซึ่งได้มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศนี้
อีกทั้ง หากผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว เข้าร่วมโครงการแจกเงินหมื่น จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแบบฉับพลัน จนทำให้อาจต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว ทั้งที่ก่อนจะมีการดำเนินโครงการนี้ เหล่าผู้ประกอบการมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทว่า หากผู้บริโภค 180 คน แห่กันนำเงินหมื่นมาซื้อสินค้ากับร้านค้าของผู้ประกอบการเหล่านี้ จะทำให้เหล่าผู้ประกอบการขนาดจิ๋วต้องเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทันที (ผู้เขียนไม่ได้คำนวณถึงรายได้ปกติของร้านค้าเมื่อไม่มีการดำเนินโครงการ ซึ่งหากคำนวณไปด้วยจำนวนผู้บริโภคที่นำเงินหมื่นมาซื้อสินค้าก็จะลดลง)
ส่วนประเด็นเรื่อง "เศรษฐกิจของประเทศมีลักษณะตกท้องช้าง" พี่หมอมิ้ง คิดว่า การพิมพ์เงินเข้าระบบทันที 500,000 ล้านบาท จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกระโดดลุกขึ้นมาทันที หลังจากกระโดดข้ามไม้กั้นไม่ผ่านจนหัวทิ่มบ่อ แล้ววิ่งต่อไปจนพลิกคว้าเหรียญทองได้ในการแข่งขันวิ่งวิบาก 5,000 เมตร ได้ (หรือไม่)
อีกทั้ง หากเราไม่จับกบที่โดนต้มออกจากหม้อ แม้เราจะเติมปริมาณน้ำเพิ่มเข้าไปในหม้อเพื่อให้น้ำล้นหม้อ แล้วกบตัวนั้นก็หล่นออกจากหม้อ แต่พี่หมอ ลืมอะไรบางอย่างไปหรือไม่ การเติมปริมาณเพิ่มเข้าไป ต้องเติมเป็นปริมาณเท่าใดเพื่อให้น้ำล้นหม้อ
อีกทั้งหากน้ำล้นหม้อแล้ว แต่กบตัวนั้น มันดื้อเพราะไม่รู้สึกว่าน้ำมีอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป มันจะยอมหล่นออกจากหม้อ หรือไม่
รวมถึง แม้ว่า กบตัวนั้น หล่นออกจากหม้อแล้ว แหล่งความร้อนที่ใช้ต้มกบตัวนั้น คืออะไร หากเป็นกองเพลิงขนาดมหึมา กบตัวนั้น แม้นจะออกมาจากหม้อ แต่คงกลายเป็นเถ้าธุลีอยู่ในกองเพลิงนั้น
ดังนั้น วิธีการจับกบออกจากหม้อที่กำลังต้ม ให้กบออกไปอยู่ที่อื่น ที่มีสภาพแวดล้อมปกติ ซึ่งก็คือ "การปฏิรูปเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย" จะเป็นวิธีการที่ทำให้เศรษฐกิจไทย ฟื้นคืนชีพและดำรงค์อยู่อย่างยืนยงสถาพร หรือไม่
ปล. บทความชิ้นนี้ เขียนในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์คนหนึ่ง โดยพยายามเปรียบเปรยอย่างไม่ยึดโยงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อสื่อสารกับสหายรุ่นพี่ ซึ่งแม้ท่านจะเป็นแพทย์ แต่ก็มีความรู้ทางรัฐศาสตร์ด้วยเช่นกัน ซึ่งผู้เขียน (อาจจะ) ผลิตบทความลักษณะนั้นในคราถัดไป
#กบต้ม #ตกท้องช้าง #หมอมิ้ง #ตระบัดสัตย์ #วันนี้เพื่อไทยโกหกอะไร
#Politics #Political #Politician #Policy #PolicyMaker
#แจกเงินหมื่น #ดิจิมอนออมเล็ต #DigitalWallet
https://www.thansettakij.com/business/economy/587499