เป็นบทความที่เลอค่ามากครับ ผมยังอยู่ในวัยเรียน แต่พยายามหาสิ่งที่จะเป็นPOWของตัวเองอยู่ แม้จะม.ปลายแล้ว
อ่านบทความนี้แล้วพบว่าผมเป็นminimalistพอตัว อุปกรณ์การเรียนของผมที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นของที่คนอื่นใช้ทิ้งๆขว้างๆ ไม่ก็ทำตกไว้ตามตัวไม่เจอ พวกปากกา ดินสอ ยางลบหรือไม้บรรทัด ถ้ายังใช้ได้ดีก็ดีกว่าเอาไปทิ้งให้เสียของ ประหยัดไปได้5บาท10บาทหลายๆครั้งรวมกันก็เป็นร้อย กระเป๋านร.ส่วนใหญ่ก็ของมือสองมือสาม จะซื้ออะไรซักอย่างต้องคิดเยอะพอสมควร แนวคิดแบบบริโภคนิยมมันแทรกซึมอยู่ทุกหนแห่ง แม้ปากกายังต้องมีตัวการ์ตูนน่ารักๆหยุมหยิมที่ใช้การไม่ได้ อะไรๆก็เป็นแฟชั่นไปเสียหมด
#siamstr
quoting
naddr1qq…ak23Minimalism ความสุขจากการปลดพันธนาการ
เมื่อปี 2564 เป็นปีที่ผมมีเวลาในการทุ่มเทศึกษาแนวคิดในการพัฒนาตัวเองมากที่สุดปีหนึ่ง ผมทำงานที่โรงพยาบาลเอกชน 6 วันต่อสัปดาห์ แต่จะเรียกว่าเป็นความโชคดีก็ได้เพราะสถานการณ์โควิด 19 ยังไม่สงบ ผู้ป่วยจำนวนมากยังไม่มั่นใจที่จะมาโรงพยาบาล ทำให้ภาระงานของผมไม่หนักจนเกินไป โรงพยาบาลที่ผมทำงานวันเสาร์นี่แทบจะเป็นห้องเรียนออนไลน์ของผมไปเลย ผมสามารถหา podcast ดีๆฟังได้มากกว่า 5 เรื่องต่อวัน
อยู่มาวันหนึ่งผมมารู้จักกับแนวคิด “Minimalism” โดยบังเอิญเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคำนี้ ผมพอจะเดาความหมายคร่าวๆได้ แต่ไม่แน่ใจความหมายที่แท้จริงของมัน ผมศึกษาหาข้อมูลอยู่ช่วงหนึ่ง พบว่าแนวคิดหลายๆอย่างมันเป็นสิ่งที่ผมทำอยู่แล้วมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
แนวคิด Minimalism มาจากคำว่า Minimum หรือที่แปลว่า น้อยที่สุด ใจความหลักของแนวคิดนี้คือการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต เป็นความสุขที่เกิดจากความเรียบง่าย ความสุขเกิดขึ้นจากภายใน ความสุขที่ไม่ได้เกิดจากสิ่งของนอกกาย
ผมอยากจะขยายความคำนี้เป็นพิเศษนะครับ “ความสุขที่ไม่เกิดจากสิ่งของนอกกาย” มองเผินๆมันดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ถ้าหากพิจารณาดูดีๆ มันเป็นคำพูดที่น่านำไปพิจารณาต่อไม่น้อย
ปัจจุบันโลกเราเป็นทุนนิยมเต็มรูปแบบ ทางฝั่งผู้ผลิตสินค้าย่อมทุ่มงบในการโฆษณา สร้างแบรนด์เพื่อให้สินค้าตนเองเป็นที่รู้จักเพื่อจะได้มีลูกค้ามีรายได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้ เป็นกระบวนปกติและไม่ได้ผิดอะไร แต่ปัญหามันอยู่ที่การทำการตลาดแบบรุนแรงดุเดือด จนกลายเป็นชักนำผู้คนให้เกิดความอยากได้ อยากมีอยากครอบครองมากเกินความพอดี
หากใครศึกษาประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา คงจะคุ้นเคยกับคำว่าความฝันแบบชาวอเมริกัน “American dreams” ใจความเรียบง่ายมากคือ สหรัฐอเมริกาในช่วงก่อร่างสร้างฐาน เป็นดินแดนที่มีอิสระ เป็นดินแดนแห่งโอกาส ผู้ที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ขยันทำงานขยันทำธุรกิจ ขยันอดออม ย่อมไล่ตามความฝันทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้
สามารถมีบ้านมีรถ สร้างครอบครัวที่มั่นคง มีเสถียรภาพทางการเงินที่มั่นคง ใช้ชีวิตสุดสัปดาห์กับครอบครัว ทำบาร์บีคิวกันที่สนามในบ้าน หรือชวนเพื่อนๆมาร่วมสนุกได้
แต่เมื่อเวลาผ่านไปคำว่า American dreams ก็ถูกอิทธิพลของทุนนิยมสมัยใหม่ ค่อยๆเข้ามาแทรกแซง บิดเบือน และล้างสมองผู้คนไปทีละเล็กทีละน้อย สื่อโฆษณาเริ่มวางยาผู้คนด้วยการกระตุ้นความอยากได้อยากมี มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ ปัญหาที่เกิดตามมาก็คือเกิดกระแสบริโภคนิยมเกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว เกิดภาพที่เราเห็นกันอย่างคุ้นหน้ากันบ่อยๆ
มีของใช้อยู่แล้ว แต่ซื้อของแบบเดิมอีก โทรศัพท์พึ่งซื้อรุ่นใหม่มาไม่นาน ตกรุ่นแล้ว ต้องรีบตามกระแสให้ทัน เสื้อผ้าซื้อมาไม่ทันไร ใส่ได้ไม่กี่ครั้ง ซื้อตัวใหม่อีก รถยนต์มีแล้วหนึ่งคัน แต่หาเหตุผลซื้อคันต่อๆไปได้
มันเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องการเสาะแสวงหาอะไรบางอย่างมาเติมเต็มความต้องการภายใน จนเกิดปัญหามากมายในสังคมยุคใหม่ ผู้คนไม่สามารถสร้างความสุขได้จากปัจจัยภายใน แต่ต้องใช้วัตถุภายนอกเข้ามาเติมเต็ม
นักการตลาดมืออาชีพย่อมเข้าใจพื้นฐานตรงนี้ของมนุษย์ดี ทำให้พวกเขาถือไพ่ที่เหนือกว่า สามารถออกแบบสื่อโฆษณาได้อย่างฉลาดหลักแหลม ปล่อยพลังเข้าไปกระตุ้นต่อมความอยาก ความกระหายของผู้คนที่พร้อมจะเป็นเหยื่อได้ตลอดเวลา ทำให้ประชาชนเป็นทาส เสพติดการบริโภคเกินตัวโดยที่ไม่รู้ตัว
ผู้คนสมัยใหม่ เป็นทาสระบบการเงินรวมศูนย์ของธนาคารกลาง แล้วยังต้องมาเป็นทาสของกระแสบริโภคนิยมเข้าไปอีก
มันอาจจะฟังดูเว่อร์เกินจริงว่ามันไปขนาดนั้นแล้วเหรอ ผมอยากชวนคุยถึงปรากฏการณ์ของการเปิดตัวไอโฟนครับ เมื่อมีการประกาศวันวางจำหน่ายไอโฟนรุ่นใหม่ ผู้จงรักภักดีต่อแบรนด์ (Brand royalists) ลงทุนไปเข้าแถวต่อคิวกันข้ามคืนเพื่อให้ตนเองเป็นคนแรกๆที่ได้ครอบครอง
แต่นอกเหนือจากการตลาดของแอปเปิ้ลที่ดูประสบความสำเร็จในการกระตุ้นยอดขายอย่างดีเยี่ยมแล้ว ก็ยังมีวิธีการอื่นๆในการตลาดอีกมาก ตัวอย่างเช่น
กับดักคำโฆษณาที่สวยหรู
คำพูดยอดฮิต “ออกแบบได้อิสระตามสไตล์ของคุณ”
เป็นการตลาดจูงใจผู้บริโภคด้วยวิธีการค่อนข้างนุ่มนวล ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจการออกแบบตกแต่งที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด อพาตเม้นท์ ฯลฯ เครื่องมือการตลาดคือแคตตาลอคสินค้าที่จัดไว้เป็นเซตดูสวยงาม ในแคตตาลอคสินค้าจะถูกจัดวางไว้เป็นที่เรียบร้อยว่าของชิ้นนี้ต้องเข้าคู่กับชิ้นไหนถึงจะออกมาเป็นเซตที่สวยงาม มันชวนให้ตั้งคำถามว่า “สไตล์ของเรา มันปลิวไปอยู่ตรงไหน” เพราะในความเป็นจริง ผู้ขายได้ล็อคสเปคไว้ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้บริโภคอาจจะต้องการซื้อแค่โต๊ะ แต่ตอนกลับบ้านมีเก้าอี้ หรือชั้นวางเท้าติดกลับมาบ้านด้วย “เพื่อให้ครบเซต” ต่อให้ใจแข็งในวินาทีแรก แต่วันต่อๆไปก็ไม่แน่
เวทย์มนต์ของการทำการตลาดทำให้ผู้บริโภครู้สึกต่ำต้อย
วิธีการคือทำให้เกิดการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น โดยอาศัยพลังของดารานักแสดง กลยุทธนี้จะเนรมิตสื่อโฆษณาให้เห็นถึงการใช้ชีวิตเหนือระดับ เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน บ้านหรู รถยนต์หรู ข้าวของเครื่องใช้ราคาแพง เข้าโจมตีกระแทกกระตุ้นความอยากได้อยากครอบครอง เพื่อให้จิตใจสำนึกของผู้บริโภคสร้างความรู้สึกว่า “ต้องมีให้ได้ ต้องทำแบบที่เห็นในสื่อให้ได้”
ในมุมหนึ่งมันก็เป็นเรื่องที่ดีที่กระตุ้นให้ผู้คนพัฒนาตนเองไล่ตามความฝัน แต่ในขณะที่ผู้คนที่ไม่มีภูมิต้านทานในการเสพสื่อที่มีประสิทธิภาพดีพอ กลับถูกวางยาพิษให้เสพติดการบริโภคเกินตัว ทุกคนคงทราบข้อเท็จจริงดีว่า ระหว่างผู้คนที่ถูกวางยาจนติดพิษ กับ ผู้ที่มีภูมิต้านทานไม่ติดพิษ จำนวนประชากรกลุ่มใดมีมากกว่ากัน
คุณไสยการผลักให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตนเองตกยุค (Defashion)
ระยะเวลาเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์หลังครอบครองสินค้า โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มแฟชั่นทั้งหลาย เช่นเครื่องแต่งกาย รองเท้า เป็นต้น
สิ่งของซื้อมาเพื่อใช้สอยตามคุณสมบัติของมัน ใช้ไปจนมันผุพังสึกหรอไปตามกาลเวลา จนถึงสภาพที่มันไปต่อไม่ได้แล้ว จะทิ้ง จะขายต่อเป็นของเก่า จะบริจาค หรือรีไซเคิล คือปลายทางจุดจบที่ควรจะเป็น แต่ภายใต้คุณไสย defashion ข้าวของถูกทิ้งไม่ใช่เพราะมันพัง แต่เป็นเพราะมันเชย มันดูตกยุคล้าหลัง ไม่มีคุณค่าทางสังคม ดูไม่สวยงาม ผมเห็นโพสนึงในเฟสบุคเมื่อหลายปีมาแล้ว ทำไว้แซวผู้ที่บ่นว่าไม่มีเสื้อจะใส่ แต่ตู้เสื้อผ้าไม่มีที่ว่างให้ใส่อะไรได้อีก มันน่าจะเป็นอำนาจของคุณไสย defashion ที่กางอาณาเขตออกมาครอบคลุมผู้ที่ตกเป็นทาสของมัน จะมีซักกี่คนครับที่วิชาแก่กล้าพอที่จะต่อต้านคุณไสยและกางอาณาเขตซ้อนอาณาเขตได้ขนาดนั้น
การตลาดที่โหดเหี้ยมที่สุด ชั่วร้ายที่สุด ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
การตลาดโฆษณาขายสินค้าให้กับเด็ก เด็กมีความใสซื่อและบริสุทธิ์ ตอบสนองต่อสิ่งที่มากระทบจากภายนอกอย่างตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่ารักที่สุดสิ่งหนึ่งในสังคมมนุษย์ กลับต้องถูกล้างสมองและควบคุมพฤติกรรมตั้งแต่เด็ก เมื่อเด็กนั่งอยู่หน้าจอทีวี หรือ สื่ออะไรก็ตามแต่ จะเกิดเหตุการณ์ราวกับว่าถูกสนามแม่เหล็กที่มีกำลังมากดูดติดจนไม่สามารถดึงออกมาได้และถูกป้อนข้อมูลใส่อย่างไร้ความปราณี
เนื้อหาโฆษณาก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ แถมยังสอดแทรกความรุนแรงเข้าไปอย่างแนบเนียน มีการสะท้อนภาพให้เห็นว่าเมื่อไหร่ที่เด็กเป็นเจ้าของของเล่นแล้วดีใจกระโดดโลดเต้นอย่างมีความสุข เบื้องหลังการกระทำแบบนี้เพื่อกระตุ้นจิตใจที่ขาวสะอาดของเด็กๆให้แปดเปื้อนตกอยู่ใต้อำนาจความอยากได้อยากมี รวมไปถึงโฆษณาอาหารขยะ (junk food) ทั้งหลายที่ไม่ได้มีผลดีต่อสุขภาพระยะยาว
“พ่อครับ แม่คะ หนูรักพ่อรักแม่นะ … ช่วยซื้อของเล่นชิ้นนี้ให้หนูหน่อยนะ”
ตัวอย่างโฆษณาของเล่นของสะสม ยัดเยียดให้เด็กสะสมให้ครบ
ชอปปิ้งออนไลน์ ตัวเร่งปฏิกิริยาที่น่ากลัว
ตัวเร่งปฏิกิริยาเบื้องหลังที่ซ่อนตัวอยู่อย่างแนบเนียนที่สุด มันทำงานอยู่อย่างลับๆ อาศัยช่องโหว่ของมนุษย์ที่ไม่ต้องการทำอะไรยุ่งยาก ก่อนที่จะถึงยุคทองของการชอปปิ้งออนไลน์ ขั้นตอนการชำระเงิน จะต้องพลิกกระเป๋าสตางค์เพื่อกรอกเลขบัตรเครดิต แต่สมัยนี้หลายๆร้านเสนอทางเลือกให้ผู้บริโภคบันทึกรายละเอียดของบัตรเครดิตเข้าไว้กับระบบหลังบ้าน เพื่อลดขั้นตอนความวุ่นวายในการจ่ายเงิน ประสบการณ์ที่สะดวกสบายนี้ ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องสัมผัสกับ “ความเจ็บปวดเวลาควักเงินออกจากกระเป๋าสตางค์” ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นข้อมูลตัวเลขปรากฏอยู่บนหน้าจอทั้งหมด มองเห็นได้แต่จับต้องไม่ได้ อารมณ์และการตระหนักรู้ยับยั้งชั่งใจย่อมเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย
ปัญหาในระดับจุลภาคเชิงบุคคล
ผู้คนที่ใช้จ่ายเกินตัว เกิดรายจ่ายมากกว่ารายรับ เป็นหนี้บัตรเครดิต รายได้ที่ได้มาในแต่ละเดือนเป็นไปเพื่อการใช้หนี้จากการบริโภคที่มากเกินตัว เหมือนจะได้ใช้ชีวิต แต่ที่จริงไม่ได้ใช้ชีวิตของตนเองเลย
ปัญหาในระดับชุมชน - ประเทศ - มหภาค
เมื่อความต้องการของผู้คนไม่มีที่สิ้นสุด การซื้อของใหม่ ทิ้งของเก่า ขยะเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกลุ่มประเทศเจริญแล้วที่สามารถกำจัดขยะได้มีประสิทธิภาพหรือสามารถแปลงขยะให้เป็นพลังงานหล่อเลี้ยงชุมชนได้ ปัญหาอาจจะเบาบาง แต่ในทางกลับกันประเทศที่ไม่มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้ ย่อมเกิดปัญหาสิ่งแวดล้องตามมา หรือไม่ก็ผลักภาระไปให้พ้นตัว โดยเอาขยะเหล่านี้ไปทิ้งใส่กลุ่มประเทศโลกที่สาม ไม่มีอำนาจที่จะปฏิเสธ
ทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า ภายใต้ระบบทุนนิยม เครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญคือโฆษณาและเทคโนโลยีอำนายความสะดวกครบครันในยุคสมัยใหม่ วัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคอยากได้ อยากครอบครองวัตถุอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะมีสินค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานได้แล้ว แต่ก็ยังถูกกระตุ้นให้อยากได้อยากมีของใหม่อยู่เรื่อยๆอย่างไม่มีจุดสิ้นสุด เพื่อสร้าง “ความต้องการเทียม” ในการบริโภคขึ้น เป็นการเอาแส้เฆี่ยนหลังคนให้มีความกระหาย โหยหา ครอบครองวัตถุอย่างไม่รู้จักจบสิ้น
หลักคิด Minimalism
ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่กำลังถูกกล่าวถึงกันมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นแนวคิดที่มุ่งให้เกิดการตระหนักรู้ หรือมีสติก่อนที่จะแสวงหาวัตถุเพื่อครอบครอง ความเป็น minimalism ไม่ใช่การอยู่อย่างอดอยาก ซื้อของมือสองราคาถูกๆ หาบ้านหลังเล็กๆหรือเช่าที่พักราคาถูก หรือปฏิเสธการใช้จ่าย มันไม่ใช่
หลักคิดที่สำคัญคือบริโภคตามความจำเป็นของชีวิตจริงๆเท่านั้น ก่อนจะซื้อของใดๆก็ตาม จะมีการไคร่ครวญนึกคิดไตร่ตรองอย่างดีว่าวัตถุนั้นๆมี **“คุณค่าที่แท้จริง” ต่อชีวิตของเราหรือไม่
อยากชวนคุยขยายความคำว่า “คุณค่าที่แท้จริง” ครับ คุณค่าในที่นี้หมายถึงคุณค่าของวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ เมื่อเราได้ครอบครองมันแล้ว มันทำประโยชน์ทำคุณค่าอะไรให้กับชีวิตเราบ้าง ยกตัวอย่างเช่นคุณค่าที่โทรศัพท์สมาร์ทโฟนมอบให้
การติดต่อสื่อสาร การจดบันทึกเหตุการณ์สำคัญพร้อมกับการแจ้งเตือนที่แม่นยำ การเดินทางไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ความสามารถในการเข้าถึงโลกทางการเงินและการลงทุน ความสามารถในการทำเงิน การเข้าถึงสื่อในรูปแบบต่างๆ และอื่นๆอีกมากมายที่โทรศัพท์ขนาดเท่าฝ่ามือสามารถมอบให้ได้
แต่สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน โทรศัพท์กลับกลายเป็นอุปกรณ์ไอทีที่บ่งบอกถึงรสนิยมและแฟชั่น มีผู้คนมากมายซื้อโทรศัพท์ที่แพงเกินความจำเป็น อันนี้ไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริง แต่เป็นคุณค่าที่ใครซักคนล้างสมองคุณและบอกให้คุณไปซื้อมันมา โดยไม่สนว่ามันจะทำให้คุณเป็นหนี้หรือไม่
minimalism ไม่ได้บอกห้ามไม่ให้คุณซื้อนะ แต่มองว่า ถ้าคุณสมบัติทั้งหมดทั้งมวลที่โทรศัพท์เครื่องละสามหมื่นสี่หมื่นมัน “จำเป็น” ต่อชีวิตของคุณจริงๆ คุณจำเป็นต้องทำงานโดยอาศัยกำลังของมันจากชิบประมวลผลทุกอนูแบบสุดๆ คุณซื้อเลยครับ ไม่มีใครว่าคุณ เพราะคุณตระหนักและคิดมาดีแล้วว่าคุณซื้อมันมาเพื่อประโยชน์ในชีวิตของคุณอย่างแท้จริง
สินค้าอีกชิ้นหนึ่งที่อยากชวนคุย คือคอมพิวเตอร์ ทั้งโน๊ตบุคและพีซี อาศัยหลักคิดถึงคุณค่าเช่นเดียวกันกับกรณีของสมาร์ทโฟน ถ้าหากคุณจำเป็นจะต้องมีคอมพิวเตอร์สเปคแรงๆ มีกราฟฟิคการ์ดราคาเป็นหมื่น SSD แรม หรืออะไรก็ตาม ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้กำลังในการประมวลผลจากอุปกรณ์ที่มีสเปคโหดขนาดนั้นแล้วมันเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานของคุณ มันใช้สร้างอาชีพและเลี้ยงคุณกับครอบครัวได้ คุณซื้อเลยครับ ไม่มีใครว่าคุณ
การบริโภคไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่การบริโภคแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง (compulsory consumption)
ความ minimalist ในตัวผม
อย่างที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นว่า ค่านิยมในการใช้ชีวิตของผมมันบังเอิญตรงกับ minimalism พอดี ในวัยเด็กเป็นลูกคนเดียว ถูกตามใจพอสมควร ของเล่นก็มีเต็มบ้านเหมือนเด็กปกติทั่วๆไป จนกระทั่งเรียนจบออกมาทำงานผมเริ่มเห็นคุณค่าของเงินที่ต้องทุ่มเทแรงกายลงไปทำงาน อดหลับอดนอนในช่วงสมัยที่ยังมีแรงรับเวรกลางคืน เพื่อซื้อของที่ผมอยากได้อยากใช้งาน ได้แก่
ปี 2553 เกมมิ่งพีซี ปี 2554 ไอแพด 2 ปี 2555 หรือ 2556 (ไม่แน่ใจ) ไอโฟน 5G ปี 2556 เกมมิ่งโน้ตบุคยี่ห้อ MSI
ในช่วงแรก ผมก็เป็นเหมือนคนทั่วๆไปครับเมื่อได้เป็นเจ้าของสินค้าจากแอปเปิ้ล ก็จะถูกโฆษณากระตุ้นให้เฝ้ารอสินค้าใหม่ โมเดลใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ ว่ามันจะมีลูกเล่นอะไรให้ตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจเฝ้ารอคอยบ้าง ผมอาจจะโชคดีด้วยบุญเก่าหรืออะไรก็แล้วแต่ มองว่าซักวันหนึ่งวันใดวัตถุย่อมเปลี่ยนแปลง ย่อมเสื่อมผุพังไปทีละน้อย จนถึงคราวแตกดับไม่เหลืออะไร จะซื้อของใหม่มาโดยที่ของเก่าที่มีก็ยังใช้ได้มันก็ไม่ใช่เรื่อง ซื้อมาก็เสียดายเงิน สู้ใช้ของที่มีให้สุดๆ จนมันพังเสียซ่อมไม่ได้ ค่อยซื้อใหม่ดีกว่า
ไม่เพียงแต่กับโทรศัพท์ แต่แนวคิดนี้มันแผ่ออกไปถึงวัตถุทุกอย่างในบ้านผม โชคดีที่ภรรยาผมก็คิดแบบเดียวกัน ปัจจุบันบ้านผมซื้อของใหม่เข้าบ้านน้อยมากๆ พวกเฟอร์นิเจอร์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าซื้อมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 ถึง 2562 หลายสิ่งหลายอย่างยังใช้งานได้ดี สภาพก็ดีมาก ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อใหม่ ทุกๆต้นปีจะทำความสะอาดครั้งใหญ่ เพื่อตรวจเช็คสิ่งของในบ้านว่าสิ่งไหนยังจำเป็นหรือไม่จำเป็น “ต่อครอบครัวของเรา” จะมีการโละของออก เอาไปบริจาค เพื่อเคลียร์บ้านให้โล่งก่อนการทำบุญบ้านประจำปี บ้านผมจะโล่งอยู่เสมอครับ วัตถุทุกอย่างที่มีในบ้านถูกใช้งานเต็มประสิทธิภาพทั้งหมด
ตัวผมเองซื้อรองเท้าทำงานครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2562 ซื้อรองเท้า crocs มาจาก outlet ที่เมืองทองธานีคู่ละประมาณ 1500 ถึง 2000 บาท แต่มันก็ยังใช้งานได้ดีมากจนถึงทุกวันนี้
ผมแทบไม่ซื้อเสื้อใหม่เลย ใช้ของเดิมตั้งแต่สมัยอยู่มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2547 ผมใส่เสื้อกีฬาคอกลมแขนกุดมาทำงาน หลังจากโควิดระบาด ที่ทำงานห้องฉุกเฉินของผมคือพื้นที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโรคมากที่สุด ที่ทำงานมีเสื้อสครับสีเขียวเข้มให้ใส่ เอาเสื้อที่ทำงานใส่ทับเสื้อกีฬาไปเลยง่ายๆ เวลากลับบ้านก็แปลงร่างกลับเป็นชุดกีฬาเหมือนเดิม ผมก็เลยไม่มีความจำเป็นจะต้องไปหาซื้อเสื้อเชิตหรือกางเกงสแล็คให้ปวดหัว
เกมมิ่งพีซีตั้งแต่ปี 2553 พึ่งจากไปอย่างสงบเมื่อปี 2563 น่าจะพาวเวอร์ซัพพลายหรือเมนบอร์ดเสีย แต่ชิ้นส่วนอื่นๆยังอยูํ่ในสภาพดีมากๆ ถ้าต้องการชุบชีวิตมันขึ้นมาก็แค่ไปซื้อส่วนที่เสียมาเปลี่ยนก็ใช้งานได้ แต่เหตุผลที่ยังไม่ซื้อ ก็เพราะว่าสัปดาห์นึงผมอยู่ที่ทำงาน 6 วัน บางสัปดาห์ทำงาน 7 วัน โน้ตบุคมันตอบโจทย์ผมมากกว่า พีซีจึงยังไม่มีความจำเป็น
รถยนต์บ้านผมคือโตโยต้าวีออส J รุ่นปี 2004 พ่อตาและแม่ยายผมยกให้เป็นของขวัญวันที่ผมหมั้นกับภรรยา เพื่อนำไปใช้สร้างเนื้อสร้างตัว บ้านผมมีรถยนต์คันเดียว ในช่วงที่ลูกผมยังเด็ก ภรรยาผมไม่ได้ใช้รถออกไปไหนเลย ผมใช้รถยนต์ไปทำงาน แต่เมื่อลูกผมโตเข้าโรงเรียน ผมนั่งรถเมล์ไปทำงาน รถยนต์ให้ภรรยาใช้รับส่งลูกและซื้อกับข้าวเข้าบ้าน ภรรยาผมบอกว่าที่บ้านมีเงินเก็บพอที่จะซื้อรถให้ผมเอาไปทำงานได้ แต่ผมปฏิเสธไปเพราะมองว่ามันเกินความจำเป็น เงินส่วนนั้นจึงถูกใช้ไปปิดหนี้ไถ่ถอนคอนโดได้หมด
วันหนึ่งช่วงปลายปี 2565 ฝนตกหนักนั่งรอรถเมล์กลับบ้าน ผมก็มานั่งถามตัวเองว่า เอ จริงๆแล้วเราจะมานั่งรอรถเมล์อยู่ตรงนี้ให้ลำบากทำไมหว่า ถ้าตัดสินใจซื้อรถวันนั้นก็คงสบายไม่ต้องมานั่งตูดเปียกตากฝนอยู่ตรงนี้ก็ได้นะ ผมมองเห็นรถหลายๆคันวิ่งผ่านไปมีทั้งรถหรู มีทั้งรถทั่วๆไป แต่สุดท้ายมันก็มีคำพูดนึงแว้บขึ้นมาในใจว่า มันไม่จำเป็น ผมครุ่นคิดกับคำนี้อยู่หลายสิบนาที แล้วผมก็เข้าสู่โหมดการคุยกับเสียงภายในของตัวเอง
Q : ถามจริงนะ นั่งรถเมล์ไป-กลับตอนทำงานเนี่ย ลำบากมั้ย? A: ไม่อ่ะ Q :มีความสุขใช่มั้ย? A : มีความสุขดีอยู่นะ เพราะนั่งรถหรือโหนรถเมล์ เราได้เวลาในการฟัง podcast ดีๆเพิ่มมาอีกหลายนาที แถมนั่งรถชิวๆดูบรรยากาศบ้านเมืองข้างทางก็สนุกดีออก เป็นคนขับรถเองทำไม่ได้นะมองเหม่อข้างทางแบบนี้ Q : มีคนรู้จักบอกว่าระดับนายเนี่ย ซื้อรถยุโรปมาขับก็ได้นะ ฐานะทางการเงินนายก็เอื้อมถึงอยู่แล้วนี่ A : ไม่เอาอ่ะ Q : ทำไมล่ะ? A : รถมันมีไว้ใช้งานนะ มันไม่ใช่ของสะสม เกิดเราไปซื้อรถหรูมา เราก็ต้องทะนุถนอมมัน เวลามันโดนชนแตกหักหรือพัง ก็เป็นทุกข์อีก ตกลงว่าไอ้สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่ารถเนี่ย มันมีวัตถุประสงค์อะไรมันมอบคุณค่าอะไรให้มนุษย์เหรอ Q : เป็นภาหนะ ไว้ใช้เดินทาง เพื่ออำนายความสะดวก … ใช่มั้ย? A : ใช่ไง ดังนั้นถ้าเราจะซื้อรถ เรามีความสุขกับรถระดับธรรมดาๆก็พอ เพราะเราซื้อมันมาใช้เดินทาง ไม่ได้ซื้อมันมาประคบประหงม
เมื่อสิ้นสุดการคุยกับตัวเอง หลังจากวันนั้นผมไม่ได้ติดกับดักความคิดว่าจะต้องซื้อรถหรูอีกเลย เมื่อก่อนผมชอบรถเบนซ์ เวลาเดินทางแล้วเจอเบนซ์วิ่งผ่านหน้าไปคอจะหันตาม แต่สมัยนี้เฉยๆ เพราะจิตสำนึกเบื้องลึกมองว่ารถก็คือรถ
ป้ายรถเมล์ในวันฝนตกหนักวันนั้นที่ผมนั่งคุยกับ “กิเลสความอยากได้รถหรู” ภายในตัวเอง
ภรรยาผมซื้อเสื้อปีละครั้ง ของเดิมเขาบอกว่ายังใส่ได้ และยังสวยอยู่ พวกเครื่องสำอางเขาซื้อของที่ดีพอใช้จากบิ๊กซีหรือโลตัส ไม่ได้เป็นคนติดแบรนด์ รองเท้าแตะซื้อมาพร้อมกับผม ใส่จนขาดชนิดที่ว่าใส่ออกจากบ้านไม่ได้ถึงจะซื้อใหม่
แนวคิด minimalism ไม่ใช่การยัดเยียดวิถีชีวิตให้กับใคร ไม่ใช่การหักดิบ ผมไม่ต้องการให้เพื่อนๆที่อ่านมาตรงนี้จะต้องเปลี่ยนมาเป็นแบบผม แต่อาศัยการตระหนักรู้ถึงคุณค่าที่แท้จริงที่ได้จากวัตถุ บริโภคด้วยความจำเป็น ไม่ได้ตามกระแส ไม่ได้บริโภคเพราะถูกใครซักคนสั่งให้ซื้อ ครอบครองวัตถุน้อยลง มีภาระทางจิตใจน้อยลง สามารถทุ่มพลังให้กับงาน ความสัมพันธ์ และสื่งมีค่าอื่นๆได้เต็มที่ ปลดเปลื้องตัวเองจากกับดักของทุนนิยมที่เสาะแสวงหาความสุขเทียมจากการบริโภค หรือความต้องการเที่ยมที่ถูกสร้างขึ้นมา
เรื่องนี้ทั้งหมดตรงกับคำสอนเรื่องความ “สันโดษ”
ความสันโดษนี้ ศัพท์บาลีเป็นสนฺตุฎฐี แต่ที่ใช้สนฺโตโสมีบ้างน้อยแห่ง โดยพยัญชนะ คำว่าสนฺตุฎฐี หรือ สันโดษ แปลได้ดังนี้
๑. ความยินดีพร้อม คือความพอใจ
๒. ความยินดีในของของตน
๓. ความยินดีโดยชอบธรรม
รวมความหมายในทางธรรมว่า สันโดษ คือความยินดีในของที่ตนมี ซึ่งได้มาโดยชอบธรรม หรือความพอใจ มีความสุขได้ด้วยสิ่งที่ได้มาเป็นของตน ด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม
ข้อคิดที่อยากจะแบ่งปันกับทุกท่านที่อ่านมาจนจบ
การนำแนวคิด minimalism มาประยุกต์ใช้ ไม่ใช่การปฏิเสธการครอบครองวัตถุ แต่เป็นการกระตุกตัวตนให้ตื่นจากภวังค์ ตระหนักถึงความหมายของความสุขที่แท้จริงของชีวิต ท่ามกลางวัฒนธรรมที่การบริโภคเป็นจุดศูนย์กลาง มันสำคัญมากที่จะไม่สูญเสีย“ตัวตนของตัวเอง (Self autonomy)” นำไปสู่การแยกแยะแจกแจงให้ได้ ว่ากำลังครอบครองวัตถุเพื่อใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงหรือเป็นเพียงแค่การยึดติดกับมัน
แนวคิด minimalism เป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญในเรื่องที่ไม่มีใครมาพูดข้างหูให้ฟัง ว่าความสุขใดๆของชีวิตเป็นสิ่งที่สามารถค้นพบได้เอง เริ่มทำได้โดยค่อยๆลดละเลิกการบริโภคเกินจำเป็น เป็นการหล่อเลี้ยง เติมสิ่งสดใสบริสุทธิ์เข้าไปในจิตใจในทุกๆวัน พวกเราทุกคนยังช่วยรักโลกด้วยการลดขยะ เท่านั้นไม่พอยังสามารถปลดพันธนาการตัวเองให้เป็นอิสระจากการบริโภคตามความต้องการเทียมที่สังคมคอยสั่ง
แนวคิด minimalism ไม่ใช่การหักดิบจากสิ่งที่คุณทำ มันไม่ใช่คำสั่ง มันไม่ใช่กฏหมาย ไม่ได้บอกให้คุณทำตัวจนไม่มีจะกิน หากเป็นแนวทางหนึ่งในการดำเนินชีวิต เป็นการเชื้อเชิญให้ลองทำดูลองพิสูจน์ดู ไม่เพียงเพื่อตัวเอง ยังมีผลไปถึงครอบครัว ชุมชน และโลกใบนี้
บทสนทานาระหว่างผมกับ”กิเลส” ในใจของตัวผมเองที่ป้ายรถเมล์ น่าจะสามารถเป็นตัวอย่างได้ไม่มากก็น้อย
ในสหรัฐอเมริกา มีผู้คนที่เป็น minimalist เดินทางไปยังเมืองต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องราว ถ่ายทอดแนวคิด พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คนท้องถิ่น แบ่งปันผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีทีมงานถ่ายทำเดินทางไปบันทึกเทปการสัมภาษณ์การพูดคุย มาทำเป็นสารคดีที่น่าสนใจ เพื่อนๆท่านที่สนใจสามารถตามไปฟังเพิ่มเติมได้ที่ link นี้ครับ