Why Nostr? What is Njump?
2023-10-28 00:36:11

RightShiftCuration on Nostr: บทความ #FuckIMF ตอน 16 ...

บทความ #FuckIMF ตอน 16 พบกับนรกหน้าใหม่ที่จะเข้ามาร่วมปล้นคนทั้งโลก

"ภูเขาหนี้กองมหึมาแผ่ขยายไปทั่วโลก เมื่อมีผู้เล่นใหม่เข้ามาร่วมสูบทรัพยากรชาติด้อยพัฒนาเพิ่มอีกราย"

ไม่ได้ใช้แอป #Amethyst ?
✅อ่านแบบฟอแมตสวย
https://w3.do/yoZOdI_p
✅อ่านแบบฟอนต์สบายตา #Habla
https://w3.do/Q0xsMgCY
⚡อ่านรวดเดียวครบทุกตอน (ที่ปล่อยออกมาตอนนี้) ได้ที่ https://w3.do/SIXxxFBS

16. เงินล้านล้านดอลลาร์ของธนาคารโลกและ IMF ในโลกหลังโควิด

“พวกเราลงเรือลำเดียวกันแล้ว”

–คริสตีน ลาการ์ด อดีตกรรมการผู้จัดการกองทุน IMF


นโยบายของธนาคารโลกและกองทุน IMF ที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานั้นแทบไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แน่นอนว่าดูเหมือนจะมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างในระดับผิวเผิน เช่น โครงการริเริ่มในการช่วยเหลือประเทศยากจนที่มีหนี้สินสูง (Highly-Indebted Poor Countries (HIPC) Initiative) ซึ่งรัฐบาลบางประเทศสามารถเข้ารับการผ่อนปรนหนี้ได้ แต่ภายใต้คำที่คิดขึ้นมาใหม่นี้ แม้แต่ประเทศที่จนที่สุดในกลุ่มประเทศยากจนก็ยังต้องเข้ารับการปรับโครงสร้างเหมือนเดิม

มันแค่ถูกเรียกในชื่อใหม่ว่า “ยุทธศาสตร์การลดความยากจน”

กฎที่ใช้ก็ยังเหมือนเดิม เช่น ในประเทศกายอานา “ในช่วงต้นปี 2000 รัฐบาลตัดสินใจจะประกาศขึ้นเงินเดือนข้าราชการร้อยละ 3.5 หลังจากที่อำนาจจับจ่ายใช้สอยร่วงลงกว่าร้อยละ 30 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา” ทำให้ IMF ออกมาขู่ทันทีว่าจะเอาประเทศกายอานาออกจากรายชื่อของประเทศยากจนที่มีหนี้สินสูง (HPIC) ที่จัดอันดับขึ้นใหม่

หลังจากนั้นไม่กี่เดือนทางรัฐบาลของกายอานาก็ยอมถอย แต่การทำลายล้างในสเกลใหญ่ก็ยังเกิดเหมือนเดิม โดยตัวอย่างเช่นในปี 2015 รายงานจากเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (The International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ระบุว่าผู้คนประมาณ 3,400,000 คนในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่นสืบเนื่องจากโครงการที่ทางธนาคารโลกให้การสนับสนุน ในส่วนของการเล่นเกมทางบัญชีแบบเดิมที่ทำไปเพื่อสร้างภาพความดีงามปลอม ๆ ของการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือชาติยากจน ก็ได้ถูกรวมเข้าไปอยู่กับการเล่นเกมทางบัญชีรูปแบบใหม่

รัฐบาลสหรัฐฯ ให้ส่วนลดในหนี้สินถึงร้อยละ 92 แก่กลุ่มประเทศยากจนที่มีหนี้สินสูง แต่ถึงอย่างนั้นทางการสหรัฐฯ ก็บันทึกรวมเอา “มูลค่าที่เป็นตัวเงิน” ของหนี้สินที่พวกเขายอมผ่อนปรนลงในตัวเลข ODA ซึ่งคือ “ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance) นั่นหมายความว่าพวกเขาอวดอ้างจำนวนเงินช่วยเหลือเกินความเป็นจริง โดยสำนักพิมพ์ The Financial Times วิจารณ์ว่านี่คือ “ความช่วยเหลือที่ไม่ได้ช่วยเหลือ” และยังวิจารณ์เพิ่มอีกว่า “การตัดหนี้สูญในหนี้ที่องค์กรใด ๆ กู้ไปไม่ควรจะถูกนับว่าเป็นความช่วยเหลือ”

ถึงแม้จะเป็นเรื่องจริงที่ธนาคารโลกและกองทุน IMF มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปในรูปแบบที่พวกเขาพยายามเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจของเหล่าประเทศผู้กู้ แต่กลับเป็นรูปแบบที่พวกเขาทุ่มความพยายามไปยังเหล่าประเทศที่อยู่ใกล้แหล่งเศรษฐกิจหลักของโลก

งานวิจัยจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Bureau of Economic Research: NBER) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ไม่ว่าจะใช้มาตรวัตรแบบไหนก็ตาม โครงการของ IMF ในช่วงหลังปี 2008 ที่ทำต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศแถบยุโรปนั้นถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตลอด 70 ปีของ IMF”

image

*คำอธิบายชาร์ต : โครงการให้กู้เงินช่วยเหลือที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของ IMF*

  • *หัวข้อในแต่ละแถวเรียงจากซ้ายไปขวา : ชื่อประเทศและปีของโครงการ, จำนวนเงินหน่วยล้านดอลลาร์สหรัฐในมูลค่าของปี 2009, ร้อยละต่อ GDP, ร้อยละต่อโควตา*
  • *ที่มา : The IMF: 70 Years of Reinvention* ———–

มีการอธิบายในงานวิจัยว่า “เงินที่ IMF ทุ่มลงไป เมื่อคิดเป็นอัตราส่วนต่อ GDP โลกนั้นแตะระดับสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในช่วงเวลาเดียวกับที่วิกฤตหนี้สินในยุโรปเริ่มแสดงตัวออกมา” โดยประเทศไอซ์แลนด์เริ่มเข้าโครงการของ IMF ในปี 2008 ตามด้วยประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส

เงินให้กู้เพื่อการช่วยเหลือที่ IMF เป็นผู้ปล่อยกู้รายใหญ่ของประเทศกรีซนั้นมีมูลค่าที่น่าตกใจถึง 375,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในเดือนกรกฎาคม ปี 2015 “ความไม่พอใจในหมู่ประชาชนนำไปสู่การลงคะแนนโหวต ‘ไม่เห็นด้วย’ ในการทำประชามติเพื่อตัดสินใจว่าจะรับเงื่อนไขเงินกู้ของ IMF หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวมีเรื่องการเพิ่มภาษี การลดเงินบำนาญ การลดรายจ่ายรัฐบาลในด้านต่าง ๆ รวมถึงการแปรรูปกิจการของรัฐ”

แต่ในท้ายที่สุดเสียงของประชาชนชาวกรีกก็ถูกเพิกเฉย เนื่องจาก “สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่สนใจผลประชามติ และตัดสินใจเข้ารับเงินกู้จาก IMF อยู่ดี”

ธนาคารโลกเองก็ทำกับประเทศกรีซและกลุ่มประเทศยุโรปที่มีรายได้ต่ำแบบเดียวกับที่เคยทำกับประเทศกำลังพัฒนามาหลายทศวรรษ ด้วยการทำลายระบอบประชาธิปไตยเพื่อมอบเงินให้ชนชั้นปกครองเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และบังคับใช้มาตรการลดค่าใช้จ่ายในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อประชาชน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาธนาคารโลกและกองทุน IMF อัดเงินจำนวนนับแสนล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับประเทศที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์และมาตรการข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด COVID-19 โดยเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ มีการปล่อยกู้เงินมากขึ้นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

แม้ช่วงปลายปี 2022 ที่อัตราดอกเบี้ยมีการปรับเพิ่มขึ้น หนี้สินของประเทศยากจนก็ยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมทั้งปริมาณหนี้สินที่พวกเขาติดหนี้ประเทศร่ำรวยก็เติบโตขึ้นเช่นกัน มันดูเหมือนประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอย เพราะ IMF เริ่มเดินทางไปเยี่ยมเยือนหลายประเทศ มันช่างเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราย้อนนึกถึงช่วงต้นทศวรรษ 1980 ที่ฟองสบู่หนี้ก้อนโตแตกเพราะผลจากนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยสิ่งที่ตามมาก็คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศโลกที่สามครั้งที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1930

เราก็ได้แต่หวังว่าสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่หากดูจากการที่ธนาคารโลกและกองทุน IMF พยายามทำให้ประเทศยากจนสร้างหนี้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ประกอบกับต้นทุนในการกู้ยืมที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์แล้ว เราก็คาดการณ์ได้ว่า…

ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิมอย่างแน่นอน

และแม้ในช่วงเวลาที่อิทธิพลของธนาคารโลกและกองทุน IMF เริ่มลดลง ก็กลายเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (Chinese Communist Party: CCP) ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศจีนพยายามเลียนแบบพลวัตที่ธนาคารโลกและ IMF เคยทำเอาไว้ ด้วยการดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาของตนเองและโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)

นักภูมิยุทธศาสตร์ชาวอินเดียอย่างคุณ Brahma Chellaney ได้เขียนไว้ว่า “ด้วยโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น ประเทศจีนได้เข้าไปสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์หลายจุด ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการปล่อยเงินกู้ก้อนยักษ์ให้แก่รัฐบาล

ผลคือประเทศเหล่านี้ติดกับดักหนี้จนต้องมีนโยบายระหว่างประเทศที่อ่อนไหวต่ออิทธิพลของประเทศจีน… โครงการที่จีนจะสนับสนุนมักเป็นโครงการที่ไม่ได้มีเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่น แต่มีเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวจีนสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นนั้นได้ หรือไม่ก็เพื่อเปิดตลาดให้สินค้าส่งออกราคาถูกและคุณภาพต่ำจากจีนสามารถเข้าไปจำหน่ายได้ ซึ่งในหลายกรณีนั้นประเทศจีนทำกระทั่งส่งคนงานก่อสร้างของตัวเองเข้าไป ส่งผลให้เกิดการลดจำนวนการจ้างงานในท้องถิ่นของประเทศนั้น”

สิ่งสุดท้ายที่โลกต้องการคือการมีอีกพลวัตใหม่ในการสูบทรัพยากรชาติอื่นแบบที่ธนาคารโลกและกองทุน IMF ทำอยู่แล้วเพิ่มขึ้นมาอีก เพราะสิ่งที่จีนทำนั้นก็เพื่อสูบเอาทรัพยากรจากประเทศที่ยากจนไปสู่มือผู้นำเผด็จการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปักกิ่ง

มันจึงเป็นการดีที่เราได้เห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน (CCP) กำลังประสบปัญหาในเรื่องนี้ เพราะหลังจากที่พยายามทำให้ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) เติบโตขึ้นกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่จีนกลับเจอปัญหามากมายในโครงการที่พวกเขาให้เงินสนับสนุนแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยรัฐบาลบางประเทศ เช่น ศรีลังกา ไม่มีเงินที่จะจ่ายหนี้คืน และด้วยการที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนไม่สามารถผลิตเงินสกุลสำรองของโลกได้ พวกเขาเลยต้องยอมรับผลการขาดทุนไปจริง ๆ

ด้วยเหตุนี้จีนจึงไม่น่าที่จะปล่อยเงินกู้ได้ใกล้เคียงกับมูลค่าที่ของเงินกู้จากระบบที่มีประเทศอย่างสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยุโรป และประเทศญี่ปุ่นร่วมกันเป็นผู้นำ

นี่ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะถึงแม้ว่าเงินปล่อยกู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนจะไม่ได้มีเงื่อนไขในการปรับโครงสร้างที่เป็นภาระต่อผู้กู้ แต่ก็แน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแม้แต่น้อย ซึ่งอันที่จริงแล้วพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนทำกระทั่งการช่วยปกป้องลูกค้าในโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เช่น การช่วยเหลือประธานาธิบดีศรีลังกาอย่างคุณมหินทา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) จากข้อกล่าวหาด้านอาชญากรรมสงครามจากสหประชาติ

โดยเมื่อเรามองดูโครงการของจีนในเขตเอเชีย (ที่พวกเขากำลังสูบเอาสินแร่และไม้ซุงออกไปจากพม่าจนกว่าจะหมดเกลี้ยง หรือการบ่อนทำลายอธิปไตยของปากีสถาน) และโครงการในประเทศเขตแอฟริกาที่อยู่ใต้ทะเลทรายสะฮารา (ที่พวกเขากำลังสูบเอาแร่ธาตุหายากจำนวนมหาศาลออกมา) จะเห็นว่าส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่จีนทำเป็นการขโมยทรัพยากรท้องถิ่น และเป็นยุทธวิธีในการควบคุมด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในรูปแบบเดียวกับที่ชาติเจ้าอาณานิคมทั้งหลายเคยทำมานับศตวรรษแล้ว

มันแค่มีรูปโฉมใหม่ก็เท่านั้น

ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าธนาคารโลกและกองทุน IMF จะมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนนั้นอยู่ในฐานะผู้ร้ายหรือเปล่า เพราะอย่างไรก็ตาม เหล่านักธุรกิจการเงินในวอลล์สตรีทและนักธุรกิจไอทีในซิลิคอนวัลเลย์มักจะเป็นมิตรต่อชาติเผด็จการที่บัดซบที่สุดในโลก แถมประเทศจีนเองก็ยังเป็นประเทศเจ้าหนี้ต่อธนาคารโลกและกองทุน IMF ทำให้สถานะความเป็นสมาชิกของจีนก็ไม่เคยถูกตั้งคำถาม แม้ว่าจะมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์ก็ตาม โดยตราบใดที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนไม่เข้าไปขัดขวางเป้าหมายในภาพใหญ่ของพวกเขาแล้ว ธนาคารโลกและกองทุน IMF ก็คงยังไม่สนใจอะไร

เหตุผลน่ะเหรอ? ก็เพราะยังมีทรัพยากรเหลือมากพอให้ทุกคนปล้นได้…


⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ

(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)


#siamstr #asksiam
Author Public Key
npub1l2cp3t052ljhqnt2emsq5py30qqppj3pytprppc4ygjznhv6lzws99ye04