GM #siamstr กลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้ง 10 กุนซือจีนยอดอัจฉริยะ แปลโดยวัชระ ชีวะโกเศรษฐ เป็นหนังสือที่เราได้เรียนรู้ในสติปัญญาและความสามารถของกุนซือยอดอัจฉริยะในประวัติศาสตร์จีนซึ่งการวางแผนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีล้วนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาให้เราศึกษา มีใครบ้าง ขอมาแชร์นะครับ
1. เจียงไท่กง สุดยอดกุนซือที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์: เกิดในปลายราชวงศ์ซัง เอกลักษณ์ของท่านเจียงไท่กง คือการนั่งตกเบ็ดแล้วปลาลอยมาติดเบ็ดเอง เจียงไท่กงให้คำแนะนำโจวอุ๋นอ๋องในเรื่องการปกครอง ที่ต้องมีคุณธรรมมีคุณสมบัติ 6 ประการคือ มีความเมตตากรุณา, ความซื่อสัตย์, ศีลธรรม, ความน่าเชื่อถือ, ความกล้าหาญและมีภูมิปัญญา เจียงไท่กงช่วยเหลือราชการจนโจวอุ๋นอ๋องได้เป็นกษัตริย์ เมื่อเจียงไท่กงอายุ 100 ปีก็ยังช่วยราชการอยู่ นับได้ถึง 3 รัชกาล
2. ฟ่านหลี่ กุนซือที่ถอยเมื่อสำเร็จภารกิจ: เป็นคุณนางผู้ใหญ่ของอาณาจักรเยว่ พบหญิงงามนามไซซีและต้องจากกันเพราะหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ฟ่านหลี่เสริมสร้างกำลังกองทัพให้เกรียงไกรจนในที่สุดร่วมกับเยว่อ๋องโกวเจี้ยนพิชิตอาณาจักรอู๋ได้ แต่เมื่อประสบความสำเร็จ ได้ปลีกตัวออกจากวงการเมินชื่อเสียงเกียรติยศ กลับไปหาไซซี สาวที่เป็นที่รัก เป็นพ่อค้าวาณิชร่ำรวยเป็นเศรษฐีชื่อว่า เถาจูกง
3. ซุนปิน กุนซือทางทหารที่ทนความอดสูมิท้อถอย: เป็นนักการทหารยิ่งใหญ่ในอาณาจักรฉี โดนพี่น้องร่วมสาบานชื่อว่าผังจวน ซึ่งตอนนั้นเป็นแม่ทัพของอาณาจักรเว่ยหักหลัง ลงโทษซุนปินโดยใช้มีดเฉือนสะบ้าหัวเขาทั้ง 2 ข้าง กลายเป็นคนพิการ แต่หนีรอดมาได้และเข้าช่วยราชการกับฉีเว่ยอ๋อง ของอาณาจักรฉี ใช้แผนลวงลดจำนวนเตาหุงต้ม ทำให้ผังจวนตายใจและติดกับดักจนผังจวนชักดาบฆ่าตัวตาย จากนั้นกองทัพฉีพิชิตกองทัพเว่ยในที่สุด เมื่อชนะสงคราม ซุนปินมิยอมรับความดีความชอบ ใช้เวลาที่เหลือของชีวิตทำบทนิพนธ์วิชาการทหารที่เรียกว่า “ตำราพิชัยสงครามซุนปิน”
4. ซูฉิน กุนซือผู้เชี่ยวชาญ วางแผนยุแหย่ให้แตกแยกและสร้างแนวร่วม: เกิดเมื่อ 332ปีก่อน ค.ศ. เป็นผู้ริเริ่มดำเนินนโยบายสร้างแนวร่วมกับอาณาจักร อื่นๆที่อ่อนแอ คือ ฉิน, จ้าว, หาน, เว่ยและเอี้ยน เพื่อต่อสู้กับอาณาจักรฉี และเอาตัวเองเข้าไปเป็นไส้ศึกในอาณาจักรฉี รวมทั้งวางแผนการรบให้กับกองทัพพันธมิตร 5 อาณาจักร ในขณะที่เอี้ยนจาวอ๋องตีอาณาจักรฉี ฉีหมิ่นอ๋องจับได้ว่าซูฉินเป็นไส้ศึก และประหารชีวิตในที่สุด แต่การตายของซูฉินไม่เสียเปล่า เอี๋ยนจาวอ๋องสามารถตีอาณาจักรฉีจนแตกและสังหารฉีหมิ่นอ๋องได้สำเร็จ ชัยชนะของอาณาจักรเอี๋ยนเหนืออาณาจักรฉีสำเร็จได้ด้วยบทบาทของซูฉิน
5. จางอี๋ กุนซือที่บั่นทอนกำลังอาณาจักรฉู่และสร้างความเกรียงไกรแก่อาณาจักรฉิน: “ขอเพียงมีป่าไม้ไว้ ไยพึงกลัวไร้ไม้ฟืน“ นี่คือคติประจำใจของจางอี๋ อาศัยการเจรจาด้วยชิวหา จะชำระแค้นอาณาจักรฉู่ ต้องอาศัยกำลังของอาณาจักรฉิน 329ปีก่อน ค.ศ. จางอี๋เดินทางไปที่อาณาจักรฉิน ได้เสนอแผนการ “ผูกมิตรไกลบุกตีใกล้”กับฉินฮุ่ยอุ๋นอ๋อง จางอี๋ได้ใช้ความโง่เขลาของฉู่หฮวายอ๋องให้เป็นประโชยน์โดยใช้เล่ห์กลต่างๆ เป็นการตัดกำลังอาณาจักรฉู่และช่วยให้อาณาจักรฉินมีแสนยานุภาพเกรียงไกร
6. ฟั่นจวี กุนซือที่ได้รับความสำเร็จทั้งทางการเมืองและการทูต: เป็นชาวอาณาจักรเว่ยยุคแผ่นดินสงคราม ช่วยราชการฉินจาวอ๋อง เป็นอัครมหาเสนาบดีอาณาจักรฉิน 10กว่าปี ขจัดการเป็นฝักเป็นฝ่าย สร้างความมั่นคงแก่ระบอบรวมศูนย์อำนาจส่วนกลาง มีแผนยุทธศาสตร์ “ผูกมิตรไกลบุกตีใกล้” สามารถผนวกแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งเดียว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เสนอให้ไฉ้เจ๋อมาทำงานแทน ขอออกจากตำแหน่งไปพำนักยังที่ดินศักดินาอยู่กับครอบครัวและถึงแก่อสัญกรรม
7. จางเหลียง กุนซือของหลิวปัง ผู้เอาชนะศัตรูและสถาปนาราชวงศ์ฮั่น: จางเหลียงผู้ที่มีความรู้ใน ”ตำราพิชัยสงครามไท่กง“ มีความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ให้การช่วยเหลือหลิวปัง จนขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิสถาปนาราชวงศ์ฮั่นโค่นราชวงศ์ฉิน ใน202 ปีก่อน ค.ศ. เมื่อบรรลุภารกิจแล้วจางเหลียงก็ปลีกตัวมิโลภหลงในยศศักดิ์
8. กุยแก กุนซือผู้วางแผนวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์ยอดเยี่ยม: วางแผนยุทธศาสตร์ “ตีอ่อนก่อนแล้วจึงตีแข็ง ตามตีแยกออกทีละเปลาะ” และใช้กลยุทธ์พิฆาตด้วยกระแสน้ำ จนจับลิโป้มาประหารชีวิตได้ และยังวิเคราะห์สภาวการณ์เปรียบเทียบระหว่างกำลังของโจโฉกับอ้วนเสี้ยว 10 ประการ โดยการวิเคราะห์นี้ได้รวมด้านการเมือง เศรษฐกิจและนโยบายกำลังกองทัพและหลักการการปกครองครบถ้วน แล้วที่สุดโจโฉก็ปราบอ้วนเสี้ยวได้สำเร็จ รวมทั้งทำนายว่าซุนเซ็กต้องถูกลอบฆ่า เพราะกุยแกเห็นซุนเซ็กเป็นคนไม่รอบคอบ ไม่มีการระวังตัว และพึ่งยึดครองกังตั๋งได้ ผู้ถูกฆ่าในกังตั๋งล้วนเป็นวีรบุรุษ ผู้ใต้บังคับวีรบุรุษเหล่านั้นมุ่งจะแก้แค้นแน่นอน และคำทำนายก็เป็นจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากุยแกมีความเข้าใจลึกซึ้งต่อกลุ่มการเมืองและการทหารอย่างแจ่มแจ้ง แต่สุดท้ายล้มป่วยด้วยแพ้ดินฟ้าอากาศด้วยวัยเพียง 38 ปี
9. หลิวป๋ออุน กุนซือที่สถาปนาราชวงศ์หมิง: เกิดใน ค.ศ. 1311 ถูกยกย่องให้เป็นนักยุทธศาสตร์ในลำดับชั้นเดียวกับจางเหลียงและขงเบ้ง ในทางการเมืองเป็นนักคิด ในด้านประวัติศาสตร์วรรณคดีเป็นกวีเอก และเขียนคัมภีร์ทางทหารเรียกว่า “กลยุทธ์พิสดารร้อยรบ” ในคัมภีร์เขียนว่า ควรใช้การทหารในการปกครองประเทศแทนที่จะรบกันแบบบ้าคลั่ง ยามปลอดภัยอย่าลืมภยันตราย ยามสงบอย่าลืมความวุ่นวาย อย่าสร้างศัตรูรอบด้าน ควรกระทำให้ศัตรูแตกแยกกันเอง หลิวป๋ออุนเป็นขุนนางช่วยให้จูหยวนจางสถาปนาเป็นฮองเต้ในราชวงศ์หมิงสำเร็จ
10. ฟั่นอุ๋นเฉิง กุนซือทางการเมืองที่มีภูมิปัญญาท่ามกลางสถานการณ์ซับซ้อนมองปัญหารอบด้าน: จากการเป็นทาส ชะตาร้ายกลายเป็นดี พระเจ้าหวงไท่จี๋ให้ทาสของชนเผ่าแมนจู, ฮั่น และชาวมองโกลมาสอบคัดเลือกเป็นขุนนางได้ ซึ่งคนที่สอบได้หนึ่งในนั้นก็คือฟั่นอุ๋นเฉิง เค้าได้แสดงสติปัญญาอันหลักแหลมและกล้าหาญในการรบ จนปี ค.ศ.1635 หวงไท่จี๋ เปลี่ยนชื่อเผาว่า “หม่านโจว“ (แมนจู) เปลี่ยนจาก ”ต้าจิน” เป็น “ต้าชิง” สถาปนารางวงศ์ชิง และปราบดาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิ ฟั่นอุ๋นเฉิงได้ช่วยราชการ 3 รัชกาล อยู่ท่ามกลางสถานการณ์อันสลับซับซ้อน เช่น คำสั่งโกนผมให้เตียนเหมือนชาวแมนจู, ให้ทหารผลิตธัญญาหาร ฯลฯ สามารถทำให้ปณิธานทางการเมืองของตนบรรลุความสำเร็จ
ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ ….ข้อคิดที่ดีมากๆจากหนังสือเล่มนี้คือ ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ เมื่อถึงเวลาก็ต้องยอมลงจากอำนาจ อย่ายึดติด เมื่อเราลงจากอำนาจแล้ว สุดท้ายอยู่กับครอบครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของชีวิตครับ🙏❤️