Why Nostr? What is Njump?
2023-10-09 20:27:46

Jakk Goodday on Nostr: ## Write-thing like Jakk มีคนขอมา ...

## Write-thing like Jakk
มีคนขอมา ก่อนหน้านี้ก็มีคนสนใจว่าผมเขียนยังไงถึงด้นสดๆ ออกมาได้แล้วยังทำได้ดีในแง่ของสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว



ผมจะไม่บอกว่าผมทำมันได้ดีกว่าใครนะครับ และถ้าคุณไม่ได้ชอบไสตล์ที่ผมเขียนอะไรมากขนาดนั้น คุณสามารถ Skip โน๊ตนี้ไปได้เลย..

แต่สำหรับคนที่สนใจการเขียนในแนวทางต่างๆ อย่างจริงจัง นี่ก็เป็นอีกหนึ่งในสิ่งที่คุณจะสามารถศึกษาเอาจากประสบการณ์ของผมไปปรับใช้เองได้ครับ (ถ้าชอบอะนะ)

ผมควรเริ่มจากเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อนก่อนเป็นอันดับแรก (ซึ่งก็น่าจะซับซ้อนอยู่ดี) เพราะมันประกอบไปด้วยหลายส่วนที่คงต้องผ่านการทำมามากพอจนเข้าใจ จึงจะสามารถผสมผสานพวกมันออกมาได้อย่างลงตัว

### My writing is not just write, but speak

ถ้าคุณพูดได้ดีแค่ไหน คุณจะเขียนได้ดีในแบบเดียวกัน เมื่อคุณแค่เขียนสิ่งที่อยากจะพูดทั้งหมดออกมา..

เรื่องนี้ค่อนข้างตรงไปตรงมา เพราะสไตล์หลักๆ ของผม คือ การเล่าเรื่องในมุมมองบุคคลที่ 1 มันคือมุมมองที่มาจากการผ่านตาของผมไปยังสิ่งที่เห็นเองตรงหน้า (ในภาพจินตนาการนั้น) ไม่ใช่การลอยขึ้นไปบนฟ้าแล้วมองลงหาเห็นทุกอย่างทั้งหมด (มุมมองบุคคลที่ 3)

การเล่าเรื่องในลักษณะนี้ จะให้ความรู้สึกกับคนอ่านเหมือนเขากำลังกลายเป็นตัวผู้เขียนไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่นขึ้นลีลากับการสะกดคนอ่านไว้ในสถานะนั้นของคุณด้วย (สร้างสถานการณ์ให้ผู้อ่านต้องแทนตัวเองเป็นผู้เขียน) คุณจะทำมันได้นานแค่ไหน

ใช่ครับ.. มันต้องผ่านการฝึก หรืออ่านงานสไตล์นี้มามากพอ

การฝึก.. ในความหมายของผมนั้นไม่ใช่การฝึกเขียน แต่เป็นการฝึกพูด ..ผมกำลังฉีกตำราทิ้งไปต่อหน้าต่อตาของทุกคนในตอนนี้ เพราะนี่คงไม่ใช่สิ่งที่ใครจะสอนคุณ ก็เพราะมันคือสไตล์ของผมเองที่ตกผลึกด้วยตัวเอง

การฝึกพูดที่จะเกิดประสิทธิผล ก็คือการสื่อสารที่สาส์นจากเรา (ที่ต้องการจะสื่อ) ถูกส่งต่อไปยังผู้รับได้อย่างครบถ้วน และเขาย้อยข้อมูลนั้นกลืนลงท้องได้อย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งมันไม่ใช่คำพูดหรูหราที่ฟังเพลินมาก แต่ดันจับใจความอะไรไม่ได้เลย

คุณจะพูดมากพอจนจับทางตัวเองได้ว่า.. การพูดแบบไหนที่ทำให้การสื่อสารเกิดผลสัมฤทธิ์ แล้วหลังจากนั้นคุณจะหยิบเอาการพูดแบบนั้นเขียนออกมาเป็นตัวอักษร นี่คือเหตุผลว่าทำไมการเขียนของผมจึงเหมือนว่าคุณกำลังได้ฟังเสียงของผมพูดอยู่จริงๆ ก็เพราะมันเป็นการพูดออกมาผ่านตัวอักษร..

ที่สุดแล้วมันจึงไม่เหมือนใคร ก็เพราะใครจะพูดได้เหมือนอย่างเราล่ะ?

เรามักจะมีวรรคทองเป็นของเราเอง มีวลีที่ติดปาก คำอุทานที่เคยชิน สไตล์การพูดที่คนจดจำเราได้ สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติอยู่คู่ตัวตนเราที่ใครก็เอามันไปไม่ได้ และเราเท่านั้นที่ทำมันได้

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพยายามจะทำเหมือน "คนอื่น" มันคือ "คนอื่น" ที่จะถูกผู้คนจดจำ มันไม่มีใครจำได้หรอกว่า "เงาเสียง" ของ พี่เสก โลโซ คือใคร จริงไหมล่ะครับ?

การเขียนให้มี Signature ก็คือการเขียนออกมาให้ได้ในแบบที่เราพูดนั่นเองครับ



### Natural of the readers

ถ้าคุณอ่านมามากแค่ไหน คุณก็จะเข้าใจคนอ่านได้มากแค่นั้น

คุณต้องเป็นนักสังเกตและคอยจดจำ คุณต้องรู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะว่าทำไมเราจึงชอบงานเขียนในแบบของ 'X' แต่กลับไม่ชอบงานเขียนของ 'Y' ??

ความเข้าใจสิ่งละอันพันละนิดเหล่านี้เหมือนชิ้นเลโก้ที่จะค่อยๆ ก่อร่างสร้างปราสาทแห่ง "ความเข้าใจในคนอ่าน" ให้คุณเอง แต่เป็นความเข้าใจที่เราจะวางตัวเองเป็นกลาง ไม่อิงแอบกับรสนิยมของเราเองจนมากเกินไป..

ถ้าเราจะวัดเอาตามความชอบของตัวเราเองเป็นที่ตั้ง แล้วใช้ความเข้าใจนั้นเขียนออกมา ผมแนะนำให้เราไปเขียนไดอารี่เก็บมันไว้อ่านเองจะดีกว่า เพราะเรากำลังทำให้ตัวเองพึงพอใจอยู่ฝ่ายเดียว เราไม่ได้นึกถึงคนอื่นๆ ที่จะได้อ่านมันเลย

แล้วธรรมชาติของคนอ่านทั่วไปเขาเป็นยังไงกันเหรอ?

ผมไม่ได้กำลังพูดถึงรสนิยม ความชอบ แต่ผมกำลังหมายถึงการอ่านแบบเพียวๆ

คุณเชื่อไหมว่า เราไม่ได้อ่านออกเสียงกันแค่ทางปาก แต่เรามักจะอ่านออกเสียงก้องในใจของเราด้วย!? งงไหมล่ะครับ?

ณ ขณะที่คุณกำลัง "อ่านในใจ" อยู่นั้น.. จริงๆ แล้วสมองของคุณกำลังจำลองการ "อ่านออกเสียง" แบบไร้เสียงให้กับตัวคุณอยู่ คุณไม่ได้แค่อ่าน แต่คุณกำลังฟังมันด้วย

ดังนั้นมันจึงไม่ต่างอะไรกับการอ่านทางปากเลยแม้แต่น้อย ถ้าประโยคนั้นคุณอ่านแล้วเกิดอาการ "ลิ้นพันกัน" ประโยคเดียวกันนั้นก็จะไปทำให้รอยหยักสมองของคุณยุ่งเหยิง เมื่อคุณต้องอ่านมันในใจ

ไม่เชื่อลองดูตอนนี้เลยก็ได้ครับ..

1. สติสตังค์ผมไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเองเลยครับ คุณน่ารักมากจังครับผม

2. สติสตังค์ของผมมันมักไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัวเท่าไหร่นัก ให้ตายเถอะ

แบบไหนทำให้คุณอ่านติดๆ ขัดๆ เหมือนลิ้นพันกันแม้กระทั่งตอนอ่านในใจ?

คำว่า "ลิ้นพันกัน" ไม่ได้หมายความว่าลิ้นต้องพันกันจริงๆ แต่เราจะรู้สึกถึงความตะกุกตะกัก มันไม่ไหลลื่นแบบอ่านพรวดเดียวได้ยาวๆ โฟลวๆ ผู้อ่านไม่สามารถทำ "Speed read" ได้แบบไม่มีอาการสะดุด

และเทคนิคของผมก็คือ.. หลีกเลี่ยงการเขียนให้คนอ่านต้องเกิดอาการลิ้นพันกันให้ได้นั่นเอง เวลาเราพูด.. เราพูดยังไงให้ลิ้นเรามันไม่พันกัน เวลาเขียนเราก็พยายามเขียนให้ได้ยังงั้น

มันต้องใช้การอ่านด้วยตัวเองหลายๆ รอบ (แนะนำว่าควรทำ) ต้องตัดคำ เพิ่มคำ เปลี่ยนคำ หรือไม่เราก็เปลี่ยนมันทั้งประโยคไปเสียเลย ก็ต้องหมุนหาจนกว่ามันจะได้

เพราะคุณจะกันรีบไปไหนล่ะครับ?

นอกจากนี้การเข้าใจธรรมชาติของคนอ่านยังเป็นเรื่องความชื่นชอบและความสนใจของพวกเขาด้วย (ผมไม่อยากใช้คำว่า "ของตลาด" เพราะเราไม่ได้กะจะมาขายของ) คุณต้องรู้จักปัญหาและแรงจูงใจพวกเขา คุณจึงจะเขียนในสิ่งที่พวกเขาต้องการอ่านได้

ไม่เชื่อคุณก็ลองแต่งเพลง Hiphop ไปร้องให้คุณปู่คุณย่าของคุณฟังดูสิ



### Pacing and Space

จังหวะการอ่าน / สปีดของรูปประโยคหรือเรื่องราว เราสามารถเร่งหรือลดมันได้ คนเขียนบทนิยายน่าจะพอเข้าใจเรื่องนี้ ผมไม่รู้จะอธิบายยังไงให้คุณเข้าใจมันได้ง่ายๆ

มันคงเหมือนกับการดำเนินเรื่องในภาพยนตร์ ที่มักจะไปเอื่อยๆ ทอดน่องเมื่อต้องการจะบรรยายสิ่งต่างๆ ในโลกของมันเอง เพื่อให้คนดูได้ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่องและหลักฐานต่างๆ กันอย่างค่อยเป็นค่อยไป.. แบบนี้เรียกว่า Slow down

ไม่ต้องจดนะ ผมบัญญัติศัพท์ขึ้นมาเอง

แต่พอถึงตอนกำลังเข้าได้เข้าเข็ม ช่วงสำคัญ ๆ หรือถึงช่วงไคลแม็กซ์ของเรื่องราว บทจะดำเนินไวขึ้นและใส่ความระทึกเข้มข้นเพิ่มเข้าไปด้วย ทำให้คนดูนั่งกันไม่แทบไม่ติดหรือจิกป๊อบคอร์นจนแตกเป็นเสี่ยงๆ ..แบบนี้ผมเรียกมันว่า Speed up

เนื้อเรื่องที่เข้มข้นและ Speed up ตลอดเวลาจะสร้างความตึงเครียดให้คนดู แทบไม่ได้พักหายใจ ไม่กล้าลุกไปเข้าห้องน้ำ ในที่สุดบางคนก็อึดอัด ในขณะที่ถ้าเรื่องมัน Slow down กันทั้งเรื่อง หลายคนก็หลับในโรงหนังกันไปก่อนที่ป๊อปคอร์นจะหมดถัง

ทั้งหมดนี้คือ Pacing หรือศิลปะในการควบคุมจังหวะในการเร่งหรือลดสปีดของเนื้อหา มันค่อนข้าง Abstract และผมก็อธิบายให้เข้าใจมันได้ยาก ถ้าคุณดูหนังมามากพอ คุณคงจะพอเข้าใจ

คุณจะกำหนดจังหวะในการดำเนินเรื่อง หรือความเข้มข้นของเนื้อหาอย่างไรให้คนอ่านไม่รู้สึกตึงกันเกินไปจนเข็ดขยาด หรือไม่เอื่อยยืดยาดจนดูแล้วไม่น่าสนใจ ?

สลับจังหวะให้คนดูได้มีช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลาย ได้ค่อยๆ ใช้เวลาไปกับการค่อยๆ ละเมียดคิดคล้อยตาม แล้วจึงค่อยเร่งให้หายใจกันไม่ทั่วท้องในช่วงใกล้เสร็จ

เอ่อ... ผมหมายถึงช่วงไคลแมกซ์น่ะครับ

บางครั้งคนอ่านสัมผัสไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังสร้างเนื้อหาที่มี Dynamic ในเรื่อง Pacing แต่พวกเขาจะรู้สึกประทับใจมันไปอย่างแปลกๆ และเห็นความแตกต่างจากบทความอื่นๆ ได้อย่างงงๆ โดยที่ยังอาจอธิบายความรู้สึกเหล่านั้นแทบไม่ได้เลยก็มี

แต่ถ้าคนอ่านได้รับอรรถรสที่ดูจะพอดีคำ ผมก็คิดว่าเราทำมันออกมาได้สำเร็จแล้ว แล้วเนื้อหาจะเข้าไปอยู่ในความทรงจำของพวกเขาโดยที่เราแทบไม่ต้องยัดเยียดอะไรเลยด้วยซ้ำ ผมเรียกมันว่า "Reader experience"



### Rhythm and Melody
มันจะเริ่มลึกและทำความเข้าใจได้ยากขึ้นเรื่อยๆ มาอ่านมาถึงตรงนี้

บ้าน่า.. บทความมีท่วงทำนองและเมโลดี้อะไรแบบนั้นด้วยเหรอ?

ใช่ครับ.. ก็ผมจะทำให้มันมี มันคือตำราที่ผมเขียนเอง

หลายคนหลุดพูดออกมาว่า บทความผมมีสำบัดสำนวนที่ดูคมคาย ทั้งที่ผมก็แทบไม่ได้ใช้ศัพท์แสงอะไรที่ดูโก้หรูหรือเป็นทางการ ไม่ได้เป็นงานวิจิตรศิลป์อะไรสักนิดเดียว บทความผมมันก็เต็มไปด้วยศัพท์บ้านๆ ทั้งนั้นนะ?

งานศิลปะ ก็คือการใส่สุนทรียะในการอ่านลงไปแบบไม่ให้มันดูคล้ายกับเป็นงานศิลปะ.. งงกันอีกแล้ว

ลองดูนี่นะครับ

1. ผิดทำนองครองธรรม ไม่จดไม่จำระยำยัดไส้จริงๆ ให้ตายสิ

2. ทำผิดศีลธรรม ไม่เคยจำหรือสำนึกอะไรเลย เลวจริงๆ

1 มีท่วงทำนอง แต่ 2 ไม่มี คุณชอบแบบไหนมากกว่ากันล่ะ?

การเล่นสัมผัสนอก-สัมผัสในด้วย "เสียง" หรือสำเนียงที่ซ่อนในคำแบบไม่ต้องมานั่งแต่งกลอน ผมคงสอนให้ไม่ได้ คล้ายว่ามันจะไม่ได้ยาก แต่มันลำบากมากกว่าที่คุณคิด

ทั้งย่อหน้าเมื่อกี้ ผมแค่เลือกคำที่มีเสียงสัมผัสกัน ไม่ว่าจะ สระ-พยัญชนะ หรือวรรณยุกต์ แบบไม่ได้ตั้งอกตั้งใจ มันไหลออกมาเองอย่างอัติโนมัติ

ผมจากนี้ผมยังใช้เทคนิคทางดนตรีมา "สร้างห้อง" และคุมมันด้วย Metronome เพื่อให้มันไม่ขาด ไม่คร่อมจังหวะหรือคร่อมห้อง.. ลองดูนี่

1 มันลำบากกว่าที่คิด

2 มันลำบากมากกว่าที่คิด

3 มันลำบากมากกว่าที่คุณคิด

พอเห็นอะไรไหมครับ?

คุณต้องเข้าใจจังหวะการหายใจของคนอ่าน บางครั้งพวกเขารู้สึกว่ามันห้วน เพราะมันยังเหมือนจะลากไปไม่ครบห้อง แต่คุณดันขึ้นห้องใหม่มันซะดื้อๆ หรือไม่ก็ตัดจบในตอนที่พวกเขาหายใจออกมากันยังไม่สุด

ผมยังเลือกเมโลดี้ หรือเสียงสูง-ต่ำ ในการจบประโยคเพื่อส่งต่อคนอ่านว่ามันจบแบบห้วน (ตัดบท) หรือทอดยาว (แบบให้เวลาคิดตาม) ด้วยสระเสียงสั้น-เสียงยาวตามคสามเหมาะสม ...เช่น

1 ต่อให้คุณจะเดินทางไกลเพียงใดก็ตาม (เสียงยาว)

2 เราเลิกทำแบบนี้กันเถอะนะ (เสียงสั้น)

นอกจากนี้เรายังสามารถแทรกเมโลดี้ลงไปในประโยคของเราได้ เราเลือกใช้คำที่ให้เสียงสลับสูงต่ำในการอ่าน เพื่อให้สำนวนในแต่ละประโยคมีไดนามิคที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นคลื่นที่มีความสูงความยาวสลับกันไปมาอย่างพลิ้วไหว ไม่ได้เหยียดเป็นเส้นตรง หรือกระแทกลอยขึ้นมาโดดๆ จนน่ารำคาญ

---



อ่านมาถึงตรงนี้.. หลายคนคงเริ่มคิดแล้วว่า.. ทำไมมันช่างดูละเมียดละไมเสียเหลือเกิน ทำไมการเขียนบทความที่ไม่เป็นทางการต้องมีอะไรยุ่งยากกันขนาดนี้ แล้วถ้าผมจะบอกว่าผมไม่เคยได้ละเมียดกับมันเลยแม้กระทั่งตอนที่กำลังเขียนอยู่นี้ พวกคุณจะเชื่อกันไหมว่าผมด้นมันออกมาสดๆ ?

มันไม่ใช่พรสวรรค์อย่างที่คุณจะเข้าใจกันหรอกครับ ผมใช้พรแสวงและปรับปรุงพัฒนามันมาเรื่อยๆ ตลอดระยะเกือบ 20 ปี ผมเขียนอะไรที่ไม่ค่อยเป็นทางการแบบนี้มาเป็นพันๆ ชิ้นแล้วเห็นจะได้ บางครั้งเขียนระบายออกมาเฉยๆ แล้วก็ทิ้งมันไป มันเยอะมากจนการเขียนได้กลายเป็น Muscle memory ของผมไปแล้วในตอนนี้

ผมไม่สามารถเชี่ยวชาญอะไรจากการลองทำมันแค่ไม่กี่สิบครั้งได้หรอกครับ ผมเอาใจช่วยทุกคนนะ ถ้าคุณฝึกมันมากพอ คุณจะหาไสตล์ของตัวเองจนเจอ คุณจะเขียนตำราของตัวเองได้แบบที่ผมทำ และคุณจะเขียนได้ยาวมากๆ จนแทบจะต้องเอาช้างมาคอยฉุดตัวเองให้หยุดเขียน

สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องรัก และสนุกกับการได้ทำมัน ไม่ว่ามันจะให้ผลตอบแทนอะไรกับคุณหรือไม่ก็ตาม เพราะไม่งั้นคุณจะฝึกได้ไม่ถึงร้อยโน๊ตอย่างแน่นอน

เทคนิคของผมยังมีมากกว่านี้ มากเสียจนเขียนตำราได้อย่างที่ผมเคยว่าเอาไว้จริงๆ แต่ผมไม่จำเป็นต้องเอาทั้งหมดมาขยำรวมกันให้ได้ในโน๊ตเดียว เรามีมีดหลายเล่มได้ที่บ้าน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องลากมันออกมาใช้ทั้งหมด เพื่อจะทำผัดกระเพราแค่จานเดียวหรอกจริงไหม?

ผมไม่ได้ถ่ายทอดคำศัพท์หรือสำนวนพิศดารอะไรให้พวกเราเลย ผมไม่มี The Suarus ข้างกาย ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน ผมใช้สัญชาตญาณแห่งความเป็นมนุษย์ล้วนๆ ที่เข้าใจว่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ว่าจะรู้สึก Comfort ไปกับอะไร

ผมไม่ชอบเขียนอะไรย้วยๆ หรือใช้คำฟูฟ่องฟุ่มเฟือย ไม่ชอบให้ใครมาคัดลอกสำนวนของตัวเอง เพราะมันดูเหมือนจะวิลิศมาหรา ผมไม่ได้กำลังด้อยค่างานเขียนลักษณะนั้น มันมีบริบทและคุณค่าต่างกันไปตามวาระ

แต่ผมแค่จะบอกว่า โดยส่วนตัวผมชอบให้คนอ่านเข้าใจ "สาส์น" ที่ต้องการจะสื่อให้พวกเขาแบบนั้นมากกว่า ผมอยากมอบคุณค่าให้กับพวกเขาผ่านการเขียนธรรมดาๆ

คุณควรเริ่มจากการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นให้ได้เสียก่อน จากนั้นค่อยไปนึกถึงความสวยงาม

และสุดท้าย มันสำคัญที่สุด คุณควรให้เกียรติคนอ่านเสมอ

---

ผมยังมีเทคนิค Emotional engagement, Imaginary and Clear language, Use of example, Use of wise analogy, Use of questions, Psychological insight, Story Arcs, Narrative structure, Friendly words, Summary words, Effective use of language, Squeeze, Linear & Non-linear, Ending และเทคนิคอื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้เขียน

ถ้าคุณชอบอ่าน ผมจะเขียนให้อ่านอีก ถ้าไม่ชอบกันเท่าไหร่ ผมคงจะไปเรื่องอื่นแทน ..ผมให้หมดเปลือกขนาดนี้ผมไม่หวงวิชาเลยเหรอ?

ผมเชื่อในตลาดเสรีที่นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นมาจากพลังของการแข่งขัน มันทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง และพัฒนาการของแต่ละคนก็จะไปช่วยยกระดับคุณค่าในองค์รวมให้กับตลาด

ความเก่งกาจของแต่ละคนคือคลื่นที่จะยกเรือขึ้นทั้งลำ

ถ้าผมสู้ไม่ได้ ผมก็แค่ต้องแพ้และหันกลับไปพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าเราไม่ต้องสู้ แล้วหันมาร่วมมือกันแทนล่ะ?

ผมเป็นบิตคอยเนอร์.. ผมก็ทำแบบที่บิตคอยเนอร์ควรจะทำ ผมเลือกทำเพื่อเน็ตเวิร์คของเรา

ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นครับ..

#siamstr
Author Public Key
npub1mqcwu7muxz3kfvfyfdme47a579t8x0lm3jrjx5yxuf4sknnpe43q7rnz85