Why Nostr? What is Njump?
2025-03-13 01:11:08

Mr.Note on Nostr: GM #siamstr The Fearless Organization องค์กรไม่กลัว ...

GM #siamstr The Fearless Organization องค์กรไม่กลัว ของ Amy C. Edmondson สร้างองค์กรที่เปี่ยมประสิทธิภาพ สร้างสรรค์และมีความเป็นมนุษย์ด้วยแนวคิด “Psychological Safety(ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยา)” เป็นหนังสือที่ดีอีกเล่มหนึ่ง ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยามีนิยามกว้างๆว่า เป็นบรรยากาศที่เรารู้สึกสบายใจที่จะแสดงออกเป็นตัวเอง เมื่อคนเรามีความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาในที่ทำงาน ก็จะรู้สึกสบายใจที่จะบอกเล่าความกังวลและความผิดพลาดโดยไม่กลัวความอับอายหรือการลงโทษ พวกเขามีแนวโน้มจะเชื่อใจและเคารพเพื่อนร่วมงาน จะมีสิ่งดีดีเกิดขึ้น เช่น การรายงานความผิดพลาดอย่างรวดเร็วทำให้ลงมือแก้ไขปัญหาได้ท่วงที การประสานงานข้ามกลุ่มหรือแผนกเป็นไปอย่างราบรื่น ทำให้เกิดแนวคิดนวัตกรรมในองค์กรได้ ฯลฯ ขอสรุปเนื้อหาดังนี้

บทที่1 ฐานราก: เปิดด้วยเรื่องที่เกิดจริงในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนถึงการที่พนักงานรีรอ ไม่บอกเล่าความกังวลหรือข้อสงสัยจึงเห็นเรื่องปกติธรรมดาจนสร้างปัญหาในอนาคต ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อการสื่อสารอย่างเปิดเผยทั้งในเรื่องความท้าทาย ความกังวล และโอกาสต่างๆ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดอย่างยิ่งของผู้นำในศตวรรษที่ 21

บทที่2 เส้นทางวิจัย: นำเสนอข้อค้นพบหลักๆ แสดงภาพรวมว่า งานวิจัยเรื่องความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาได้ให้หลักฐานสนับสนุนประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้คือ ไม่มีองค์กรในศตวรรษที่ 21 องค์กรใดอยู่ได้ถ้าแต่วัฒนธรรมแห่งความกลัว องค์กรที่ปราศจากความกลัว เท่านั้นที่จะอยู่รอด และยังเป็นที่ให้พนักงานก่อเกิดนวัตกรรม เกิดการเติบโตในการทำงาน

บทที่3 ความล้มเหลวที่หลีกเลี่ยงได้: เจาะลึกกรณีศึกษาที่ความกลัวในที่ทำงานเปิดช่องให้เกิดภาพลวงตาถึงความสำเร็จทางธุรกิจกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ซ่อนเร้น สุดท้ายปัญหาจะถูกค้นพบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่กลับไม่มีผู้รายงานและไม่ได้รับการจัดการแก้ไขอยู่ระยะหนึ่ง และท้ายที่สุดดาวเด่นในอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็จะร่วงจากบัลลังก์จนได้

บทที่4 ความเงียบที่อันตราย: เน้นให้เห็น สถานที่ทำงานที่พนักงาน ลูกค้า หรือชุมชน ต้องพบกับอันตรายทางกายภาพหรือทางอารมณ์ทั้งๆ ที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากพนักงานที่อยู่ในวัฒนธรรมความกลัวนั้นลังเลที่จะ พูด ตั้งคำถาม หรือขอความช่วยเหลือ มันจะส่งผลร้ายต่อองค์กร ลูกค้า หรือชุมชนในอนาคตได้

บทที่ 5 ทำงานที่ปราศจากความกลัว: นำเสนอเรื่องราวของบริษัทต่างๆ ที่มีงานสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญโดยตรงต่อผลประกอบการทางธุรกิจ เป็นบริษัทที่สร้างความปลอดภัยจึงจิตวิทยาตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้ธุรกิจเติบโตงอกงามไปพร้อมๆกับพนักงานที่เติบโตงอกงามเช่นกัน

บทที่6 โดยสวัสดิภาพ: พิจารณาสถานที่ทำงานที่ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาช่วยรับรองความปลอดภัยและศักดิ์ศรีของทั้งพนักงานและลูกค้าได้ การสื่อสารต้องชัดเจน ตรงไปตรงมา และจริงใจ ผู้นำต้องใส่ใจพนักงาน จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนทุ่มเททำงานเป็นพิเศษ ความปลอดภัยของพนักงานเริ่มจากการกระตุ้นและส่งเสริมให้พนักงานพูดแสดงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงและความกังวลอื่นๆ

บทที่7 ทำให้เป็นจริง: จะบอกวิธีทำอย่างไรให้ความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาคืนกลับมาหากสูญเสียมันไปแล้ว จะมีชุดเครื่องมือสำหรับผู้นำ และกรอบแนวคิดพร้อมกิจกรรมเรียบง่าย สามอย่างที่ผู้นำสูงสุดไปจนถึงผู้นำในทุกระดับขององค์กร สามารถนำไปใช้สร้างทีมงานที่มุ่งมั่นทุ่มเทและมีพลังมากขึ้น การสร้างความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาต้องอาศัยความพยายามและทักษะ แต่ความพยายามนั้นจะให้ดอกผลเมื่อความเชี่ยวชาญหรือการร่วมมือกันเป็นเงื่อนไขที่มีผลสำคัญต่อคุณภาพงาน

บทที่8 แล้วงัยต่อ: บทนี้สรุปเนื้อหาของหนังสือเล่ม การสร้างความปลอดภัยเชิงจิตวิทยาเป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ที่ช่วยเสริมให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าและต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องบ่มเพาะสภาพแวดล้อมไร้ความกลัวที่ส่งเสริมให้กล้าแสดงความคิดเห็น ผู้นำต้องตั้งใจฟัง โดยมีความเข้าใจลึกซึ้งว่าคนในองค์กรเป็นทั้งผู้ที่คอยส่งสัญญาณถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลง และเป็นทั้งแหล่งความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่จะนำองค์กรให้ก้าวหน้าและเติบโตไปด้วยกัน

ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ หนังสือเล่มนี้จะบอกเราว่า “ สร้างบรรยากาศให้สบายใจในการคุย เปิดใจที่จะบอกปัญหา ให้นำมาซึ่งการแก้ไขโดยมีเป้าหมายเดียวกัน สำเร็จและเติบโตไปด้วยกัน🙂”…ถ้าผมอ่านเล่มไหนเห็นว่าดี มีประโยชน์ ขออนุญาตมาแชร์ให้ชาวทุ่งม่วงอีกนะครับ🙏❤️
Author Public Key
npub1g3p825wm8f5ttsju3zl6vgmmwskptuehph3x5u7ua667gmawtctsaxa07u