ความพึงพอใจที่เกิดขึ้นเองอย่างเสรีกำลังกลายเป็น “Culture shock” สำหรับผู้มาใหม่บน Nostr
ผมอาจใช้คำรุนแรงเกินไปหน่อย ขอเปลี่ยนจาก Shock เป็น “Impress” (ประทับใจ) ก็แล้วกันนะครับ :)
ผมกำลังพูดถึงวัฒนธรรมการโน๊ตทักทายกันยามเช้าของชาวตรู่ #siamstr (แฮชแท็กหลักของผู้ใช้ Nostr ชาวไทย) ที่เขียนกันสั้นๆ เพียงแค่ “GM” แต่กลับมีพลังและมอบคุณค่าอันลึกซึ้งให้แก่กันได้อย่างน่าประหลาดใจ..
“GM | “GN #Siamstr”
GM (Good morning) มันกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่บนสังคมแห่งนี้ไปแล้ว จนผู้มาใหม่ต่างประหลาดใจ ถึงขั้นถามผมว่า มันคืออะไร ? เลยก็มี
ในอดีตการกระทำในลักษณะนี้เรามักจะเห็นตาม “กลุ่มไลน์ สว.” ที่มักส่งภาพดอกไม้สวยๆ ให้กันพร้อมคำกล่าว สวัสดีวันจันทร์, อรุณสวัสดิ์วันพุธ ฯลฯ
เราไม่เคยเข้าใจว่าผู้ใหญ่ท่านทำอะไรกัน? พวกท่านทำเรื่องแบบนี้ไปทำไม?
เราไม่เคยเข้าใจ.. จนกระทั่งเรากลายเป็นผู้ที่อยากทำมันด้วยตัวเอง และมันเป็น “ความอยาก” ที่พวกเราเองก็แทบไม่รู้ตัว
ตามความเห็นของผม.. สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะเรา “มีความสุข” และ “มีความปรารถนาดี” ที่จะส่งมอบ “ความสุข” นั้นไปยังคนอื่นๆ
เราต่างรู้กันดีว่า.. มันไม่จำเป็นต้องเขียนโน๊ตยาวๆ (แบบ Jakk Goodday) เพื่อสร้างคุณค่า เรารู้สึกแค่เพียงว่า..
เราแค่อยากทักทายใครสักคนในยามเช้าด้วยเพียงรอยยิ้ม
เราไม่ได้มีอะไรอยากเขียนเป็นพิเศษ เราแค่อยากกล่าวทักทายกับเพื่อนๆ กับคนที่เรารู้สึกดี เมื่อได้รู้จักหรือมีปฎิสัมพันธ์กับพวกเขา
มันน่าจะแค่นั้นเอง..
มันกี่ปีมาแล้วล่ะ? ที่พวกเรามักต้องเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วย “พลังลบ”
เริ่มต้นทุกวันด้วยเรื่องราวดราม่าที่ไม่เคยเกี่ยวข้องกับตัวเอง พลังลบๆ ที่ผู้คนมากมายต่างสาดเข้าใส่กันบนสังคมออนไลน์เดิมๆ ที่เราก็เริ่มสะอิดสะเอียน
เราลึกๆ ล้วนถวิลหาความสุขกันอย่างง่ายๆ มาโดยตลอด เพียงแต่เรานั้นอาจยังไม่รู้ตัว..
หรือแม้นจะรู้ตัว ก็ไม่รู้ว่าจะหามันได้จากที่ไหน..
ความปรารถนาของปัจเจกมากกว่าร้อยคนนี้ ได้หลอมรวมกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่แห่งความสุขบน Nostr มันทำให้พวกคุณรู้สึกกันอย่างไร?
คุณเขียนบรรยายมันออกมาเองได้ดีกว่าผมเขียนให้อย่างแน่นอนครับ..
การปรับสมดุลของตลาดเสรี
เมื่อผู้คนเริ่มส่งความสุขให้แก่กันผ่าน GM/GA/GN มากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนโน๊ต GM จะมากจนกลายเป็นภาระในการตอบสนองของใครหลายๆ คน
มันคงเป็นเรื่องยาก.. สำหรับคนที่มีช่วงเช้าอันเร่งรีบและมีเวลาให้หยิบจับมือถือน้อยเหลือเกินเมื่อกำลังเริ่มต้นวันใหม่ ไม่ต้องนึกถึงคนอื่นคนไกล ผมคนหนึ่งแหละที่เป็นแบบนั้น
ผมอยากจะนั่งลงพร้อมกาแฟอุ่นๆ และละเมียดละไมไปกับการกล่าวทักทายเพื่อนๆ แต่ละคนเพื่อน้อมรับเอา “พลังบวก” ก่อนออกไปสู้ชีวิต
แต่มันคงทำแบบนั้นทุกวันไม่ได้จริงๆ
ผมเองก็พยายามเข้าใจเรื่องนี้ และไม่คาดหวังสิ่งใดเมื่อตัวเองเลือกจะโน๊ต GM เหมือนคนอื่นๆ
ผมขอแค่ให้ใครๆ ได้เห็นว่าผมตื่นเช้าขึ้นมากล่าวทักทายพวกเขา แม้จะไม่มีการตอบกลับจสกใครๆ จะแค่กดอิโมจิ กด Zap หรือแค่ “เห็นมันผ่านตา” ผมก็พอใจแล้ว
สิ่งนี้กำลังจะอธิบายเกี่ยวกับกลไกตลาดเสรีได้อย่างไร้รอยต่อ
เมื่อ “อุปทาน” (หรือ Supply - ในที่นี้คือจำนวนโน๊ต GM) มันเริ่มล้นจนไม่พอดีกับ “อุปสงค์” (หรือ Demand - ในกรณีนี้คือ ความต้องการที่จะตอบสนองโน๊ต GM ยามเช้าๆ หรือความสะดวกที่จะตอบสนองมัน)
ตลาดจะเริ่มทำการปรับสมดุลไปเองตามธรรมชาติ..
ผมอยากเชิญชวนทุกท่านให้พยายามทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจ หรือความท้อแท้เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองบางอย่างจากตลาด หรือเพียงรู้ไว้ใส่บ่าก็เกิดเป็นคุณค่าได้แล้ว..
ผมขอชวนทุกท่านมาลองปรับใช้แนวคิดกันเล่นๆ สนุกๆ มาลองดูกลไกการปรับสมดุลของตลาดเสรีตามหลักการและแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนกันครับ
สัญญาณราคา
ในตลาดเสรี “ราคา” ของสินค้าและบริการจะเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึง “ความขาดแคลน” (Over demand) หรือ “ความอุดมสมบูรณ์” (Over supply) ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้บริโภคมักจะทำการตอบสนองต่อสัญญาณดังกล่าว
ในกรณีของเรา..
การโน๊ต GM ไม่ใช่สินค้าหรือบริการที่เราจะสามารถนิยามมันได้อย่างตรงไปตรงมา
“ราคา” ของมันคงเกี่ยวข้องกับ “คุณค่า” ที่ผู้บริโภค (ผู้อ่าน) จะตอบสนองหรือมอบให้กับโน๊ตนั้น
หากเปรียบเทียบว่าโน๊ต GM นั้นมีราคาแพง ก็คงจะเห็นได้จากปฏิกิริยาการตอบรับจากตลาดที่ผู้ใช้ “จ่ายคุณค่า” ของตนให้กับโน๊ตนั้นๆ นั่นเอง..
“ราคาที่เพิ่มขึ้น” จะทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้กับ “ผู้ผลิต” (หรือใครก็ตามที่กำลังอยากเขียนโน๊ต GM) ได้เล็งเห็นว่า.. มันมีโอกาสที่จะเพิ่มหรือนำเสนออุปทานที่ตลาดจะให้ราคาที่ดี
สัญญาณราคานี้เองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยปรับสมดุลให้กับตลาดเมื่อเวลาผ่านไป..
การค้นพบของผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการในที่นี้ หมายถึง “ผู้เขียนโน๊ต” ซึ่งรวมถึงผมและพวกเราทุกคนด้วย
ผู้เขียนโน๊ตมีบทบาทสำคัญในการ “ระบุ” และ “ตอบสนอง” ต่อความไม่สมดุลของ demand-supply
ผู้เขียนโน๊ตที่มี “ความ++สามารถในการรับรู้โอกาสทางการตลาด++” จะจัดสรรทรัพยากร (องค์ความรู้, ความคิด, ความเห็น, เวลา ฯลฯ) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค (หรือผู้อ่าน) หรือคว้าเอาโอกาสทางการตลาดนี้ หากเห็นว่ายังไม่มีผู้ใดนำมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์
ดังนั้น “ครีเอเตอร์” ที่มีความชำนิชำนาญ ที่อาจนิยามตัวเองว่าเป็นครีเอเตอร์มาจากที่บ้าน หรือท่านที่อาจไม่รู้ตัวเองว่าได้กลายเป็นครีเอเตอร์แล้ว มักจะตอบสนองต่อสมดุลอุปสงค์-อุปทานในตลาดได้อย่างชาญฉลาด และมักทำได้อย่างดิบดีสอดคล้องไปกับทิศทางลม
กำไรและขาดทุน
กลไกตลาดเสรีมักจะพึ่งพา “กำไร-ขาดทุน” ในการนำทางการจัดสรรทรัพยากร
“กำไร-ขาดทุน” ในกรณีของเราไม่ใช่ กำไรที่ได้จากการ Zap ซึ่งคิดเป็นเงินในหน่วย Sats อะไรแบบนั้น..
เพราะทีนี่ เราไม่มีใครโน๊ตเพื่อหวังรวยจากการได้รับ Sats เราไม่ได้ค้ากำไรผ่านการโน๊ตกันอย่างบ้าเลือดขนาดนั้น
“กำไร” ตามมุมมองผม เป็นเรื่องของ “คุณค่า” ที่เราจะได้รับเป็นการตอบแทนมาจากเหล่าผู้อ่าน เช่น เวลาที่ผู้อ่านสละให้กับโน๊ตเรา (แทนที่จะไปทำอย่างอื่น), คำขอบคุณหรือความพึงพอใจในทุกรูปแบบของผู้อ่านผ่านการ Zap, Comment, Reaction, Repost, ถูกกล่าวถึง, เกิดการถกเถียงต่อ ฯลฯ
เหล่านี้แหละคือกำไรของผู้เขียนโน๊ต
“ขาดทุน” ก็ค่อนข้างตรงไปตรงมา
ผมจะยกตัวอย่างจากตัวผมเอง ที่เสียสละเวลาในการค้นคว้า เรียบเรียง นั่งกดมือถือพิมพ์ยิกๆๆ เพื่อเขียนโน๊ตยาวๆ
แต่หากมันไม่ได้รับความสนใจ หรือไม่ได้รับคุณค่าตอบกลับมาเลย มันก็เปรียบได้กับการลงทุนลงแรงไปแล้วแต่กลับขาดทุน
ผมจะถูกกระตุ้นจากตลาดให้นำทรัพยากรของตนไปใช้ในกิจกรรมที่ทำให้เกิดผลกำไรมากขึ้น (เอาเวลามาขยันโน๊ตยาวๆ)
ในทางกลับกันหากขาดทุน ผมก็คงผลิตโน๊ตยาวๆ น้อยลงนั่นเอง
ดังนั้นเมื่ออุปทานมากกว่าอุปสงค์ (โน๊ตยาวๆ มีมากจนเต็มคอมมูฯ มากเกินกว่าความต้องการอ่านหรือเกินเวลาที่ผู้อ่านจะอ่าสกันได้ทัน) “ราคา” ของโน๊ตยาวๆ ก็จะร่วงลงมา แรงจูงใจของคอมมูในการสร้างสรรค์โน๊ตยาวๆ ก็จะลดลง
การแข่งขัน
การแข่งขันกันในตลาดเสรีจะส่งเสริมประสิทธิภาพของตัวคอนเทนต์และนวัตกรรมใหม่ๆ
โดยผู้เขียนโน๊ต (ผู้ผลิต) จะพยายามตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค (ผู้อ่าน) ในราคาที่ตนยังสามารถแข่งขันได้ (ทรัพยากรที่ต้องจ่ายไปในการแข่งขันจนได้รับผลตอบแทนที่ตนเองพึงพอใจ)
กลุ่มผู้ผลิตเหล่านี้จะพยายามหาวิธีการปรับปรุงพัฒนาคอนเทนต์ของพวกเขา (ทั้งแบบตั้งใจและไม่แบบไม่รู้ตัว) เพิ่มหรือสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ ผลิตเนื้อหาแนวใหม่ๆ ออกมานำเสนอ, พัฒนากระบวนการผลิต (เขียน) เพื่อลดต้นทุน (ทรัพยากรที่ต้องจ่าย) และเพิ่มคุณภาพให้กับเนื้อหา
สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมความแข็งแกร่งของการแข่งขันภายในตลาดโดยไม่จำเป็นต้องมองคู่แข่งรายใดเป็นศัตรู แต่เป็นความท้าทายส่วนบุคคลในการยกระดับคุณค่าของเนื้อหาในภาพรวม ซึ่งจะกลายเป็นประโยชน์ต่อทุกคนภายในคอมมูนิตี้
ทั้งหมดที่ผมว่ามานี้ เป็นกลไกที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแลหรือแทรกแซงแนวทางโดยหน่วยงานใดๆ เลยแม้แต่น้อย
ความเข้าใจเหล่านี้ กำลังแสดงให้พวกเราได้เห็นว่า “ตลาดเสรีนั้นมีการวิวัฒน์ตัวเอง” มันมุ่งหวังจะบรรลุในสมดุลและปรับสมดุลตัวเองอยู่ตลอดเวลา เป็นการแสวงหาความพอดีระหว่างอุปสงค์และอุปทานที่ดำเนินไปเองตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องมีใครเข้ามาแทรกแซง
การปรับการตอบสนองตามเงื่อนไขและความต้องการที่เปลี่ยนไปนี้ ก็เพื่อจุดมุ่งหมายในการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพของแต่ละบุคคล
ทุกคนล้วนต้องการสร้างความพึงพอใจให้กับผู้อ่านหรือผู้เสพคอนเทนต์ให้ได้มากที่สุด และมีผลไปผลักดันส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของตลาดเสรีแห่งนี้ไปโดยปริยาย
จะเห็นได้ว่า ตามกลไกตลาดเสรีนั้น ดูเหมือนผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจะกลายเป็น “ผู้บริโภค”
ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีและเราอยากให้เกิดขึ้นไม่ใช่หรือ?
เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบ คุณจะเข้าใจกลไกตลาดเสรีในแง่ของการปรับสมดุลตัวเองมากขึ้น คุณจะเข้าใจทุกๆ ความเป็นไปที่เกิดขึ้นภายในชุมชน
ทำไมบางคนโน๊ตอะไรก็ดีไปหมด? ทำไมบางคนโน๊ตอะไรไปก็เหงาๆ เงียบๆ ? ทำไมช่วงนี้คนโน๊ตแบบนี้กันเยอะ? โน๊ตบางประเภทที่เคยฮิตๆ กันมันหายไปไหน?
สิ่งเหล่านี้มักจะมี “invisible hand” มาคอยผลักดันให้เกิดขึ้น เราจะไม่รู้สึก Spaculate คาดการณ์อะไรใดๆ ทั้งสิ้น
เพราะแค่ทำตัวให้พลิ้วไหวไปตามแรงลมเราก็มีความสุขกันได้ง่ายๆ แล้ว ไม่ต้องไปพยายามหรือซีเรียสกับเรื่องอะไรกันมากขนาดนั้น
เพราะคำตอบสำหรับบางคำถามก็ไม่ได้มีคุณค่าเสมอไป
อย่าเสียเวลากับมันเลย..
ปล่อยให้ธรรมชาติมันขับเคลื่อนตัวมันเอง และเราก็แค่นั่งลง จิบกาแฟ ดื่มด่ำ เฝ้ามองดูมันกันอย่างเพลิดเพลิน
สวัสดีแดดเปรี้ยงๆ #siamstr
G อะไรดี?