๑) แรงอะไรจูงใจ กับโลกทุนนิยมที่ส่งอิทธิพลไปทุกหัวระแหง ชีวิตของมนุษย์ถูกกระตุ้นรุนเร้าด้วยความมั่งคั่งร่ำรวย ความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมีกินมีใช้ อยากทำอะไรก็ได้ทำ อยากกินอะไรก็ได้กิน หล่อเลี้ยงความสุขด้วยการแย่งชิงผลประโยชน์เพื่อตนเอง ตั้งแต่เด็กจนโต
เบื้องหลังแห่งการดำเนินชีวิตเช่นนั้น สิ่งที่บงการชักใยอยู่ก็คือ ”ตัณหา“ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น สิ่งที่คิด-พูด-ทำก็เป็นไปเพื่อตนเอง และพวกพ้องโดยไม่สนใจว่าจะทำลายใคร ไม่ว่ามนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม เบื้องหน้าแห่งชีวิตเช่นนี้ คือการประชาสัมพันธ์ด้วยความเจริญ โลกาภิวัฒน์ ความหรูหราไม่มีที่สิ้นสุด
แต่ตลอดชั่วชีวิตของเรา การใช้ชีวิตเช่นนี้สามารถมอบความสุขที่แท้จริงให้ได้หรือไม่ เงินซื้อ “ความไม่เจ็บป่วย” ได้หรือไม่ ? เกียรติยศแลกเป็น “ความไม่แก่” ได้หรือไม่ บ้านใหญ่โตหรูหราอยู่อาศัยแล้ว “ไม่ตาย” ได้หรือไม่ คำตอบเดียวที่ได้คือ “ไม่มี” ซึ่งมนุษย์ทุกคนก็ยัง “ทุกข์” อยู่กับความเจ็บป่วย ความแก่ ความตาย อย่างไม่มีเว้น ถึงเวลาหรือยังที่มนุษย์จะหันมาตระหนักกับ ”แรงจูงใจ“ ที่เรียกว่าตัณหานี้
พระพุทธเจ้าทรงเรียนรู้ชีวิตที่มีแต่ความทุกข์ไร้ทางออก หมุนวน จมจ่อม เพราะเหตุจากตัณหาเหล่านี้ชัดแล้ว ได้รู้และเข้าใจว่า “ฉันทะ” หรือความพอใจใฝ่ดี พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น ปลดเปลี้ยงความเห็นแก่ตัว เพื่อใช้ชีวิตคิด-พูด-ทำแต่ความดีงาม สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ สมบูรณ์เต็มสภาวะของมัน แรงจูงใจเช่นนี้เป็นของยาก ของลำบาก เพราะต้องฝืนตนเอง ฝึกฝนให้จิตใจมีกำลัง ใช้ปัญญาพิจารณาเฟ้นหาประโยชน์จากทุกสิ่งอย่างคุ้มค่า และยั่งยืน
พระอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้พูดขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ว่า “หลาย ๆ คนที่เป็นคนรวย มีเงินพอได้สิ่งของที่อยากได้มา ตอนสุดท้ายก็มักจะพูดว่า ’นึกกว่าจะดีกว่านี้ อร่อยกว่านี้ มีความสุขกว่านี้ พอได้มาแล้วก็ไม่เห็นดีเหมือนที่คิดไว้เลย’ ซึ่งตรงกันข้ามกับคนที่ปฏิบัติจนเข้าถึงธรรม ไม่มีใครพูดแบบนั้น มีแต่พูดว่า ‘ยิ่งกว่าที่คิดไว้ ดีกว่าที่คิดไว้ ประเสริฐกว่าที่คิดไว้’ ความสุขที่ไม่สามารถจินตนาการได้ ความสุขที่ไม่เคยนำความผิดหวังมาให้ ความสุขประเภทนี้มีแรงจูงใจคือ ”ฉันทะ“ นั่นเอง
——
๒) หัวขบวน หากเราอาศัยตัณหานำพาชีวิต ชีวิตของเราก็จะวนเวียนเรื่อยเปื่อย มีแต่ความทุกข์ในปัจจุบัน และทุกข์ที่รออยู่ในอนาคต ชีวิตเช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับชีวิตของแมว-หนู-ปู-กุ้ง-กา-ไก่ เอาแต่ แสวงหาอาหาร-กิน-นอน ได้ความสุขประเดี๋ยวประด๋าว แล้วก็หมดเวลาถึงวาระที่ต้องตายจากไป ไม่เคยรู้จักคุณค่าชีวิตที่แท้จริง ไม่ได้ความสุขสงบเลยสักวินาทีเดียว
พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เล็งเห็นว่า มนุษย์มีศักยภาพที่มากกว่าสัตว์ทั้งหลาย การปล่อยชีวิตให้เต็มไปด้วย “อวิชชา” ความไม่รู้ ก่อให้เกิดตัณหา แล้วก็ชักพาชีวิตทำอกุศลกรรม มีแต่ความทุกข์ตลอดสายนั้น สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์ได้ โดยมุ่งเน้นที่ “ปัญญา” ความรู้และเข้าใจความเป็นจริง ก่อให้เกิดฉันทะความพอใจใฝ่ดีในชีวิต ขับเคลื่อนเป็นกุศลกรรม สร้างเหตุที่ถูกต้อง ผลที่เป็นความสุข ความไม่ทุกข์ และความพ้นทุกข์ ก็จะตามมา
เพราะฉะนั้นทุกครั้งไม่ว่าทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ลองทบทวนดูว่า การตัดสินใจนั้น ๆ มีอะไรเป็นหัวขบวน ”ตัณหา“ หรือ ”ปัญญา“ ใครเหนือกว่าใคร
——
๓) หลัก ๑๐ ประการ ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้กำชับกับเหล่าสาวกว่า หากเมื่อใดถูกนักบวชพวกอื่นมาถามถึง หลักธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง มีอะไรเป็น ”ที่ตั้งต้น“ และมีอะไรเป็น “ที่จบ” ทรงวางหลักธรรมนั้นไว้ ๑๐ ประการ ได้แก่
- -ธรรมทั้งปวง มีฉันทะ เป็นที่ตั้งต้น
- -ธรรมทั้งปวง มีมนสิการ เป็นที่ก่อตัว
- -ธรรมทั้งปวง มีผัสสะ เป็นแหล่งเกิด
- -ธรรมทั้งปวง มีเวทนา เป็นที่ชุมนุม
- -ธรรมทั้งปวง มีสมาธิ เป็นประมุข
- -ธรรมทั้งปวง มีสติ เป็นอธิปไตย เป็นใหญ่
- -ธรรมทั้งปวง มีปัญญา เป็นยอดยิ่ง
- -ธรรมทั้งปวง มีอมตะ เป็นที่หยังลง
- -ธรรมทั้งปวง มีนิพพาน เป็นที่จบ
หลักธรรมชุดนี้ สื่อสารได้ชัดเจนว่า ระบบการ “ปฏิบัติ” ของพระพุทธศาสนานี้ มีจะพัฒนากุศลได้ตั้งแต่ต้นจนถึงจุดหมาย ขอให้สังเกตที่ “ฉันทะ” ที่เป็นหลักธรรมตั้งต้น เชื่อมโยงไปถึงพระนิพพาน “ฉันทะ” นี้ย่อมกล่าวถึงธรรมไม่ใช่อกุศล แต่เป็นธรรมที่เป็นกุศล พัฒนาต่อเนื่องไปถึง สมาธิ-สติ-ปัญญา ได้
สำคัญคือ ความพอใจในธรรม ความรัก ความสนใจใฝ่ดีที่จะพัฒนาตัว เป็นจุดหมุดหมายเริ่มต้นของพุทธธรรม ยิ่งปฏิบัติไป ยิ่งก่อตัวเป็นธรรมที่ใหญ่ขึ้น มีคุณภาพขึ้น และเมื่อถึงจุดหมาย ความสิ้นทุกข์ก็จะเกิดมี เป็นลำดับขั้นตอนอย่างนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
——
ตัณหากลัวยาก กลัวลำบาก เมื่อปัญญารู้ว่าดี มีประโยชน์ ถึงยาก ถึงลำบาก ก็ไม่กลัว
——
อาศรมขันติสาร ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖
แหล่งที่มา #Phramaha Fookij Jutipanyo