5. สิ่งแทนที่การสูบทรัพยากรจากชาติอาณานิคม
“ฉันเหนื่อยกับการรอแล้ว นายก็เป็นเหมือนกันไหม รอให้โลกเป็นที่ที่ดีงาม สวยงาม และโอบอ้อมอารี เราเอามีดมาผ่าโลกนี้ให้เป็นสองซีกกันเถอะ และดูซิว่าหนอนอะไรที่กัดกินอยู่ที่ผิวของมัน”
–Langston Hughes
ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นตัวจากสงครามค่อนข้างมาก และกลับสู่การเติบโตด้านอุตสาหกรรมได้อย่างดี ในขณะที่เหล่าประเทศโลกที่สามนั้นไม่เหลือแล้วซึ่งเงินทุน แม้ประเทศเหล่านี้จะเคยมีงบการเงินที่ดีในช่วงยุค 1940 และต้นยุค 1950 ก็ตาม แต่เหล่าประเทศยากจนที่เป็นผู้ส่งออกปัจจัยการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมต้องเผชิญปัญหาด้านดุลการชำระเงิน เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกของพวกเขาตกต่ำลงอย่างมาก
นี่คือจุดเริ่มต้นของกับดักหนี้ และเป็นจุดที่ธนาคารโลกและกองทุน IMF เปิดประตูสู่สิ่งที่ต่อมาจะกลายเป็นเงินปล่อยกู้มูลค่านับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ณ จุดนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคล่าอาณานิคมอย่างเป็นทางการ โดยจักวรรดิในยุโรปได้ถอนตัวออกจากดินแดนที่เคยได้ครอบครอง และข้อสมมติฐานในด้านการพัฒนาที่ถูกตั้งขึ้นระดับนานาชาติก็คือเหล่าประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจได้สำเร็จนั้นเป็นผลมาจาก “ปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก โดยประเทศที่มีรายได้สูงสามารถประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจได้”
ทฤษฎียังระบุอีกว่า “เป็นเพราะการมีธรรมาภิบาลที่ดี มีสถาบันการเมืองที่เข็มแข็ง และมีการดำเนินเศรษฐกิจภายใต้ตลาดเสรี ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำที่มักจะล้มเหลวในการพัฒนานั้นเป็นเพราะไม่มีสิ่งเหล่านี้ หรือไม่ก็เจอปัญหาจากการคอร์รัปชั่น หรือกฎระเบียบที่ยุ่งยากเกินไป หรือกระทั่งความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ”
สิ่งเหล่านี้ก็แน่นอนว่าเป็นความจริง แต่อีกหนึ่งเหตุผลหลักที่ชาติร่ำรวยสามารถร่ำรวยขึ้นมาได้ และชาติที่ยากจนนั้นกลับยิ่งยากจนลงไปอีก เป็นเพราะกลุ่มประเทศร่ำรวยได้ปล้นทรัพยากรจากประเทศยากจนมาอย่างยาวนานนับร้อย ๆ ปีในช่วงยุคล่าอาณานิคม
“ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษนั้น” คุณ Jason Hickel ได้เขียนไว้ว่า “ส่วนใหญ่แล้วจำเป็นต้องพึ่งพา “ต้นฝ้าย” ซึ่งเพาะปลูกบนพื้นที่ที่ใช้กำลังยึดมาจากชนเผ่าท้องถิ่นอเมริกัน แรงงานที่ใช้ในการเพาะปลูกก็เป็นทาสชาวแอฟริกัน ส่วนวัตถุดิบสำคัญอื่น ๆ ที่ผู้ผลิตชาวอังกฤษต้องการ เช่น ใยป่าน ไม้ซุง แร่เหล็ก และเมล็ดธัญพืช ถูกผลิตโดยใช้แรงงานทาสบนดินแดนในอาณัติแถบรัสเซียและยุโรปตะวันออก ในขณะเดียวกันอังกฤษยังดึงเม็ดเงินจากอินเดียและอาณานิคมอื่น ๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณประเทศ เพื่อมาใช้สร้างถนน อาคารสาธารณะ และรัฐสวัสดิการ ทั้งหมดนี้คือตัวบ่งชี้ถึงการพัฒนาในยุคสมัยใหม่ ในขณะเดียวกันก็ทำให้ประเทศมีความสามารถที่จะซื้อปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต่อการเปลี่ยนตัวเองให้เป็นชาติอุตสาหกรรมต่อไป”
พลวัตในการโจรกรรมนี้ได้ถูกอธิบายโดยคุณ Utsa และคุณ Prabhat Patnaik ในหนังสือ “เงินทุนและจักรวรรดินิยม (Capital And Imperialism)” เจ้าอาณานิคมอย่างจักวรรดิอังกฤษจะใช้ความรุนแรงเพื่อปล้นทรัพยากรจากประเทศที่อ่อนแอกว่า และสร้างสิ่งที่เรียกว่า “การสูบออกจากชาติอาณานิคม (Colonial Drain)” โดยจะทำการสูบออกในส่วนของเงินทุนเพื่อนำมาส่งเสริมและอุดหนุนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในกรุงลอนดอน ปารีส และเบอร์ลิน โดยบรรดาชาติอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนวัตถุดิบเหล่านี้ให้กลายเป็นสินค้าสำเร็จรูป และขายมันกลับไปสู่ชาติที่อ่อนแอกว่า
สินค้าเหล่านี้สร้างผลกำไรมหาศาลและยังบีบให้ผู้ผลิตท้องถิ่นต้องออกจากตลาดไป โดยจุดสำคัญคือพวกเขาจะพยายามทำให้เงินเฟ้อในประเทศตัวเองต่ำ โดยการกดค่าแรงในประเทศใต้อาณานิคม ไม่ว่าจะด้วยการใช้แรงงานทาสแบบฟรี ๆ หรือการจ่ายค่าแรงในอัตราที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกอย่างน่าเกลียด
เมื่อระบอบอาณานิคมนั้นเริ่มสั่นคลอน เหล่าชาติตะวันตกก็พบกับวิกฤติทางการเงิน โดยคุณ Patnaiks ได้แย้งว่าสาเหตุที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ไม่ได้มาจากแค่การเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินของชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสูบความมั่งคั่งออกจากประเทศใต้อาณานิคมนั้นชะลอตัวลงด้วย เหตุผลก็ง่ายมาก นั่นคือประเทศที่ร่ำรวยได้สร้างระบบสายพานที่คอยส่งทรัพยากรจากประเทศที่ยากจนเข้าสู่ประเทศตัวเองเอาไว้ และเมื่อสายพานนั้นพัง สิ่งที่เหลือก็พังตาม
ในช่วงระหว่างปี 1920-1960 ลัทธิล่าอาณานิคมทางการเมืองนั้นแทบจะสูญพันธุ์แล้ว โดยอังกฤษ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และจักรวรรดิอื่น ๆ ต่างถูกบังคับให้สละอำนาจการควบคุมดินแดนและทรัพยากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
อย่างที่คุณ Patnaiks ได้เขียนไว้ว่าลัทธิจักรวรรดินิยมคือ “การเข้าไปจัดการและบังคับใช้ ‘การกดรายได้’ ผู้คนในประเทศโลกที่สาม เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าโภคภัณฑ์หลักของประเทศนั้น ๆ โดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาราคาของอุปทานพุ่งสูงขึ้น”
โดยหลังจากปี 1960 สิ่งนี้ก็กลายเป็นหน้าที่ใหม่ของธนาคารโลกและ IMF นั่นคือการสร้าง “ระบบ” สูบทรัพยากรจากประเทศที่ยากจนสู่ประเทศที่ร่ำรวยขึ้นมาอีกครั้ง ระบบที่แต่เดิมเคยดำรงอยู่ได้ด้วยการบังคับใช้ของระบอบจักรวรรดินิยม
*คำอธิบายแผนภูมิ: การสูบทรัพยากรหลังยุคอาณานิคมจากประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (หน่วยพันล้านดอลลาร์สหรัฐ)*
- *แกนแนวตั้ง : หน่วยมูลค่า พันล้านดอลลาร์สหรัฐ*
- *แนวนอน : ปี*
- *แหล่งที่มา : Plunder In The Post Colonial Era* ———–
หน่วยงานในทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นต่างก็ต้องการให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ดุลยภาพภายใน (Internal Equilibrium)” พูดอีกนัยคือมีอัตราจ้างงานเต็มอัตรา แต่พวกเขารู้ว่าไม่สามารถทำให้สิ่งนี้เกิดได้ง่าย ๆ เพียงอัดฉีดเงินอุดหนุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบปิดที่แยกตัวเป็นเอกเทศ เพราะเงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นอย่างที่ควบคุมไม่ได้ และการที่จะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จจำเป็นต้องมีทรัพยากรจากประเทศที่ยากจนป้อนเข้ามา
การสูบมูลค่าส่วนเกินที่มากเป็นพิเศษออกมาจากเหล่าแรงงานในกลุ่มประเทศชายขอบ ซึ่งกลุ่มประเทศแกนกลางกระทำมาตลอดนั้น เป็นที่รู้จักกันในนาม “ค่าเช่าต่อระบอบจักรวรรดิ (Imperialist Rent)” ยิ่งถ้าบรรดาชาติอุตสาหกรรมสามารถได้มาซึ่งวัตถุดิบและแรงงานการผลิตในราคาถูก และหลังจากนั้นยังสามารถขายสินค้าที่ผลิตเสร็จกลับไปให้ในราคาที่ได้กำไร พวกเขาก็จะยิ่งขยับเข้าใกล้ระบบเศรฐกิจในฝันตามแบบฉบับเทคโนแครตได้อีกนิด
และสุดท้ายพวกเขาก็ได้สิ่งนั้นมาจริง ๆ ด้วย โดยในปี 2019 ค่าแรงของคนงานในประเทศที่กำลังพัฒนานั้นอยู่ในระดับเพียงร้อยละ 20 ของค่าแรงของคนงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว
โดยตัวอย่างเพื่อที่จะให้เห็นภาพว่าธนาคารโลกสร้างพลวัตของการสูบเงินทุนออกจากอาณานิคมขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร คุณ Payer ได้ยกกรณีของประเทศมอริเตเนียที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกาในช่วงปี 1960
กรณีนี้ถือเป็นเหตุการณ์คลาสสิก โดยโครงการเหมืองแร่ที่ชื่อ MIFERMA ได้รับการอนุมัติโดยฝรั่งเศสผู้ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมก่อนที่อาณานิคมนี้จะประกาศอิสรภาพ ซึ่งในที่สุดแล้วข้อตกลงนี้ก็กลายเป็น “โครงการที่แยกออกจากส่วนอื่นของประเทศ เนื่องจากตัวมันเองคือเมืองกลางทะเลทรายที่มีทางรถไฟต่อไปที่ทะเล” โดยที่โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ก็มีไว้เพื่อขุดเอาสินแร่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ จนในปี 1969 ที่อุตสาหกรรมเหมืองแร่มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและร้อยละ 75 ของสินค้าส่งออกของมอริเตเนียนั้น รายได้กว่าร้อยละ 72 ถูกส่งไปยังต่างประเทศและ “รายได้ในส่วนที่คนงานท้องถิ่นควรได้รับ เกือบทั้งหมดก็หายไปกับการใช้นำเข้าสินค้า”
และเมื่อเหล่าคนงานเหมืองลุกขึ้นรวมตัวกันประท้วงข้อตกลงสไตล์อาณานิคมรูปแบบใหม่นี้ พวกเขาก็ถูกเหล่ากำลังทหารและตำรวจปราบปรามอย่างรุนแรง
*คำอธิบายแผนภูมิ : มูลค่าเงินที่ถูกสูบออกจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ตั้งแต่ปี 1960-2017 แยกตามภูมิประเทศ (หน่วยล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)*
- *ข้อมูลในแต่ละช่อง : ประเทศจีน 18.76, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเขตแปซิฟิก 11.13, แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง 10.09, ประเทศชายขอบยุโรป 8.75, ลาตินอเมริกาและแถบหมู่เกาะคาริเบียน 6.48, เอเชียใต้ 4.62 และประเทศในเขตแอฟริกาใต้ทะเลทรายชาฮารา 2.26*
- *แหล่งที่มา : Plunder In The Post Colonial Era* ———–
MIFERMA ถือเป็นเพียงตัวอย่างจากรวม ๆ ของสิ่งที่เรียกว่า “การพัฒนา” ที่ถูกบังคับใช้กับประเทศโลกที่สามทั้งหมด ตั้งแต่สาธารณรัฐโดมินิกัน ถึงมาดากัสการ์ ไปจนกัมพูชา โครงการเหล่านี้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงปี 1970 โดยต้องขอบคุณระบบเปโตรดอลลาร์ที่ทำให้มันเกิดขึ้น
ในช่วงหลังปี 1973 ชาติอาหรับในกลุ่ม OPEC ที่มีเงินเหลือใช้มหาศาลจากราคาน้ำมันที่พุ่งทะยาน ได้นำเงินไปลงทุนในเงินฝากธนาคารและพันธบัตรรัฐบาลในธนาคารของชาติตะวันตก ทำให้ธนาคารเหล่านี้จำเป็นต้องหาแหล่งเพื่อจะปล่อยกู้เงินฝากที่กำลังเติบโตขึ้นออกไป โดยเหล่าเผด็จการทหารในลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ถือเป็นเป้าหมายที่ยอดเยี่ยม เพราะพวกเขามีความโหยหาผลตอบแทนระยะสั้นที่สูง (High Time Preference) และยินดีที่จะกู้เงินมาใช้ โดยเอาอนาคตของประชาชนทั้งชาติเป็นเดิมพัน
สิ่งที่ช่วยเร่งการเติบโตของเงินกู้นั้นคือ “IMF พุท (IMF Put)” โดยธนาคารเอกชนเริ่มมีความเชื่อ (ซึ่งถูกต้อง) ว่าหากประเทศใดเกิดผิดนัดชำระหนี้ ทางกองทุน IMF ก็พร้อมจะให้เงินกู้ช่วยเหลือ เพื่อช่วยปกป้องการลงทุนของพวกเขา
ยิ่งไปกว่านั้น อัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางยุค 1970 มักจะอยู่ในระดับติดลบ จึงกระตุ้นให้เกิดการกู้เงินมากขึ้นไปอีก เมื่อเหตุการณ์นี้รวมเข้ากับการที่ประธานธนาคารโลกอย่างโรเบิร์ต แม็กนามารา (Robert McNamara) ยืนยันที่จะขยายความช่วยเหลือออกไปอย่างมหาศาล มันส่งผลให้เกิดการสร้างหนี้ขึ้นอย่างบ้าคลั่ง ตัวอย่างเช่นธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งปล่อยเงินกู้ให้ประเทศโลกที่สามเพิ่มขึ้นกว่า 300% เป็นมูลค่าถึง 450,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงระหว่างปี 1978-1982
หมายเหตุผู้แปล : “พุท” ในที่นี้มีที่มาจากคำว่า “พุทออปชั่น” (Put Option) หมายถึง สิทธิ์ในการขายทรัพย์สินอ้างอิง (Underlying Asset) ในอนาคต ณ ราคาที่ได้ตกลงไว้ล่วงหน้า โดยผู้ที่ซื้อหรือครอบครองสิทธิ์นี้ไว้จะมีสิทธิ์ที่จะขายทรัพย์สินอ้างอิงนั้น ๆ ในอนาคตตามราคาที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ครอบครองสิทธิ์ในกรณีที่ราคาของสินทรัพย์อ้างอิงนั้นลดลงในอนาคต ในทางปฏิบัติแล้ว สิ่งนี้สามารถนำมาใช้ทำหน้าที่ซึ่งคล้ายกับการทำประกันราคา ที่จะช่วยชดเชยส่วนต่างในกรณีที่ราคาของทรัพย์สินอ้างอิงลดต่ำลงได้ ดังนั้นหลักการทำงานของ IMF Put จึงมีความคล้ายคลึงกับ Put Option ของทรัพย์สินโดยทั่วไป ถึงแม้ว่า IMF Put จะไม่ได้มีการทำสัญญาพุทออปชั่นใด ๆ อย่างเป็นทางการก็ตาม เพียงแต่เปลี่ยนจากทรัพย์สินหรือสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไปมาเป็นทรัพย์สินที่เรียกว่า “ลูกหนี้จากการปล่อยกู้”
ปัญหาคือเงินกู้เหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว และไม่กี่ปีหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็พุ่งสูงขึ้นมาก เพราะธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มต้นทุนของเงินทุนทั้งโลกถึงเกือบร้อยละ 20 และเมื่อมีภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับวิกฤตน้ำมันแพงในปี 1979 สิ่งที่ตามมาคือการล่มสลายของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกซึ่งเคยเป็นตัวขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนา จนนำไปสู่วิกฤตหนี้สินของประเทศโลกที่สาม และที่แย่ไปกว่านั้นคือเงินที่รัฐบาลต่าง ๆ กู้มาในช่วงที่มีการปล่อยกู้อย่างบ้าคลั่งนี้ แทบจะไม่ได้มีการนำมาใช้ลงทุนเพื่อประชาชนทั่วไปเลย
*คำอธิบายชาร์ต : การเพิ่มขึ้นของเงินที่ใช้ชำระหนี้ของประเทศโลกที่สาม นับตั้งแต่ปี 1970 (หน่วยพันล้านดอลลาร์สหรัฐ)*
- *แถวซ้ายสีดำ : หนี้สาธารณะนอกประเทศ*
- *แถวขวาสีส้ม : หนี้นอกประเทศของเอกชน*
- *แหล่งที่มาของข้อมูล : Debt, the IMF, and the World Bank* ———–
นักข่าวสายสืบสวนอย่างคุณ Sue Branford และคุณ Bernardo Kucinski ได้อธิบายไว้ในหนังสือที่มีชื่อเหมาะเจาะกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่าง “Debt Squads” ว่าระหว่างปี 1976-1981 รัฐบาลของประเทศในเขตลาตินอเมริกา (ซึ่งเป็นรัฐบาลเผด็จการมากถึง 18 รายจากทั้งหมด 21 ชาติ) มีการกู้ยืมเงินรวมกันกว่า 272,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร้อยละ 91.6 ของเม็ดเงินนี้ถูกใช้เพื่อชำระหนี้หรือถูกโอนถ่ายออกนอกประเทศ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนสำรองของเหล่าผู้มีอำนาจ เหลือแค่ร้อยละ 8.4 ที่ถูกใช้เพื่อการลงทุนภายในประเทศ และซ้ำร้ายกว่านั้นคือส่วนใหญ่มันเป็นการลงทุนแบบทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ที่สุดท้ายแล้วสูญเปล่า
นักสนับสนุนกิจกรรมด้านสังคมชาวบราซิล คุณ Carlos Ayuda อธิบายเอาไว้อย่างเห็นภาพถึงผลกระทบของการถูกสูบเงินออกจากประเทศตัวเอง โดยมีกลไกระบบเปโตรดอลลาร์หนุนหลัง
“พวกเผด็จการทหารกู้เงินเพื่อมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ตัวอย่างเช่น แนวคิดเบื้องหลังในการสร้างเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ยักษ์ที่ตั้งอยู่กลางป่าแอมะซอนนั้น ก็เพื่อผลิตอลูมิเนียมส่งออกไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยรัฐบาลได้กู้เงินมูลค่ามหาศาลและลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างเขื่อน Tucuruí ในช่วงปลายยุค 1970 ด้วยการทำลายป่าไม้ในพื้นที่ และย้ายชาวพื้นเมืองกับคนยากไร้ในเขตชนบทโดยรอบที่อาศัยอยู่ในแถบนั้นมาหลายชั่วอายุคนออกจากพื้นที่
เดิมทีทางรัฐบาลตั้งใจที่จะรื้อถอนต้นไม้ออกไป แต่เนื่องด้วยกำหนดเวลาที่กระชั้นชิด พวกเขาจึงเลือกใช้ “ฝนเหลือง” เพื่อทำให้ใบไม้ของต้นไม้ทั่วทั้งเขตร่วงจากต้น และปล่อยให้ลำต้นที่ไร้ใบเหล่านั้นจมน้ำไป หลังจากนั้นพลังงานไฟฟ้าที่เขื่อนผลิตได้จะถูกขายในราคา 13-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ ในขณะที่ราคาต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 48 ดอลลาร์สหรัฐต่อเมกะวัตต์ แปลว่าประชาชนผู้เสียภาษีจะต้องแบกภาระจ่ายเงินอุดหนุนให้บริษัทข้ามชาติได้ใช้พลังงานราคาถูก เพื่อที่พวกเขาจะได้ขายอลูมิเนียมของประเทศเราเองออกไปยังตลาดต่างประเทศ”
หมายเหตุผู้แปล : ฝนเหลือง (Agent Orange) เป็นสารฆ่าวัชพืชและทำให้ใบไม้ร่วง ถือเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยทางกองทัพสหรัฐเคยใช้สารเคมีนี้ในสงครามเวียดนามช่วงปี 1961-1971 ในการทำให้ใบไม้ร่วงและเปิดป่าให้โล่ง เพื่อที่จะสามารถเห็นความเคลื่อนไหวของข้าศึกที่ซ่อนอยู่ในป่าทึบได้
พูดอีกนัยหนึ่งคือ ชาวบราซิลจ่ายเงินให้เจ้าหนี้จากต่างประเทศเข้ามาทำลายสิ่งแวดล้อม ขับไล่พวกเขาออกจากถิ่นฐาน และปล้นเอาทรัพยากรของพวกเขาไปขาย
การสูบเอาทรัพยากรจากประเทศที่รายได้ต่ำและปานกลางในทุกวันนี้มีมากอย่างน่าตกใจ โดยในปี 2015 รวมแล้วมีทรัพยากรเพื่อการผลิตกว่า 10,100 ล้านตัน และแรงงาน 182 ล้านคน-ปี ซึ่งถือเป็นกำลังการผลิตถึงร้อยละ 50 ของสินค้าทั้งหมด และร้อยละ 28 ของแรงงานทั้งหมดในปีนั้นถูกใช้งานโดยประเทศที่มีรายได้สูง
หมายเหตุผู้แปล : คน-ปี (person-year) เป็นหน่วยวัดเพื่อบอกปริมาณของงานที่บุคคลทำตลอดระยะเวลา 1 ปี ตัวอย่างเช่น 5 คน-ปี คือปริมาณงานที่คน 5 คนทำได้ในช่วงตลอด 1 ปี หรือเทียบเท่างานที่คน 1 คน ทำได้ในช่วงตลอด 5 ปี
และอย่างที่เอ่ยไปแล้วข้างต้นว่าผู้คนที่ชีวิตสุขสบายในชาติร่ำรวย ไม่เคยรู้เลยว่าความเจริญของบ้านเมืองตนเองนั้น ต้องแลกมากับชีวิตที่ตกนรกทั้งเป็นของคนกี่ล้านคนทั่วโลก..
⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ
(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)