7. สร้างการพึ่งพิงด้านการเกษตร
“ความคิดที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาควรจะหาเลี้ยงตัวเองได้ ถือเป็นสิ่งหลงยุคที่ล้าสมัยแล้ว มันจะดีกว่าถ้าความมั่นคงทางอาหารของพวกเขาอยู่ได้ด้วยการพึ่งพิงผลผลิตทางการเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะมีให้พร้อม ในราคาที่ถูกกว่า”
–อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ จอห์น บล็อค
ผลลัพธ์ของนโยบายธนาคารโลกและกองทุน IMF ทำให้ประเทศทั่วเขตลาตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก ที่เคยผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ แต่ ณ ตอนนี้กลับต้องนำเข้าอาหารมาจากประเทศที่ร่ำรวย ทั้งที่การผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ถือเป็นสิ่งสำคัญมากเมื่อมองย้อนกลับไป เพราะในระบบการเงินโลกหลังปี 1944 เป็นต้นมา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ได้ถูกตั้งราคาด้วยสกุลเงินท้องถิ่นอีกแล้ว แต่มันถูกตั้งราคาในสกุลดอลลาร์สหรัฐ
โดยดูตัวอย่างจากข้าวสาลีซึ่งมีราคาตั้งแต่ 200 ถึง 300 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงระหว่างปี 1996-2006 หลังจากนั้นราคาก็พุ่งทะยานไปแตะจุดสูงสุดที่เกือบ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2021
ถ้าประเทศของคุณปลูกข้าวสาลีกินเองได้ ก็จะสามารถผ่านวิกฤตด้านราคานี้ไปได้ แต่ถ้าประเทศของคุณต้องนำเข้าข้าวสาลี ประชาชนของคุณก็อาจเสี่ยงอดตาย นี่คือหนึ่งในสาเหตุว่าทำไม ณ ตอนนี้ประเทศอย่างปากีสถาน ศรีลังกา อียิปต์ กานา และบังกลาเทศ ถึงต้องหันไปพึ่ง IMF เพื่อขอเงินกู้ฉุกเฉิน
จากประวัติศาสตร์แล้ว ในยามที่ธนาคารโลกให้เงินกู้นั้น โดยส่วนใหญ่เพื่อให้นำไปใช้ทำการเกษตร “สมัยใหม่” แบบเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ เพื่อดึงทรัพยากรออกมาจากประเทศผู้กู้ ไม่ใช่เพื่อพัฒนาธุรกิจหรืออุตสาหกรรมการผลิตหรือการทำฟาร์มเพื่อการบริโภคภายในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยผู้กู้จะถูกผลักดันให้เพ่งความสนใจไปยังการส่งออกวัตถุดิบ (น้ำมัน, แร่, กาแฟ, เมล็ดโกโก้, น้ำมันปาล์ม, ชา, ยางธรรมชาติ, ฝ้าย และอื่น ๆ) และผลักดันการนำเข้าสินค้าที่ผลิตสำเร็จรูป อาหาร และส่วนประกอบสำหรับการเกษตรยุคใหม่ เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รถแทรกเตอร์ และเครื่องมือทดน้ำ
โดยผลลัพธ์ที่ได้คือสังคมอย่างเช่นประเทศโมร็อกโกที่สุดท้ายแล้วต้องนำเข้าข้าวสาลีและน้ำมันถั่วเหลือง แทนที่จะอยู่ดีกินดีด้วย “กุสกุส” ของท้องถิ่นและน้ำมันมะกอก พวกเขากลายเป็นต้อง “ติดกับดัก” ที่จำเป็นต้องพึ่งพาประเทศอื่น ส่วนรายได้ที่ได้มานั้น โดยปกติแล้วชาวไร่ก็แทบไม่ได้ผลประโยชน์อะไร เพราะมันถูกนำไปเพื่อใช้จ่ายหนี้จากต่างประเทศ เพื่อซื้ออาวุธ เพื่อนำเข้าสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย หรือแม้แต่ไหลเข้าบัญชีธนาคารที่สวิตเซอร์แลนด์ รวมทั้งใช้ปราบปรามความไม่สงบเรียบร้อยจากผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐ
หมายเหตุผู้แปล : กุสกุส (Couscous) เป็นอาหารหลักในเขตแอฟริกาเหนือ ได้จากการนำแป้งเซโมลีนา (แป้งข้าวสาลีบดหยาบ ๆ ให้เป็นเม็ดเล็ก) หรือหญ้าไข่มุก หรือข้าวฟ่าง หรือธัญพืชอื่น ๆ มาผ่านความร้อนด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เช่น แช่น้ำร้อนหรือนึ่ง และโดยปกติแล้วจะมีการราดสตูไว้ด้านบน
ลองดูกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกบางประเทศ ซึ่งในปี 2020 หรือหลังจาก 50 ปีของการปฏิบัติตามนโยบายธนาคารโลกและกองทุน IMF สินค้าส่งออกของประเทศต่าง ๆ เป็นดังนี้
- ประเทศไนเจอร์ร้อยละ 75 คือแร่ยูเรเนียม
- ประเทศมาลี ร้อยละ 72 คือทองคำ
- ประเทศแซมเบีย ร้อยละ 70 คือทองแดง
- ประเทศบุรุนดี ร้อยละ 69 คือเมล็ดกาแฟ
- ประเทศมาลาวี ร้อยละ 55 คือใบยาสูบ
- ประเทศโตโก ร้อยละ 50 คือฝ้าย
และยังมีประเทศแบบนี้อีกหลายแห่ง โดยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สินค้าชนิดเดียวที่ถูกส่งออกเป็นหลักเหล่านี้แทบจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งเดียวที่ใช้ในการหาสกุลเงินที่แข็งแกร่งเข้าประเทศ
นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ เพราะทรัพยากรเหล่านี้ไม่ได้ถูกขุดหรือถูกผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคในประเทศ แต่มันกลับถูกใช้ในโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีน ซูเปอร์มาร์เก็ตของเยอรมนี อุตสาหกรรมบุหรี่ของอังกฤษ และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของสหรัฐอเมริกา หรือพูดในอีกแง่หนึ่ง พลังงานของแรงงานในประเทศเหล่านี้ถูกวางโครงสร้างไว้เพื่อนำมาใช้ป้อนและขับเคลื่อนสังคมในประเทศอื่น แทนที่จะถูกใช้เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเองและทำให้ประเทศชาติเจริญก้าวหน้ามากขึ้น
คุณ Alicia Koren ซึ่งเป็นนักวิจัยได้เขียนเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายธนาคารโลกต่อเกษตรกรรมโดยทั่วไปในประเทศคอสตาริกาที่ซึ่ง “การปรับโครงสร้างของประเทศทำไปเพื่อการหาสกุลเงินที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นสำหรับนำมาจ่ายหนี้ต่างประเทศนั้น บังคับให้ชาวไร่ดั้งเดิมที่ปลูกถั่ว ข้าว และข้าวโพดเพื่อการบริโภคภายในประเทศ ต้องหันไปปลูกพืชสำหรับการส่งออกที่ไม่ใช่พืชดั้งเดิมในท้องถิ่น เช่น ไม้ประดับ ดอกไม้ เมล่อน สตรอว์เบอร์รี และพริกยักษ์แดง อุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าพวกนี้จะได้รับการยกเว้นอากรและภาษี ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ผู้ผลิตสินค้าดั้งเดิมในประเทศไม่ได้รับ”
“ในขณะเดียวกันนั้น” คุณ Koren เขียน “ข้อตกลงในการปรับโครงสร้างยังระบุให้ยุติการสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าในประเทศ ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วทำการกดดันกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาให้ยกเลิกเงินอุดหนุนการเกษตรดั้งเดิม และยกเลิก ‘กำแพงทางการค้า’ ที่มีอยู่อีกด้วย แต่รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วกลับอัดเงินนับหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าสู่ภาคเกษตรกรรมของชาติตนเอง ทำให้เป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวไร่ที่ปลูกธัญพืชแบบดั้งเดิมในประเทศกำลังพัฒนา จะไปแข่งกับอุตสาหกรรมการเกษตรที่ได้รับเงินอุดหนุนมหาศาลของประเทศที่พัฒนาแล้ว”
คุณ Koren ได้ขยายความการวิเคราะห์ในกรณีของประเทศคอสตาริกาบ้านเกิดของเธอ เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นที่กว้างกว่านั้น นั่นคือ “ข้อตกลงการปรับโครงสร้างได้หันเหค่าใช้จ่ายของรัฐบาล จากการอุดหนุนสิ่งจำเป็นที่คนยากจนและคนชั้นกลางบริโภคทุกวัน ไปสู่การอุดหนุนการส่งออกพืชผลที่ไม่จำเป็น ซึ่งถูกผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของชาติร่ำรวย” ประเทศโลกที่สามเหล่านี้ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน แต่ถูกมองเหมือนเป็นเพียงบริษัทเอกชนที่จำเป็นต้องเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายเท่านั้น
คำให้การของอดีตเจ้าหน้าที่รัฐของประเทศจาเมกานั้นยิ่งบ่งบอกได้ชัดเจน โดยกล่าวไว้ว่า “พวกเราบอกทีมงานของธนาคารโลกแล้วว่า แค่นี้เหล่าชาวไร่ก็แทบจะจ่ายหนี้ไม่ไหวแล้ว และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้พวกเขาต้องเลิกกิจการ ทางธนาคารโลกตอบกลับมาในเรื่องนี้ว่า ‘นี่ก็หมายความว่าตลาดกำลังบอกพวกคุณว่าการเกษตรนั้นไม่ใช่สิ่งที่ประเทศจาเมกาควรจะทำ’ พวกเขากำลังบอกว่าพวกเราควรเลิกทำการเกษตรกันทั้งหมด”
“ธนาคารโลกและ IMF” เจ้าหน้าที่รัฐคนเดิมกล่าว “ไม่เคยต้องกังวลเกี่ยวกับเหล่าชาวไร่และบริษัทท้องถิ่นที่จะต้องเลิกกิจการ หรือค่าแรงที่ต่ำจนไม่พอยาไส้ หรือแม้กระทั่งความวุ่นวายในสังคมที่จะตามมา พวกเขาคิดแค่ว่ามันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องมีกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติที่แข็งแกร่งมากพอที่จะสามารถปราบปรามความไม่สงบใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น”
รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนานั้นติดกับดัก เพราะท่ามกลางหนี้สินที่มากเกินจะรับมือได้ สิ่งเดียวที่พวกเขายังสามารถควบคุมได้จริง ๆ เพื่อใช้เพิ่มรายได้ขึ้นมาก็คือการกดค่าแรง ซึ่งหากใช้วิธีการนี้ พวกเขาก็จะต้องจ่ายเงินอุดหนุนในส่วนของปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น ไม่เช่นนั้นแล้วพวกเขาก็จะถูกประชาชนโค่นล้มจากอำนาจ ซึ่งเมื่อใช้วิธีการนี้ก็จะส่งผลให้หนี้สินประเทศโตเพิ่มขึ้นอีก
แม้ในยามที่ประเทศกำลังพัฒนาจะพยายามผลิตอาหารของตัวเอง แต่ถึงกระนั้น พวกเขาก็ถูกบีบให้ออกจากตลาดโดยฝีมือของตลาดการค้าโลกที่ถูกชักใยจากส่วนกลาง ตัวอย่างเช่น โดยทั่วไปเราคงคิดว่าในดินแดนที่มีแรงงานราคาถูกอย่างแอฟริกาตะวันตก จะเป็นผู้ส่งออกถั่วลิสงที่ดีกว่าสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วได้จ่ายเงินอุดหนุนกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวันให้แก่อุตสาหกรรมการเกษตร ประเทศที่กำลังพัฒนาจึงต้องพบเจอกับความลำบากในการแข่งขัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น มีบ่อยครั้งที่กว่า 50 ถึง 60 ประเทศจะถูกสั่งให้เน้นความสำคัญกับการผลิตพืชผลชนิดเดียวกัน ส่งผลให้ต้องมาแข่งขันกันเองในตลาดโลก โดยเฉพาะยางพารา น้ำมันปาล์ม เมล็ดกาแฟ ใบชา และฝ้าย ถือเป็นของโปรดของทางธนาคารโลก เพราะผู้คนที่ยากจนเอามันไปกินไม่ได้
จริงอยู่ที่การปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ได้สร้างอาหารขึ้นมามากมายบนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและเอเชียตะวันออก แต่ถึงแม้ว่าจะมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านการเกษตร ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้กลับถูกใช้เพื่อการส่งออก และดินแดนหลายส่วนของโลกก็ยังคงเต็มไปด้วยผู้คนที่ขาดสารอาหารมาอย่างยาวนานและต้องพึ่งพาชาติอื่นเพื่อความอยู่รอด ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้ร้อยละ 85 ของอาหารทั้งหมดในกลุ่มประเทศแถบแอฟริกามาจากการนำเข้า โดยพวกเขาจ่ายเงินมากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งคาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะแตะระดับ 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปี 2025 ทั้ง ๆ ที่อาหารเหล่านั้นเป็นสิ่งที่สามารถปลูกและผลิตได้เอง ธนาคารโลกและ IMF ได้เปลี่ยนให้ทวีปที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้านการเกษตร ต้องกลายเป็นดินแดนแห้งแล้งที่ต้องพึ่งพาโลกภายนอกในการหาอาหารเพื่อเลี้ยงดูผู้คนของพวกเขา
หมายเหตุผู้แปล : การปฏิวัติเขียว (Green Revolution) หรือ การปฏิวัติเกษตรกรรมครั้งที่สาม (Third Agricultural Revolution) เป็นกระบวนการทำเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นไปยังการเพิ่มผลผลิตให้ได้จำนวนมาก โดยใช้เทคโนโลยีและวิธีทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในการเพาะปลูก เช่น ธัญพืชที่ให้ผลผลิตสูง ร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และเครื่องจักรทางการเกษตร และการใช้น้ำอย่างมีการควบคุม
เมื่อไตร่ตรองผลลัพธ์จากนโยบายการพึ่งพาต่างชาติแล้ว ทางคุณ Hancock ก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเชื่อโดยทั่วไปที่ว่าผู้คนในประเทศโลกที่สามนั้น “โดยพื้นฐานแล้ว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้”
“เหยื่อของวิกฤต หายนะ และมหันตภัยที่ไร้นามเหล่านี้” เขาได้เขียนว่าต้องทนทุกข์จากความเข้าใจที่ว่า “คนพวกนั้นทำอะไรเองไม่ได้หรอก นอกเสียจากว่าพวกเราผู้ซึ่งร่ำรวยและทรงอำนาจ จะลงไปแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือพวกเขาจากตัวของพวกเขาเอง” แต่จากความจริงที่ว่า “ความช่วยเหลือ” ของพวกเรามีแต่จะทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาพวกเรามากขึ้น ถือเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนที่คุณ Hancock ใช้กระชากหน้ากากของแนวความคิดที่ว่า “มีแต่เราเท่านั้นที่จะช่วยพวกเขาได้” และแสดงให้เห็นว่าภายใต้หน้ากากนั้นมีเพียง “การแสดงที่น่าสมเพชและความหลงผิดครั้งใหญ่หลวง” ได้อย่างชอบธรรม
ถึงแม้ว่ากองทุน IMF จะห่างไกลจากการเล่นบทเป็นคนดีผู้ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากอยู่มาก แต่ถึงขนาดนั้น IMF เองก็ยังไม่แม้แต่จะทำตามธรรมเนียมที่ยึดถือกันมานานข้ามผ่านกาลเวลาของมนุษยชาติ ธรรมเนียมซึ่งเริ่มต้นมายาวนานกว่า 4,000 ปีก่อนโดยพระเจ้าฮัมมูราบี ในอาณาจักรโบราณบาบิลอน ในการละเว้นดอกเบี้ยให้หลังจากเจอภัยพิบัติธรรมชาติ โดยในปี 1985 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเมืองเม็กซิโกซิตี้ คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 5,000 คน และสร้างความเสียหายกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เจ้าหน้าที่ของกองทุน IMF ที่อ้างตัวเองว่าเป็นผู้กอบกู้และคอยให้ความช่วยเหลือเพื่อกำจัดความยากจนและช่วยประเทศต่าง ๆ ให้ผ่านวิกฤตไปได้นั้น รีบเดินทางมาถึงเม็กซิโกซิตี้ในอีกไม่กี่วันถัดมา และเรียกร้องให้เร่งรัดการจ่ายหนี้สินคืน…
หมายเหตุผู้แปล : พระเจ้าฮัมมูราบี (Hammurabi) เป็นกษัตริย์ชาวอามอไรท์องค์ที่ 6 และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกแห่งจักรวรรดิบาบิโลน โดยปกครองในช่วงระหว่างช่วง 1792 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถึง 1750 ปีก่อนคริสต์ศักราช
⚡️ กด Zap ที่ลิงก์นี้ เพื่อเป็นกำลังใจทีมงานผู้เรียบเรียงบทความ
(ทุกยอด zap จะถูกแบ่งอัตโนมัติเข้าวอลเล็ทของผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ, ผู้แปลดราฟต์ 1, ผู้เรียบเรียงดราฟต์ 2-3, กองบรรณาธิการและพิสูจน์อักษรจากไรท์ชิฟต์ พร้อมกันบางส่วนไว้เพื่อเป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรม)