The Austrian Economics of Decentralized Social Media
จริงๆ แล้วตลาดเสรีมันหมายถึงอะไร?
การบรรจบกันของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนและโปรโตคอลอย่าง Nostr ได้มอบอากาศอันบริสุทธิ์ให้กับโลกของโซเชียลมีเดียที่ถูกปกคลุมไปด้วยอำนาจแบบรวมศูนย์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งจินตการและความเป็นไปได้ที่เต็มไปด้วยความหวัง บทความ “ตลาดเสรีกับเสรีภาพทางความคิด” นี้ จะทำหน้าที่เป็นมากกว่าแค่วรรณกรรมเชิงวิขาการ ผมปรารถนาจะให้มันเป็นการเดินทางเชิงปรัชญาที่จะพาพวกเราเจาะลึกไปถึงแก่นแท้ของเสรีภาพส่วนบุคคลและคุณค่าของชุมชน ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียน
เพราะอะไรการศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญในยุคดิจิทัล?
คำตอบคงจะขึ้นวิธีที่เราโต้ตอบ สื่อสาร และกระทั่งความคิด อาณาจักรบนโลกดิจิทัลไม่ได้ถูกใช้เป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น มันเป็นภูมิทัศน์ที่พฤติกรรมของมนุษย์ได้แสดงออกในรูปแบบใหม่และเต็มไปด้วยความซับซ้อน การทำความเข้าใจหลักการของตลาดเสรีไม่เพียงแต่จะมีประโยชน์ แต่ยังจำเป็นต่อการสำรวจภูมิทัศน์ดังกล่าวอีกด้วย เมื่อคุณเดินทางออกสู่อวกาศ คุณจำเป็นต้องมีความเข้าใจในกฏทางฟิสิกส์ ฉันใดก็ฉันนั้น การปราศจากความเข้าใจนี้ เราจะไม่เพียงแค่หลงทางแต่อาจพาลต้องตกไปอยู่ในห้วงอันตราย
เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนซึ่งเน้นไปที่ทางเลือกของปัจเจกบุคคล (Individual choice), ระเบียบทางธรรมชาติ (Spontaneous order) และทฤษฎีคุณค่าเชิงอัตวิสัย (Subjective theory of value) ถือเป็นกรอบแนวคิดที่แข็งแกร่งสำหรับการทำความเข้าใจว่าตลาดเสรีดำเนินการ หรือ ควรดำเนินการอย่างไร เป็นสำนักแห่งความคิดที่ไม่เพียงวิเคราะห์พฤติกรรมของตลาดแต่ยังเจาะลึกไปถึงผลกระทบทางจริยธรรมและปรัชญาของการดำเนินการทางเศรษฐกิจ มันไม่เพียงตั้งคำถามว่าเราจะจัดการทรัพยากรกันอย่างไร แต่ยังถามว่าทำไมเราจึงตัดสินใจเลือกสิ่งเหล่านั้นและเราเป็นใครในกระบวนการดังกล่าว
เมื่อหลักการเก่าแก่นี้มาพบกับโลกล้ำสมัยของโซเชียลมีเดียที่มีการกระจายศูนย์จะเกิดอะไรขึ้น?
Nostr เป็นโปรโตคอลที่รวบรวมเอาทุกการเน้นย้ำของชาวออสเตรียนในเรื่องการกระจายอำนาจและเสรีภาพส่วนบุคคลมาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะทำไปด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจเลยก็ตาม โปรโตคอลนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เป็นพื้นที่เล็กๆ ของสังคมที่จะให้ความสำคัญกับตัวเลือกของบุคคลและความเห็นพ้องต้องกันของชุมชน นี่เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนได้รับเสรีภาพในการเลือก การพูด และทำบางอย่างร่วมกันโดยไร้เงาของศูนย์กลางบ้าอำนาจ
การทำความเข้าใจกับดินแดนที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการเรียกคืนชีวิตทางดิจิทัลของพวกเรา เรียกคืนความรู้สึกแห่งการเป็นหนึ่งในตัวแทนและคุณค่าทางสังคม
สาระสำคัญของตลาดเสรีในเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน
มันก็คือตลาดที่ทุกคนต่างก็มีเสรีภาพกันนั่นแหละ.. หลักการของเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นได้หยั่งรากลึกลงไปในแนวคิดเรื่อง “คุณค่าเชิงอัตวิสัย” (Subjective value) ซึ่งได้วางแนวคิดเอาไว้ว่า มูลค่าของสินค้าและบริการ ถูกกำหนดโดยความชอบและขึ้นกับสถานการณ์ของแต่ละบุคคล มันเป็นความคิดที่ว่าแต่ละคนเป็นผู้ตัดสินที่ดีที่สุดจากความต้องการ ความปรารถนาและแรงบันดาลใจของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์คลาสสิกที่มักกำหนดมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์ไปตามวัตถุประสงค์
เศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิก เกิดขึ้นในยุค Aufklärung หรือ ยุคปรากฏการณ์ทางปัญญาในยุโรป (ช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19) โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Adam Smith เจ้าของผลงาน “The Wealth of Nations”, David Ricardo กับผลงาน “Principles of Political Economy and Taxation” และ John Stuart Mill ที่เป็นกลุ่มผู้นำทางปัญญา หลักการของพวกเขาคือการเน้นไปที่การวิเคราะห์กระบวนการผลิตและการแจกแจงทรัพยากร ระบบตลาดเสรี และความเชื่อในประสิทธิภาพของ “มือที่มองไม่เห็น” ที่จะปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยเชื่อว่าตลาดจะสามารถจัดสรรทรัพยากรได้ดีที่สุดเมื่อปล่อยให้มันทำงานอย่างอิสระ
เศรษฐศาสตร์ออสเตรียน เกิดขึ้นในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 19 เพื่อตอบสนองต่อข้อจำกัดบางอย่างของเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิก โดยนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนอย่าง Carl Menger เจ้าของผลงาน “Principles of Economics”, Ludwig von Mises, และ Friedrich Hayek ได้เน้นไปที่ “การกระทำของมนุษย์” และ “กระบวนการของตลาด” ให้ความสำคัญของการตัดสินใจของบุคคลแต่ละคนซึ่งเน้นความเป็นอัตวิสัย (Subjective) การไม่พยายามคาดการณ์อนาคตแต่พยายามทำความเข้าใจกับความไม่แน่นอน และกระบวนการมากกว่า
นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน เช่น Ludwig von Mises และ Friedrich Hayek ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า การวางแผนจากส่วนกลางไม่สามารถบรรลุประสิทธิภาพของตลาดเสรีได้ เนื่องจากหน่วยงานกลางไม่สามารถจะรู้หรือเข้าใจความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของแต่ละบุคคลได้ สิ่งนี้เรียกว่า “ปัญหาเชิงความรู้” (Knowledge problem) และเป็นข้อบกพร่องขั้นพื้นฐานของเศรษฐกิจที่มีการวางแผนมาจากส่วนกลาง
ลองขยายความส่วนนี้ด้วยสิ่งที่เห็นภาพกันได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบรวมศูนย์ อัลกอริธึมจะทำหน้าที่เป็น “ผู้วางแผนจากส่วนกลาง” (Central planners) โดยจะคอยกำหนดว่าเนื้อหาใดจะปรากฏบนฟีดของคุณ โดยอิงตามสมมติฐานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะเห็นว่ามีคุณค่า คุณจะถูกนําเสนอด้วยเนื้อหาที่แพลตฟอร์มคิดว่าคุณจะชอบ ดักจับคุณในลูปข้อเสนอแนะที่จํากัดมุมมองและจํากัดตัวเลือกของคุณ ราวกับว่าคุณเดินเข้าไปในร้านหนังสือ แต่เจ้าของร้านจะให้คุณเห็นเฉพาะหนังสือที่คุณเคยอ่านหรือคล้ายกับหนังสือที่คุณเคยอ่านแล้วเท่านั้น
แล้วเสรีภาพมันอยู่ตรงไหนกันบนแพลตฟอร์มแบบนี้?
อัลกอริธึมจะสามารถเข้าใจความแตกต่างในความปรารถนาของมนุษย์ หรือ ความซับซ้อนทางความคิดของแต่ละบุคคลได้อย่างแท้จริงไหม?
แนวคิดของออสเตรียนจะโต้แย้งว่ามันคงทำไม่ได้ มันสามารถนำเสนอได้เพียงแค่การประมาณการณ์เพียงคร่าวๆ เท่านั้น ซึ่งมักจะนำไปสู่ “ห้องแห่งสะท้อนเสียง” หรือ “Echo chamber” ซึ่งความหลากหลายทางความคิดจะถูกยับยั้งไม่ให้ปรากฏ
คราวนี้ลองพิจารณาแพลตฟอร์มอย่าง Nostr ซึ่งมีความสอดคล้องกับหลักการของออสเตรียนอย่างลึกซึ้ง ใน Nostr จะไม่มีหน่วยงานกลางมาคอยกำหนดสิ่งที่คุณควรเห็นหรือโต้ตอบ มันได้รับการออกแบบให้เป็นตลาดแลกเปลี่ยนทางความคิดที่เสรี โดยที่ “คุณค่าเชิงอัตวิสัย” ของเนื้อหาจะถูกกำหนดโดยผู้ใช้แต่ละราย คุณดูแลจัดการประสบการณ์ในการเสพเนื้อหาของคุณเอง ซึ่งช่วยแก้ “ปัญหาเชิงความรู้” ที่น่ารำคาญซึ่งมีอยู่บนแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างและเผยแพร่เนื้อหา ตัดสินใจเองว่าต้องการเห็นอะไร อยากโต้ตอบกับใคร และออกแบบชีวิตบนโลกดิจิทัลของตัวเอง ซึ่งมันคล้ายกับการเดินเข้าไปในห้องสมุดขนาดใหญ่ที่ไม่มีผู้คุมหรือบรรณารักษ์ คุณมีอิสระที่จะเดินสำรวจหนังสือต่างๆ ในซอกหรือทางเดินของห้องสมุดที่คุณยังไม่เคยไปถึงมาก่อน ทางเลือกที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่มีเพิ่มอย่างมากมาย แต่ทั้งหมดยังเต็มไปด้วยคุณค่า
เราไม่เพียงแต่เลื่อนดูฟีดกันอย่างไร้สติ แต่ทุกคลิก ทุกแชร์ ทุกโน๊ต ทุกการ Zap กลายเป็นตัวเลือกที่มีสติเต็มไปด้วยความรับผิดชอบส่วนบุคคล และเมื่อชุมชนเริ่มตัดสินใจกันอย่างมีสติ อนุภาพของเครือข่ายก็เริ่มต้นขึ้น Nostr จึงไม่ได้เป็นเพียงคอลเลคชั่นแห่งเสียงร้องของแต่ละบุคคล แต่มันกลายเป็นวงออร์เครสต้าที่ผสานเสียงเพลงกันได้อย่างลงตัว ซึ่งแต่ละเสียงได้มีส่วนในการเสริมสร้างประสบการณ์ในการรับฟังให้กับทั้งวง
เสรีภาพส่วนบุคคล เมื่อใช้มันอย่างมีความรับผิดชอบ จะนำไปสู่ “ระเบียบทางธรรมชาติ” (Spontaneous order) ซึ่งเป็นผลรวมของการร้อยเรียงได้อย่างลงตัวที่เหนือกว่าองค์ประกอบแยกย่อยในแต่ละส่วน
เอาอีกสักตัวอย่าง.. ลองนึกภาพว่าคุณอยู่ในตลาดสด ผู้ขายแต่ละรายในตลาด เปรียบเสมือนผู้ใช้งานบนเครือข่าย Nostr ที่นำเสนอสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว (หรือในกรณีของนี้ ก็คือมุมมองและเนื้อหาที่มีความเป็นเอกลักษณ์) คุณซึ่งเป็นปัจเจกบุคคล ได้เข้าไปเดินเล่นอยู่ในตลาดนี้ มีอิสระที่จะแวะร้านไหนก็ได้ ชิม สนทนา และซื้อ ไม่มีใครมากำหนดทิศทางให้คุณว่าต้องไปที่ไหนหรือทำอะไร ทางเลือกของคุณจะถูกชี้นำโดยรสนิยม ความต้องการ และความตั้งใจของคุณเอง
นี่คือแก่นแท้ของเสรีภาพส่วนบุคคลในเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน และเป็นหลักการชี้นำเบื้องหลังในแพลตฟอร์มอย่าง Nostr
เมื่อเราพูดถึง “เสรีภาพส่วนบุคคล” ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน เรากำลังพูดถึงแนวคิดเชิงปรัชญาอันลึกซึ้งที่นอกเหนือไปจาก “ทางเลือก” แล้ว ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับการยอมรับในเกียรติ (Dignity) และภูมิปัญญา (Wisdom) โดยธรรมชาติของแต่ละบุคคล ในการตัดสินใจที่จะยกระดับชีวิตของพวกเขาและของชุมชนในภาพรวม
เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างระบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวตลาดหรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่เคารพในเกียรตินี้และเปิดพื้นที่ให้กับความรุ่งโรจน์ และในการทำเช่นนั้น เราไม่ได้เพียงแค่สร้างแพลตฟอร์มที่ดีขึ้นกันเท่านั้น แต่เรากำลังสร้างสังคมที่ดีขึ้นและมีมนุษยธรรมมากขึ้นด้วย
อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Subjective value
ทฤษฎีอัตวิสัยเกี่ยวกับคุณค่า เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน และเป็นแนวคิดที่ทั้งเรียบง่ายและมีความลึกซึ้ง ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วมันบอกเราว่า “คุณค่า” ของบางสิ่งบางอย่างไม่ได้มีอยู่ในตัวของวัตถุเอง แต่ถูกกำหนดโดยการรับรู้และความต้องการของแต่ละบุคคลต่างหาก พูดง่ายๆ ก็คือ “บางสิ่งมีค่าเท่าที่ผู้คนคิดเท่านั้น”
#### ตัวอย่างในชีวิตประจำวัน..
สมมติว่าคุณกระหายน้ำในวันที่อากาศร้อนจัดๆ ในขณะนั้น ขวดน้ำ อาจมีค่าอย่างเหลือเชื่อสำหรับคุณ แต่ถ้าเป็นในวันที่อากาศหนาวเย็นและคุณไม่กระหายแต่อย่างใด น้ำขวดเดียวกันนั้นก็อาจไม่มีคุณค่าเท่าใดนัก ซึ่งขวดน้ำไม่ได้เปลี่ยนไป เพราะมันก็คือน้ำขวดเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ความต้องการส่วนตัวของคุณเอง
ทีนี้ลองนึกภาพคุณอยู่ที่ตลาดสด คุณเจอแผงขายของสองแผง แผงแรกขายแอปเปิ้ลออร์แกนิกสด และอีกแผงขายเทียนแฮนด์เมด
สถานการณ์ที่ 1: คุณชอบแอปเปิ้ลและอยากกินมาหลายวันแล้ว สำหรับคุณแล้ว แอปเปิ้ลเหล่านั้นมันมีคุณค่าอย่างเหลือเชื่อ และคุณยินดีจ่ายในราคาสุดพิเศษเพื่อให้ได้กินมันในตอนนั้น ผู้ขายที่ขายแอปเปิ้ลมีสิ่งที่คุณให้ความสำคัญอยู่ในขณะนั้น
สถานการณ์ที่ 2: ในทางกลับกัน.. คุณดันมีเทียนที่บ้านค่อนข้างเยอะแล้ว และคุณไม่จำเป็นต้องซื้อเทียนไปเพิ่มในตอนนี้ แม้ว่าเทียนจะสวยงามและตั้งราคาขายไว้อย่างสมเหตุสมผล แต่เทียนเหล่านั้นกลับมีคุณค่าต่อคุณเพียงเล็กน้อยในขณะนั้น
ในทั้งสองสถานการณ์ ทฤษฎีคุณค่าเชิงอัตวิสัยกำลังมีบทบาทของมันอยู่ แอปเปิ้ลและเทียนไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ การประเมินค่าตามอัตวิสัย ตามความต้องการและความปรารถนาของคุณเอง ราคาที่คุณยินดีจ่ายได้ทำหน้าที่เป็นสัญญาณของมูลค่านั้น
แสดงว่ามูลค่าไม่ได้มีความคงที่ มันลื่นไหลและแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ตามสถานการณ์และความชอบส่วนบุคคล สิ่งนี้ได้ทำให้การโต้ตอบในตลาดมีความคล่องตัวมากขึ้น และในแง่หนึ่ง มันก็มีความเป็นมนุษย์มากขึ้นไม่ใช่หรือ?
ตัวอย่างบน Nostr
ในบริบทของ Nostr ทฤษฎีคุณค่าเชิงอัตวิสัยจะเข้ามามีบทบาท เมื่อผู้ใช้ต้องตัดสินใจว่าเนื้อหาใดที่พวกเขาต้องการจะมีส่วนร่วม โน๊ตที่ผู้ใช้รายหนึ่งพบว่ามีคุณค่าเป็นข้อมูลเชิงลึก ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับโน๊ตอื่นๆ หรือคนที่ไม่ได้มีความสนใจในแบบเดียวกัน คุณค่าจึงไม่ได้อยู่ที่โน๊ต แต่มันขึ้นอยู่กับที่วิธีที่บุคคลนั้นรับรู้
ดังนั้นในสภาพแวดล้อมที่มีการกระจายอำนาจอย่างใน Nostr ทฤษฎีอัตวิสัยของคุณค่าจึงอยู่ในรูปแบบที่บริสุทธิ์ที่สุด ไม่มีอำนาจกลางในการกำหนดสิ่งที่ควรมีคุณค่าหรือคอยควบคุมราคา ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผู้ใช้แต่ละรายและชุดค่านิยมและความต้องการเฉพาะของพวกเขาเอง
สิ่งนี้สอดคล้องอย่างสมบูรณ์แบบกับหลักการเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนที่ว่าด้วยเสรีภาพส่วนบุคคล และ แนวคิดที่ว่าแต่ละคนเป็นผู้ตัดสินความต้องการและความปรารถนาของตนเองได้ดีที่สุด
กลไกราคา (The Price Mechanism)
ในขอบเขตของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน “กลไกราคา” ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือ แต่เป็นภาษาที่สื่อสารการประเมินมูลค่าเชิงอัตวิสัยของบุคคลในตลาด ลุดวิก ฟอน มิเซส (Ludwig von Mises) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน ได้เน้นย้ำเรื่องนี้ไว้ในผลงานชิ้นโบแดงเรื่อง “Human Action” เขาแย้งว่าราคาเกิดขึ้นจากการประเมินมูลค่าเชิงอัตวิสัยของบุคคล และ ทำหน้าที่เป็นสัญญาณที่คอยแนะนำผู้ประกอบการและผู้บริโภคในการตัดสินใจ
จากข้อความของ Mises
“ตลาดเป็นกระบวนการที่กระตุ้นโดยการทำงานร่วมกันของการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือกันภายใต้การจัดสรรแรงงาน (Division of labor)”
ในตลาดเสรี ราคาเป็นผลมาจากการตัดสินใจของแต่ละบุคคลซึ่งมีนับไม่ถ้วน เป็นจุดสมดุลที่อุปทานตรงกับความต้องการและผันผวนไปตามการประเมินมูลค่าเชิงอัตวิสัยของผู้เข้าร่วมในตลาด ตัวอย่างเช่น หากโน๊ตบน Nostr ได้รับการกดไลค์ Zap และแชร์เป็นจำนวนมาก “ราคา” ของโพสต์นั้นในแง่ของทุนทางสังคม (และ “ต้นทุน” ในแง่ของความสนใจและเวลาของคุณ) ก็จะเพิ่มสูงขึ้น “ราคา” ที่สูงขึ้นนี้จะส่งสัญญาณให้กับชุมชนได้ทราบว่าโน๊ตนั้นมีคุณค่า อาจเป็นเพราะมันได้ให้ความเห็นที่ลึกซึ้งหรือเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ หรือได้มอบความบันเทิง/ความพึงพอใจให้กับผู้พบเห็น
อย่างไรก็ตาม.. ความงดงามของระบบการควบคุมตนเองนี้ จะถูกทำลายลงเมื่อการควบคุมจากส่วนกลางเริ่มเข้ามารุ่มร่าม ฟรีดริช ฮาเยก (Friedrich Hayek) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียน ได้เตือนถึง “การตบตาขององค์ความรู้” (Pretense of knowledge) ซึ่งเป็นความเชื่อผิดๆ ที่ว่านักวางแผนจากส่วนกลางจะสามารถครอบครองความรู้ทั้งหมดของบุคคลภายในตลาดได้
เช่น แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ที่ได้ใช้อัลกอริธึมเพื่อสนับสนุนหรือระงับโพสต์บางรายการ มันจะไปบิดเบือนสัญญาณตามธรรมชาติเหล่านี้ ส่งผลให้ “ราคา” ของแต่ละโพสต์จะกลายเป็นเรื่องมารยา ต้นทุนที่แท้จริงของความสนใจจะถูกทำให้สับสน ซึ่งตัวแปรที่ถูกบิดเบือนนี้จะไม่สะท้อนถึงคุณค่าที่แท้จริงต่อชุมชนอีกต่อไป
การบิดเบือนนี้มีผลกระทบทางจริยธรรม มันเป็นเรื่องของเสรีภาพส่วนบุคคล ดังที่เมอร์เรย์ ร็อธบาร์ด (Murray Rothbard) นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียนอีกท่านหนึ่งได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า
“ตลาดคือเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้มีการใช้เสรีภาพในการเลือกของมนุษย์ได้อย่างเต็มที่”
เมื่อกลไกราคาบิดเบี้ยว มันจะจำกัดเสรีภาพในการเลือกนี้ มันคล้ายกับการเข้าไปรบกวนเข็มทิศ ทำให้ผู้คนหลงทางในภูมิประเทศที่พวกเขาพยายามจะนำทางกันเองอย่างอิสระ
เอาล่ะ.. เราจะกลับมาที่ Nostr การไม่มีหน่วยงานกลางทำให้กลไกราคาทำงานได้อย่างเป็นธรรมชาติ โพสต์จะได้รับนิยมหรือเสื่อมความนิยมไปตามการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตรงไปตรงมาว่าชุมชนนั้นให้คุณค่ากับอะไร นี่เป็นตัวอย่างในทางปฏิบัติซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงพลังแห่งเสรีภาพส่วนบุคคลและการตัดสินใจแบบกระจายอำนาจ
ลุดวิก ฟอน มิเซส (Ludwig von Mises) กล่าวไว้ว่า..
“The issue is always the same: the government or the market. There is no third solution.”
“ไม่ว่าอย่างไรก็จะมีเพียงสองทางเลือกเสมอ นั่นคือรัฐบาล หรือไม่ก็ตลาด มันไม่เคยมีทางเลือกที่สาม”
คำกล่าวนี้เน้นย้ำถึงความเชื่อที่ว่ามีเพียงสองทางเลือกเท่านั้นสำหรับการจัดสรรทรัพยากรและการตัดสินใจทางเศรษฐกิจ ด้านหนึ่งคือ “รัฐบาล” ซึ่งหมายถึงการควบคุมและการวางแผนที่มาจากส่วนกลาง ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับกฎระเบียบทางด้านภาษีและเงินสนับสนุนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมตามที่ต้องการ
ในอีกด้านหนึ่ง คือ “ตลาด” ซึ่งเป็นระบบกระจายอำนาจ ที่การตัดสินใจจะกระทำโดยบุคคลตามความต้องการและข้อมูลของตน ในระบบนี้ ราคาจะทำหน้าที่เป็นสัญญาณที่คอยชี้นำการจัดสรรทรัพยากรในลักษณะที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาโดยรวมแต่เป็นแบบกระจายศูนย์ ซึ่งมาจากผู้เข้าร่วมในตลาดทั้งหมด
มิเซส กำลังยืนยันว่ามันไม่มี “วิธีที่สาม” ที่จะสามารถดำเนินการไปได้ โดยที่สามารถรวมเอากลไกทั้งสองนี้เข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องไม่กระทบต่อความสมบูรณ์ของทั้งคู่ด้วย ความพยายามในการที่จะผสมทั้งคู่เข้าด้วยกันซึ่งมักเรียกว่า “เศรษฐกิจแบบผสม”(Mixed economies) ถูกมองว่าจะไม่เกิดเสถียรภาพโดยเนื้อแท้ตามมุมมองของออสเตรียน เพราะจะทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกของราคาและขัดขวางการไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูลที่ตลาดมอบให้
การติดเชื้อทางอารมณ์ของ Facebook (Emotional Contagion)
การที่ Facebook ได้ทำการบิดเบือนการแสดงผลบนฟีดเพื่อทดสอบการติดเชื้อทางอารมณ์ของผู้ใช้งาน ทำให้เราเห็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสิ่งที่ฮาเย็กได้เรียกว่า “การตบตาขององค์ความรู้” หรือ “Pretense of knowledge” ซึ่งเป็นความเชื่ออันหยิ่งผยองที่เชื่อว่าหน่วยงานแบบรวมศูนย์สามารถครอบครองและดำเนินการกับข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในระบบได้ การปรับอัลกอริธึมของ Facebook ได้บิดเบือน “ราคา” ตามธรรมชาติของแต่ละโพสต์ โดยวัดจากการมองเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้ใช้
สิ่งนี้คล้ายคลึงกับการที่รัฐบาลทำการบิดเบือนมูลค่าของสกุลเงิน ซึ่งนำไปสู่การบิดเบือนในการลงทุนและการบริโภค ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ใช่แค่การแสดงความชอบของผู้ใช้ที่บิดเบี้ยวเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลต่อสภาวะทางอารมณ์ของผู้ใช้ที่สามารถวัดผลได้อีกด้วย ทำให้ผู้ใช้ต้องทนบริโภคสิ่งที่มีอยู่ แม้ว่ามันจะไม่สอดคล้องกับความชอบหรือความต้องการทางอารมณ์ที่แท้จริงของตนเลยก็ตาม
การ Shadow-ban ของ X (Twitter)
การปฏิบัติของ X ในการแบนบางบัญชี ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายที่เกิดจากการควบคุมแบบรวมศูนย์ ในมุมมองของออสเตรียน มันก็คล้ายกับการควบคุมราคาที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด ซึ่งนำไปสู่การเกินดุลหรือขาดแคลนขึ้นในตลาด ด้วยการลด “ราคา” (ในแง่ของการมองเห็นและการเข้าถึง) ของ X จากบัญชีเหล่านี้อย่างไม่ได้ตั้งใจ X จึงได้ขัดขวางกระบวนการทางธรรมชาติของอุปสงค์และอุปทานสำหรับข้อมูล นี่เป็นการละเมิดโดยตรงต่อสิ่งที่ มิเซส ได้เคยเน้นย้ำไว้ว่าเป็น “อธิปไตยของผู้บริโภค” ซึ่งเป็นแนวคิดที่กล่าวว่า ผู้บริโภค (หรือในกรณีนี้คือผู้ใช้) ควรเป็นผู้กำหนดทิศทางตลาด (หรือตัวแพลตฟอร์ม) ผ่านตัวเลือกและความชอบของพวกเขาเอง
กระบวนทัศน์ของ Nostr ตัวอย่างในทิศทางตรงกันข้าม
คราวนี้ ลองมาดู Nostr ซึ่งดำเนินการบนหลักการที่สอดคล้องกับเศรษฐศาสตร์ของออสเตรียนอย่างลึกซึ้ง ใน Nostr ไม่มีหน่วยงานกลางที่คอยบงการสิ่งที่เห็นหรือได้ยิน “ราคา” ของแต่ละโน๊ตในแง่ของการมองเห็นและการมีส่วนร่วมนั้นถูกกำหนดโดยการกระทำโดยรวมของผู้ใช้แต่ละราย เป็นการสะท้อนคุณค่าและความสนใจของชุมชนแบบเรียลไทม์และมีชีวิตชีวา โดยปราศจากการบิดเบือนผ่านการวางแผนจากส่วนกลาง นี่คือการดำเนินการในเชิงอุดมคติในแบบออสเตรียน ซึ่งคือคำสั่งที่เกิดขึ้นเองซึ่งเกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์โดยสมัครใจของบุคคลที่เป็นอิสระ
ผลกระทบทางศีลธรรมและปรัชญา
เมื่อราคา (ความสนใจของเรา) ซึ่งเป็นทรัพยากรที่หายากที่สุดในยุคข้อมูลข่าวสารถูกบิดเบือน จะเกิดอะไรขึ้น?
เราถูกชักนำให้หลงทาง ไม่ใช่จากความผิดพลาดในการตัดสินของเราเอง แต่เกิดจากการควบคุมแบบรวมศูนย์ที่มองไม่เห็นแต่กลับทรงพลัง มันทำให้เกิดคำถามทางจริยธรรมว่าใครเป็นผู้กำหนด “คุณค่า” ในความสนใจของเรา? เป็นพวกเรา ผู้ใช้แต่ละราย หรือเป็นหน่วยงานรวมศูนย์ที่คิดว่ารู้ดีไปมากกว่าเรา?
โดยสรุป กรณีศึกษาเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเรื่องราวเตือนใจที่ยืนยันหลักการเศรษฐกิจของออสเตรียน มันแสดงให้เห็นถึงอันตรายของการเบี่ยงเบนไปจากระบบที่ราคาควรทำหน้าที่เป็นสัญญาณที่มีความตรงไปตรงมา ซึ่งนำทางเราในการจัดสรรทรัพยากรในการใช้งานโซเชียลมีเดียที่มีค่ามากที่สุดของเรา ซึ่งก็คือ “ความสนใจ” และสิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องไตร่ตรองกันมากขึ้น ว่าในโลกที่อัลกอริธึมกำลังกลายเป็นสื่อกลางมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น เรากำลังสูญเสียความสามารถในการ “กำหนดราคา” ในชีวิตของเราเองที่ควรเป็นอิสระไปแล้วหรือไม่?
การปรับตัวและการแข่งขัน (Adaptability and Competition)
สำนักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนก่อตั้งขึ้นในปลายศตวรรษที่ 19 โดย Carl Menger ได้วางรากฐานสำหรับแนวคิดเหล่านี้ งานของ Menger ได้รับการแผ่ขยายออกไปโดยบุคคลสำคัญอย่าง Ludwig von Mises และ Friedrich Hayek ซึ่งมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของสงครามโลกและสงครามเย็น ทฤษฎีของพวกเขาไม่ใช่แค่ความคิดทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอบสนองต่อความล้มเหลวในโลกแห่งความเป็นจริงของการวางแผนแบบรวมศูนย์และการปราบปรามเสรีภาพส่วนบุคคล
ในแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน “ความสามารถในการปรับตัว” และ “การแข่งขัน” ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดในเชิงนามธรรมเท่านั้น พวกมันยังเป็นสัดส่วนหลักของสังคมที่มีความเป็นเสรีและเจริญรุ่งเรือง
การปรับตัวคืออะไร?
ความสามารถในการปรับตัว หมายถึง ความสามารถของบุคคลและธุรกิจในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมของตลาด ในเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน สิ่งนี้มีความสำคัญ เนื่องจากตลาดไม่ใช่สิ่งที่คงที่ มันเป็นภูมิทัศน์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
ลุดวิก ฟอน มิเซส เน้นย้ำถึงบทบาทของการกระทำของมนุษย์ในด้านเศรษฐศาสตร์ โดยระบุว่าการกระทำทั้งหมดมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงความรู้สึกเป็นอยู่ที่ดี (Well-being) ของแต่ละบุคคลในตลาด หมายความว่า ธุรกิจและบุคคลต้องปรับตัวกันอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ
การแข่งขันคืออะไร?
การแข่งขัน เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการปรับตัวดังกล่าว เป็นกระบวนการที่หลายฝ่ายมุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายร่วมกัน แต่มีเพียงผู้ที่มีประสิทธิภาพหรือสร้างสรรค์มากที่สุดเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จ
เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนมองว่า การแข่งขันเป็นกระบวนการค้นพบ ซึ่งเป็นคำที่ ฟรีดริช ฮาเย็ก ตั้งขึ้น ธุรกิจและบุคคลค้นพบวิธีการ เทคโนโลยี และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคผ่านการแข่งขัน
แนวคิดทั้งสองนี้เชื่อมโยงถึงกันได้อย่างลึกซึ้ง การแข่งขันจะกระตุ้นให้เกิดความสามารถในการปรับตัว และความสามารถในการปรับตัวนั้นจะเปี่ยมไปด้วยความหมายผ่านการแข่งขัน
ในตลาดเสรี ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคได้ จะถูกทิ้งไว้เอาเบื้องหลังโดยเป็นผลมาจากผู้ที่ปรับตัว สร้างสรรค์ นำเสนอโซลูชั่นและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มาสู่สังคมโดยรวม
ในแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน “ความสามารถในการปรับตัว” และ “การแข่งขัน” นั้นคล้ายคลึงกับกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติในชีววิทยา เช่นเดียวกับที่สายพันธุ์ต่างๆ ได้เคยวิวัฒนาการผ่านการแข่งขันเพื่อแย่งชิงทรัพยากร ธุรกิจและบุคคลในตลาดเสรีก็ต้องปรับตัวและสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
ภูมิทัศน์ของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน นี้เป็นบ่อเกิดแห่งนวัตกรรม เป็นที่ซึ่งหลากความคิดต่างก็แข่งขันกันเพื่อความอยู่รอดและผู้ที่เหมาะสมที่สุดจึงจะได้รับชัยชนะ
แล้วมันมีความหมายต่อเราอย่างไรในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของ Nostr?
กระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติในตลาดเสรี (The Natural Selection Process)
ในตลาดเสรี “มือที่มองไม่เห็น” จะนำทางธุรกิจและบุคคลไปสู่กิจกรรมที่ไม่เพียงแค่ตอบสนองต่อความต้องการส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังตอบสนองต่อความต้องการของสังคมด้วย อย่างที่ ฟรีดริช ฮาเยก ได้เคยกล่าวไว้ว่า “การแข่งขันคือกระบวนการค้นพบ” แท้จริงแล้ว การแข่งขันนั้นทำให้เราค้นพบวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการจัดสรรทรัพยากร ผลิตสินค้า และเสนอบริการ
ยกตัวอย่างใน Nostr เมื่อไม่มีหน่วยงานกลางที่เป็นตัวกำหนดว่าเนื้อหาใดควรได้รับการส่งเสริมหรือการโต้ตอบควรจะเกิดขึ้นอย่างไร ผู้ใช้แต่ละคนจะแข่งขันกันโดยตั้งใจหรืออาจไม่ได้ตั้งใจเพื่อนำเสนอเนื้อหาที่มีคุณค่า หรือเพื่อมอบคุณค่าให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชุมชน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงได้รับชื่อเสียงและอิทธิพลภายในเครือข่าย
นี่คือการทดลองแบบสดๆ ในกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่ขับเคลื่อนด้วยตลาด โดยที่โหนด (ผู้ใช้) ที่ ‘เหมาะสมที่สุด’ จะได้รับการมองเห็นและมีอิทธิพลมากขึ้น ไม่ใช่ถูกเห็นโดยคำสั่ง แต่เห็นโดยความเห็นพ้องต้องกันของชุมชน
การส่งเสริมนวัตกรรม
นวัตกรรมไม่ใช่คำสั่งจากบนลงล่าง มันเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการแข่งขันกันอย่างเสรี เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนสอนเราว่า “นวัตกรรม” เกิดขึ้นเมื่อมีโอกาสเปิดกว้างในการทำกำไร ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินการของผู้ประกอบการ
ในกรณีของ Nostr ลักษณะโอเพ่นซอร์สของแพลตฟอร์มทำให้สามารถปรับแต่งและสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด นักพัฒนามีอิสระในการสร้างคุณสมบัติใหม่ๆ ปรับปรุงอัลกอริธึม และนำเสนอประสบการณ์แก่ผู้ใช้ที่ไม่เหมือนใคร ผู้ใช้มีอิสระในการสร้างสรรค์เนื้อหาแปลกใหม่ที่ทรงคุณค่า ทั้งหมดนี้อยู่ในจิตวิญญาณแห่งการแข่งขัน ดังจะเห็นได้ว่าหลายคนเริ่มตามพัฒนาการหลายๆ ด้านบนตลาดเสรีแห่งนี้กันแทบไม่ทันแล้ว
ลองนึกย้อนกลับไปยังโลกที่อัลกอริธึมคอยทำหน้าที่กำหนดฟีดบนโซเชียลมีเดีย นั่นจะไม่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วขึ้น และคงจะไม่มีอัลกอริธึมที่จะเน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลางหรอกใช่ไหม?
ความท้าทายอันเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม
เราอาจต้องตอบคำถามในเชิงศีลธรรมและปรัชญากันอีกครั้ง.. การแข่งขันครั้งนี้จะนำเราไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมใช่หรือไม่?
ท้ายที่สุดแล้ว ในระบบที่ทรัพยากรและความสนใจยังคงมีอย่างจำกัด การเพิ่มขึ้นของโหนดหนึ่ง (ผู้ใช้งานคนหนึ่ง) อาจหมายถึงความไม่ชัดเจนของอีกโหนดหนึ่ง เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนยอมรับสิ่งนี้ แต่ยังคงได้ให้แง่คิดในจุดที่แตกต่าง การแข่งขัน คือ “กระแสน้ำที่ยกเรือขึ้นทุกลำ” แม้ว่าบางโหนดอาจได้รับอิทธิพลรอบกายมากขึ้น แต่นวัตกรรมและการมีส่วนร่วมของโหนดเหล่านั้นก็เป็นประโยชน์ต่อเครือข่ายทั้งหมดด้วยเช่นกัน (แม้นใครบางคนจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่มันก็เป็นเพราะผลจากการกระทำของเขาที่ได้สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนด้วยนั่นเอง)
แต่เราก็ยังคงต้องคอยระมัดระวังกันต่อไป ระบบนี้มันสามารถสานต่อรูปแบบหนึ่งของ “ความไม่เท่าเทียมกันทางดิจิทัล” ซึ่งจะทำให้เกิดผู้มีอิทธิพลกลุ่มหนึ่งขึ้นมา ในขณะที่คนอื่นๆ อาจจะต้องถูกทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง มันจะกลับกลายเป็นแบบนั้นไปได้หรือไม่?
นี่ไม่ใช่แค่คำถามทางเศรษฐกิจ แต่เป็นประเด็นที่กระอักกระอ่วนในเชิงศีลธรรมที่เราในฐานะชุมชนอาจกำลังต้องเผชิญ..
โดยสรุป ความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขันในตลาดเสรี ดังที่ได้ทำความเข้าใจผ่านเลนส์ของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน ถือเป็นกรอบความคิดที่แข็งแกร่งสำหรับการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเครือข่ายแบบกระจายศูนย์ อย่างเช่น Nostr
อย่างไรก็ตาม.. มันอาจยังก่อให้เกิดคำถามที่นับว่าท้าทาย เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมซึ่งสมควรได้รับการพิจารณากันอย่างรอบคอบ
เราลองถามตัวเอง ว่าเรายินดีที่จะยอมรับการแข่งขันอันยากลำบากนี้ เพื่อคำมั่นสัญญาแห่งอนาคตที่มีการกระจายศูนย์และมีนวัตกรรมมากขึ้นหรือไม่?
และถ้าเป็นเช่นนั้น เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าอนาคตเช่นนี้จะครอบคลุมความเสมอภาค และเสรีภาพอย่างแท้จริง?
หรือจริงๆ ก็ควรปล่อยให้ธรรมชาติของตลาดเสรีเป็นตัวจัดการ?
การประสานงานและความร่วมมือ (Coordination and Collaboration)
การประสานงานในเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนคืออะไร?
การประสานงาน (Coordination) ในบริบทนี้ หมายถึง วิธีที่บุคคลในตลาดเสรีประสานการกระทำและการตัดสินใจของตนโดยไม่ต้องมีหน่วยงานกลางคอยกำกับ มันเหมือนกับตลาดสดที่ผู้ขายแต่ละรายตั้งร้านค้าขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เพราะมีคนบอกให้ทำ แต่เพราะพวกเขารู้ว่านี่คือสถานที่ที่ดีที่สุดในการนำเสนอสินค้าของตน ผู้ขายแต่ละรายจะมีส่วนร่วมในตลาดที่มีการจัดการเป็นอย่างดี เพื่อให้บริการแก่ชุมชนในการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง
ความร่วมมือในเศรษฐศาสตร์ออสเตรียคืออะไร?
การทำงานร่วมกัน ( Collaboration) คือ การรวมตัวกันโดยสมัครใจของบุคคลเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ต่างจากในระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง ซึ่งมักถูกบังคับให้ร่วมมือกัน ในตลาดเสรี นี่เป็นทางเลือก และทางเลือกนี้ได้ถูกนำทางจากหลักการแห่งผลประโยชน์ร่วมกัน เมื่อคนทำขนมปังตัดสินใจซื้อข้าวสาลีจากชาวนา พวกเขากำลังร่วมมือกัน คนทำขนมปังได้รับวัตถุดิบสำหรับทำขนมปัง และชาวนาได้รับเงินเพื่อบำรุงฟาร์มของเขา ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานกลาง มีเพียงบุคคลที่เลือกทำงานร่วมกันได้อย่างอิสระ
Ludwig von Mises ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของการกระทำของมนุษย์และการตัดสินใจของแต่ละบุคคลในการประสานงานทางเศรษฐกิจ เขากล่าวว่า
“ตลาดเป็นกระบวนการที่กระตุ้นโดยการทำงานร่วมกันของการกระทำของบุคคลต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือกันภายใต้การจัดสรรแรงงาน “
คำกล่าวนี้ได้สรุปสาระสำคัญของการประสานงานและความร่วมมือในตลาดเสรี แต่ละคนดำเนินการตามความรู้และความต้องการของตนเอง ส่งผลให้ระบบมีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพมากยื่งขึ้น
ประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยตัวอย่างที่เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการประสานงานและการทำงานร่วมกันแบบกระจายอำนาจ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อการวางแผนจากส่วนกลางเข้ามาแทนที่เสรีภาพส่วนบุคคล ในทางตรงกันข้าม ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์และสวิตเซอร์แลนด์ แสดงให้เห็นถึงพลังของตลาดเสรีที่มีการประสานงานและร่วมมือกัน
(เราไม่สามารถกล่าวได้เต็มที่ว่าประเทศเหล่านี้มีตลาดที่เสรี 100% แต่ทั้งสิงคโปร์และสวิตเซอร์แลนด์มีระบบตลาดที่ใกล้เคียงกับความเสรีมากที่สุด โดยมีการแทรกแซงจากรัฐบาลในบางด้านเพื่อส่งเสริมความมีประสิทธิภาพและความยั่งยืนของตลาด ดังนั้น สามารถอ้างได้ว่ามี “ความเสรีที่สมดุลดี” มากกว่าที่จะเป็นตลาดที่เสรีโดยแท้จริง)
พูดง่ายๆ ก็คือวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรือง มีประสิทธิภาพ และยุติธรรม คือการเปิดโอกาสให้บุคคลมีอิสระในการประสานงานและทำงานร่วมกันตามที่เห็นสมควร
เราลองนึกภาพถึงวงออเคสตราที่นักดนตรีแต่ละคนเล่นโดยไม่ได้สนใจการควบคุมของคอนดักเตอร์ แต่เป็นการตั้งใจฟังนักดนตรีคนอื่นๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือท่วงทำนองผสานอย่างกลมกลืน ที่ไม่ได้เกิดจากการถูกควบคุม แต่เกิดจากการเคารพและการประสานงานซึ่งกันและกัน นี่คือสาระสำคัญของระเบียบทางธรรมชาติ (Spontaneous order) ซึ่งเป็นระบบการจัดระเบียบตนเอง ที่แต่ละบุคคลดำเนินการตามความรู้และความชอบของตนเอง มีส่วนทำให้เกิดผลลัพธ์ระดับโลกซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชุมชน
มือที่มองไม่เห็นของโซเชียลมีเดีย
ยกตัวอย่างเช่น Nostr ที่ผู้ใช้ นักพัฒนา และผู้ให้บริการรีเลย์ ต่างร่วมมือกันในลักษณะกระจายอำนาจ ผู้เข้าร่วมแต่ละคนปฏิบัติตามค่านิยมและเป้าหมายของตนเอง แต่การกระทำของพวกเขามีส่วนทำให้ชุมชนใหญ่ขึ้นและมีชีวิตชีวามากขึ้น นี่เป็นระเบียบทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองและปรากฏอยู่ในโลกดิจิทัล ความงามของการจัดระเบียบโดยธรรมชาติ คือ การใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาส่วนรวมที่มาจากแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละคนเข้าใจสถานการณ์ของตนเองได้ดีกว่าผู้วางแผนส่วนกลางคนใดที่เคยทำได้
การมุ่งเน้นไปที่เสรีภาพส่วนบุคคลและการแลกเปลี่ยนโดยสมัครใจ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นโครงสร้างทางศีลธรรมแห่งความเคารพและความร่วมมืออีกด้วย เมื่อเราดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของตนเองในตลาดเสรี เรามักจะลงเอยด้วยการรับใช้ผลประโยชน์ของชุมชนไปโดยปริยาย
ทว่าความขัดแย้งแห่งอิสรภาพยังคงมีอยู่ ด้วยเสรีภาพในการทำงานร่วมกัน เสรีภาพในการกีดกัน ก่อตั้งกลุ่ม และการแบ่งแยกขั้วก็มักจะมาพร้อมกัน
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าระเบียบทางธรรมชาติที่เรายึดมั่นจะไม่กลายเป็นความสับสนวุ่นวายในอนาคต?
คำตอบของชาวออสเตรียน คือ ก็คงต้องดำเนินการผ่านบรรทัดฐานทางวัฒนธรรม (Norm) พฤติกรรมทางจริยธรรม และมาตรฐานของชุมชน ซึ่งเป็นกฎระเบียบอันนุ่มนวลซึ่งชี้แนะแนวทางปฏิบัติโดยไม่ไปขัดขวางการเกิดขึ้นของนวัตกรรม
ความยั่งยืนและการกระจายอำนาจ (Sustainability and Power Distribution)
ความยั่งยืนในเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนคืออะไร?
ในวาทกรรมกระแสหลัก ความยั่งยืนมักหมายถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ในเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน “ความยั่งยืน” (Sustainability) เป็นแนวคิดที่กว้างยิ่งไปกว่านั้น ซึ่งครอบคลุมถึงการมีอายุยืนยาวทางเศรษฐกิจ ความปรองดองกันทางสังคม และเสรีภาพส่วนบุคคล เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างระบบที่ไม่เพียงแต่สร้างผลกำไร แต่ยังมีความเท่าเทียมและปรับเปลี่ยนได้ด้วย นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียนได้ให้ความเห็นไว้ว่า ความยั่งยืนดังกล่าวจะสามารถบรรลุได้เฉพาะในระบบการกระจายอำนาจที่เคารพการตัดสินใจของแต่ละคน
ตัวอย่างเช่น แนวคิดของ Hayek เรื่อง “ระเบียบทางธรรมขาติ” ถือเป็นรากฐานสำคัญของความยั่งยืนในออสเตรียน หมายถึงระบบธรรมชาติที่มีการจัดระเบียบตนเอง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีอิสระในการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง นี่คือความยั่งยืนที่ดีที่สุด เป็นระบบที่แข็งแกร่ง สามารถปรับเปลี่ยนได้ และแก้ไขตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้การควบคุมจากส่วนกลาง
การกระจายอำนาจหมายถึงอะไรในบริบทนี้?
การกระจายอำนาจ (Power Distribution) ในเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนมีการเชื่อมโยงโดยเนื้อแท้กับแนวคิดเรื่องการกระจายศูนย์ (Decentralized) ซึ่งต่างจากระบบรวมศูนย์ที่หน่วยงานเดียวมีอำนาจควบคุมที่สำคัญ ระบบกระจายศูนย์จะกระจายอำนาจไปยังผู้เข้าร่วมจำนวนมาก การแจกจ่ายนี้ไม่ได้ใช้การบังคับ แต่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างเสรีระหว่างบุคคล
ในระบบรวมศูนย์ การกระจุกตัวของอำนาจสามารถนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพและความเปราะบางได้ นักเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนเตือนเรื่องนี้ไว้ โดยอ้างถึงตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ เช่น การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลาง ในทางตรงกันข้าม ระบบกระจายศูนย์จะกระจายพลังอำนาจ ลดความเสี่ยงในการเกิดความล้มเหลวของระบบและเพิ่มความสามารถในการปรับตัวให้กับระบบ
ความงามของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน อยู่ที่การเชื่อมโยงความยั่งยืนและการกระจายอำนาจเข้าไว้ด้วยกัน ระบบกระจายศูนย์นี้ไม่เพียงแต่กระจายพลังอำนาจ แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้นอีกด้วย เมื่อบุคคลได้รับอำนาจในการตัดสินใจเลือก พวกเขามีส่วนช่วยในระบบที่สามารถปรับตัวและดำรงอยู่ได้เมื่อเวลาผ่านไป
หลักการแนวคิดนี้บอกเราว่าวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน คือ การมอบอำนาจให้กับบุคคล ไม่ใช่สถาบัน ถือเป็นคำกระตุ้นการตัดสินใจสำหรับเราแต่ละคน ที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของเรา แทนที่จะเป็นผู้รับนโยบายจากเบื้องบนกันเฉยๆ อย่างในอดีต
แนวคิดเรื่องตลาดเสรี ไม่ได้เป็นเพียงแบบจำลองทางเศรษฐกิจแต่เปรียบดังปรัชญาแห่งชีวิต เป็นความเชื่อในพลังของการเลือกของแต่ละบุคคลและภูมิปัญญาส่วนรวมที่ออกมาจากตัวเลือกเหล่านั้น
ในตลาดเสรีอย่างแท้จริง อำนาจไม่ใช่ “Zero-sum game” มันเป็นพลังที่มีพลวัต ซึ่งเปลี่ยนแปลงและกระจายตัวอยู่ตลอดเวลาตามทางเลือกของแต่ละคน ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ความยั่งยืนไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลังเท่านั้น แต่มันเป็นคุณลักษณะที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ
แต่อย่าพึ่งฝันหวานเร็วเกินไป จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อแนวคิดในอุดมคตินี้ต้องมาเผชิญกับโลกแห่งความเป็นจริง?
ยุคดิจิทัลได้ก่อให้เกิดการผูกขาดในรูปแบบใหม่ บริษัทต่างๆ เช่น Facebook และ Google ได้กลายเป็นบริษัทที่มีศักดิ์เทียบเท่ากับขุนนางศักดินาในยุคอดีต มีอำนาจมหาศาลเหนือข้อมูลของเรา การกระจุกตัวของอำนาจนี้ขัดแย้งกับโมเดลทางเศรษฐกิจของออสเตรียน แต่เมื่ออำนาจมารวมตัวกัน ความยั่งยืนของมันก็จะถูกคุกคาม
ทำไมน่ะเหรอ? เพราะระบบรวมศูนย์นั้นมีความเปราะบาง ขาดอินพุตที่หลากหลายจากล่างขึ้นบน ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบแข็งแกร่งและปรับเปลี่ยนได้ เปรียบเสมือนป่าที่อาศัยต้นไม้เพียงชนิดเดียว โรคพืชเพียงหนึ่งก็สามารถกำจัดมันออกไปได้แล้ว
เราจะทวงคืนคำมั่นสัญญาเรื่องความยั่งยืนและการกระจายอำนาจที่เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนเสนอไว้ให้ได้อย่างไร?
คำตอบอยู่ที่ “การมีส่วนร่วมกันอย่างแข็งขัน” เราจะต้องเป็นผู้บริโภคและผู้ผลิตอย่างมีสติในตลาดดิจิทัล แพลตฟอร์มอย่าง Nostr มอบโอกาสนี้ให้กับเรา ด้วยการเลือกที่จะมีส่วนร่วม เราไม่ได้เพียงแค่สร้างทางเลือกของผู้บริโภคเท่านั้น เรากำลังแถลงการณ์ทางการเมือง เรากำลังลงคะแนนเสียงให้กับระบบที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนบุคคลและความยั่งยืนโดยรวม เหนือผลกำไรระยะสั้นและอำนาจที่รวมศูนย์
แต่นี่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแพลตฟอร์มเท่านั้น มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการมองบทบาทของเราในระบบนิเวศดิจิทัล เราเป็นผู้บริโภคที่เลือกจะไม่โต้ตอบ หรือเราจะเป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดอนาคตที่ยั่งยืน?
ในโลกที่กำลังสั่นคลอนอยู่บนปลายขอบแห่งความไม่เท่าเทียมขั้นรุนแรง และโครงสร้างทางอำนาจที่ไม่มีความยั่งยืน หลักการตลาดเสรีของออสเตรียนได้เสนอแผนงานไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันมากขึ้นให้กับเรา
แต่คำถามก็คือ.. เรากล้าพอที่จะเดินไปตามเส้นทางนั้นกันไหม?
พาร์ทแถม : เครือข่าย Nostr ในฐานะตลาดเสรี
Nostr กลายเป็นสัญญาณของการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้หลักการของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนได้ค้นพบ “บ้านดิจิทัล” เป็นของตัวเอง
ลุดวิก ฟอน มิเซส เคยกล่าวเอาไว้ว่า..
“Freedom is incompatible with equality of wealth and income. Men are born unequal and it is precisely their inequality that generates social cooperation and civilization.”
“เสรีภาพนั้นเข้ากันไม่ได้กับความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียมและรายได้ มนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน และแน่นอนว่ามันเป็นความไม่เท่าเทียมกันของพวกเขาเอง ที่ก่อให้เกิดความร่วมมือกันทางสังคมและอารยธรรม”
มูลค่าของคุณ ไม่ได้ถูกกำหนดโดยอัลกอริธึมที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้ลงโฆษณา หรือวาระทางการเมือง คุณค่าของคุณถูกกำหนดโดยการมีส่วนร่วมของคุณต่อชุมชน ปฏิสัมพันธ์ของคุณ และมูลค่าที่คุณสร้างขึ้น เช่นเดียวกับในตลาดเสรี
ลองมาสำรวจเรื่องราวของตัวละครเหล่านี้ ที่จะแสดงให้คุณเห็นถึงการนำเอาหลักคิดเชิงนามธรรมนี้มาสู่โลกของความเป็นจริง
The Artist พบกับ “บรรจบ” ศิลปินที่รู้สึกอึดอัดกับอคติของอัลกอริธึมมบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกระแสหลัก งานศิลปะของเขาซึ่งมักจะท้าทายบรรทัดฐานทางสังคม พบว่ามีผู้ชมที่ได้เห็นเพียงจำนวนจำกัด เนื่องจากการถูกเซ็นเซอ แต่ที่ Nostr บบรจบได้สัมผัสกับหลักการแห่งเสรีภาพส่วนบุคคลของออสเตรียน เขาเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์งานศิลปะของตัวเอง มีอิสระที่จะแสดงผลงานของตนโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกอัลกอริธึมไล่ปิดกั้น คุณค่าของเขาเพิ่มขึ้นเมื่องานศิลปะของเขาเริ่มสะท้อนคุณค่าให้กับชุมชน ไม่ใช่เพราะหน่วยงานกลางเห็นว่าเหมาะสม
The Small Business Owner ลองนึกถึง “สยาม” เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ขายงานฝีมือแฮนด์เมด บนแพลตฟอร์มแบบดั้งเดิม สยามต้องผ่านกฎเกณฑ์มากมายและจ่ายค่าธรรมเนียมจำนวนมากเพื่อแลกกับการถูกการมองเห็น แต่ Nostr ช่วยให้สยามสามารถโต้ตอบกับลูกค้าได้โดยตรง ไม่มีพ่อค้าคนกลาง ไม่มีค่าธรรมเนียม เป็นเพียงธุรกรรมที่โปร่งใส Zap กันอย่างตรงไปตรงมา นี่ไม่ใช่สิ่งที่ตลาดเสรีปรารถนาอยากจะเป็นหรอกหรือ?
The Activist แล้วก็มี “ส้ม” นักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนความยุติธรรมทางสังคม บนแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ เสียงของเธอมักจะถูกกลบด้วยเสียงของเนื้อหาฉาบฉวยและกระแสไร้สาระในสังคม Nostr เสนอแพลตฟอร์มที่เสียงของเธอจะมีความสำคัญพอๆ กับคุณค่าที่นำมาสู่ชุมชน เธอไม่ได้แข่งขันกับอัลกอริธึม แต่เธอแค่ต้องโดนใจคนจริงๆ
พวกเขาเป็นตัวอย่างของหลักการเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนที่ว่า บุคคล เหมาะสมที่สุดในการตัดสินใจด้วยตนเองว่าพวกเขาต้องเป็นสถาปนิกแห่งโชคชะตาของตนเอง
เราเตรียมพร้อมสำหรับการตัดสินใจเลือกที่ไม่เพียงสนองผลประโยชน์ของเราเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสนับสนุนคุณค่าในสังคมด้วยหรือยัง?
เพราะเสรีภาพไม่ใช่เพียงสิทธิ แต่มันยังเป็นความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ชุมชนสามารถจะสร้างหรือถุกทำลายได้
นอกจากนี้ ออสเตรียนยังเน้นย้ำถึงมิติทางจริยธรรมของการดำเนินการทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด ลุดวิก ฟอน มิเซส เคยกล่าวว่า การกระทำของมนุษย์เป็นพฤติกรรมที่มีจุดประสงค์ พฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมายอาจเป็นการกระจายข้อมูลที่ได้รับการยืนยัน วิธีการจัดสรรทรัพยากร หรือวิธีการโต้ตอบกับผู้อื่น
ปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมายได้สะท้อนถึงค่านิยมของเรา เครือข่ายกลายเป็นผืนผ้าม่านแห่งทางเลือกของแต่ละคน แต่ละเส้นด้ายถักทอด้วยเจตนารมณ์ที่มีจริยธรรม แต่ม่านนี้จะสามารถต้านทานพลังแห่งความโลภ ข้อมูลที่ผิด และความแตกแยกที่ดูเหมือนจะฉีกโครงสร้างทางสังคมของเราได้หรือไม่?
นั่นเป็นสิ่งที่ชวนให้น่าติดตาม…
Beyond the Five Core Principles
นอกเหนือหลักการสำคัญ 5 ประการของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน ได้แก่ ปัจเจกนิยมวิธี (Methodological Individualism) คุณค่าเชิงอัตวิสัย (Subjective Value) ระเบียบทางธรรมชาติ (Spontaneous Order) อรรถประโยชน์เพิ่ม (Marginal Utility) และต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ที่ได้วางกรอบแนวคิดที่แข็งแกร่งเอาไว้แล้ว ก็ยังมีหลักการและแนวคิดอื่น ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องซึ่งน่าสนใจด้วยเช่นกัน
ความรู้และข้อมูล (Knowledge and Information)
Friedrich Hayek ในผลงานสำคัญของเขาเรื่อง “การใช้ความรู้ในสังคม” (The Use of Knowledge in Society) เน้นย้ำว่าตลาดทำหน้าที่เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการเผยแพร่ความรู้ ฮาเยกกล่าวว่าแต่ละคนจะมีข้อมูลที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมักจะเป็นเวลาและสถานที่ ซึ่งการวางแผนแบบรวมศูนย์ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ได้ทั้งหมด ความรู้แบบกระจายศูนย์นี้ประสานงานกันได้ดีที่สุดผ่านกลไกราคา ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญญาณของความขาดแคลนและความอุดมสมบูรณ์
การพยากรณ์และการปรับตัว (Forecasting and Adaptation)
Ludwig von Mises ในผลงานชิ้นโบว์แดงเรื่อง “Human Action” ได้สำรวจว่าผู้ประกอบการคาดการณ์สภาวะตลาดและปรับตัวตามนั้นอย่างไร Mises แนะนำแนวคิดของ “Praxeology” ซึ่งเป็นการศึกษาการกระทำของมนุษย์ เพื่ออธิบายว่าแต่ละบุคคลตัดสินใจเลือกโดยยึดถือคุณค่าและความคาดหวังเชิงอัตวิสัยของตนอย่างไร ในมุมมองนี้ ผู้ประกอบการคือผู้ที่ตีความและตอบสนองต่อสัญญาณตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ความไม่แน่นอนและการประเมินความเสี่ยง (Uncertainty and Risk Assessment)
เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนยอมรับในความไม่แน่นอนโดยธรรมชาติของการกระทำของมนุษย์และสภาวะตลาด อย่างไรก็ตาม ยังมีกลไกในการประเมินความเสี่ยง เช่น ทฤษฎีวงจรธุรกิจของออสเตรียน ซึ่งพยายามจะอธิบายวงจรเศรษฐกิจผ่านเลนส์ของการขยายและการหดตัวของสินเชื่อ ทฤษฎีนี้ช่วยให้นักลงทุนและผู้ประกอบการได้รับข้อมูลเพียงพอในคาดการณ์แนวโน้มของตลาดและตัดสินใจได้
การออมและการลงทุน (Savings and Investment)
Eugen von Böhm-Bawerk หนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรียนยุคแรกๆ กล่าวถึงความสำคัญของการเก็บออมและการลงทุนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในระยะยาว เขาแนะนำแนวคิดเรื่อง “Time preference” โดยอ้างว่าบุคคลให้ความสำคัญกับสินค้าในปัจจุบันมากกว่าสินค้าในอนาคต ในแง่เศรษฐกิจ มันเป็นเหตุผลที่ทำให้เรามีอัตราดอกเบี้ย ประชาชนต้องการแรงจูงใจในการเลื่อนการบริโภคในปัจจุบันออกไปเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต ยิ่งมี Time preference น้อย ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะลงทุนในโครงการระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนได้มากกว่า
ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมกัน (Fairness and Equality)
เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนให้เหตุผลว่า “ความเป็นธรรม” เป็นเรื่องของ “โอกาส” ที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ “ผลลัพธ์” ที่เท่าเทียมกัน สิ่งนี้มีรากฐานมาจากหลักการของการแลกเปลี่ยนกันโดยสมัครใจ ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมตามคุณค่าส่วนตัวของพวกเขา ชาวออสเตรียนโต้เถียงว่าความพยายามที่จะบังคับใช้ความเท่าเทียมกันของผลลัพธ์ จะบิดเบือนสัญญาณของตลาดและจะนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพ
การบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
การทำความเข้าใจและการจัดการกับความเสี่ยงเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจลงทุน เศรษฐศาสตร์ออสเตรียนนำเสนอเครื่องมือต่างๆ เช่น “โครงสร้างการผลิต” และ “โครงสร้างทุน” เพื่อประเมินความสามารถในการลงทุนในระยะยาว แนวคิดเหล่านี้ช่วยให้นักลงทุนเข้าใจว่าทรัพยากรได้รับการจัดสรรอย่างไรในขั้นตอนต่างๆ ของการผลิต เพื่อให้สามารถประเมินความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น
การสร้างมูลค่าและคุณภาพ (Value Creation and Quality)
ตลาดส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าและคุณภาพ สิ่งนี้เห็นได้ชัดเจนในแนวคิดเรื่อง “อธิปไตยของผู้บริโภค” (Consumer sovereignty) ซึ่งความต้องการของผู้บริโภคจะเป็นตัวขับเคลื่อนการผลิตและนวัตกรรม ผู้ผลิตที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้จะถูกกำจัดออกไป เพื่อให้มั่นใจว่ามีเพียงผู้ที่เพิ่มมูลค่าเท่านั้นที่จะอยู่รอด
โดยสรุป เศรษฐศาสตร์ของออสเตรียนได้นำเสนอแนวคิดที่หลากหลายซึ่งนอกเหนือไปจากหลักการหลัก 5 ประการ แนวคิดเพิ่มเติมเหล่านี้ก็ช่วยมอบความเข้าใจที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับพลวัตของตลาดและพฤติกรรมของมนุษย์